"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

"คุณค่าแท้-คุณค่าเทียม : การพิจารณาใช้สอยปัจจัยสิ่งของ"


๒๐/๑๑/๒๕๕๗

**************

"คุณค่าแท้-คุณค่าเทียม : การพิจารณาใช้สอยปัจจัยสิ่งของ"

หลายท่านคงได้เคยอ่านผ่านตาและศึกษากันมามากบ้างน้อยบ้าง ตามสมควรแก่โอกาสของตนเกี่ยวกับ "วิธีโยนิโสมนสิการ" ซึ่งเป็นหลักวิธีการคิดทางพุทธศาสนา คือหลักรุ่งอรุณของการศึกษาหรือจุดเริ่มต้นของการศึกษา เป็น "ปัจจัยของสัมมาทิฏฐิ" โดยปัจจัยของสัมมาทิฏฐินี้ จะต้องมีองค์ประกอบสองส่วนสำคัญควบคู่กัน คือ


๑.ปรโตโฆสะ คือเสียงจากแหล่งอื่น หรือแหล่งความรู้ภายนอกตัวเรา เป็นปัจจัยทางสังคม หรือเป็นกัลยาณมิตร เป็นแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เช่นแหล่งเรียนรู้โกทูโนว์ ก็เป็นแหล่งหรือเสียงจากภายนอกได้

๒.โยนิโสมนสิการ คือ วิธีการคิดอย่างถูกวิธี คิดอย่างถูกต้อง คิดอย่างละเอียดลึกซึ้ง หรือคิดโดยแยบคาย เป็นกระบวนการประมวลความรู้ที่ได้รับมานำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ตามความต้องการ เป็นเสียงจากภายในของเรา หลักการคิดมีหลายวิธีที่ท่านกำหนดไว้

ทั้งสองประการนี้มีความสำพันธ์กับไตรสิกขาคือ ศีลสิกขา จิตตสิกขาและปัญญาสิกขา

โยนิโสมนสิการ เป็นหลักวิธีคิดทางพุทธศาสนาอันสูงค่า มีหลายประการ ทั้งชี้ให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งอวิชชาและตัณหา และส่งเสริมให้เกิดกุศลธรรมหรือฉันทธรรม ในครั้งนี้ ขอยกวิธีคิดเปรียบเทียบระหว่างคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม เกี่ยวกับการใช้สอยสิ่งของหรือปัจจัยต่าง ๆ มาพิจารณาเป็นลำดับไป

พระสงฆ์ทรงสอนชาวบ้านในขณะที่จะบริโภคหรือใช้สอยปัจจัยต่าง ๆ ในเวลาก่อนการฉันอาหาร เวลาหลังทำวัตรเช้า และเวลาหลังทำวัตรเย็น ท่านจะยกมือประณมและกล่าวพิจาณาอาหารเป็นภาษาบาลีว่า...

"ปะฏิสังขา โยนิโส ปิณฑะปาตัง ปะฏิเสวามิ เนวะ ทะวายะ นะ มะทายะ นะ มัณฑะนายะ นะ วิภูสะนายะ ยาวะเทวะ อิมัสสะ กายัสสะ ฐิติยา ยาปะนายะ วิหิงสุปะระติยา พ์รัห์มะจะริยานุคคะหายะ อิติ ปุราณัญจะ เวทะนัง ปะฏิหังขามิ นะวัญจะ เวทะนัง นะ อุปปาเทสสามิ ยาต์รา จะ เม ภะวิสสะติ อะนะวัชชะตา จะ ผาสุวิหาโร จาติ,"

พระบาลีหรือคำสอนนี้มาจากพระไตรปิฎก "สัพพาสวสูตร" (สัพพ+อาสว+สูตร คือ พระสูตรที่กล่าวถึงอาสวะทั้งปวง) อาสวะที่ต้องละด้วยการใช้สอย (ม.มู.เล่ม 12 ข้อ 23) คือบทพิจารณาเพื่อให้ลดละอาสวะกิเลสด้านการใช้สอยปัจจัยสี่ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ วิธีโยนิโสมนสิการปัจจัยนั่นเอง

clip_image016

ภาพประกอบจาก : http://watlaokhwan.blogspot.com/2012/11/blog-post_4.html

๑. ด้านอาหารเลี้ยงชีพ หรืออาหารบิณฑบาต (ข้าว) ในบทพิจารณาอาหารบิณฑบาตที่พระท่านกล่าว เราในฐานะของชาวบ้านก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ไม่ได้ศึกษาว่า พระท่านบ่นอะไร ว่าอะไรก่อนฉันอาหาร เพราะเป็นภาษาบาลี ฟังไม่รู้เรื่อง เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วก็จะได้ ดังนี้...

"ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ฉันบิณฑบาตไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อความมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพียงเพื่อกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตินทรีย์(ชีวิต+อินทรีย์)เป็นไป เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่า 'โดยอุบายนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่า(ความหิว)เสียได้ และจักไม่ให้เวทนาใหม่(ความอึดอัด)เกิดขึ้น ความดำรงอยู่แห่งชีวิต ความไม่มีโทษ และการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา' แล้วจึงบริโภคอาหาร"

คุณค่าแท้ เป็นการพิจารณาอาหารหรือข้าวบิณฑบาตโดยแยบคายก่อนฉัน ก่อให้เกิดสติปัญญา รู้เท่าทันอารมณ์เพื่อชี้หรือมองให้เห็นว่า กินอย่างไรถึงจะเกิดคุณค่าแท้ คำสอนเบื้องต้นนี้ ชี้ให้เห็นการกินทั้งแบบคุณค่าแท้ และคุณค่าเทียม คุณค่าแท้คือ อาหารที่เราจะกินหรือก่อนฉันนี้ กินเพื่อการดำรงอยู่ได้ของร่างกายและชีวิต (ชีวิตินทรีย์) เพื่อกำจัดความหิว เพื่อการประพฤติธรรมสร้างสรรค์คุณงามความดีได้ต่อไป

ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นคุณค่าเทียมคือ กินหรือฉันอาหารเพื่อเล่น เช่น กินทิ้งกินขว้างแบบเด็ก ๆ กินขนม กินไอศกรีม เครื่องดื่มน้ำสีต่าง ๆ เป็นต้น กินเพื่อความมัวเมา เช่น กินเป็นกลับแกล้ม กินหูฉลาม กินสมองลิง อุ้งตีนหมี กินเป็นยากระตุ้นทางเพศ เป็นต้น กินเพื่อประดับคือ กินแล้วทำให้ร่างกายอ้วนพี มีร่างกายอวบอิ่มดั่งหญิงแพศยา(อรรถกถา) คงจะกินแบบไม่รู้จักเสียดายของหรืออวดโชว์ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม คลับบาร์ ภัตตาคาร เป็นต้น กินเพื่อตกแต่งคือ การกินที่มุ่งเพื่อให้มีผิวพรรณงดงามหรือเกิดความสวยความงาม เช่น กาแฟยี่ห้อหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดการกินเพื่อลดความอ้วน,เครื่องดื่มรังนกที่ช่วยลดความชรา แม้แต่อาหารเสริมวิตามินต่าง ๆ ที่กินแล้วมุ่งให้มีผิวพรรณงาม มีการโฆษณาเกินความเป็นจริง เป็นต้น

ดังกล่าวมานี้คือการพิจารณาโดยแยบคายหรือโยนิโสมนสิการด้วยวิธีคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม ด้านอาหารการกิน

๒. ด้านการใช้เครื่องนุ่งห่มหรือเสื้อผ้า (ผ้า) ทางพระท่านว่า "จีวร" หมายรวมเอาผ้าทุกผืนที่ใช้นุ่งห่มนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็น สบง ผ้าปะคต ผ้ารัดอก อังสะ จีวร(ผ้าคลุม) สังฆาฏิ(ผ้าพาดบ่า) รวมถึงย่ามใส่ของด้วย พุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาก่อนการใช้สอยว่า...

"ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคาย(โยนิโสมนสิการ)แล้วใช้สอยจีวร เพียงเพื่อป้องกัน ความหนาว ความร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อปกปิดอวัยวะที่ก่อให้เกิดความละอาย"

ชี้ให้เห็นคุณค่าแท้ของการใช้สอยเสื้อผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มว่า ให้พวกเราพิจารณาโดยรอบคอบลึกซึ้งก่อนว่าใส่เสื้อผ้าเพื่อป้องกันความหนาว ความร้อน ป้องกันสัตว์พวกเหลือบ ยุง สัตว์เลื้อยคลาน ป้องกันภัยธรรมชาติเช่น ลม แดด ฝน เป็นต้น และที่สำคัญคือ เพื่อปกปิดอวัยวะที่จะทำให้เกิดการอุจาดตา หรือเข้าลักษณะป้องกันการลามกอนาจารในที่สาธารณชน การใช้ผ้าก็ควรใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดั่งตัวอย่างของพระอานนท์ที่ตอบคำถามพระเจ้าอุเทน ขอสรุปความคำสนทนาสั้น ๆ ดังนี้

"...อุ.นำผ้าจีวรใหม่(ตั้ง๕๐๐ผืน)ไปทำอะไรนักหนาหรือท่านอา.จักนำไปแจกพระที่มีจีวรเก่าคร่ำคร่า อุ.แล้วนำจีวรที่เก่าคร่ำคร่าเหล่านั้นไปทำอะไรอีก อา.จักนำผ้าเหล่านั้นไปทำเป็นผ้าดาดเพดาน อุ.ผ้าดาดเพดานเก่าเหล่านั้นนำไปทำอะไรอีก อา.จักนำไปทำเป็นผ้าปูฟูก อุ.ผ้าปูฟูกเก่าเหล่านั้นนำไปทำอะไรได้อีก อา.จักนำไปทำเป็นผ้าปูพื้น อุ.ผ้าปูพื้นเก่าเหล่านั้นนำไปทำอะไรได้อีก อา.จักนำไปทำเป็นผ้าเช็ดเท้า อุ.ผ้าเช็ดเท้าเก่าเหล่านั้นนำไปทำอะไรได้อีก อา.จักนำไปทำเป็นผ้าเช็ดธุลี(ฝุ่นผงละเอียด) อุ.ผ้าเช็ดธุลีเก่าเหล่านั้นจักนำไปทำอะไรได้อีก อา.จักนำไปโขลก ขยำกับโคลนแล้วฉาบทาฝา(กุฏิหรือที่พัก)มหาบพิตร...พระเจ้าอุเทนเกิดความศรัทธาต่อพระอานนท์ว่านำผ้าไปใช้แยบคายดี(โยนิโสมนสิการ)จนต้องถวายเพิ่มอีกห้าร้อยผืนเป็นหนึ่งพันผืน" พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗. ข้อที่๖๒๖. หน้าที่๓๑๓ - ๓๑๕.(ล่าง)

แล้วเราหละเห็นคุณค่าแท้ประโยชน์ใช้สอยสูงสุดของเสื้อผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มได้ในระดับใด?

ทางด้านคุณค่าเทียมของการใช้สอยเสื้อผ้าหรือเครื่องนุ่งหม มิได้กล่าวไว้ในที่นี้ หากแต่สภาพสังคมในปัจจุบัน เห็นกันกลาดเกลื่อน การแต่งกายออกไปในทางนุ่งน้อยห่มน้อย โป๊เกือบเปลือย แต่งกายตามแฟชั่น เสื้อผ้าที่ใส่มีราคาที่แพงเกินคุณภาพมาก ยึดติดที่ยี่ห้อ สัญลักษณ์หรือโลโก้ของสินค้า เสื้อผ้าบางชิ้นบางตัวซื้อมาแล้วเคยได้สวมใส่ครั้งเดียวแล้วแขวนทิ้งไว้ก็มีมาก เราซื้อเสื้อผ้าตามยุคสมัยพอหมดยุคสมัยก็ทิ้งละเลยมิใส่ใจ การใช้สอยก็ถือเอาตามใจและกิเลสความต้องการเป็นใหญ่ ไม่คำนึงถึงคุณค่าของการใช้สอย ว่านุ่งห่มเพื่ออะไร ชุดที่ใส่ไปทำงานก็มีมากจนเลือกไม่ถูก เมื่อเป็นเช่นนี้คุณค่าเทียมที่พบก็คือ ความสวยงามตามสมัยที่เน้นสีสัน การออกแบบ การแต่งตัวเพื่อดึงดูดชักจูงเพศตรงข้าม แต่งเพื่ออวดฐานะ แต่งเพื่อโชว์ว่าตนเองใส่เสื้อผ้ามียี่ห้อ มีราคาแพงมากกว่า คุณค่าที่แท้จริงจึงถูกปิดบังไป

๓. ด้านยารักษาโรคหรือคิลานปัจจัยเภสัช (ยา) พระพุทธองค์ทรงสอนภิกษุเอาไว้ในเวลาก่อนฉันหรือก่อนรักษาว่า...

"ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพียงเพื่อบรรเทาเวทนาที่เกิดจากอาพาธต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว และเพื่อไม่มีความเบียดเบียนเป็นที่สุด ซึ่งเมื่อเธอไม่ใช้สอยอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอใช้สอยอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้"

คุณค่าแท้ของการใช้สอยยารักษาโรคหรือคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร พระพุทธองค์ทรงสอนให้ภิกษุโยนิโสมนสิการ พิจารณาโดยแยบคายก่อนแล้วจึงใช้สอยเพียงเพื่อบรรเทาเวทนา(ความเจ็บปวด)อันเกิดจากการเจ็บป่วยหรืออาพาธต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้หายไป และหากใช้ยาแล้วก็จะไม่เกิดความเจ็บปวด หากไม่ใช้ยาอาการของโรคก็จะกำเริบขึ้นมาอีก เช่น โรคเก๊าต์ โรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ก็จำเป็นต้องกินยาตรงตามเวลา โรคบางอย่างรักษาก็หาย ไม่รักษาก็หาย เช่น ไข้หวัด กินอาหารร้อน ๆ ออกกำลังกายรักษาอุณหภูมิในร่างกายอย่างเหมาะสมก็จะหายไปเอง แบบนี้ภิกษุหรือชาวบ้านอย่างเรา ๆ ก็ไม่ต้องกังวลให้มาก การกินยารักษาก็ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ว่ากินแล้วมีผลต่อการปฏิบัติงานหรือการปฏิบัติธรรมอย่างไรหรือไม่ เช่น ภิกษุเมื่อฉันยาแก้แพ้ แก้หอบหืดแล้ว มักจะมีอาการง่วงนอน ก็ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ให้แยบคายว่า สมควรฉันตอนกลางวันหรือไม่ เวลาไหนดีถ้าไม่ฉันเวทนาจะแรงกล้าเพียงใด โดยเฉพาะในฤดูหนาวนี้ โรคภูมิแพ้หอบหืด แสดงอาการได้ชัดเจนมากการกินยารักษาโรคในแบบของชาวบ้านก็ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ต้องรักษาหรือทานยาตามที่แพทย์สั่งดูจะเหมาะสมกว่า

คุณค่าเทียมของการใช้สอยยารักษาโรคหรือคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร พิจารณาแบบอวิชชาหรือแบบตัณหา คุณค่าเทียมของการทานยาหรือการรักษาโรค เช่น การรักษาในโรงพยาบาลประจำตำบล อำเภอหรือในจังหวัดนั้น เห็นว่าไม่ได้เรื่องต้องรักษาที่คลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้นเป็นค่านิยมที่ผู้ป่วยช่วยกันสร้างขึ้นจากกรณีตัวอย่างเพียงไม่กี่ราย แล้วเหมารวมเอาว่าคุณภาพของโรงพยาบาลประจำอำเภอหรือจังหวัด แพทย์หรือพยาบาลไม่เก่ง ไม่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรค หากเป็นผู้หาเช้ากินค่ำ ผู้ลำบากยากจนหล่ะจะทำอย่างไรด้านการทานยาก็เช่นกัน มองว่ายาของคลินิกของโรงพยาบาลเอกชน ดีกว่ายาของโรงพยาบาลรัฐ เราไปกำหนดค่านิยมกันเอาเองมองในมุมแคบเข้ามาหน่อยคือ การหาซื้อยามากินด้วยตนเอง เป็นยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคที่เมื่อกินเข้าไปแล้วหายเร็วไว ทันใจ เช่น ยารักษาโรคปวดหลัง แก้ปวดเข่าหรือปวดข้อ ยารักษาหลอดลมอักเสบ(ที่ชื่อลงท้ายซินๆ) ยาถ่ายพยาธิ ยารักษาอาการภูมิแพ้ ลดน้ำมูก ยาเหล่านี้ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย หากเรารับประทานติดต่อกันนาน อาจมีผลต่อตับหรือไต ต่อการแพ้ยาหรือส่งผลต่อสมองได้นอกจากนี้ยังเหมารวมเอาพวกยาบำรุงกำลัง(ยาโด๊ป)เครื่องดื่มบำรุงกำลังและยาสูบหรือบุหรี่ด้วย ที่ส่งผลต่อลำไส้ ตับและปอดโดยตรง เป็นคิลานเภสัชฝ่ายคุณค่าเทียมทั้งสิ้น

๔. ด้านที่อยู่อาศัยหรือเสนาสนะ (บ้าน) พระพุทธองค์ทรงสอนภิกษุให้พิจารณาก่อนการใช้สอยปัจจัยว่า...

"ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยเสนาสนะเพียงเพื่อป้องกันความหนาว ความร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทา อันตรายที่เกิดจากฤดู และเพื่อความยินดีในการหลีกเร้น(เพื่อการภาวนา)"

คุณค่าแท้ของการใช้สอยเสนาสนะ ที่อยู่อาศัย เพียงเพื่อป้องกันความหนาว ความร้อน ลม แดด ฝน บรรเทาอันตรายที่เกิดจากฤดู เช่น หนาวจัด หมอกลง หิมะตก ลมหนาวแล้งจัดก็ร้อนระอุแดดกล้า ฤดูฝนก็ป้องกันพายุลมแรงหรือฟ้าคะนอง น้ำท่วมก็ช่วยป้องกันสรรพสัตว์มีพิษต่างๆ เช่น ตะขาบ งู มาเบียดเบียนผู้อยู่อาศัยได้ และที่สำคัญส่งเสริมหรือเพื่อความยินดีในการหลีกเร้นเพื่อการภาวนา(ปฏิบัติธรรม) พิจารณาอย่างพวกเราก็เพื่อเป็นฐานหรือเป็นที่ตั้งในการสร้างสรรค์ผลงานหรือสร้างคุณงามความดีให้กับหน่วยงาน ให้กับสังคมได้ เช่น ที่ทำการกำนัน ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ศาลาประชาคมหมู่บ้าน สถานที่ราชการเช่น ศาลากลางจังหวัด หอประชุม สวนสาธารณะ บริษัท โรงงาน โรงเรียน วัด ของใช้ต่าง ๆ เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง เก้าอี้ โทรทัศน์ พัดลม เสื่อ ที่นอน หมอน แม้ผ้าปูนั่งก็จัดเป็นเสนาสนะทั้งนั้น เพราะเป็นของอันเนื่องด้วยบ้าน องค์กร ที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงได้

คุณค่าเทียมของการใช้สอยเสนาสนะ ที่อยู่อาศัย มิได้กล่าวไว้โดยตรง หากพิจารณาในปัจจุบันคือ การสร้างบ้านหลังใหญ่โตเพื่อโชว์หรือโอ้อวดฐานะ การสร้างโบสถ์สร้างวิหาร ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ แปดปีเก้าปีผ่านไปก็ยังไม่เสร็จ พอเสร็จแล้วทำความสะอาดไม่ไหว วัดก็ไม่มีพระจะอยู่จำพรรษา อุปัชฌาย์หาพระคู่สวดไม่ได้ ญาติโยมชาวบ้านก็ไม่ค่อยเข้าวัดไปทำบุญไปช่วยกันทำความสะอาด ปล่อยให้วัดเป็นที่อยู่อาศัยของนกพิราบ มองทั้งสองด้าน ชาวบ้านก็เน้นความหรูหรา โก้เก๋ มีสไตล์ ติดแอร์ เครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน บางคนมีบ้านหลายหลัง แม้ว่าจะเป็นชนบทมีรายได้น้อย ก็สร้างตามแบบหรือสไตล์คนในเมือง หาได้สนใจพิจารณาที่คุณค่าแท้ของบ้านเรือนหรือการสร้างเสนาสนะตามคุณค่าแท้ของการใช้ประโยชน์กันไม่ ชาวบ้านมักจะพูดกันเล่นๆ ว่า "บาน" สร้างบานเพราะนำเงินมาถมมาใส่ซื้อของมาตกแต่งเท่าไหร่ ก็ไม่รู้จักเต็มไม่รู้จักเสร็จสักที บางคนค้าขายสิ่งเสพติด บางคนไม่มีเงินต้องไปกู้เงินธนาคารมาสร้างบ้าน เพื่อให้ผู้อื่นเห็นว่าตนเองมีฐานะความเป็นอยู่หรูหรา โก้เก๋ ที่อยู่อาศัยของคนในปัจจุบันจึงติดยึดอยู่ที่ "ค่านิยม" มากกว่า "ค่าที่แท้จริง"

ปัจจุบันปัจจัยสี่ดั่งคำกล่าวของผู้รู้ที่กล่าวกันสั้น ๆ ว่า "ข้าว ผ้า ยา บ้าน" นั้น อาจไม่คลอบคลุมความจำเป็นพื้นฐานการดำเนินชีวิต ปัจจัยที่ห้า ที่หกจึงควรนำมาพิจารณาเพื่อให้มองเห็นคุณค่าแท้ คุณค่าเทียมบ้างเช่นกัน

๕. ด้านยวดยานพาหนะคือ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ คงปฏิเสธการมีรถยนต์หรือจักรยานยนต์ของแต่ละบ้านไปไม่ได้ แถวบ้านผู้เขียนบางหลังคาเรือนมีรถจักรยานยนต์(รถเครื่อง)เท่ากับจำนวนคนในบ้านเลยคือมีสมาชิกห้าคน ก็มีรถเครื่องอยู่ห้าคัน ลองพิจารณาโดยโยนิโสมนสิการแบบคุณค่าแท้-คุณค่าเทียมกันดูสักหน่อย

คุณค่าแท้ของการใช้รถหรือยานยนต์ อยู่ตรงไหน อยู่ตรงการพาเจ้าของไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างรวดเร็ว สะดวก แข็งแรง ทนทาน เข้าลักษณะ"เหล็กหุ้มเนื้อ" เพราะหากเฉี่ยวชนมีความปลอดภัยสูง ประหยัดน้ำมัน ราคาไม่แพงมากนัก เหมาะสมต่อการทำงานหรือประโยชน์เกื้อกูลการทำงาน หรือเหมาะสมต่ออาชีพหน้าที่ของตน ยกตัวอย่าง ผู้ประสบความสำเร็จ ข้าราชการ ครู อาจารย์ นายแพทย์ มีความเหมาะสมที่จะใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพราะมีความสามารถในการหาเงิน เก็บเงินได้มาก รถยนต์รถกระบะก็ไม่จำเป็นต้องเป็นรุ่นใหม่ที่ราคาแพงลิบลิ่ว ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของเงินเดือน ค่าครองชีพ การใช้จ่าย การใช้งาน รถที่ซื้อเป็นเงินสดหรือเงินผ่อน พิจารณาโดยรอบคอบละเอียดลึกซึ้ง หลากหลากองค์ประกอบเพื่อการตัดสินใจที่จะมีรถยนต์เป็นของส่วนตัว มิใช่ซื้อแล้วเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย

รถจักรยานยนต์มีความเหมาะสมกับกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษาผู้ยังใช้เงินพ่อแม่ในการซื้อหามาใช้ ยังต้องกู้เงินเรียน ผู้ยังต้องพึ่งพิงทางบ้าน ผู้ยังต้องทำงานหาเช้ากินค่ำกำลังเก็บเงิน การใช้รถก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง ความแข็งแรง ทนทาน ราคาไม่แพงเกินกำลังจะซื้อหา เวลาขับขี่ควรใส่หมวกกันน๊อกป้องกันอุบัติเหตุด้วย เพราะมอเตอร์ไซค์เข้าลักษณะ "เนื้อหุ้มเหล็ก" ควรพิจารณาประกอบด้วยว่า มีเงินเติมน้ำมันหรือไม่ เงินที่เติมน้ำมันก็เป็นเงินของพ่อแม่ส่งมาให้ หรือหามาด้วยตนเอง ต้องคิดด้วยสติปัญญาว่าควรใช้อย่างประหยัด ใช้อย่างเหมาะสมคุ้มค่า ใช้รถไปเพื่ออะไร ไปเรียนหนังสือ ไปค้าขาย ไปทำธุรกิจส่งของส่งเอกสาร เอาไว้รับส่งคนรักลูกเรียนหนังสือ ยามว่างเข้ากลุ่มขับวินก็ยังช่วยให้ได้เงิน รู้จักดูแลรักษารถให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้อย่างดี คุณค่าแท้ก็จักบังเกิดขึ้น

คุณค่าเทียมของการใช้รถหรือยานยนต์ อยู่ตรงไหน เป็นอย่างไร คงไม่ต้องกล่าวถึงกันมาก มีให้เห็นในปัจจุบันคือ ความไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมียินดีในสิ่งที่ตนเองได้ มีคันหนี่งอยากมีคันสอง มีรุ่นหนึ่งแล้วอยากมีรุ่นสอง มีการเปลี่ยนรถ ซื้อรถตามอารมณ์ความชอบใจของตัวเอง ไม่สนว่าตนจะมีเงินมากน้อยเพียงใด ฐานะการเงินในปัจจุบันเป็นอย่างไร เห็นเขามีหรือคนอื่นมีรุ่นไหนก็อยากมีตาม และแสวงหามาจนได้ เพื่อแสดงหรือโชว์ให้บุคคลอื่นได้เห็นถึงฐานะ มีความร่ำรวย มีความโดดเด่น ความภูมิฐาน ตามค่านิยมที่ตลาดมอบมาให้ เช่น เมื่อขับรถยนต์ยี่ห้อนี้แล้วจะดูแข็งแกร่งดั่งเป็นเศรษฐี หรือรถยนต์สปอร์ต(เก๋ง)โก้หรู มีระดับดูไฮโซ ผู้ซื้อก็จะซื้อตามการโฆษณาชวนเชื่อหรือการประชาสัมพันธ์นั้นเราในฐานะผู้ใช้ก็หลงยึดติดได้ปลื้มไปกับค่านิยมที่เขาสร้างไว้ให้ เกิดความรู้สึกหรือคุณค่าเทียมว่า เมื่อได้ขับขี่รถยนต์ยี่ห้อนี้ โทนสีแบบนี้แล้ว ดูเหมือนเป็นเศรษฐี เราดูเหมือนเท่ หรือดูเหมือนคนมีเงินมีฐานะร่ำรวยเลยนะ จิตปรุงแต่งตามไป

รถจักรยานยนต์ก็เช่นกัน มีการนำดารานักแสดงมาขี่อวดขี่โชว์ล่อน้ำลายผู้อยากมีอยากได้รถรุ่นดังกล่าว เห็นว่ามีแล้วขับขี่แล้วจะทำให้ดูเท่ ดูมีระดับเหมือนการโฆษณา ซึ่งในความเป็นจริงคุณค่าต่าง ๆ เหล่านี้การตลาด ความคิดที่ประกอบด้วยตัณหา หรือจิตที่ขาดสติปัญญาความเฉียบคมของเรา เป็นตัวปรุงแต่ง สร้างจินตนาการให้คุณค่าไปเองทั้งนั้น นักเรียนนักศึกษาก็อยากทำตาม อยากได้รุ่นใหม่ไปเรื่อยๆ บางคนมีรถแล้วแทนที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง กลับพากันนำไปแต่ง นำไปขับขี่บิดแข่งกันบนท้องถนน เป็นเด็กแว๊น ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อชาวบ้าน บางคนใช้รถเป็นพาหนะในการจี้ปล้น ลักขโมย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นคุณค่าเทียมของการมีรถปัจจัยคือ ยานยนต์ไปเสียทั้งหมด

หากพิจารณาโดยแยบคายอย่างพระท่าน คงกล่าวคำได้ในลักษณะดังต่อไปนี้...

"เราย่อมพิจารณาโดยแยกคายแล้ว ใช้สอยรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ด้วยเห็นว่าช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็วต่อการเดินทางไปทำงาน ไปรับส่งลูก คนรัก มีความแข็งแรงทนทาน ป้องกันแดดฝน ประหยัดน้ำมัน ราคาไม่แพงมากนัก ไม่ใช่ใช้สอยเพียงเพราะเป็นรถมือหนึ่งเสมอ เป็นรถตลาดขายได้ราคา มีสีสันสวยงาม มีเครื่องอำนวยความสะดวกภายในครบครัน เบาะนุ่มปรับเอนได้สบาย กรองแสงได้มืดมิดซ่อนกิ๊กและสิ่งผิดกฎหมายได้อย่างดี เวลาขับขี่แล้วเกิดความรู้สึกจินตนาการได้ว่า 'ข้าเป็นเศรษฐี ข้าเป็นคนมีเงินมีระดับ(นะโว้ย)' ดังนี้" (ฮา)

๖. โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์มือถืออีกปัจจัยหนึ่งที่อยากกล่าวถึงในปัจจุบัน บางท่านอาจจะเรียกชื่อแตกต่างจากนี้ก็ขอให้มีความเห็นหรือมีความเข้าใจที่ตรงกัน

คุณค่าแท้ของโทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์บ้านก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก คือ การโทรออก การรับสายโทรเข้า คุณภาพของสัญญาณที่ใช้ เวลาพูดคุยไม่สะดุด ลำโพงไม่ขาด คุณภาพของแบตเตอรี่ที่ดี คุยได้นาน ไม่มีผลเสียต่อระบบสมองและสายตา เวลาโทรไม่แพง คุณค่าแท้อยู่ที่การใช้งานหรือส่งเสริมประสิทธิภาพดีต่อการทำงาน เหมาะสมต่อผู้มีฐานะ ผู้ประกอบอาชีพ นักธุรกิจ ข้าราชการ ผู้หาเงินคล่อง การใช้งานก็ต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายประกอบด้วยว่า จ่ายเป็น "รายเดือน" "รายวัน" "รายนาที" หรือ "รายวินาที" เพราะการคิดค่าโทรนั้นละเอียดมากเราในฐานะผู้ใช้ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบในหลาย ๆ ประเด็น หากเป็นนักธุรกิจผู้ทำการค้าก็คงไม่น่าห่วงเท่าไหร่ หากเป็นผู้ใช้ที่เป็นชาวบ้านทั่วไปหรือเยาวชนคิดไม่ทัน ตามไม่ทันก็น่าห่วง เพราะเราไม่สามารถมองเห็นตัวเงินที่ลอยอยู่กลางอากาศได้ แต่ละวินาทีมันวิ่งสวนทางกันให้วุ่นวายไปหมด เงินวิ่งเข้าวิ่งออกไปกับสัญญาณโทรศัพท์และสัญญาณอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือของหลายๆ คนอยู่ตลอดเวลา การใช้งานจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ละเอียดลึกซึ้ง ไม่เผลอหรือประมาทในการใช้สอย

คุณค่าเทียมของการใช้สอยโทรศัพท์ ความจริงหากกล่าวเรื่องนี้มากไป บางคนบางท่านอาจเกิดความไม่พอใจต่อผู้เขียนเอาได้ กล่าวหาว่ามายุ่งในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ขอพิจารณาสักนิดก็แล้วกันคุณค่าเสริมของโทรศัพท์คือ การใช้งานที่หลากหลายจนผู้ใช้ก็เรียนรู้ไม่รู้จักจบสิ้น จนมีคำกล่าวตามมาว่า "สังคมก้มหน้า" เพราะต้องใช้เวลาในการศึกษาโทรศัพท์รุ่นใหม่ ๆ มากหรือเล่นเฟส เล่นไลน์มากเป็นพิเศษ จนไม่เวลาให้ผู้อื่นสนใจคนอื่น ความฟุ่มเฟือย การสิ้นเปลืองเวลาอย่างไม่คุ้มค่า การผลาญเงินอย่างไม่รู้ตัวถึงรู้ก็น้อยเต็มที มุมมองหรือความคิดของผู้ปกครองในปัจจุบัน พ่อแม่อยู่ห่างไกลตาลูกมีทั้งข้ามจังหวัดและไม่ข้ามจังหวัด ต้องการเพียงเพื่ออยากให้ลูกมีโทรศัพท์ติดตัวเพื่อที่ว่าเวลามีปัญหาหรืออยู่ห่างไกลตรงไหนพ่อแม่จะได้โทรหาเนื่องจากคิดถึง โทรตามหรือไปรับได้ถูกที่ ความจริงเวลาพ่อแม่โทรหาหรือโทรตาม เด็กมักจะปิดเครื่องหนีไปซะงั้นปัจจุบันโทรศัพท์อาจไม่แพงมากนัก หนึ่งพันสองพันกว่าบาทก็สามารถเป็นเจ้าของได้แล้ว พร้อมกับลูกเล่น แอ๊พเสริมอะไรต่าง ๆ มากมาย ที่เอาไว้ให้ศึกษาเรียนรู้กัน เด็กหรือเยาวชนต้องการโทรศัพท์ที่มีคุณภาพ ราคาแพง พ่อแม่ก็สรรหาซื้อมาให้ โดยลืมคิดไปไกลอีกนิดว่า ระเบียบวินัยในชีวิตของเด็กจะเป็นยังไง ค่าโทร ค่าเน็ต ที่จะต้องเติมเงินหรือจ่ายเป็นรายเดือน รายนาทีนั้นจะหมดไปอีกสักเท่าไหร่

ลองคิดเล่น ๆ ง่าย ๆ เช่น ปัจจุบันมีเยาวชนเติมเงินวันละ 22 บาท ค่าบริการสองบาท 20 บาทใช้งานได้ 1 วัน เวลา 1 เดือน ผู้ปกครองจะต้องจ่ายให้ค่าโทรศัพท์ลูก 660 บาท เมื่อครบ 1 ปี ผู้ปกครองจะต้องจ่ายให้ค่าโทรศัพท์ของลูก 7,920 บาท รวมกับตัวเครื่องรุ่นใหม่ที่ราคาถูกหน่อย 2,390 บาท เมื่อนำมาคำนวนรวมกันแล้ว 1 ปี เท่ากับ10,310 บาท เติมเงินวันละ 22 บาท ยังเป็นเงินมิใช่น้อย ๆ เฉพาะค่าโทรศัพท์อย่างเดียวที่ใช้ไปเพื่อบันเทิงสนุกสนาน แล้วค่าอื่น ๆ อีกล่ะ เงินเหล่านี้เยาวชนแบ่งเบาผู้ปกครองได้กี่บาท ทำงานตอบแทนให้พ่อแม่กันบ้างไหม ท้องถิ่นชนบทก็ต้องถามว่า ดำนาเป็นไหม่? เกี่ยวข้าวเป็นไหม? หักข้าวโพดเป็นไหม? ทำกับข้าวไว้รอพ่อแม่บ้างไหม? ทำความสะอาดบ้านให้พ่อแม่ให้ผู้ปกครองบ้างไหม? เรียนได้เกรดเอ(4)หรือไม่? คำตอบส่วนใหญ่ "ไม่เป็น" "ไม่ได้" ปัจจุบันผู้ปกครองจึงเลี้ยงลูกด้วยเงิน ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยความอบอุ่นด้วยการให้ความคิดหรือสติปัญญา

ขณะเดียวกันหากหันกลับไปมองกลุ่มคนทำงานกลุ่มนักธุรกิจที่มีการติดต่อค้าขาย ติดต่อคู่ค้า การใช้โทรศัพท์จักก่อให้เกิดผลบวก มีรายจ่ายน้อยกว่ารายรับ เพราะเขาเหล่านั้นใช้ไปเพื่อประโยชน์ต่อการทำงานอย่างแท้จริง เช่น ใช้เป็นหมายเลขเพื่อเอาไว้เป็นกระเป๋าเงินในการเติมเงินให้ผู้อื่น ใช้เป็นมันนี่ เป เป็นจุดชำระค่าบริการพื้นฐานต่าง ๆ โทรศัพท์แบบนี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็จะมีรายรับมากกว่ารายจ่าย เพราะได้เปอร์เซ็นต์จากการเติมเงิน การให้บริการลูกค้าในแต่ละครั้ง การกดเติมเงินก็ไม่เสียตังค์ในเครื่องของตน เป็นต้น

ปัจจัยด้านนี้คงไม่ต้องพิจารณาแบบพระกันแล้วนะครับ หวังว่าหลายท่านที่อ่านมาตั้งแต่ต้นคงพอเข้าใจและจะสามารถกำหนดคำพิจารณากันได้เป็นอย่างดี

เราให้คุณค่าหรือตีคุณค่าของปัจจัยต่าง ๆ ด้านคุณค่าแท้ด้วยสติปัญญา คือพิจารณาอย่างรอบคอบ แยบคาย สุขุมละเอียดลึกซึ้งก่อนการบริโภคอุปโภคหรือการใช้สอยปัจจัย ทุกขเวทนาหรือสุขเวทนา อันเกิดจากการใช้สอยปัจจัยต่าง ๆ มักแก้ไขได้ด้วยสติปัญญาได้เสมอ

ส่วนด้านคุณค่าเทียมของปัจจัยต่าง ๆ เราให้คุณค่าหรือตีค่าของสิ่งของเหล่านั้นด้วยอวิชชา(รู้ไม่จริง) ด้วยตัณหา(ความทะยานอยาก) ด้วยความชอบใจความพอใจของตนเอง ทุกขเวทนาหรือสุขเวทนา อันเกิดจากการใช้สอยปัจจัยต่าง ๆ มักแก้ไขด้วยอวิชชาและตัณหาเสมอเช่นกัน

สิ่งสำคัญก็คือว่า "ทำอย่างไรจะให้คนทั้งหลายเกิดความคิด ตั้งใจคิด หรือต้องคิดทุกครั้ง เวลาจะใช้สอยปัจจัยต่าง ๆ คิดให้เห็นคุณค่าแท้และคิดให้เห็นคุณค่าเทียมหรือคุณค่าเสริมได้ทันท่วงที ทันต่อสถานการณ์ ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญกว่า...ฉะนั้นแล้ว จงอย่าหยุดคิด"

อ้างอิง

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒.ข้อ ๒๓. หน้า ๒๒-๒๓. สัพพาสวสูตร "วิธีพิจารณาปัจจัยสี่"

http://www.geocities.ws/tmchote/tpd-mcu/tpd12.htm

งานวิจัยเรื่องการใช้ปัจจเวกขณวิธี ในการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน...

http://www.mcu.ac.th/site/researchcontent_desc.php?ct=1&r_id=22

พระไตรปิฏก เล่มที่๗ พระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม ๗ ภาค ๒, "เรื่องพระเจ้าอุเทน"...

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=7&A=7565&Z=7614

yonisomanasikara_thinking_in_ways_of_buddhadhamma.pdf...

ขอบคุณทุกท่านที่สนใจขอบคุณโกทูโนว์

หมายเลขบันทึก: 580840เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2014 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2015 11:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

บันทึกนี้ผมเห็นแรงตั้งใจ แรงพลังข้อมูลข้างในพี่หนานมากนะครับ ทั้งวิเคราะห์ เจาะลึกให้คิดในวิถีการใช้ตัวช่วย (สิ่งอำนวยความสะดวก ไปสู่ความสูญเสียง่ายๆ) ของชีวิตของคนเราทุกวันนี้ นี่แหละครับที่ผมอยากเห็นนักคิด นักบันทึกที่มองสังคม เตือนสังคม มิใช่เอาแค่บันทึกเพื่อบำบัดตนเท่านั้น

เพราะที่นี่คือ เวทีสื่อสมอง เพื่อมองสังคมให้ออก ...เราให้คุณค่าหรือตีคุณค่าของปัจจัยต่าง ๆ ด้านคุณค่าแท้ด้วยสติปัญญา คือพิจารณาอย่างรอบคอบ แยบคาย สุขุมละเอียดลึกซึ้งก่อนการบริโภคอุปโภค...

ขอบคุณจริงๆครับพี่หนาน

_สวัสดีครับพี่หนาน...

_มีสติ..รู้คิด...

_ขอบคุณครับพี่หนาน...

_หนาวละน่ครับ

ขอบคุณอาจารย์ ส.รตนภักดิ์ มากนะครับ ที่ให้ข้อคิด คำชม เชิงวิพากษ์ น้อมรับเพื่อการพิจารณาปรับปรุงงานเขียนในโอกาสต่อไป คนเราหากสาระมากเกินไปก็ไม่ค่อยสนใจเหมือนกันนะครับอาจารย์...ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมมาอ่านมากมายครับผม

ขอขอบคุณคุณครู

tuknarak

อีกท่านมากครับ ที่ติดตามอ่านและให้กำลังใจด้วยดีตลอดมา

อากาศเย็นแล้ว รักษาสุขภาพด้วยนะครับ

ขอบคุณคุณ

เพชรน้ำหนึ่ง

อีกท่าน ที่กรุณาแวะมาเยี่ยม พร้อมทั้งนำกระท่อมน้อยดอกไม้สวยๆ มามอบให้ได้ชื่นตาชื่นใจ...หากมีโอกาสจะแวะไปเยี่ยมชมนะครับผม

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท