สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

>>> สื่อการเรียนรู้วิชาเคมีโดนๆ ! ฝีมือเยาวชน ... อยากรู้เคมี...ซอมบี้ช่วยได้


เด็ก เซนต์ฟรังฯ แจ๋ว ทำวิชาเคมีแสนยากให้กลายเป็นเรื่องง่ายด้วย "นายซอมบี้กับเคมีที่รัก" เกมแอนิเมชั่นสำหรับการเรียนรู้เรื่องชีวโมเลกุลผ่านแบบทดสอบและจำลองการ ทดลองแบบเสมือนจริง ช่วยเสริมประสบการณ์ในการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในหลายโรงเรียนที่ไม่มี โอกาสได้ทำการทดลองจริงในห้องทดลอง ให้ได้รู้และเข้าใจเรื่องของชีวโมเลกุลมากขึ้น


ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วิชาเคมีคงยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง "ชีวโมเลกุล" ยิ่งยากที่จะเข้าใจ อีกทั้งการทดลองยังต้องใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์และสารเคมีราคาแพง ทำให้การเรียนรู้ผ่านการทำการทดลองไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง


จากปัญหาที่มี จึงกลายเป็นโจทย์ที่ทำให้ 3 สาวน้อยจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ อย่างนางสาวธัญจิรา สุกกรี นางสาวนุชดี เหล่าสุรสุนทร และเด็กหญิงณัฐณิชา เดชะเอื้ออารีย์ คิดค้นวิธีการนำเสนอเรื่องราวใหม่เป็นเกมนายซอมบี้กับเคมีที่รัก เกมที่ทำให้เคมีแสนขมให้เป็นขนม แสนหวานสำหรับคนเรียน โดยมีอาจารย์ มัทนา ประภาเมือง เป็นผู้ให้คำปรึกษา และสนับสนุนการเข้าโครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาช่วยสนับสนุนในการสร้างสรรค์ผลงาน


นางสาวธัญจิรา สุกกรี เล่าว่าโครงการ "นายซอมบี้กับเคมีที่รัก" หรือ "Zombio" นี้ ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อส่งเสริมการเรียนรู้วิชาเคมี เรื่อง สารชีวโมเลกุล ซึ่งผู้ใช้จะสามารถศึกษาเนื้อหาและทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้ด้วยตนเอง และได้รับความบันเทิงควบคู่ไปด้วย โดยสื่อการเรียนรู้นี้ถูกพัฒนาขึ้นด้วยโปรแกรม Adobe Illustrator CS6 , Audacity, Zinc 4.0 และ Adobe Flash CS6 โดยใช้ภาษา Action script 3.0 ในการควบคุมการทำงานของซอฟแวร์


"ผู้เล่นจะต้องสวมบทบาทเป็นซอมบี้ หลงใหลในการเป็นมนุษย์และได้สร้างห้องทดลองใต้ดินในบ้านของตนขึ้น ซอมบี้ต้องต้องผ่านการทำการทดลองและแบบทดสอบทั้งสี่หัวข้อการเรียนรู้เพื่อ ให้ตนเองสามารถเป็นมนุษย์ได้ในที่สุด ในส่วนของซอฟแวร์แบ่งเป็นสองส่วนหลักๆ คือ ห้องทดลองและบทเรียนซึ่งมีห้าหัวข้อการเรียนรู้ย่อย และสี่แบบทดสอบตามหัวข้อการเรียนรู้แต่ละหัวข้อ ซึ่งมีลักษณะการนำเสนอบทเรียนในลักษณะแอนิเมชัน เพื่อให้สื่อการเรียนรู้มีความน่าสนใจ"



ในส่วนของเนื้อหา แบ่งเป็นห้าบทเรียน ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ลิพิด กรดนิวคลีอิก และสอนเนื้อหาการทดลอง โดยสี่บทเรียนแรกจะนำเสนอในลักษณะของแอนิเมชันและมีส่วนของแบบทดสอบที่มีรูป แบบต่างกันออกไปในแต่ละหัวข้อการเรียนรู้ เช่น คาร์โบไฮเดรต ใน ลักษณะการจำแนกกลุ่ม ซอมบี้จะกำหนดโจทย์มาว่าเขาต้องการน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว คู่ หรือใหญ่ โดยตัวเลือกจะมีสามตัวเลือก เป็นชื่อสารต่างๆ โปรตีน ในลักษณะคำถามสี่ตัวเลือกลิพิด ใน ลักษณะการจำแนกกลุ่ม จะมีสถานการณ์จำลองเกิดขึ้นที่ห้องครัว ให้เลือกว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากการประกอบอาหารด้วยอะไร จะมีสองตัวเลือก คือ ไขมัน หรือ น้ำมัน และนิวคลีอิก ในลักษณะการจำแนกกลุ่ม โดยจะกำหนดโจทย์เป็นลักษณะของกรดนิวคลีอิก แล้วให้จำแนกว่าเป็น DNA หรือ RNA


อีกจุดที่น่าสนใจอย่างยิ่งของ เกมนี้คือส่วนของการสอนทำการทดลอง ที่จะมีสามหัวข้อหลักๆคืออุปกรณ์ทำการทดลอง วิธีทำการทดลอง และสรุปผลการทดลอง วิธีทำการทดลองจะมีลักษณะเป็นแบบ Interactive คือให้ผู้เรียนลองทำการทดลองไปตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งในส่วนของการทดลองจะนำเสนอเป็นห้องทดลอง ที่สามารถเลือกทำการทดลองได้ทั้งสิ้น 5 การทดลอง คือทดสอบน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว การทดสอบโปรตีน การทดลองกรดไขมันไม่อิ่มตัวในน้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์ การทดลองการเตรียมสบู่ และการทดลองการสกัดดีเอ็นเอจากหอมหัวใหญ่



"อุปกรณ์และสารเคมีที่ใช้ในทั้งห้า การทดลองจะถูกนำมาวางรวมกัน ผู้เล่นได้ตัดสินใจเลือกนำมาใช้อะไรและทำการทดลองอย่างไร ซึ่งเป็นการให้อิสระในการเรียนรู้ ได้ลองผิดลองถูก เรียนรู้วิธีการทำการทดลองที่ถูกต้องโดยไม่ต้องใช้สารเคมีจริง ประหยัดทั้งเวลา และทรัพยากร ปลอดภัยกว่าการทดลองในห้องทดลองจริงด้วย แถมยังมีการประเมินผลออกมาเป็นเกรดเมื่อเล่นเสร็จทุกกิจกรรม ยิ่งทำให้เกมนี้ท้าทายมากขึ้น" นางสาวนุชดีทิ้งท้าย


ปัจจุบันโปรแกรมนี้จะอยู่ในช่วงของการ พัฒนาเนื้อหา และแก้ไขข้อบกพร่องบางจุด คาดว่าอีกไม่นานจะพัฒนาได้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งทีมผู้พัฒนาเองก็มีแผนที่จะนำทูนเกล้าถวายให้แก่มูลนิธิราช ประชานุเคราะห์เป็นการกุศล เผยแพร่ต่อไปเป็นสื่อการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์แก่นักเรียนในโรงเรียน ห่างไกลที่ไม่มีโอกาสได้ทำการทดลองในห้องทดลองจริง รวมถึงกลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีความสนใจในเรื่องของสารชีวโมเลกุลที่ไม่อยากจะอ่านหนังสือที่เต็มไป ด้วยตัวอักษร รวมถึงกลุ่มนักเรียนที่ชอบใช้เทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ให้ได้เข้าใจเรื่องของชีวโมเลกุล เป็นทางเลือกใหม่ที่จะทำให้วิชาเคมีที่แสนซับซ้อนจะไม่ยากอีกต่อไป #


ผู้สนใจสามารถติดตามผลงานของเยาวชนคนเก่ง ICT ในโครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" ปีที่ 2 ประจำปี 2557 ได้ที่ https://www.scbfoundation.com/project/ต่อกล้าให้เติบใหญ่ #

หมายเลขบันทึก: 580688เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2014 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2014 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชื่นชมค่ะ...ผู้ใหญ่วัยนี้ก็ได้เรียนรู้การสร้างสรรค์ดีๆเช่นนี้ด้วย...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท