จิตตปัญญาเวชศึกษา 204: วิชาอะไรกันนี่?


"นี่มันคือวิชาอะไร?"

วันก่อนผมและอาจารย์จารุรินทร์มี class สอนนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๖ เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอีกครั้งหนึ่ง หัวข้อนี้เราจัดสาระต่างๆกระจายไปตั้งแต่ชั้นปีที่ ๒, ๓, ๔, ๕ และ ๖ เหมือนการฉีดวัคซีน ต้องมีการกระตุ้น การเสริม ปูพื้นทางทฤษฎี ปฏิบัติ จนไปถึงการรับเข้ามาอยู่ในเจตคติ ในหัวใจ จึงต้องสอดแทรกเข้าไปเป็นระยะๆในบริบทที่เหมาะสม นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๖ จะมีกิจกรรมนี้ประมาณ ๓ ครั้ง คือตอนอยู่อายุรกรรม กุมารเวช และอีกครั้งตอนอยู่ศัลยกรรมหรือสูตินรีเวช ซึ่งก็ถือว่าไม่มากนัก แต่นี่คือเวลาทั้งหมดที่เราพอจะจัดสรรกันมาได้ กลุ่มนักเรียนก็ใหญ่ขึ้นๆ เดี๋ยวนี้สอนข้างเตียงจะไม่เหมือนในอดีตที่มีนักเรียนประมาณ ๖-๗ คน ส่วนใหญ่จะเป็นกว่าสิบคนขึ้นไป บางทีก็เหยียบๆ ๒๐ หรือกว่านั้น

คนไข้วันนี้เป็นครูที่เกษียณอายุแล้ว เป็นมะเร็งที่มีการกระจายไปยังกระดูกสันหลัง ทำให้ขาอ่อนแรง ด้วยสาเหตุบางประการผมมีความชอบส่วนตัวในการที่จะพูดคุยหรือฟังคนไข้ที่เป็น ครูเล่าเรื่องราวต่างๆ ยิ่งเป็นครู "มืออาชีพ" คือทำมานาน หลายสิบปีจนเกษียณ ยิ่งน่าสนใจ เพราะ "ความเป็นครูจนเข้าเนื้อ" นั้น ทำให้เกิดมีมุมมองที่พิเศษกับสิ่งที่เกิดขึ้น และครูมักจะไม่มีปัญหาในการพูดหรือแสดงออกกับคนภายนอก โดยทั่วๆไปแม้กระทั่งคนธรรมดาๆอาชีพอื่นๆ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย จะมีโอกาส "ค้นพบ" สิ่งสำคัญของชีวิตอยู่แล้ว แต่ถ้ายิ่งกับบางอาชีพ อาทิ ครู หมอ ผู้พิพากษา ตำรวจ ทหาร ที่งานประจำจะ "สัมผัส" ชีวิตอย่างคลุกคลี พบเห็น "ธรรมชาติ และธรรมดาของชีวิต" มามากๆ จะยิ่งทำให้เรื่องราวเหล่านี้ถักทอเป็นสีสันอันวิจิตรพิศดารน่าทึ่งได้มาก ขึ้น

ผมทำหน้าที่เป็นคนมุงเช่นเคย (และจดบันทึก) อาจารย์ลิลลี่เป็นคนสัมภาษณ์

"สวัสดีค่ะ คุณครูคะ" หมอทักทาย กลุ่มหมอและนักศึกษาแพทย์ประมาณ ๒๐ คนเคลื่อนขบวนมาล้อมเตียงคุณครู หมอหันไปทักทายหนุ่มน้อยที่นั่งอยู่บนโซฟาข้างเตียง "น้องคนนี้เป็นญาติใช่ไหมคะ?"
"ลูกของน้องค่ะ" คนไข้ตอบ "หลานเค้ามาช่วยเฝ้า"
"น่ารักมาเลยค่ะ หนูนั่งอยู่ด้วยก็ได้ค่ะ ไม่เป็นไร ไม่ต้องออกไป" หมอบอกกับหนุ่มน้อยผู้ทำท่าจะขยับตัวออกไปจากบริเวณ
"วันนี้หมอจะมาขอคุยกับคุณครูสักนิดนึง ไม่นานมาก มีน้องหมอมาบอกคุณครูแล้วใช่ไหมคะ คุณครูพอไหวไหมคะ?"
"ได้ๆ ไม่มีปัญหา คุยได้ค่ะ"
"ทราบว่าคุณครูเกษียณแล้ว ออกมานานรึยังคะ?"
"ออกมาตั้งแต่อายุ ๕๕ ค่ะ ออกมาพร้อมๆกันกับเพื่อนเก้าคน"
"โห ออกมากันกับเพื่อนเลย ตั้งใจจะออกมาทำอะไรกันคะ?"
"อ๋อ เปล่า ชั้นออกมาดูแลคุณพ่อกับคุณแม่ ท่านอายุมาก ไม่ค่อยแข็งแรง"
"แล้วท่านเป็นอย่างไรบ้างคะ?"
"ออกมาสักปีกว่าๆ คุณพ่อก็ไม่สบาย แล้วก็เสียไป" คนไข้หน้าสลดลง "เหลือแต่คุณแม่ ตอนนี้..."
คุณครูพูดต่อ "ตั้งใจว่าจะออกมาเพื่อดูแลท่านจนถึงที่สุด พอท่านจากไปดีหมดแล้ว เราจะได้ไปเที่ยว แต่นึกไม่ถึงว่าเรากลับ......" น้ำตาไหล
หมอหยิบกระดาษทิชชูจากหัวเตียงส่งให้คุณครู คุณครูรับกระดาษมาซับน้ำตา "ชีวิตมันพลิกผัน กลายมาเป็นเรามาป่วยเสียก่อน....."
"แล้วตอนนี้คุณแม่คุณครูอยู่กับใครล่ะคะ?"
"มีพี่สาวเค้าดูแล แล้วน้องสาวอีกคนเค้ามีครอบครัว ก็ส่งหลานมาดูชั้นที่นี่ ชั้นตัวคนเดียว ไม่มีครอบครัว เลยกลายเป็นภาระ.."
"น้องเรียนจบรึยังคะ?" หมอหันไปถามหนุ่มน้อย
"จบแล้วครับ พอดีจะหางานทำอยู่ แต่คุณป้าไม่สบาย"
"หนูก็เลยมาเฝ้าดูแลคุณป้าให้?"
"ครับ"
"ได้อยู่นะ? ไหวไหม?" หมอถามหนุ่มน้อย
หนุ่มน้อยยิ้ม "ได้ครับ"
"น่ารักนะคะ คุณครู" หมอหันมาพูดกับคุณครู "คุณครูเคยสอนวิชาอะไรคะที่โรงเรียน"
"สอนหมดแหละค่ะ เลข ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ ยกเว้นอยู่วิชาเดียวคือภาษาอังกฤษ ชั้นไม่ชำนาญ ถ้าไม่ชำนาญก็ไม่ควรจะสอน ไม่รู้ก็ไม่ควรจะทำ บอกครูใหญ่ไปอย่างนั้น เค้าก็เข้าใจ"
"ลูกศิษย์เยอะเลยนะคะ สอนมาเป็นสิบๆปี"
"สอนไม่เก่งหรอก ชั้นชอบประเมินมากกว่า"
"นี่หมอก็พาน้องๆหมอพวกนี้เค้ามาเรียนจากคุณครูล่ะค่ะ เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๖ กำลังจะจบเป็นหมอกันแล้ว อีกไม่กี่เดือน"
"อือ... แล้วมาเรียนอะไรกัน?"
"มาเรียนการดูแลคนไข้ค่ะ"
"ไม่ ไอ้วิชานี้น่ะ มันวิชาอะไรเหรอ?" คุณครูปรับคำถามใหม่
"....... เอ่อ..... " หมออึ้งไปชั่วขณะ "การดูแลคนไข้ไงคะ"
"หมอก็ต้องเรียนเรื้่องรักษาหายสิ"
"อ๋อ ใช่ค่ะ เราเรียนเรื่องรักษาหาย บรรเทาอาการ แต่ก็มีคนไข้ที่มีโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายด้วย"
"ยังเด็กๆกันอยู่เลย น่าจะเรียนเรื่องที่มันศิวิไลซ์ สวยงาม สดชื่นกันมากกว่านะ เป็นหมอก็ต้องใช้ชีวิตให้มันดีๆ มีความสุข"
"แล้วควรทำเรื่องอะไรอีกคะ"
"ควรแต่งงาน มีครอบครัว จะได้มีลูกมาคอยดูแล....." คุณครูสอนต่อ "ไม่ต้องอยู่คนเดียวตอนอายุมาก ตอนไม่สบาย..."
"แต่มีหลานก็ใช้ได้เหมือนกันนะคะ" หมอสะท้อน "ถ้าแต่งงาน มีครอบครัว มีลูก ก็ต้องลูกดีๆด้วยไหมคะ ไม่งั้นก็อาจจะทุกข์เหมือนกัน"
"ก็จริง ต้องเป็นคนดีก่อนด้วย" คุณครูเห็นด้วย "แล้วเรียนวิชานี้ไปทำไมเหรอ" คุณครูยังติดใจใน <วิชา> นี้อยู่
ผมเลยเสริมขึ้นมา "น้องๆเค้าจะเป็นหมอที่ดี ต้องมีความรู้ และความชำนาญสำหรับทุกเรื่อง เหมือนที่คุณครูบอกไงครับ เราเลยต้องเรียนให้ครบวงจร เมื่อเรียนพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว...."
คุณครูเสริม "อ้อ..ใช่ ก็ต้องเรียนพระอาทิตย์ตก จริงสินะ ต้องรู้ให้ครบทั้งหมด...."
"วันนี้น้องๆหมอได้เรียนจากคุณครูเยอะเลยค่ะ"
"ดีๆ ได้เรียนอะไรกันบ้าง?" คุณครูสอบถาม หันไปมองๆน้องๆหมอที่รายล้อม
"เอ้างี้ดีกว่า เดี๋ยวหมอจะบอกให้น้องเค้าเขียนสรุปเอามาส่งคุณครูดีไหมคะ ว่าวันนี้เราได้เรียนอะไรกันบ้าง" หมอเสนอ
คุณครูพยักหน้า "ดีๆ เอามาให้ดูหน่อยนะ"

ในช่วงเวลาที่สนทนาอีกหลายเรื่องหลายราว เราสามารถที่จะเห็น "เงา" ของคนเบื้องหน้าว่าเขาคือใคร ทำอะไรมา และอยู่เพื่ออะไร สำหรับคนเราทุกคน ถ้าจะให้เลือกว่าเราเป็นใคร เราก็อยากจะเป็นคนที่เป็นอะไรสักอย่าง มีอะไรสักอย่าง และสามารถจะทำอะไรสักอย่าง มากกว่าคนที่กำลังจะจากไป คนที่กำลังป่วย คนที่กำลังทุกข์ ณ เวลานั้นเองคนที่นอนอยู่เบื้องหน้าเรา ไม่ใช่คนไข้มะเร็งระยะลุกลาม หากแต่เป็นคุณครูที่กำลังมอบบทเรียนสำคัญแก่คนอีกหลายคน แม้ว่าเธอจะนอนอยู่บนเตียงก็ตาม

ดูคุณครูจะมีความสุข

บันทึกโดย
สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
วันอังคารที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๑ นาฬิกา ๑๗ นาที
วันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเมีย

คำสำคัญ (Tags): #วิชาอะไร#Pal2Know
หมายเลขบันทึก: 578790เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2014 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2014 11:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วมีความสุข

คุณหมอได้เรียนรู้จ่กคุณครูที่ป่วยเป็นการเรียรรู้จากชีวิตจริง

ผมอ่านยังได้เรียนรู้เลยว่า

ต้องรีบแต่งงาน เดี๋ยวป่วยไม่มีคนดูแล 555555

ขอบคุณคุณหมอมากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท