หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : เรียนรู้คู่บริการ โดยนิสิตและชุมชนเป็นศูนย์กลาง


นิสิตรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับคณะครูได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การบริการวิชาการแก่สังคมผ่านการเรียนการสอน นับเป็นหัวใจหลักอีกหนึ่งเรื่องในการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน โดยสื่อให้เห็นถึงการใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน ให้นิสิตและชุมชนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และดำเนินการไปบนฐานคิดอันสำคัญคือ “การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม” หรือ “เรียนรู้คู่บริการ”

โครงการ “พัฒนาสื่อประกอบการสอนแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนบ้านดอนจำปาดอนสวรรค์ ตำบลโพนงาม  อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม” เป็นอีกหนึ่งโครงการจากหลักสูตรคอมพิวเตอร์แอนเมชันและเกม  (คณะวิทยาการสารสนเทศ) ที่สะท้อนภาพตามหลักคิดเบื้องต้นได้อย่างน่าสนใจ





โครงการดังกล่าวมีอาจารย์อรทัย สุทธิจักษ์ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ใช้รายวิชา 1205340 สัมมนาทางคอมพิวเตอร์แอนิเมชัน (Seminar in Computer Animation) บูรณาการกับการบริการวิชาการแก่สังคม ประกอบด้วยนิสิตที่ลงทะเบียนเรียนจำนวน 12 คน กล่าวคือระบบพิเศษเทียบโอน 11 คนและนิสิตระบบพิเศษ 1 คน เบื้องต้นนั้นได้ออกแบบกระบวนการให้นิสิตมีส่วนร่วมกับกิจกรรมด้วยการเป็นส่วนหนึ่งกับการค้นหา “โจทย์” ร่วมกับอาจารย์และชุมชน ทั้งการวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุของการจัดการเรียนการสอนในชุมชน การจัดลำดับความสำคัญอันเป็นความต้องการของชุมชน ตลอดจนการนำความต้องการของชุมชนมาบูรณาการให้เข้ากับ “ศาสตร์” ของหลักสูตร หรือบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอน


ระยะแรกเริ่มก่อนการลงชุมชน เห็นได้ชัดว่าอาจารย์ออกแบบกระบวนการเรียนรู้จาก “ห้องเรียนมหาวิทยาลัยสู่ห้องเรียนชุมชน”  อย่างเป็นขั้นตอน  นับตั้งแต่การสอนทฤษฏีเกี่ยวกับการสัมมนาบริการวิชาการ เช่น  

  • ความสำคัญและความจำเป็นของการสัมมนาบริการวิชาการ 
  • ขั้นตอนการจัดสัมมนาบริการวิชาการ 
  • PDCA  
  • SWOT
  • หลักการเขียนหนังสือราชการทั้งหนังสือภายนอกและหนังสือภายใน 
  • หลักการติดต่อประสานงาน   
  • ทักษะการสนทนา 

ซึ่งล้วนเป็นความรู้และทักษะที่ยึดโยงกับการเรียนรู้ทั้งในมหาวิทยาลัยและชุมชนอย่างแท้จริง 

จวบจนนิสิตเริ่มเข้าใจกระบวนการเรียนรู้มากขึ้น ทั้งนิสิตและอาจารย์จึงร่วมกันเขียนแผนการดำเนินงานการบริการวิชาการและการเรียนการสอนตามหลักคิดของ PDCA มีการจัดทำแบบสอบถาม เพื่อเก็บข้อมูลปัญหาการใช้สื่อการเรียนการสอนของคณะครู และการสำรวจความต้องการของคณะครูในการสร้างสื่อการเรียนการสอน






เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการในภาคทฤษฎีแล้ว อาจารย์ก็นำพานิสิตลงชุมชนเพื่อเก็บข้อมูล โดยระยะแรกอาจารย์ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก ถัดจากนั้นจึงเริ่มปล่อยให้นิสิตได้บริหารจัดการกระบวนการลงสู่ชุมชนด้วยตนเอง เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว นิสิตจะร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูล โดยอาจารย์จะคอยเป็นผู้ชี้แนวทางและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าคณะครูต้องการให้ช่วยอบรมการสร้างสื่อด้วยโปรแกรม 2 โปรแกรม   คือ

  • การสร้างสื่อการสอนการ์ตูนด้วย adobe flash 
  • การสร้างหนังสืออิเล็กทรออิเล็กทรอนิกส์ด้วย adobe Indesign 

ดังนั้นนิสิตจึงแบ่งกลุ่มออกเป็น ๒ กลุ่มเพื่อรับผิดชอบเรื่องที่จะนำไปสู่การบริการวิชาการแก่สังคมนับตั้งแต่การการศึกษาวิเคราะห์หัวข้อที่จะอบรม วิเคราะห์ 5W1H การจัดทำเอกสารทางราชการ การติดต่อประสานงาน การสร้างคู่มือประกอบการอบรม การจัดทำสื่อตัวอย่างเพื่อใช้ในการอบรม รวมถึงกระบวนการอื่นๆ เช่น จัดทำใบลงทะเบียน เขียนคำกล่าวรายงานและคำกล่าวเปิด-ปิดโครงการ ออกแบบป้ายไวนิล ออกแบบแบบประเมินโครงการ และแบบทดสอบก่อนและหลังการอบรม ฯลฯ





นอกจากกระบวนการเรียนรู้ของนิสิตบนฐานคิด “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” ข้างต้นแล้ว อาจารย์ผู้สอนฯ ยังได้จัดอบรมเรื่องการใช้โปรแกรมทั้งสองโปรแกรมให้กับนิสิตอีกรอบ เพื่อให้นิสิตเกิดความรู้ความชำนาญมากขึ้น เช่นเดียวกับการให้นิสิตมานำเสนอความก้าวหน้าของงานที่ได้รับมอบหมายต่ออาจารย์ผู้สอนและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการอีก 3 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายก่อนลงชุมชน จะเป็นการจำลองสถานการณ์การจัดสัมมนา   ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมงาน เปิดงาน ปฏิบัติการ และการสรุปผล (ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ)   

จากนั้นจึงให้นิสิตลงชุมชนเพื่อบริการวิชาการภายใต้ชื่อ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” ซึ่งมีอาจารย์คอยกำกับดูแล ให้คำปรึกษาในขั้นตอนต่างๆ และเมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินงานในแต่ละวัน จะมีเวทีสรุปงานร่วมกัน (แลกเปลี่ยนเรียนรู้)  เป็น “การจัดการความรู้” และ “การจัดการความรัก” ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ





ผลพวงของการจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมดังกล่าว พบว่านิสิตสามารถจัดสัมมนาด้วยตนเองได้อย่างเป็นระบบ เกิดการพัฒนาเองในด้านความรับผิดชอบต่อหน้าที่  รู้จักการทำงานร่วมกันเป็นทีม  ได้เรียนรู้หลักการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ได้เรียนรู้วิธีชีวิตของชุมชน  รวมถึงการเรียนรู้ภูมิปัญญาของชาวบ้านในเรื่องของการทำขนมข้าวต้มงอก ขนมจีนน้ำยา  ซึ่งเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ของนิสิตที่ค้นพบจากการเรียนรู้นอกชั้นเรียนผ่านเวทีหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน   

เช่นเดียวกับการที่นิสิตรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับคณะครูได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ครูสามารถสร้างสื่อการเรียนการสอนได้ด้วยตนเองบนฐานของการมีส่วนร่วมของครูกับนักเรียน และสามารถนำวัตถุดิบอันเป็นข้อมูลในชุมชนมาประยุกต์เป็นสื่อการเรียนการสอนได้มากขึ้น และสื่อที่สร้างนั้นก็สอดคล้องกับความต้องการ หรือหลักการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างแท้จริง มิใช่จ่อมจมอยู่กับสื่อสำเร็จรูปที่ได้รับมาจากส่วนกลางสถานเดียว




ภาพโดย : นิสิตโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน
ต้นเรื่อง : อาจารย์อรทัย สุทธิจักษ์



หมายเลขบันทึก: 578567เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2014 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2014 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

นับเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งในเชิงคุณธรรมและความรู้ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตประจำวันต่อไปค่ะ

ครับ พี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ ผมชอบหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน เพราะทำให้นิสิตมีบทบาทต่อการเรียนรู้ของตนเอง ได้สัมผัสชุมชน ได้บริการชุมชน การบริการนี่แหละครับที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีค่า และเขามีหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน...

หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน คือการปฏิรูปการเรียนการสอนจากมหาลัยสู่ชุมชน- รับใช้สังคม สร้างกระบวนการจิตอาสาผ่านหลักสูตรในชั้นเรียนโดยตรง...และยังบ่มทักษะชีวิตหลากมิติได้อีกต่างหาก

ขอบพระคุณครับ

มาชื่นชมกิจกรรมที่ดีมีประโยชน์ค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ แผ่นดิน มาชมกิจกรรมดีๆค่ะ

ชื่นชอบ ชื่นชมกิจกรรมของอาจารย์มาก ๆ จ้ะ

กิจกรรมแบบนี้

ครูและนักเรียนได้เรียนรู้จริงๆ

นิสิตก็ได้เรียนรู้เรื่องการถ่ายทอดด้วย

ขอบคุณมากๆครับ

คนดีศรีสารคามนามพนัส

ท่านถนัดคุณธรรมนำหนุนส่ง

สอนศิษย์ให้ใฝ่ดีและซื่อตรง

ครูผู้คงความดีงามนามแผ่นดิน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท