​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๖๑. เรียนรู้เรื่องทางอบายของระบบการศึกษาไทยเกี่ยวกับครู


          ข้อพิศวงอย่างหนึ่งในชีวิตของผมคือ ทำไมการศึกษาไทยจึงตกต่ำลงไปถึงเพียงนี้

          คำตอบแรกที่ผมค้นพบคือ เรามีมิจฉาทิฐิ เรื่องการเรียนรู้ หลงใช้วิธีสอนแบบถ่ายทอดความรู้ ข้อค้นพบนี้ ทำให้ผมพากเพียรเขียน บล็อก เรื่องการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ และมีการรวบรวม จัดพิมพ์เป็นหนังสือออกเผยแพร่ จำนวนหลายเล่ม และมีผู้อ่านและบอกต่อกันเป็นจำนวนมาก หนังสือเหล่านั้นสามารถ ดาวน์โหลด ได้ฟรี

          คำตอบที่สอง ที่ผมค้นพบคือ ระบบการศึกษาปัจจุบัน เป็นตัวการให้ครูทิ้งศิษย์ ใจไม่อยู่กับศิษย์ ผมจึงคิดคำ “ครูเพื่อศิษย์” ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนขบวนการครูเพื่อศิษย์ ในมิติทางจิตวิญญาณ

          ผมค่อยๆ ได้รับรู้ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของ “ครูทิ้งศิษย์” ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นเพราะความผิดพลาด เชิงระบบ ของการออกพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ร่วมกับความบกพร่อง และความอ่อนแอในการดำเนินการตาม พรบ. นี้

          ข้อบกพร่อง หรืออบายมุขของ พรบ. ฉบับนี้ ที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดคือ การใช้แนวคิดประชาธิปไตยผิดๆ คิดว่าระบบผู้แทนจะเป็นระบบที่การตัดสินใจเชิงนโยบายต่างๆ ดำเนินไปอย่างถูกต้อง ซึ่งบัดนี้พิสูจน์แล้วว่า เป็นความคิดที่ผิด ผู้เกี่ยวข้องคนสำคัญในการออก พรบ. นี้ท่านหนึ่ง คือ ศ. ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน บอกกับคณะที่ ร่วมเดินทางไปประชุมที่ออสเตรเลีย เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗ ว่า แนวคิดเรื่องผู้แทนกลุ่มวิชาชีพนี้ เป็นความคิดที่ผิดพลาด

          เพราะผลออกมาว่า ผู้แทนที่เข้ามาเป็น ก.ค.ศ. มุ่งเข้ามาปกป้องเรียกร้องผลประโยชน์ของพวกตน มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม ผลก็เป็นอย่างที่เห็นกัน คือระเบียบข้อบังคับต่างๆ บิดเบี้ยว ไร้ความ รับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษา หรือคุณภาพผลลัพธ์การเรียนรู้ เกิดสภาพที่ ครูมีตำแหน่ง เงินเดือน และค่าตอบแทนสูงทั้งโรงเรียน แต่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

          คู่ขนานกับข้อบกพร่องของระบบผู้แทน คือทางอบายข้อที่สอง การทำงานนโยบายแบบไม่ใช้ ข้อมูลหลักฐาน ไม่มีการวิจัยเชิงนโยบายเพื่อสร้างสารสนเทศ (information) และหลักฐาน (evidence) ว่าทางเลือกใด ที่จะส่งผลต่อ เป้าหมายที่ต้องการได้ดีที่สุด รวมทั้งไม่มีการวิจัยติดตามประเมินผลของการตัดสินใจเชิงนโยบาย หลังจากใช้ไประยะหนึ่ง สำหรับนำมาปรับปรุงแก้ไขมติเดิม ที่อาจก่อผลเสียหาย หรือผลไปในทางตรงกันข้าม กับเป้าหมายที่ต้องการ

        ทางอบายข้อที่สาม ของระบบการศึกษาไทยเกี่ยวกับครู คือระบบควบคุมและสั่งการ (top-down, command and control) สุดโต่งในการบริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ที่สั่งการรรายละเอียดไปถึงวิธีการปฏิบัติ ทำให้ครูไม่มีโอกาสคิดเอง ไม่มีโอกาสใช้ความเป็นมนุษย์ของตน คิดสร้างสรรค์วิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ให้ผลลัพธ์ การเรียนรู้ของศิษย์ดีกว่าเดิม นานเข้าครูก็คิดไม่เป็น ครูที่คิดไม่เป็นจะสอนศิษย์ให้คิดเป็นได้อย่างไร

         ระบบควบคุมและสั่งการสุดโต่งอย่างกระทรวงศึกษาธิการ ยังมีผลให้โรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงศึกษาธิการเอง ไม่เป็น “องค์กรเรียนรู้” (Learning Organization) ไม่มีการเรียนรู้ทำความเข้าใจ สภาพปัจจุบัน เทียบกับสภาพที่พึงประสงค์ และปรับตัวเองได้ มีผลให้ระบบการศึกษาไทยเป็นระบบที่ล้าสมัย ตกยุค อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ระบบเช่นนี้ คนฉลาด สมองดี และรู้เท่าทัน จะหลีกเลี่ยง ไม่เข้าไปทำงาน เพราะไม่เป็นที่แห่งความเจริญก้าวหน้า

           มีคนบอกผมว่า อ.ก.ค.ศ. ในระดับเขตพื้นที่ ร่วมกับข้าราชการทุจริต เป็นตัวการรีดไถครู เรียกร้องเงิน ค่าตอบแทนในการบรรจุครูใหม่ และเรียกค่าย้ายครูจากโรงเรียนห่างไกล ไปยังโรงเรียนใกล้บ้านหรือในเมือง นี่คือทางอบายข้อที่สี่ ที่ผู้คนยอมจ่ายสินบน และยอมให้มีพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นในระบบการศึกษา ผู้บริหาร ระดับสูงในกระทรวงไม่เอาใจใส่ปราบปรามความทุจริตชั่วร้ายอย่างเอาจริงเอาจัง

          ทั้งหมดนั้น เป็นข้อ AAR ของผม ไม่ทราบว่าเป็น AAR ที่เป็นมิจฉาทิฐิเสียเองหรือไม่ ท่านผู้รู้กรุณาชี้แนะด้วย

วิจารณ์ พานิช

๑ ก.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 578411เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2014 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2014 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เมื่อวาน มีผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการระดับ ซี ๑๑ บอกผมและอีกหลายคนในที่ประชุมว่า   ครูที่สอบเข้าบรรจุครูได้ ต้องจ่ายเงิน ๒ แสนบาท   อ.ก.ค.ศ. จึงบรรจุให้    ครูท่านนั้นมีแม่เป็นครู    และเมื่อได้รับการชักชวนให้ร้องเรียน เพื่อเอาผิดผู้เรียกเงิน  ก็ไม่กล้าร้องเรียน

วิจารณ์ พานิช

๗ ต.ค. ๕๗

อันนี้ตรงเลยครับ

ของระบบการศึกษาไทยเกี่ยวกับครู คือระบบควบคุมและสั่งการ (top-down, command and control) สุดโต่งในการบริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ที่สั่งการรรายละเอียดไปถึงวิธีการปฏิบัติ ทำให้ครูไม่มีโอกาสคิดเอง ไม่มีโอกาสใช้ความเป็นมนุษย์ของตน คิดสร้างสรรค์วิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ให้ผลลัพธ์ การเรียนรู้ของศิษย์ดีกว่าเดิม นานเข้าครูก็คิดไม่เป็น ครูที่คิดไม่เป็นจะสอนศิษย์ให้คิดเป็นได้อย่างไร

แม้แต่การสั่งการบ้านนักเรียนยังมีระเบียบออกมาเลยครับ...

ไม่ต้องคิดแก้ก็ได้ เพราะมันเป็น อิทัปปัจจะยะตา 

ใช่เลย ชัดเจนมากค่ะ ที่สำคัญคือ ระบบผอ.รร.ที่จบมาจากสาขาการบริหารการศึกษา เพราะมีสถาบันการศึกษาที่สร้างทัศนคติที่ต่ำช้าให้กับผู้บริหารสถานศึกษษที่มาเข้าเรียนระดับปริญญาโท โดยการับทำวิทยานิพนธ์ให้ลูกศิษย์ โดยมีค่าจ้างทำประมาณแสนขึ้นไป ในวันสอบวิทยานิพนธ์ต้องเลี้ยงกรรมการใหญ่โต แข่งขันกันว่าใครเลี้ยงดีที่สุด รวมทั้งของขวัญแก่กรรมการใครให้แพงกว่ากัน (มีทั้งพระเลี่ยมทอง สร้อยคอทองคำ) ทำกันมาเป็นเวลายาวนาน ถ้าลูกศิษย์คนใดเก่งกล้าหาญ ทำวิทยานิพนธ์เอง ก้อจะถูกเลขาฯสาขาวิชาเก็บเรื่องซุกโต๊ะ แช่แข็งไว้เป็นปีๆๆ  เรื่องนี้มีคนร้องเรียนอธิการบดีฯท่านก้อ เก็บเรื่องเงียบ (บอกว่าเรื่องพวกนี้ทำให้มหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียง) จะเอาเรื่องคนร้องเรียนอีก จึงไม่มีใครกล้าหาญแตะต้องเรื่องนี้) แล้วเมื่อจบปริญญาโทออกไป จึงเป็นเรื่องปกติ ที่จะต้องไปทำมาหาเงินมาใช้ ได้นิสัยใหม่คือ ต้องไปออกรอบ พบผู้ใหญ่ตามสนามกอลฟ์ แล้วคุณภาพการศึกษษ จะเหลืออะไร

อีกประการหนึ่ง เห็นด้วยอย่างยิ่งเกี่ยวกับ อบายข้อที่สอง  การทำงานนโยบายแบบไม่ใช้ ข้อมูลหลักฐาน  ไม่มีการวิจัยเชิงนโยบายเพื่อสร้างสารสนเทศ (information) และหลักฐาน (evidence)  ว่าทางเลือกใด ที่จะส่งผลต่อ เป้าหมายที่ต้องการได้ดีที่สุด  รวมทั้งไม่มีการวิจัยติดตามประเมินผลของการตัดสินใจเชิงนโยบาย หลังจากใช้ไประยะหนึ่ง  สำหรับนำมาปรับปรุงแก้ไขมติเดิม  ที่อาจก่อผลเสียหาย หรือผลไปในทางตรงกันข้าม กับเป้าหมายที่ต้องการ นี่ไม่ใช่แค่ระดับสถานศึกษษระดับ สพฐ แต่ระดับมหาวิทยาลัย/ สกอ.เอง ก้อ ไม่ใช้ ทั้งๆที่เป็นสถาบันระดับสูง มีความพร้อมด้านบุุคลากรและเครื่องมืออุปกรณ์ ที่ไม่ใช้ไม่ใช่เพราะไม่พร้อม แต่ไม่กล้าใช้เพราะเป็นหลักฐานที่แก้ไข/ทำให้ทุจริตยากชึ้น เรื่องเหล่านี้ ต้องคุยกันยาวค่ะ แต่พร้อมจะช่วยทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้นะคะ

แม้แต่รายวิชาเดียวกัน ก็ยัง top-down "ให้ทำแบบเดียวกัน" ทั้ง ๆ ที่นักเรียนบางส่วนมีความรู้มาเต็มที่แล้วสามารถต่อยอดเรื่องความคิดสร้างสรรค์ไปได้เลย แต่ก็มาจบกันที่การ review grammar อยู่เหมือนเดิม สงสารนักเรียนที่หลงคิดว่าการเรียนแบบนี้ "ดี"

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท