การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงยุทธศาสตร์บูรณาการ: พลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงองค์กร Strategically Integrated HRD: Organizational Change Intervention ตอนที่1


การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในฐานะเป็นChange Agent

ในอดีตที่ผ่านมา บทบาทของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามที่คนทั่วไปรู้จักกันคือนักจัดฝึกอบรมที่มีหน้าที่สร้างหลักสูตรฝึกอบรมให้กับบุคลากร เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ และทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน แต่หากพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะพบว่าการฝึกอบรมไม่ใช่ทางออกของทุกปัญหาที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการทำงาน ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมางานของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับองค์กรได้อย่างแท้จริง จนกระทั่งได้มีผู้เสนอแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงยุทธศาสตร์บูรณาการ(Strategically Integrated HRD) ขึ้น ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กรโดยนำแนวความคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในบทบาทของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) มาเป็นตัวขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่มีการบูรณาการองค์ความรู้ทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งหมดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมทั้งระบบการจัดการผลการปฏิบัติงาน (performance management system) และระบบองค์กร (organization system)

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงยุทธศาสตร์บูรณาการ

Gilly และ Maycunich(1998) ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงยุทธศาสตร์บูรณาการไว้ในหนังสือชื่อStrategically Integrated HRD: Partnering to maximize organizational performance. ว่าในอดีตที่ผ่านมานักทรัพยากรมนุษย์พยายามแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำให้องค์กรไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์และประสบความสำเร็จตามเป้าหมายทางธุรกิจได้ เช่น พยายามหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถนำกลยุทธ์ไปสู่การพัฒนาการทำงานอย่างได้ผล จะพัฒนาระบบขององค์กรที่สามารถพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรในภาพรวมได้อย่างไร และจะทำอย่างไรจึงจะสามารถนำยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เข้าไปเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขององค์กร โดยให้ทุกคนยอมรับและเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีการทำงานที่ใช้ศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์อย่างเต็มที่เพื่อจัดการปัญหาต่างๆที่องค์กรเผชิญอยู่ได้

Gilly และ Maycunich (1998) เสนอแนวคิดว่าเพื่อให้งานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าว เขาได้เสนอแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงยุทธศาสตร์บูรณาการซึ่งผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD professional) ต้องดำเนินการโดยแบ่งออกเป็น 5 ระยะ แต่ละระยะมีความสำคัญและเป็นเรื่องที่นักHRต้องตระหนักถึงบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างยิ่ง มาว่ากันต่อในตอนที่2นะคะ

อ้างอิง

Jerry W. Gilly and AnnMaycunich (1998). Strategically Integrated HRD: Partnering to maximize organizational performance. Massachusetts: Addison-Wesley.

หมายเลขบันทึก: 578247เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2014 23:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2014 00:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท