หลากวิธี ลด-เลิก เหล้า บุหรี่ นวัตกรรมคืนความสุขสู่ชุมชน


เมื่อดำเนินการได้ 1 ปี พบว่ามีผู้เลิกบุหรี่ได้ถึง 430 คน จากผู้เข้าโครงการ 956 คน โดยเลิกได้ภายในระยะเวลา 1-6 เดือน ร้อยละ 16.57 ที่เหลือก็สามารถลด ละบุหรี่ได้ในเวลาต่อมา ทำให้ปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ในปอดลดลง ส่งผลต่อสุขภาพที่ดีขึ้น

เอ่ยถึง “นวัตกรรม" หลายคนอาจคิดถึงสิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่ ที่มีคุณประโยชน์ แทบไม่มีใครนึกถึงสิ่งใกล้ตัวที่เคยเห็นจนชินตา ว่าจะต่อยอดให้กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีคุณค่าได้ เช่น การนวดกดจุด เพื่อให้สิงห์อมควัน เลิกสูบบุหรี่ ที่ ต.โพนทอง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ


ผศ.มณฑา เก่งการพานิช จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในเวทีเสวนา “ปัจจัยที่ทำให้ปรับพฤติกรรมเสี่ยงและกระบวนการทำงานประเด็นเหล้าบุหรี่" ว่าแม้ที่ผ่านมาทั้งภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆ จะรณรงค์ให้เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ แต่พบว่าอัตราการเสพเหล้า-บุหรี่ ในสังคมไทยยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพราะเหล้า-บุหรี่ ยังเป็นสิ่งหาซื้อได้ง่าย มีให้เลือกทั้งที่เสียภาษีสรรพสามิตอย่างถูกต้อง และเหล้าบุหรี่ปลอดภาษี หรือเลี่ยงภาษี

เป็นเรื่องน่ายินดี ที่หลายชุมชนมองเห็นความสำคัญของการปัญหาการติดเหล้า-บุหรี่ และพยายามหาวิธีการให้ท้องถิ่นของตนเองปลอดเหล้า-บุหรี่ ได้สำเร็จในระดับหนึ่ง เช่น โครงการธนาคารเหล้า บ้านดงยาง-พรพิบูลย์ อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี, โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ต.โพนทอง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ, โครงการครอบครัวอบอุ่น ชุมชนลดเหล้าบ้านแม่ป่าข่า ของ รพ.สต.ทาปลาดุก จ.ลำพูน, โครงการดอนแก้วสดใสไร้ควันบุหรี่ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่, โครงการพลังวัฒนธรรมชุมชนกับการช่วยเลิกบุหรี่ ต.โคกมะม่วง อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ หรือโครงการสวนดอกปลอดบุหรี่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เป็นต้น


สมัย ไชยคำจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านดงยาง เล่าว่า บ้านดงยาง-พรพิบูลย์ เดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกัน เพิ่งแยกออกเป็น 2 หมู่บ้านเมื่อเร็วๆ นี้ มีทั้งหมด 261 หลังคาเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และทำผ้ามัดหมี่ย้อมคราม ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่ช่วงที่ผ่านมากลับพบว่าชาวบ้านเสพเครื่องดื่มมึนเมามากขึ้น เห็นได้จากการนำเข้าเหล้า-เบียร์ ของร้านค้าในชุมชน และปริมาณขยะจากขวดเหล้า-เบียร์ ซึ่งจากการสำรวจชาวบ้านทั้งหมด 1,070 คน ดื่มแอลกอฮอล์ถึง 522 คน หรือคิดเป็น 48.78%

“ปัญหาที่ตามมาคือเกิดอุบัติเหตุบ่อยจากความมึนเมา ขาดสติ โดยในรอบปีที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุถึง 10 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย พิการ 3 ราย ซ้ำยังเกิดการลักเล็กขโมยน้อย ครอบครัวแตกแยก ทะเลาะวิวาทในงานบุญ และเมื่อมีงานศพ เจ้าภาพต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเหล้าเลี้ยงแขก ถึงงานละ 30,000 บาท" ผู้ใหญ่บ้านดงยาง อธิบาย

วิธีการแก้ไขปัญหา จึงจัดตั้งสภาชุมชนร่วมกันทั้งบ้านดงยาง และบ้านพรพิบูลย์ ดึงผู้นำด้านต่างๆ เช่น ผู้นำคุ้ม ผู้นำหมู่บ้าน ครู พระ ผู้นำสตรี เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้ามาเป็นคณะกรรมการ แล้วจัดอบรมบทบาทหน้าที่ ก่อนพาไปศึกษาดูงานหมู่บ้านที่ดำเนินการเลิกเหล้ามาแล้ว และกลับมาทำมติผ่านประชาคมหมู่บ้าน เชิญเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอเช่น นายอำเภอ สาธารณสุข เข้าร่วม พร้อมทั้งลงนามในพันธะสัญญาบนผ้าขาวขนาดใหญ่ แล้วติดไว้ในศาลากลางบ้าน และเมื่อถึงเทศกาลสำคัญเช่น เข้าพรรษา ก็ให้แต่ละคนเขียนพันธะสัญญาที่ตนเองจะปฏิบัติลงบนขวดแก้ว เช่น จะเลิกเหล้า-บุหรี่ ช่วงเข้าพรรษา แล้วนำมาวางรวมกันไว้ ให้สังคม ชุมชนรับรู้ จะได้ช่วยกันสอดส่อง และคอยเตือนสติเมื่อพลั้งเผลอ ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดี นอกจากจะลดค่าใช้จ่าย ลดอุบัติเหตุจากความประมาทมึนเมาแล้ว ยังทำความสัมพันธ์ในครอบครัวกลับมาแน่นแฟ้น คนในบ้านหันหน้ามาพูดคุย ใช้เวลาว่างทำกิจกรรมด้วยกันมากขึ้น

ขณะที่โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ต.โพนทอง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ บอกว่า การนวดแผนไทย และนวดฝ่าเท้า เป็นศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และความตึงเครียดตามจุดต่างๆ ในร่างกาย แต่หากศึกษาอย่างถี่ถ้วน จะพบว่าบริเวณเท้ามีปลายประสาทที่เชื่อมโยงไปสู่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย การกด 5 จุดที่นิ้วโป้งซ้าย จึงถือเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่พัฒนามาจากการนวดฝ่าเท้า และส่งผลสะท้อนไปยังส่วนสมอง ช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้ เพราะเมื่อสูบจะรู้สึกรสชาติเปลี่ยนไปจนไม่อยากสูบอีก แต่ทั้งนี้ต้องนวดอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ละ 1 ครั้ง จำนวน 2 สัปดาห์ และตั้งเป้าหมายร่วมกันที่จะเลิกบุหรี่ เพื่อให้เกิดกำลังใจอันแข็งแกร่ง

ประยงค์ ทองพระพักตร์ จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเทพพัฒนา อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ ผู้รับผิดชอบโครงการพลังวัฒนธรรมชุมชนกับการช่วยเลิกบุหรี่ ใน ต.โคกมะม่วง อ.ปะคำ เล่าถึงสาเหตุที่นำวัฒนธรรมชุมชนเข้ามากำหนดกลวิธีในการช่วยเลิกบุหรี่ว่า เกิดจากการสำรวจพบว่าชาวบ้านใน ต.โคกมะม่วง ติดบุหรี่มากถึง 2,346 คน จาก 10,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 27 และส่วนใหญ่มวนสูบเองมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 20 ปี ทำให้ปัญหาการเกิดโรคเรื้อรังมีแนวโน้มสูงขึ้น

ในการดำเนินงานของ รพ.สต.จึงเชิญชวนชาวบ้านที่สูบบุหรี่เข้าร่วมโครงการอย่างสมัครใจ เริ่มจากการตั้งจิตอธิษฐานเลิกบุหรี่ต่อหน้าพระพุทธรูปในวัด ใช้คาถาชุมนุมเทวดาเพื่อสร้างกำลังใจให้ผู้สูบบุหรี่เกิดความเชื่อมั่นในการเลิก แล้วให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านออกตรวจเยี่ยม อบรม และติดตามถึงบ้าน หากรายใดมีอาการอยากบุหรี่ ก็ใช้สมุนไพรช่วย เช่น มะนาว หรือรางจืด ขณะเดียวกันก็ให้ปราชญ์ชาวบ้านซึ่งเป็นต้นแบบที่คนในชุมชนให้ความเคารพนับถือช่วยเป็นวิทยากร และอาศัยระบบพี่น้อง ติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถเลิกได้อย่างแท้จริง

มื่อดำเนินการได้ 1 ปี พบว่ามีผู้เลิกบุหรี่ได้ถึง 430 คน จากผู้เข้าโครงการ 956 คน โดยเลิกได้ภายในระยะเวลา 1-6 เดือน ร้อยละ 16.57 ที่เหลือก็สามารถลด ละบุหรี่ได้ในเวลาต่อมา ทำให้ปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ในปอดลดลง ส่งผลต่อสุขภาพที่ดีขึ้น

กิจกรรมต่างๆ ที่แต่ละพื้นที่จัดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมย์ที่จะให้ชุมชน ลด ละ เลิก เหล้า-บุหรี่ และเมื่อกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นมองเห็นปัญหา พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายไว้อย่างเดียวกัน แล้วดำเนินกิจกรรมเสริมอื่นๆ โดยใช้นวัตกรรม วัฒนธรรมชุมชน รวมถึงความศรัทธา เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ทำให้เกิดขวัญและกำลังใจที่เข้มแข็ง การเลิกเหล้า-บุหรี่ จึงเห็นผลในเชิงประจักษ์


หมายเลขบันทึก: 578082เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2014 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2014 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท