การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนเพื่อชุมชน โดยชุมชนท้องถิ่น
การเรียนรู้เรื่องราวในพื้นที่ต่อไป เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน
เพื่อชุมชน โดยชุมชนท้องถิ่น ณ ศูนย์การแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ตำบลขัวมุง ซึ่งเป็นสาขาของโรงพยาบาลสารภี โดยมีแกนนำหลักของชุมชนได้นำเสนอและถ่ายทอดเรื่องราว ประสบการณ์ และสะท้อนมุมมองในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนเพื่อชุมชน โดยชุมชนท้องถิ่น ดังนี้ คือ
พระฤทธิชัย อภิเมธี หรือ ตุ๊อ้วน วัดบวกครกเหนือ ตำบลท่าวังตาล ได้บอกเล่าถึงกระบวนการดำเนินงานพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนเพื่อชุมชน โดยชุมชนท้องถิ่น ไว้ว่า “การดำเนินงานในปีแรก เน้นการจัดทำข้อมูล ทำระบบ ทำ program และการเก็บข้อมูลชุมชน โดยเน้นการเข้าถึง การนำไปใช้ ความเป็นเจ้าของ และร่วมรับผิดชอบ พอมาปีที่ ๒ เน้นให้แต่ละตำบลสร้างภาพฝันของตำบล จากภาพฝันแล้ว ก็มีเวทีพูดคุย ที่เรียกว่า ข่วงกำกึ๊ด ต่อจากนั้นแต่ละพื้นที่ก็มีโครงสร้าง กลไกการทำงานของแต่ละพื้นที่ มีการพัฒนาทักษะวิทยากรกระบวนการ การยกระดับงานวิจัยชุมชน โดยเข้าไปเรียนรู้เรื่องการทำวิจัยและลองทำงานวิจัยชุมชน การสื่อสารสาธารณะ การสื่อสารกับชุมชนและชาวบ้าน ส่วนในปีที่ ๓ เป็นการนำภาพฝัน และการพูดคุยระดมความคิดเห็นจากข่วงกำกึ๊ด ขยับต่อยอด และบางกิจกรรมก็หยุดไว้ก่อน หากไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของชุมชน รวมทั้งการขยายไปเป็นประเด็นของอำเภอ หรือพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะต่อไป โดยมีสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกขับเคลื่อน รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนชุมชนวันละบาท เพื่อการพึ่งพาตนเองและความยั่งยืน”
คุณสุกัญญา วัฒนะวงศ์วิจิตร กำนันตำบลท่ากว้าง ได้บอกเล่าถึงบทบาทของชุมชนตำบลท่ากว้างกับการขับเคลื่อนระบบสุขภาพของชุมชน ดังนี้ “ในเรื่องของชุมชน ตำบลท่ากว้างไม่เคยรองบประมาณจากหลวง โดยเราได้มีกระบวนการค้นหาจุดดีจุดเด่นของชุมชนก่อน หลังจากนั้นก็ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ใจต้องมาก่อน ให้ความสำคัญกับคนก่อน โดยไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง เราเชื่อว่า ถ้าคนพร้อม ต้นทุนก็มา มีการเก็บข้อมูล และคืนข้อมูลให้ชุมชน ด้วยการแปลงให้เป็นข้อมูลที่ชาวบ้านเข้าใจง่าย
การขับเคลื่อนงานชุมชน เป็นการขับเคลื่อนหลายมิติ โดยจะมีคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นโครงสร้างการทำงานอยู่แล้ว ซึ่งคณะกรรมการหมู่บ้าน จะมีอยู่ ๖ คน มีกำนันเป็นประธาน และคณะกรรมการจะดูแลรับผิดชอบงานในแต่ละด้าน เช่น ด้านความรักษาความสงบเรียบร้อย ด้านสังคมวัฒนธรรม ด้านการศึกษา เป็นต้น
นอกจากนั้นก็จะมีสภาองค์กรชุมชน เป็นกลไกคู่ขนานกับเทศบาลตำบล ทำให้การทำงานมีระบบมากขึ้น ตอนนี้ที่ตำบลท่ากว้าง นโยบายหลายอย่างที่พัฒนาไปเป็นนโยบายสาธารณะแล้ว เช่น เรื่องขยะ การแยกขยะ เรื่องกินดีอยู่ดี เรื่องหน้าบ้านน่ามอง การกำจัดลูกน้ำยุงลาย เรื่องหลังบ้านอุ่นใจ เน้นเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว เรื่องหลังบ้านพอเพียง เน้นการอยู่ดีกินดี มีการรณรงค์เรื่องการปลูกผักสวนครัว ปลอดสาร เก็บกินในครัวเรือนและส่งขาย เรื่องการปั่นจักรยาน เรื่องบ่มีหนี้สิน มีการทำบัญชีครัวเรือน เรื่องยาเสพติด เคาะประตูบ้าน สำรวจกลุ่มเป้าหมาย มีการนำผู้ติดยาเสพติดเข้าค่ายบำบัด มีการฝึกอาชีพให้เยาวชน เรื่องสถาบันการเงินชุมชน เน้นการออมเงินควบคู่กับการเป็นหนี้ รับฝากเงินทุกวันเสาร์ โดยในการทำงาน เราเน้นว่า ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการพัฒนาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน ร่วมรับผลประโยชน์ จะทำให้ชาวบ้านมีความเป็นเจ้าของงานนั้นๆ”
(ติดตามตอนต่อไป)
นภินทร
ไม่มีความเห็น