หักกลบลบหนี้มีหลักเกณฑ์อย่างไร


หักกลบลบหนี้มีหลักเกณฑ์บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ2 ว่าด้วยหนี้ตั้งแต่มาตรา341 - 348 โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

ป.พ.พมาตรา341 บัญญัติว่า

"ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้น ถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ย่อมจะหลุดพ้น จากหนี้ของตนด้วย หักกลบลบหนี้ กันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้นเว้นแต่สภาพแห่งหนี้ฝ่ายหนึ่งจะไม่เปิดช่องให้หักกกลบลบหนี้กันได้

บทบัญญัติดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ท่านมิให้ใช้บังคับหากเป็นการขัดกับเจตนาอันคู่กรณีได้แสดงไว้แต่เจตนาเช่นนี้ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต"


(1) บุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกัน

บุคคลทั้งสองฝ่ายต่างมีความผูกพันเป็นหนี้กันโดยที่ต่างฝ่ายต่างเป็นเจ้าหนี้กันคนละราย มิใช่เป็นหนี้อันเดียวกันที่ต่างฝ่ายต้องปฏิบัติตอบแทนกันและจะต้องกระทำกันระหว่างเจ้าหนี้ลูกหนี้รายเดียวกัน


(2) หนี้ทั้งสองรายต้องมีวัตถุแห่งหนี้อย่างเดียวกัน

การหักกลบลบหนี้เป็นการเอาหนี้ของทั้งฝ่ายมาหักกันกล่าวคือการหักกลบลบหนี้เป็นเสมือนการชำระหนี้หนี้ที่จะเอามาหักกันได้นั้นจะต้องเป็นหนี้อย่างเดียวกันหรือหนี้มีวัตถุอย่างเดียวกันหมายถึงวัตถุที่จะพึงชำระหนี้ตามวัตถุแห่งหนี้หากวัตถุที่จะพึงชำระหนี้ตามวัตถุแห่งหนี้ต่างกันย่อมหักกันไม่ได้

นอกจากนี้ หนี้ที่จะหักกลบลบกันได้ต้องเป็นหนี้ที่จำนวนยุติแน่นอน เพราะการจะหักกลบลบหนี้กันได้นั้น กฎหมายให้หักกลบในจำนวนที่ตรงกัน ถ้ายังไม่รู้จำนวนที่แน่นอน ก็จะไม่รู้จำนวนที่จะหักกลบกันได้ เช่น กรณีที่ยังมีข้อต่อสู้เรื่องการผิดสัญญา กรณีที่ยังมีข้อโต้แย้งกันในเรื่องค่าเสียหาย เป็นต้น


(3) หนี้ทั้งสองรายจะต้องถึงกำหนดชำระแล้ว

ตามถ้อยคำในมาตรา341 กำหนดว่า “หักกลบลบหนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อหนี้ถึงกำหนด” ไม่ได้หมายความเฉพาะ “กำหนดเวลา”ในการชำระหนี้เท่านั้นแต่หมายถึงการที่หนี้ทั้งสองรายจะต้องอยู่ในสภาพที่จะเรียกร้องชำระหนี้ได้ในขณะนั้นหนี้ถึงกำหนดตามมาตรา341 จึงมีสองความหมายประการแรกหนี้อยู่ในฐานะที่จะฟ้องร้องบังคับกันได้แล้วและประการที่สองหนี้ถึงกำหนดเวลาชำระแล้ว

กรณีที่หนี้ของทั้งสองฝ่ายยังไม่ถึงกำหนดชำระ ย่อมไม่อาจหักกลบลบหนี้กันได้ เว้นแต่คู่กรณีตกลงกัน เพราะการหักกลบลบหนี้เปรียบเสมือนต่างฝ่ายต่างชำระหนี้ให้กันและกัน โดยหนี้ทั้งสองฝ่ายจะถึงกำหนดพร้อมกันหรือคนละเวลาก็ได้ แต่ว่าตอนที่หักกลบลบหนี้กันนั้น หนี้ทั้งสองฝ่ายจะต้องถึงกำหนดระยะเวลาชำระแล้ว


(4) หนี้ที่ไม่อาจหักกลบลบหนี้ได้มีหลายกรณีในที่นี้ ขอยกมาเพียง 3 กรณี โดยเฉพาะกรณีที่ 3 มีความสำคัญมาก เพราะหลายคนมักเข้าใจผิดว่าต่างฝ่ายต่างมีหนี้ต่อกันแล้วหักกลบลบหนี้ได้เลย ทั้งที่ในความเป็นจริง สิทธิเรียกร้องที่ยังมีข้อต่อสู้หรือข้อโต้แย้งอยู่ ไม่สามารถนำมาหักกลบลบหนี้กันได้

(4.1) สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องจะต้องเป็นกรณีที่เป็นหนี้ที่ส่งมอบทรัพย์สินอย่างเดียวกันซึ่งอาจแทนกันได้หนี้ที่มีวัตถุแห่งหนี้ให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการย่อมไม่สามารถนำมาหักกลบลบหนี้ได้

(4.2) เป็นการขัดกับเจตนาของคู่กรณีหากมีข้อตกลงจะไม่หักกลบหนี้กันจะต้องเป็นไปตามข้อตกลงนั้นโดยต่างฝ่ายต่างต้องชำระหนี้ให้ซึ่งกันและกันจะหักกลบลบหนี้กันไม่ได้ทั้งนี้มีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณีไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตได้

(4.3) สิทธิเรียกร้องยังมีข้อต่อสู้อยู่ตามปกติหนี้จะขอหักกลบลบหนี้ได้จะต้องเป็นหนี้ที่รู้จำนวนแน่นอนแล้วหนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้หรือมีข้อโต้แย้งอยู่เท่ากับว่าจำนวนหนี้นั้นยังไม่แน่นอนทั้งนี้เป็นไปตามป.พ.พ. มาตรา344

“สิทธิเรียกร้องใดยังมีข้อต่อสู้สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าหาอาจเอามาหักกลบลบหนี้ได้ไม่...” สิทธิเรียกร้องที่จะนำมาหักกลบลบหนี้ต้องเป็นสิทธิที่สัมบูรณ์บังคับได้ตามกฎหมายหากจำนวนหนี้ตามสิทธิเรียกร้องยังไม่แน่นอนหรือไม่อาจคำนวณให้แน่นอนได้โดยง่ายถ้าเกิดการหักกลบลบหนี้ย่อมไม่อาจรู้ว่าหนี้นั้นระงับไปจำนวนเท่าใดสิทธิที่มีข้อต่อสู้อาจเป็นข้อต่อสู้ว่าด้วยความเป็นโมฆียะหรือไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย


สรุปสาระสำคัญโดยอ้างอิงวิทยานิพนธ์ชื่อเรื่อง“หักกลบลบหนี้: กรณีการรับโอนสิทธิเรียกร้องเพื่อหักกลบลบหนี้” โดยนายศุภวิช สิริกาญจน นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2555



ขอบพระคุณครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้และขอบคุณแหล่งข้อมูล  ข้อมูลนี้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและการนำไปปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย หวังว่าจะเป็นคุณูปการต่อผู้นำไปปรับใช้

คำสำคัญ (Tags): #หักกลบลบหนี้
หมายเลขบันทึก: 577538เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2014 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2014 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีจ้ะอาจารย์ศิลา  ขอบคุณสำหรับความรู้ที่แบ่งปันจ้ะ  หายไปนาน.....คิดถึงจังเล้ยยยย...!

กฏหมายกับชีวิตประจำวัน...มีความสำคัญมากๆ...ขอบคุณค่ะ

คิดถึงคุณมะเดื่อเช่นกันค่ะ หายเข้ากลีบเมฆค่ะ  จะเพียรพยายามแบ่งปันความรู้เยอะ ๆ เยี่ยมเยียนสม่ำค่ะ  ดีใจที่กลับมาแล้วเห็นสหายอยู่ครบถ้วนค่ะ 555 

สวัสดีค่ะ พี่ใหญ่ ระลึกถึงเสมอนะคะ เขียนพรรณาไม่ถูก รู้สึกอยู่ข้างในค่ะ เหมือนไปต่างประเทศแล้วกลับมาบ้าน เจอคนในครอบครัวค่ะพี่

อ่านไปอ่านมา..ก็ยังตีความเป็นภาษา..ชาวบ้านไม่ออกค่ะ..ว่ามันตรงกับ..คำว่าหนี้เวร..หนี้กรรม.อย่างไร..มองตรงคู่กรณี..น่ะเจ้าค่ะ...เมื่อไรถูกผิด..วิวาท..ตัดสิน..คู่กรณี..โดยเที่ยงธรรม..อิอิ..

คิดถึงค่ะเมื่อไรจะจัดไปพบกันบ้านคุณนุชอีกคะ...ยายธีค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท