ข้อสอบ...ของใคร ?


                                                เราจะทดสอบให้ลิงปีนต้นไม้คงทำได้

                                    หากจะทดสอบโดยให้ช้างและปลามาปีนต้นไม้ด้วย

                                                         แล้วจะวัดได้อย่างไรเล่า ?

                  การจัดการเรียนการสอนในสภาพปัจจุบันนี้ มุ่งเน้นการสอนเพื่อให้นักเรียนทำข้อสอบได้มีเกรดเฉลี่ยที่สูงขึ้น วัดระดับความรู้ความสามารถของผู้เรียนจากการสอบได้เกรดเฉลี่ยที่ดี เกณฑ์การเรียนอยู่ในระดับดีมาก ให้คะแนนผลสัมฤทธิ์สูง และการทดสอบอีกมากมายที่เราทุกคนล้วนต่างเข้าใจดีว่าเป็นนโยบายระดับชาติ ทำให้การเรียนการสอนที่เคยมุ่งเน้นเนื้อหาวิชาหลัก ทักษะ การเรียนรู้ที่ต้องเกิดขึ้นกับผู้เรียนอย่างแท้จริง ซึ่งผู้เรียนจะต้องเกิดทักษะทั้งสามด้านคือ ด้านพุทธิพิสัย ทักษะพิสัย และจิตพิสัย หรือเราเรียกง่าย ๆ ว่าต้องมี Knowledge ที่ครอบคลุมในเนื้อหาวิชาหรือแก่นของเนื้อหาหลักๆให้เข้าใจถี่ถ้วน ต้องรู้รอบเข้าใจอย่างลึกซึ้ง มิใช่เพียงแต่รู้อย่างงู ๆ ปลา ๆ รู้แล้วแต่ไม่สามารถดึงความรู้นั้นออกมาใช้ได้ในชีวิตจริง อย่างนี้เป็นความรู้ที่ตายทั้งเป็น ช่วยเหลือใครก็ไม่ได้แม้กระทั่งตนเอง ดังนั้นด้านความรู้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เรียนต้องตระหนักและเรียนรู้ด้วยใจ พิจารณาอย่างรอบคอบกับองค์ความรู้ที่รับเข้ามาเพื่อสามารถถ่ายทอดอธิบาย ตอบคำถามให้หายคับข้องใจเบื้องต้น สามารถสอนเพื่อนให้เข้าใจได้ง่าย ๆทำให้ดูเป็นตัวอย่างใช้วิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบนี้คือความรู้ที่งอกเงยออกมาจากนามธรรมสู่รูปธรรม ถ้านักเรียนคนใดพูดได้ว่ารู้เหมือนกันแต่เมื่อทดสอบความรู้ไม่สามารถตอบในสิ่งที่ถูกต้องได้นั้นหมายความว่าเราต้องพินิจใคร่ครวญดูว่าเป็นเพราะเหตุใด นักเรียนตอบไม่ได้ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา ยังขาดความรู้ที่ไม่ฝังลึกหรือขาดความเข้าใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ครูจะเป็นผู้ให้คำตอบได้เพราะได้อยู่กับนักเรียนตลอดเวลารู้ว่าใครเรียนเก่ง ใครเรียนอ่อน หรือใครเรียนได้ระดับปานกลาง จึงทำให้ได้คำตอบมาที่แตกต่างกัน องค์ความรู้ที่ได้มาต่างกันหรืออย่างไรนั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องหาคำตอบเพื่อชี้ชัดสร้างความเข้าใจ หรือเป็นเพราะแบบทดสอบวัดไม่ตรงกับผู้เรียน แบบทดสอบที่วัดเรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่ประเด็นว่าวัดได้ตรงตามที่กำหนดหรือไม่อาจจะผิดพลาดหรือไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการวัด ใช้แบบทดสอบที่เป็นส่วนกลางแต่บริบทจริงของนักเรียนที่ต้องมาทดสอบแตกต่างกันไม่ว่าจากสภาพแวดล้อม บริบทของนักเรียน ชีวิตความเป็นอยู่ซึ่งอาจสะท้อให้เห็นได้ว่าบางครั้งการทดสอบนั้นก็ไม่ได้มีความจำเป็นกับนักเรียนแต่เพียงอย่างใดเพราะทดสอบไม่ตรงกับความรู้ที่ได้รับ การเรียนการสอนที่มุ่งเน้นเนื้อหาวิชาหลักแต่เมื่อเอาเข้าจริงไปวัดกันที่การทดสอบความรู้ ความจำมากเกินไป ขาดการคิดวิเคราะห์ที่ในชีวิตจริงนักเรียนจะได้ใช้มากกว่าการท่องจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วเมื่อนักเรียนเจอสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง พวกเขาเหล่านั้นจะมีวิธีการคิดตัดสินใจอย่างไร สิ่งเหล่านี้อาจหาไม่ได้ในข้อสอบหากเพียงแต่ปรับปรุงวิธีการทดสอบเสียใหม่ เพื่อให้ความรู้นั้นฝังลึกคงทนและสามารถดึงออกมาใช้ได้ทุกครั้งไป

                เราอาจจมองข้ามการสอนที่ดี ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเปลี่ยนผ่านการศึกษาไปกี่ยุคสมัยเราก็ยังต้องพึ่งพาครู ครูที่ดีที่มีจิตวิญญาณแห่งการสอน มีความรักและศรัทธาในวิชาชีพแห่งการสอน มีอุดมการณ์และความหวังที่อยากจะเห็นนักเรียนของตนนั้นประสบความสำเร็จ มิเช่นนั้นแล้วในอดีตคงไม่มีการสอนไป พร่ำบ่นไปด้วย นั่นก็เพราะอยากเห็นนักเรียนได้ดีโดยเฉพาะนักเรียนหัวนักเลงทั้งหลายที่ไม่เคยเอาจริงเอาจังด้านการเรียนเสียที ความประพฤติก็ไม่เรียนร้อย ล้วนแต่สร้างความหนักใจให้ครูอยู่ร่ำไป อย่างไรกันที่ครูก็ยังต้องสอนทักทักษะ และจริยวัตรที่ดีให้นักเรียนพึงประพฤติปฏิบัติให้เป็นผู้เป็นคน เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ออกไปอยู่ในสังคมได้ ไม่ใช่เรียกหาแต่คะแนนที่สูงลิบตา หรือเกรดเฉลี่ยที่เลิศเลอ เก่งด้วยวิชาความรู้ในฐานหัว แต่ขาดจิตสำนึกความรับผิดชอบ ไร้คุณธรรมจริยธรรมติดตัวออกมาเป็นปัญหาสังคมถ้าครูไม่เห็นปัญหาเหล่านั้นเสียแต่ตอนที่ยังเป็นไม้อ่อนอยู่ ไม่รีบดัดคงไม่ไหวหากจะรอดัดจนแก่เห็นทีจะยากยิ่งนักในสังคมไทย ความรู้เราสอนกันได้และค่อยๆส่งเสริมให้เขาเรียนรู้เมื่อถึงเวลาเขาจะบ่มเพาะ ตักตวงได้อย่างมากมาย แต่สิ่งที่เราขาดคือการบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรม ขาดการปลูกฝังสิ่งที่ควรประพฤติปฏิบัติ การเป็นแบบอย่างที่ดีเริ่มจางหายลง ด้วยปัจจุบันนี้จะทำอะไรก็ต้องเป็นการแข่งขัน แข่งกับเวลาและโอกาสที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว หนึ่งภาคเรียนการศึกษาบางครั้งอาจเรียนไม่ทันเนื้อหาวิชา ครูต้องเปลี่ยนจากการสอนมาเป็นการติวเสียมากกว่า สภาพที่เกิดขึ้นจริงในทุกโรงเรียนทุกภาคของประเทศไทย นโยบายที่เกิดขึ้นมาถูกส่งต่ออย่างไม่มีเงื่อนไข ทุกคนยอมรับก้มหน้าปฏิบัติตามโดยขาดการโต้แย้ง หากเราเพิกเฉยนั่นหมายความว่าเรายอมที่จะให้ระบบกลืนกินความคิด ความเป็นมนุษย์ไปเสียแล้ว เพราะหากมุ่งมั่นทำงานตามระบบแต่ขาดความกล้าหาญทางการคิด อันจะนำไปสู่ความกล้าหาญทางจริยธรรมต่อไปได้ไม่ยากเลย เราทุกคนล้วนดีว่าการคิดทำสิ่งใดอาจมีทั้งดีและเสีย แต่อย่างน้อยก็ควรจะมีดีให้มากกว่า นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมให้มากกว่าส่วนตน มิใช่เห็นทุกสิ่งอย่างเป็นต้องดำเนินไปตามระบบเพียงอย่างเดียว

                   ไม่นานมานี้ผู้เขียนได้ไปศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า อีกไม่ช้าไม่นานบ้านเขาเมืองเขาคงจะเจริญได้ไม่แพ้บ้านเรา บางอย่างอาจช้าไปบ้างหรือเร็วไปบ้างแต่ก็ค่อยเป็นค่อยไปและคงจะพัฒนาในที่สุด หากแต่การเรียนการสอนที่เขามุ่งเน้นรากฐานความรู้ที่ใช้ได้จริง เกิดความก้าวทันและอีกไม่ช้าอาจก้าวข้ามก็เป็นได้ ไม่ใช่การส่งเสริมทางด้านการศึกษาเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งพัฒนาคน เป็นพันธกิจที่เขาต้องปฏิบัติให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านต่อไปในอนาคตอันใกล้ ทำให้ไม่เพิกเฉยต่อการส่งเสริมนักศึกษาให้เรียนรู้อย่างถ่องแท้ ด้วยเหตุอันนี้ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงนักศึกษาคนหนึ่งที่ก้มหน้าก้มตาค้นคว้าหาความรู้อยู่ในห้องสมุด อ่านหนังสือของลุงโฮ (โฮจิมินต์) ทั้งที่ตัวเองเรียนสายวิทยาศาสตร์

ไม่แน่ใจเท่าใดนักว่าเป็นชีววิทยาด้วยหรือไม่ เมื่อแลดูก็คิดได้ว่าเขาอาจจะเชื่อมโยงแนวคิดของลุงโฮหรือย่างไร ? หรือว่านักศึกษาคนนั้นมีความกระตือรือร้นใฝ่รู้ ใฝ่เรียนด้วยตนเอง นับเป็นแบบอย่างที่ดี เลยย้อนถามกลับตัวเองว่า “แล้วเราในฐานะครูคนหนึ่งจะสอนนักเรียนอย่างไรให้เป็นเช่นนั้นได้บ้าง ?” เป็นความคิดที่แล่นเข้ามาอย่างรวดเร็ว และคิดไปไกลถึงระบบการศึกษาที่ค่อยเป็นค่อยไปของเราแล้วก็เกิดความวิตกกังวลนี่หรือการศึกษาไทย...จะทันเขาได้อย่างไรกัน....

หากการศึกษาทำให้เราพัฒนาตนเองได้ทุกระดับจากล่างถึงบน จากฐานกายสู่ฐานใจประเทศไทยนี้คงมีโอกาสได้พบกับความเจริญอย่างแน่นอน ดังนั้น เราควรมองเป้าหมายของการศึกษาคือสิ่งที่สูงสุด และการศึกษาที่แท้คืออะไร ค่านิยมที่เราเรียนในสิ่งที่เลือกเกิดจากเหตุใด เพราะเหตุใดเราจึงเลือกสิ่งนั้น นี่คือคำตอบที่เป็นประโยชน์อันสูงสุด ผู้เขียนมิได้หมายความว่าจะคัดค้านการสอบเพียงฝ่ายเดียวเพียงแต่อยากให้ตระหนักว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นจะขึ้นอยู่กับการสอบเพียงอย่างเดียวใช่หรือไม่ วัดกันที่คะแนนสอบ เกรดเฉลี่ยเป็นเป้าหมายหลักในการประเมินนักเรียน ประเมินครูผู้สอน อันจะเป็นผลสืบเนื่องต่อไปให้ครูได้รับการประเมินวิทยาฐานะ อย่างนั้นหรือแล้วหน้าที่ครูจากการสอนให้ความรู้ ดูแลนักเรียนประหนึ่งลูกคงหายไปจากสังคมไทยเพราะต้องมาแข่งขันติวนักเรียนให้สอบคะแนนดีๆเข้าไว้ นักเรียนจะมีนิสัยความประพฤติเป็นอย่างไรนั้นเป็นเรื่องรองลงมาอย่างนั้นหรือ รวมทั้งการประเมินโรงเรียนอีกด้วย สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะเชื่อมโยงต่อๆกันไป ดังที่อาจารย์ท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “คุณจะเอาไม้บรรทัดอันเดียวไปวัดสิ่งของทุกสิ่งคงเป็นไปไม่ได้” อันนี้เห็นที่จะจริงเพราะการวัดสิ่งของแต่ละประเภทยังใช้อุปกรณ์ในการวัดแตกต่างกัน เพื่อให้ได้คำตอบที่แท้ ข้อมูลที่เป็นจริง แต่นี่เรากำลังใช้ “ข้อสอบ” วัดนักเรียนทุกคนเป็นเกณฑ์เดียวกันหมดทั้งประเทศแบบนี้ยุติธรรมแล้วหรือ ? เรามิได้มีเหตุอยากขัดแย้งกับนโยบายการศึกษาแต่อย่างใด เพียงแต่เราอยากใคร่ครวญด้วยหัวใจแห่งความยุติธรรม เพราะการศึกษาเป็นของมนุษย์ทุกคน และการศึกษาที่แท้คืออิสรภาพอย่างแท้จริง......

หมายเลขบันทึก: 577226เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2014 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กันยายน 2014 10:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท