สำหรับยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานของโครงการฯ มี ๒ ยุทธศาสตร์ คือ การศึกษาสถานการณ์สุขภาพของชุมชน ทุนด้านสุขภาพของชุมชนในทุกมิติในทุกประเด็น และการพัฒนาระบบและกลไกการบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน
โดยมีกระบวนการในการดำเนินงานดังนี้ คือ
เริ่มต้นด้วยการเลือกคนที่มีใจมาทำงานร่วมกัน ซึ่งได้มีการประชุมเตรียมชุมชนก่อน โดยมีการแนะนำและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อนำเสนอรายละเอียด วัตถุประสงค์ เป้าหมาย แนวทางการดำเนินงานโครงการฯ พร้อมทั้งรับฟังแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ ด้านสุขภาพ โดยได้เชิญตัวแทนชุมชนทั้ง ๑๒ ตำบลมาเข้าร่วมประชุม ได้แก่ หน่วยงานราชการในชุมชน ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) องค์การบริการส่วนตำบล เทศบาลตำบล ประธานอาสาสมัครตำบล ประธานผู้สูงอายุ แกนนำชุมชน และสถาบันการศึกษา ซึ่งทุกคนล้วนมาทำงานด้วยใจ โดยผลจากการประชุมดังกล่าว ทั้ง ๑๒ ตำบลเห็นความสำคัญของประเด็นสุขภาพชุมชน และสมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง ๑๒ ตำบล
จัดโครงสร้างและระบบการทำงาน เนื่องจากแต่ละตำบลมีสภาพปัญหา และสิ่งที่อยากพัฒนาแตกต่างกันไป โครงการฯ จึงจัดให้มีคณะกรรมการ ๓ ชุดด้วยกัน คือ คณะกรรมการอำนวยการ คณะทำงานกลาง และคณะทำงานประจำตำบล
พัฒนา Saraphi Health Application และฐานข้อมูลชุมชน ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยคณะทำงานกลางได้พัฒนาเครื่องมือการเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันของพื้นที่ โดยพัฒนาเครื่องมือ ๓ ชุดให้ครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพชุมชน ได้แก่ ชุดข้อมูลระบบสุขภาพ ชุดข้อมูลระบบสุขภาพปฐมภูมิ ชุดข้อมูลครัวเรือน และได้คิดพัฒนา program หรือ application สำหรับเก็บข้อมูลด้านสุขภาพ โดยใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานด้วยอุปกรณ์พกพาเคลื่อนที่หรือ smart phone
อ.วิลาวัณย์ ได้เล่าว่า “ช่วงที่จะศึกษาสถานการณ์ชุมชน เราคุยกันในทีมทำงาน ซึ่งมี ผศ.ดร. วราภรณ์ บุญเชียง อาจารย์จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแกนหลัก และสอบถามกับชุมชนด้วยว่า ข้อมูล หรือ content อะไรที่จะเป็นของพื้นที่ ซึ่งพื้นที่คิด พื้นที่ทำ และพื้นที่รับประโยชน์ ซึ่งเราไม่ได้คิดถึงเรื่องโรคอย่างเดียว แต่ต้องคิดถึงเรื่องของปัจจัยที่ทำให้ประชาชนป่วยด้วย เมื่อได้เนื้อหาหรือ content ที่ต้องการแล้ว ก็ไปปรึกษา รศ.ดร.เอกรัฐ บุญเชียง อาจารย์ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็น programmer เพื่อให้มาช่วยพัฒนา application สำหรับการเก็บข้อมูลและจัดทำฐานข้อมูลด้านสุขภาพของชุมชนแบบ online โครงการฯ นี้จึงเป็นการบูรณาการ การดำเนินงานโครงการ การเรียนการสอน การวิจัยเข้ามาด้วยกัน เพราะทีมที่ช่วยพัฒนา application นี้ คือ ทีมอาจารย์และนักศึกษา เรียกได้ว่าเป็นการทำ R&D ไปในตัว”
ซึ่ง ผศ.ดร. วราภรณ์ บุญเชียง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่หนึ่งในผู้พัฒนาเครื่องมือการเก็บข้อมูลได้เล่าเสริมในประเด็นนี้ไว้ว่า“โครงการพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพเพื่อการจัดการสุขภาพระดับอำเภอ เป็นโครงการที่แตกย่อยมาจากโครงการใหญ่ที่อาจารย์วิลาวัณย์ ดูแลอยู่ โดยโครงการฯ ย่อยนี้เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เราต้องการรู้ว่าในส่วนของชุมชนมีลักษณะเป็นอย่างไร มีประเด็นทางสุขภาพอะไรบ้าง ทั้งในส่วนของเศรษฐกิจ ครอบครัว ชุมชน จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และทุนทางสังคมอื่นๆ ด้วยที่เข้ามามีผลต่อสุขภาพ โดยมีทีมงานที่อยู่ในภาควิชาพยาบาลและสาธารณสุข ทีมงานทุกคนมองว่า ในการพัฒนาชุมชน ชุมชนต้องเป็นรากฐานของสุขภาวะทุกอย่าง จึงมองในเรื่องของการบูรณาการและการวิเคราะห์สถานการณ์เกี่ยวกับสุขภาพ โดยใช้ฐานทฤษฎีและองค์ความรู้ ทางด้านพยาบาลชุมชน และให้ผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง เราได้มีการพัฒนาแบบสอบถามและตกผลึกมาเรื่อยๆ”
เมื่อพัฒนาเครื่องมือในการเก็บข้อมูลชุมชนและ application เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้มีการนำไปทดลองเก็บข้อมูลในพื้นที่จริง โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคเอกชน ในการสนับสนุนเรื่องของเครือข่ายและเทคโนโลยีการสื่อสารในการจัดเก็บข้อมูลแบบ real time ทั้งในส่วนของ simcard สำหรับ smart phone เทคโนโลยีทางภูมิศาสตร์ โดย google map ในการสำรวจเส้นทางทุกเส้นทางในอำเภอสารภี ซึ่งรายงานผลแบบ google street view ที่บอกถึงรายละเอียดของตำแหน่งและพิกัดบ้านอย่างครบถ้วน เพื่อสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในชุมชน เช่น ข้อมูลภาวะทางสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค ระบาดวิทยา การเฝ้าระวังโรค ข้อมูลในการให้บริการทางสาธารณสุข ทุนทางสังคม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยการพัฒนาฐานข้อมูลดังกล่าวนี้ มีเป้าหมายให้ชุมชนเป็นเจ้าของ รับผิดชอบในการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และการจัดการฐานข้อมูลนี้ต่อไป หลังจากได้ฐานข้อมูลที่สมบูรณ์จากโครงการฯ แล้ว
(ติดตามตอนต่อไป)
นภินทร
ไม่มีความเห็น