เลาะเลียบเรียนรู้...กระบวนการขับเคลื่อนระบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วม อ.สารภี จ. เชียงใหม่ (ตอนที่ ๑)


          หลังจากที่เข้ามาทำงานและเป็นสมาชิกใหม่ของบ้านสุชน ได้ ๒ สัปดาห์ ก็มีโอกาสลงพื้นที่ เรียนรู้การขับเคลื่อนระบบสุขภาพโดยชุมชน ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เป็นครั้งแรก โดยได้ไปเยี่ยมชมความสำเร็จในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของชุมชน จาก ๓ เรื่องราว คือ การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน อำเภอสารภี ที่โรงพยาบาลสารภี การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนเพื่อชุมชน โดยชุมชนท้องถิ่น ที่ศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตำบลขัวมุง และการพัฒนาชุมชนสุขภาวะองค์รวม ของคนตำบลชมภู ที่เทศบาลตำบลชมภู ซึ่งทั้ง ๓ เรื่องราว มีรูปแบบ กระบวนการ บริบทและนวัตกรรมในการผลักดันขับเคลื่อนระบบสุขภาพของชุมชนที่แตกต่างกัน แต่ทั้ง ๓ เรื่องราวมีผลความสำเร็จ การพัฒนาต่อยอดและความเชื่อมโยงร้อยเรียงสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ “สุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health” ได้อย่างน่าสนใจ

          การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน อำเภอสารภี

          พื้นที่แรกที่ได้ไปเยือน คือ โรงพยาบาลสารภี ซึ่งที่นี่ เราได้พบกับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และเครือข่ายของโรงพยาบาลสารภี มารอต้อนรับคณะของเราอย่างอบอุ่น โดยมี คุณหมอจรัส สิงห์แก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสารภี ได้บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์และความเป็นมาอันยาวนานในการพึ่งพาตนเอง จนเป็นโรงพยาบาลสารภี ขนาด ๖๐ เตียง เช่นปัจจุบัน พร้อมทั้งฉายภาพข้อมูลภาพรวมที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนในอำเภอสารภี

          โดยพื้นที่ตั้งของอำเภอสารภี มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ จึงประสบปัญหาเรื่องหมอกควัน จากการเผาแปลงเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวของพื้นที่สูงมาปกคลุมพื้นที่ทั่วทั้งอำเภอสารภี ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีปัญหาสุขภาพตามมา โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง และยังมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไตวาย โรคถุงลมโป่งพอง โรคเรื้อรังต่างๆ เป็นต้น

           ทางออกของการแก้ไขปัญหาสุขภาพและสุขภาวะดังกล่าว จึงต้องมีการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ที่ครอบคลุมทุกมิติในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมและประเด็นปัญหาของชุมชน โดยการประสานความร่วมมือและทรัพยากรในท้องถิ่น ภาคีเครือข่าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน เพื่อที่จะสามารถจัดการปัญหาสุขภาพของประชาชนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประชาชนมีสุขภาวะ

          โดยคุณหมอจรัส ได้เน้นย้ำแนวทางในการดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า “สุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน ที่ร่วมกันตั้งกติกาการอยู่ร่วมกัน ซึ่งมีการโยงคน โยงความรู้ ข้อมูล ประเด็นร่วมต่างๆ เพื่อให้เกิดเป็นเครือข่าย และความร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนจากคนในชุมชนเอง”

          นอกจากนั้น รศ.วิลาวัณย์ เสนารัตน์ ผู้จัดการโครงการการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ยังได้บอกเล่าถึงรายละเอียดของโครงการฯ ที่มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การพัฒนารูปแบบและกลไกในระบบบริการของสถานบริการในระดับปฐมภูมิ และระบบสุขภาพชุมชนเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพในระดับครอบครัวและชุมชน การพัฒนาศักยภาพบุคคลและภาคีเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นทั้งในระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและภาคีเครือข่ายด้านวิชาการให้เกิดการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน รวมไปถึงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ องค์ความรู้และนวัตกรรมในการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชนระหว่างภาคีเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น

          โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมมาเป็นกรอบแนวคิดในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วม ตั้งแต่เริ่มต้น คือ ร่วมคิด ใช้ชุมชนเป็นตัวตั้ง มีคนทำงาน นำไปใช้งาน เมื่อได้ผลแล้วก็นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และขยายผลต่อไป

          (ติดตามตอนต่อไป)

                                                                                                                                                                    นภินทร

หมายเลขบันทึก: 576926เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2014 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2014 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท