คิดเรื่องงาน (86) : เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง (รู้จักฉันรู้จักเธอ)


ผมยังหวังว่าเวทีครั้งนี้จะทำให้น้องๆ ทีมกระบวนกรรู้จักทักษะต่างๆ ของตนเองมากกว่าที่ผ่านมา

ผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า สถานการณ์จะสร้างวีรบุรุษ สถานการณ์จะทำให้แต่ละคนรู้ว่าตนเองมีศักยภาพมากน้อยแค่ไหน


กรณีดังกล่าวนี้ ผมไม่ได้เดินทางไปร่วมโครงการพัฒนาแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนานิสิตระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ กันยายน ๒๕๕๗ ณ พันล้านรีสอร์ท จังหวัดหนองคาย

ครับ-ไม่ได้ไป ทั้งๆ ที่คิดและขีดเขียนโครงการนี้กับมือตนเอง




ก่อนการเดินทาง ผมนั่ง “สอนงาน” ให้กับผู้รับผิดชอบหลัก เพื่อให้เป็น “แกนกลาง” ในการถ่ายโอนงานไปยังคนอื่นๆ ด้วยการยึดหลักการทำงานคือการเชื่อมประสานให้คนอื่นๆ มาช่วยงานให้มากที่สุด และให้พยายามใช้คนให้ตรงกับงาน พร้อมๆ กับการย้ำเน้นว่าขอให้เวทีนี้เป็นเวที “พัฒนาศักยภาพ” บุคลากรในองค์กรไปในตัว

ครับ-ผมอธิบายกระบวนการในเชิงหลักคิดและวิธีการอย่างละมุนละม่อม เป็นการสอนงานแบบไพเราะที่สุดเท่าที่ผมเคยสอนคนมา  มิหนำซ้ำก่อนเลิกงานยังขีดเขียนกระบวนการให้ไปศึกษาอีกรอบว่าจะเปิดเวทีอย่างไร  รวมถึง (ควร)  จัดวางกระบวนการในแต่ละห้วงตอนอย่างไร เพื่อรองรับการเรียนรู้ร่วมกันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะพึงกระทำได้





ขอยืนยันตรงนี้ว่า  เป็นการออกแบบกระบวนการตามประสบการณ์ตรงของผม  แต่ไม่ใช่การ "ครอบงำ" ว่าต้องทำแบบนี้  ตรงกันข้ามกลับย้ำอย่างหนักแน่นว่า "ขอให้ทำความเข้าใจและปรับประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม จะใช้ทั้งหมด หรือเลือกเอาไปใช้เพียงบางส่วนก็ได้ ทุกอย่างขอให้ดูสถานการณ์ และทุกอย่างให้เน้นกระบวนการเป็นหัวใจหลัก กระบวนการดี ย่อมได้ผลลัพธ์ที่ดี  หรือหากยังไม่สามารถวิเคราะห์หยั่งลึกและเชื่อมโยงอันใดได้ - เดี๋ยวกลับมา ผมจะเติมเต็มให้อีกที"

และหนึ่งในกระบวนการที่น้องๆ นำไปใช้ก็คือ “รู้จักฉันรู้จักเธอ” ...




พวกเขาเปิดเวทีด้วยกิจกรรมนันทนาการสร้างความตื่นตัวเหมือนที่เคยทำมา จากนั้นก็ให้แต่ละคนวาดภาพในหัวข้อ "ความสุข" ผ่านพื้นที่ 4 ช่อง หรือ 4 สถานีชีวิตที่ประกอบด้วย "อดีต ปัจจุบัน อนาคต และอะไรก็ได้"  เมื่อวาดเสร็จ ให้จับกลุ่มบอกเล่าเรื่องราวสู่กันฟัง  สลับกลุ่มไปตามห้วงเวลาที่มี

กิจกรรมดังกล่าวเป็นการละลายพฤติกรรมในแบบฉบับ "บันเทิงเริงปัญญา" บูรณาการศาสตร์หลากแขนงเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งการวาดภาพ (ทัศนศิลป์) เล่าเรื่อง (วาทะศิลป์)  รวมถึงการผูกโยงหลักของการสร้างทักษะแห่งการฟัง การจับประเด็น การสื่อสารสร้างสรรค์ ทักษะการคิด ฯลฯ

นอกจากนี้ "รู้จักฉันรู้จักเธอ" ยังซ่อนนัยสำคัญของให้แต่ละคนได้ทบทวนชีวิตตนเอง ชำระร่องรอยบางอย่างของตนเองผ่านงานศิลปะ (ศิลปะบำบัด) และเชื่อมร้อยเข้าสู่การเปิดเปลือยตัวเองให้คนรอบข้างได้เข้ามาเรียนรู้ อันเป็นกลยุทธแห่งการแบ่งปัน อาทร






รู้จักฉันรู้จักเธอ- คือกระบวนการที่ลุ่มลึกในทางจิตวิญญาณ  หากใช้เวลามากๆ กับกิจกรรมนี้ จะทำให้สัมผัสถึงความงดงามของชีวิต  สัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลง (Transformation) อย่างสร้างสรรค์ร่วมกัน  และเป็นการช่วยให้ผู้เข้าร่วมเวทีผ่อนคลาย สนิทกันมากขึ้น ง่ายต่อการขับเคลื่อนการเรียนรู้ในเวทีนั้นๆ...

ผมไม่ได้อยู่ในเวทีดังกล่าว แต่ก็เชื่อว่าน้องๆ จะทำหน้าที่กระบวนกรกันได้ไม่ขี้เหร่นัก ดีไม่ดีอาจทำได้ดีมากกว่าผมเสียด้วยซ้ำ

หรือถ้าจะมีจุดอ่อนบ้างก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการวิเคราะห์เชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ เข้ามาเป็นโจทย์ชวนคิดชวนเสวนาเสียมากกว่า  เพราะพวกเขายังขาดทักษะกระบวนคิดเช่นนั้นอยู่มาก...

          เช่นเดียวกับหากพวกเขาสามารถวางทีมงานนั่งประจำเป็น (เสมือน) กระบวนกรในกลุ่มย่อม เฝ้าฟังและสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วมต่อเรื่องที่แต่ละคนกำลังเล่า  แล้วจับประเด็นว่าเป็นเรื่องอะไร สำคัญอย่างไร เหมือนและต่างกันอย่างไร-ผมว่าตรงนั้นแหละ คือเสน่ห์ในทางเนื้อหาที่ซ่อนรูปในกระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอ





ครับ-รู้จักฉันรู้จักเธอ  ไม่เพียงทำให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการรู้จักตัวเอง รู้จักคนรอบข้างและรู้จักการแบ่งปันเรื่องราวต่อกันและกัน  รวมถึงการรู้จักทักษะต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น ผมยังหวังว่าเวทีครั้งนี้จะทำให้น้องๆ ทีมกระบวนกรรู้จักทักษะต่างๆ ของตนเองมากกว่าที่ผ่านมา

แน่นอนครับ-ผมเพียงแต่ลุ้นๆ ว่าสถานการณ์ที่ไม่มีผม  คงช่วยให้พวกเขาได้ยินเสียงอันกังวานใสในตัวเองได้มากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือการที่พวกเขาจะได้รู้จักตนเอง รู้จักทักษะแห่งการเป็นกระบวนกรในตัวเองมากยิ่งขึ้นนั่นเอง




๒๔ กันยายน ๒๕๕๗
หนองคาย

หมายเลขบันทึก: 576802เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2014 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2014 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อ้าว !!!!    ว่าจะพา  อ.แผ่นดิน  ไปกินแหนมเนือง   อดเลย   อิ  อิ    ^_,^

ขอบพระคุณพี่หมอ ธิรัมภา มากๆ นะครับ
เอาไว้โอกาสหน้า จะแวะไปให้เลี้ยงแหนมเนืองชุดใหญ่ละกัน ....เอิ๊กๆ

เป็นกระบวนการรสร้างทักษะ.... การสร้างความรู้ร่วมกันนะคะ  ... รู้จักตนเอง... รู้จักคนรอบข้างและรู้ตักแบ่งปัน นะคะ   ตรงนี้คือ สุดยอดเลยค่ะ

ครับ พี่ Dr. Ple

อย่างภาพนี้  นิสิตที่กำลังเลาเรื่องเป็นนายกองค์การนิสิต ครับ  เรื่องที่เล่าคือการเกิดของตนเอง  โดยเล่าให้ฟังว่า "หมอตำแย"  เป็นคนทำคลอดให้ นั่นเอง...เห็นว่าเจ้าตัวใช้คำว่า "ผมเกิดจากหมอตำแย"  ว่างั้นครับ

รอไปกินแหนมเนืองด้วยคน

55555

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท