กิจกรรมกลุ่มฮาเฮ


     เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสในการแสดงสถานการณ์จำลองในการทำกิจกรรมกลุ่ม ในวิชาการวิเคราะห์และปรับสื่อการรักษา ในหัวข้อเรื่อง group process & group dynamic ซึ่งอาจารย์จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มเด็กและกลุ่มผู้สูงอายุ และจะให้เพื่อนแต่ละคนทำบทบาทที่แตกต่างกันออกไป โดยจะมี 2 คนเป็นคนนำกลุ่มและช่วยนำกลุ่ม

     ในช่วงแรกเป็นช่วงของการจัดกิจกรรมในกลุ่มเด็ก อาจารย์จะให้มีคน 6 คนแสดงบทบาทสมมติเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมและบุคลิกแตกต่างกันออกไป โดยดิฉันก็ได้แสดงเป็นหนึ่งในเด็ก 6 คน ซึ่งพฤติกรรมที่อาจารย์กำหนดให้ฉันนั้น คือ เด็กที่ anti social, คอยขัดขวางการทำกิจกรรมในทุกๆอย่าง ไม่ให้ความร่วมมือ …ในตอนแรกดิฉันก็หนักใจพอสมควรที่ได้รับบทบาทนี้ เพราะกลัวว่าจะหลุดหัวเราะและไม่สมบทบาท แต่อาจารย์กำชับมากว่าต้องทำให้เหมือนจริงที่สุด! เพื่อที่จะได้ดูไหวพริบในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ของเพื่อนที่ได้รับหน้าที่เป็นผู้นำกลุ่ม เพราะอาจารย์บอกกับเราว่า ‘ในการจัดกิจกรรมกลุ่มกับคนจริงๆ เราจะต้องเจออะไรที่เยอะกว่านี้นี้แค่น้ำจิ้ม’ ดังนั้นฉันเลยจัดเต็มจริง ๆ กับบทบาทครั้งนี้ :D

      ในวินาทีแรกที่ออกไปทำกิจกรรมกลุ่ม ยอมรับเลยว่าการที่เราได้แสดงเป็นเด็กที่เก็บกด ไม่อยากทำกิจกรรมกลุ่มมันกดดันมาก การมีบุคลิกแบบนี้ ทำให้การทำกิจกรรมอะไรกับกลุ่มดูไม่สนุกไปซะทุกอย่าง ไหนจะต้องร้องไห้อยากกลับบ้าน ,อยู่ดีๆออกไปวิ่งไปเล่นคนเดียว,มีการทำร้ายและทะเลาะกับเพื่อน แต่มันก็ทำให้ดิฉันเห็นว่า เพื่อนผู้นำในกลุ่มเด็กนั้น มีไหวพริบที่ดีจริง ๆ สามารถบล็อกดิฉันได้อย่างรวดเร็ว เมื่อฉันจะวิ่งออกไปเล่นที่อื่น เรียกง่ายๆว่า ‘เอาอยู่จริง ๆ’ แม้กิจกรรมที่จัดให้พวกฉันทำจะน่าเบื่อในบางครั้ง แต่ดิฉันว่าในฐานะที่เป็นผู้นำกลุ่มครั้งแรก ถือว่าทำได้ดีเลยทีเดียว … ซึ่งเมื่อเราแสดงบทบาทกันจบแล้ว ขอบอกเลยว่าโล่งมาก เพราะฉันรู้สึกอึดอัดสุดๆที่จะต้องอยู่ในบทบาทเด็กเก็บกดและก้าวร้าว มันทำให้ดิฉันรู้ว่า พฤติกรรมของเด็กแบบนี้ จะส่งผลให้พวกเขาไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต และความสุขในวัยเด็กจะหายไปอย่างไม่น่าเชื่อ ดิฉันจึงคิดว่าหากเราเจอเด็กแบบนี้ การที่เราไปดุด่าหรือตีเขา ยิ่งจะทำให้เขาหลีกหนีและเกลียดการเข้าสังคมมากกว่าเดิม ทางเดียวที่จะช่วยเยียวยาเขาก็คือการให้ ‘ความรัก’ ‘ความเข้าใจ’ และ ‘ความเอาใจใส่’ ให้มากๆ แค่นั้นก็พอ :)

(ภาพจาก : www.maneerut.com)

      ส่วนในช่วงที่สองเป็นช่วงของกลุ่มผู้สูงอายุ ครั้งนี้ฉันได้ทำหน้าที่เป็นผู้สังเกต มันทำให้ฉันมองเห็นในหลายๆมุมหลายๆด้าน ทั้งพฤติกรรมของผู้สูงอายุที่เพื่อนแต่ละคนพยายามแสดงออกได้อย่างสมจริงมาประหนึ่งเข้าชิงรางวัลออสก้า และไหวพริบการแก้ไขปัญหาของผู้นำกลุ่ม มันทำให้ฉันรู้ว่า ในจุดเล็กๆที่หลายๆคนอาจมองข้ามไปในตัวผู้สูงอายุ มันคือจุดสำคัญที่ผู้สูงอายุเขาแคร์มาก เช่น บางคนต้องพูดชื่อยศนำหน้าเสมอ , หรือบางคนมีเบื้องหลังที่ไม่ดี ทำให้เขาไม่อยากจะฟื้นฝอยเล่าความหลังให้เราฟัง , ในขณะที่บางคนดูมีความสุขดีแต่อาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพที่เขาอาจไม่ได้บอกแต่เราต้องสังเกตเอง และกิจกรรมที่จัดให้ผู้สูงอายุและเด็กก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือในเด็กจะเน้นไปในกิจกรรมที่เน้นการเคลื่อนไหว แต่ในผู้สูงอายุจะเน้นในกิจกรรมที่ฝึกใช้ความคิดไม่เน้นเคลื่อนไหวซะมากกว่า

     ซึ่งในการทำกิจกรรมกลุ่มในคาบเรียนครั้งนี้ ดิฉันคิดว่ามันมีประโยชน์มาก เพราะนอกจากจะทำให้เราเห็นภาพกิจกรรมกลุ่มจริง ๆ มากกว่าการนั่งเรียนเลคเชอร์ธรรมดาแล้ว ยังทำให้เราฝึกคิด มีไหวพริบ และมองในทุกๆสิ่ง เพื่อที่จะได้ทำให้การทำกิจกรรมกลุ่มดำเนินไปได้อย่างมีความสุข

หมายเลขบันทึก: 576159เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2014 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2014 13:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท