เวียตนามเปิดเส้นทางบินใหม่


ซินหวา - เวียดนามวางแผนที่จะใช้เส้นทางบินเส้นใหม่จากกรุงฮานอย เมืองหลวงของประเทศ ไปยังนครโฮจิมินห์ ทางภาคใต้ ผ่านลาว และกัมพูชา หลังได้รับอนุมัติจากรัฐบาลของ 2 ประเทศ สื่อท้องถิ่นของเวียดนามรายงานวานนี้ (25)

ในการเยือนกัมพูชาเมื่อไม่นานนี้ นายดี่ง ลา ทาง รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเวียดนาม และโสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เห็นชอบในหลักการที่จะกำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับเส้นทางบินตรงระหว่างกรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์ ด้วยการบินผ่านน่านฟ้าของกัมพูชา หนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์เดลี่รายงานอ้างคำกล่าวของแหล่งข่าวจากกรมการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV)

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสองประเทศได้อนุมัติเห็นชอบต่อแผนดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชา และเวียดนามจะทำงานร่วมกันในประเด็นด้านเทคนิคสำหรับเส้นทางบินที่วางแผนไว้นี้ ขณะเดียวกัน หน่วยงานของเวียดนามจะทำงานกับฝ่ายลาวเพื่อศึกษาวิจัยเส้นทางที่จะย่นระยะเวลาทำการบินระหว่างกรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์ด้วย

ก่อนหน้านี้ ในเดือน มี.ค.2552 CAAV ได้รับข้อเสนอเส้นทางบินตรงฮานอย-โฮจิมินห์ “เส้นทางทองคำ” จากอดีตนักบินเวียดนามรายหนึ่ง

ข้อเสนอเส้นทางบินเส้นใหม่จะทำให้เครื่องบินที่บินระหว่างกรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์บินเหนือลาว และกัมพูชา แทนการบินเหนือมหาสมุทรตามแนวชายฝั่งของประเทศที่โค้งเป็นตัว “S” โดยจะบินตามตามเส้นแวงฝั่งตะวันออกที่ 106 ที่จะช่วยย่นระยะทางระหว่างกรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์ จาก 1,200 กิโลเมตรเ หลือ 1,000 กิโลเมตร ส่วนระยะเวลาบินจะลดลงจาก 105 นาที เหลือ 80 นาที ช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 5,000 ลิตรต่อเที่ยว

อย่างไรก็ตาม การวิจัยเส้นทางใหม่นี้ต้องระงับลงหลังการสัมมนาหลายครั้งเกี่ยวกับแผนเส้นทางบินดังกล่าว

ต่อมา ในเดือน ก.พ.2555 สมาชิกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางเศรษฐกิจเวียดนาม ได้แสดงโครงการธุรกิจที่เป็นผลกำไรของสายการบินเวียดนาม (VNA) ระบุว่า เส้นทางบินระหว่างฮานอย-โฮจิมินห์เส้นใหม่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบัน เส้นทางบินฮานอย-โฮจิมินห์ มีลักษณะโค้งไปมา และยาวกว่าเส้นทางบินตรงตัดผ่านลาวและกัมพูชา เส้นทางที่ใช้อยู่ในปัจจุบันสิ้นเปลืองงบประมาณเส้นทางบินภายในประเทศของสายการบินเวียดนามประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ต่อปี

CAAV ระบุว่า โครงการวิจัยเส้นทางบินตรงระหว่างฮานอย-โฮจิมินห์ ในครั้งนี้คล้ายกับข้อเสนอที่ผ่านๆ มา และว่า เส้นทางบินระหว่างกรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์ที่สั้นขึ้นสามารถสร้างความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศอาเซียนได้.

คำสำคัญ (Tags): #อินโดจีน
หมายเลขบันทึก: 575443เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2014 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2014 11:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับอาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท