การนำมาตรา 63 มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนกระทำผิด


อีกทางเลือก..ของการแก้ไขปัญหาเด็กกระทำผิด
      การกระทำความผิดอาญาของเด็กและเยาวชน (Juvenile Delinguency)  มีจำนวนไม่น้อยที่เด็กและเยาวชนเหล่านี้   กระทำผิดด้วยสาเหตุหลายประการ หรือกระทำผิดกฎหมายบางประเภท ซึ่งในทางอาชญาวิทยาจะไม่เรียกการกระทำนั้นว่า "อาชญากรรม" แต่จะเรียกว่าการกระทำผิด เนื่องจากเด็กและเยาวชนมีวุฒิภาวะที่ไม่สมบูรณ์ ยังขาดความยั้งคิด ขาดการยับยั้งควบคุมตนเองมิให้กระทำผิด   หรือกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และบางครั้งก็อาจจะถูกชักจูงจากบุคคลอื่น ซึ่งเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่กระทำความผิดโดยมิได้มีเจตนาชั่วร้าย แต่กระทำผิดเนื่องจากความยากจน  หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำผิด หากให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้นได้รับการลงโทษตามกระบวนการ อาจจะไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อเด็กและเยาวชน ตลอดจนผู้เสียหาย ชุมชน หรือสังคมแต่อย่างใด เนื่องจากกระบวนการดำเนินคดีนั้นยังผูกขาดโดยรัฐเป็นส่วนใหญ่ ชุมชนหรือสังคมเข้ามามีบทบาทหรือส่วนร่วมน้อยมาก และส่วนใหญ่ความผิดประเภทดังกล่าว ศาลมักจะพิพากษาให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษไว้ เด็กและเยาวชนเหล่านั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ต้องคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งแม้โทษที่ศาลลงโทษจะมากหรือ น้อย จะหนักหรือเบาเพียงใดก็ตาม ก็ถือว่าพวกเขาถูกประทับตราบาปจากสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว ดังนั้น การนำ "มาตรการแทนการดำเนินคดีอาญา"  มาใช้น่าจะเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะอำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายซึ่งในคดีความผิดอาญาที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน

     การเสนอความเห็นสั่งไม่ฟ้องเด็กและเยาวชนของผู้อำนวยการสถานพินิจฯตามมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534  กำหนดให้ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ  สามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาเสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเด็กและเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดไปยังพนักงานอัยการได้   หากเห็นว่าเด็กนั้นสามารถกลับตนเป็นคนดีได้  โดยไม่ต้องฟ้อง และเด็กและเยาวชนนั้นยินยอมที่จะอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจฯระยะหนึ่ง และเมื่อพนักงานอัยการเห็นชอบด้วย  ให้มีอำนาจที่จะไม่ฟ้องเด็กและเยาวชนนั้นได้ ซึ่งหากว่าผู้อำนวยการสถานพินิจฯใช้ดุลพินิจหรือพิเคราะห์ ในการนำเสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเด็กและเยาวชนดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม น่าจะก่อให้เกิดผลดีหลาย ประการ ต่อไปนี้

     1. เป็นการลดความแออัดในสถานแรกรับฯ  รวมทั้งศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนของสถานพินิจฯ    ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านอาคารสถานที่   อัตรากำลังเจ้าหน้าที่และงบประมาณ โดยระยะก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินคดี   หากเด็กและเยาวชนไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือมีประกัน ก็จะต้องอยู่ปะปนกันกับเด็กและเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำผิดอื่น ๆเป็นจำนวนมาก    และส่วนใหญ่มีเวลาว่างค่อนข้างมาก อาจเป็นเหตุให้มีการถ่ายทอดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมระหว่างกันได้ง่าย

     2. เป็นการลดผลกระทบของการต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิด การต้องคำพิพากษาว่ามีความผิด แม้ว่าศาลจะมีคำพิพากษารอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษแก่เด็กและเยาวชนก็ตาม จะส่งผลกระทบในทางลบต่อเด็กและเยาวชนในลักษณะต่าง ๆ คือ

     2.1 ก่อให้เกิดตราบาป (Stigma) แก่เด็กและเยาวชน กล่าวคือผู้ที่เคยต้องคำพิพากษามาแล้ว สังคมมักจะตราหน้าว่ากระทำความผิด ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการที่เด็กและเยาวชนเหล่านั้นจะปรับตัวให้เข้ากับสังคม บุคคลรอบข้างรังเกียจที่จะคบหาสมาคมด้วย  ทำให้สูญเสียโอกาสอันชอบธรรมที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้าหรือพัฒนาตนเอง อันเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมสืบไป และเมื่อเด็กและเยาวชนเหล่านี้ ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ตกเป็นจำเลยต่อศาล ความรู้สึกนึกคิดย่อมส่งผลต่อการดำเนินชีวิตปกติของเขาต้องชะงักไปและก่อให้เกิดการปรับตัวกลับคืนสู่สังคมลำบากยากขึ้น เพราะการถูกดำเนินคดีในศาลมักจะเกิดความรู้สึกเสมือนเป็นรอยตำหนิอยู่ในใจยากที่จะลบเลือนได้

     2.2 เกิดความเคยชินไม่เกรงกลัวความผิด    จากสภาพความเป็นอยู่ภายในศูนย์ฝึกและอบรมฯ  อาจส่งผลให้เด็กและเยาวชน มีทัศนคติ นิสัย และความประพฤติเปลี่ยนไปในทางลบ  อาจทำให้เกิดการปรับตัวให้เข้ากับสภาพของการถูกควบคุมตัว ส่งผลให้กระทำความผิดซ้ำได้

     2.3 ศูนย์ฝึกและอบรมฯ เป็นที่รวมเด็กและเยาวชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในหลายประเภท และโดยสภาพต้องอยู่รวมกัน การถ่ายทอดพฤติกรรมในทางลบอาจจะมีขึ้นได้ อันจะส่งผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดในคดีเล็กน้อย จึงจำเป็นต้องกันเด็กและเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิดเล็กน้อย ออกจากกระบวนการยุติธรรมตามปกติ

      3. เป็นประโยชน์ต่อผู้เสียหาย ชุมชนและสังคม   เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายและชุมชนเข้ามามีบทบาทในการกำหนดวิธีการแก้ไข  ฟื้นฟู   เด็กและเยาวชนผู้กระทำความผิดโดยผู้เสียหายอาจได้รับการทดแทนหรือชดเชยความเสียหายในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจมิใช่เป็นตัวเงินเสมอไป อาทิเช่น อาจจะเป็นในรูปการทำงานให้แก่ผู้เสียหายตามสมควร หรือในรูปแบบของการทำงานบริการสาธารณะ อย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน อันจะส่งผลให้เกิดความพึงพอใจทั้งฝ่ายผู้เสียหายและเกิดความสำนึกที่ดีในตัวเด็กและเยาวชน   เนื่องจากการใช้ดุลพินิจต้องพิจารณารวมถึงความเห็นของผู้เสียหาย ว่าประสงค์จะดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชน ผู้ต้องหาหรือไม่

4. เป็นการประหยัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐ   ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนในศูนย์ฝึกและอบรมฯจำนวนมาก ทั้งงบประมาณในการก่อสร้างอาคารสถานที่  จำนวนบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม  อีกทั้งการดำเนินคดีตามรูปแบบปกติอาจทำให้เด็กและเยาวชนต้องออกจากโรงเรียนหรือออกจากงาน  ขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ทำให้ครอบครัวเดือดร้อนไปด้วย  ดังนั้นหากสถานพินิจฯสามารถใช้ดุลพินิจอย่างถูกต้องและเหมาะสมในการเสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเด็กและเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดและดำเนินการให้เป็นรูปธรรม น่าจะเป็นการผลักดันเด็กและเยาวชนส่วนหนึ่งออกจากกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นทางการ โดยที่เด็กและเยาวชนเหล่านั้นจะไม่ได้ชื่อว่าเป็นตราบาปของสังคมอีกทั้งวิธีในการดำเนินการดังกล่าวเป็นการสร้างจิตสำนึกให้แก่พวกเขาเหล่านั้นในการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคมต่อไป

                                                …………………………….                                
หมายเลขบันทึก: 57526เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2006 00:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

* การตัดสินของผู้พิพากษา...เร่องผลกระทบ..ในข้อก่อให้เกิดตราบาป...และ ความเคยชิน...นี่เป็นเรื่องยากมาก...

* เด็กบางคน..เขาเห็นเพื่อนทำผิดได้รับโทษ...หรือภอัยโทษ...เขาก็ทำผิดแบบที่เพื่อนทำบ้าง.....บางคนก็หัวหมอ...หรือเพราะความไม่รู้...ก็เถียงครูว่า......เพิ่งทำผิดเป็นครั้งแรก...ครูก็ต้องอธิบายให้เข้าใจ...ว่าผิดครั้งนี้เป็นผิดเพราะเจตนา...เนื่องจากเลียนแบบผู้อื่น...แล้วจะอ้างสิทธิไม่ได้

อิอิ....♥ ครับ เข้า ไจ และ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท