ทุกภาคส่วนของสังคมส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี


การลดอุปสรรคและสร้างโอกาส โดยมีข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ฯ ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ดังนี้ 1. การเสริมสร้างนโยบายอย่างชัดเจน 2. การดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง 3. สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานอย่างเพียงพอ 4. สนับสนุนบุคลากรในการดำเนินการ 5. ผู้บริโภคหรือผู้รับบริการที่ได้รับการตอบสนองอย่างแท้จริง

กรุงเทพฯ--21 ส.ค. (สำนักงาน กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีสัมมนาระดมความคิดเห็น เรื่อง "ทุกภาคส่วนของสังคมส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีอย่างไร ?” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 เวลา 08.45 – 16.00 น. ณ ห้องทองกวาว (ชั้น 1) โรงแรม ที.เค. พาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร มีผู้สนใจทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และประชาชน เข้าร่วมจำนวนกว่า 100 คน การสัมมนาดังกล่าว จัดขึ้นภายใต้โครงการวิจัยยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี(Strategies to improve the quality of life and promote lifelong learning for persons with disabilities, the elderly, and the disadvantaged in the Convergence Era)ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และโทรคมนาคมได้เข้าสู่ "ยุคหลอมรวมเทคโนโลยี (Convergence Technology Media Era)” มีการหลอมรวมเทคโนโลยี และสื่อในรูปแบบต่างๆ เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมหลากหลายด้าน โดยเฉพะอย่างยิ่งบทบาทในด้านการสื่อสาร จากคุณสมบัติดังกล่าวเป็นผลให้จำนวนผู้ใช้สื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งผู้ใช้ก็มีเสรีภาพสูงในการกำหนดเนื้อหาและรูปแบบการใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ดังกล่าว ผ่านช่องทางการสื่อสาร โทรคมนาคมที่หลากหลาย แต่อย่างไรก็ตาม แม้บุคคลทั่วไปจะสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี แต่ยังมีบุคคลอีกกลุ่ม คือ คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ หรือไม่สามารถเข้าถึงได้เลย เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านเศรษฐกิจและโอกาส ทำให้บุคคลเหล่านี้ขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) อันเป็นปัญหาสำคัญในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

จากแนวโน้มที่ประชากรไทยมีการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต รวมถึงโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มมากยิ่งขึ้นเมื่อประเทศไทยมีการเปิดให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 (3G) อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้เกิดการหลอมรวมสื่อโทรคมนาคมในยุคสื่อสังคมออนไลน์ หรือ "ยุคหลอมรวมเทคโนโลยี” ที่ขยายวงกว้างไปยังประชาชนทุกกลุ่มในสังคมเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีกลุ่มบุคคลในสังคมที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพื่อให้รู้เท่าทัน สามารถใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ในยุคหลอมหลวมเทคโนโลยี ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส

ดังนั้น กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงาน กสทช. จึงได้ให้ทุนสนับการวิจัยโครงการวิจัยยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี แก่สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การกำหนดกรอบแนวทางในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี อันจะได้แนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมที่เหมาะสมในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส และเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่บุคคลดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม เพื่อดึงศักยภาพ ภูมิปัญญาและประสบการณ์ของบุคคลเหล่านั้น เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. 2558 ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

การสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็น เรื่อง "ทุกภาคส่วนของสังคมสงเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีอย่างไร?” ภาคเช้ามีการอภิปรายโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักกิจการสตรีและครอบครัว ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ดำเนินการอภิปราย โดย นายนุกูล สัญฐิติเสรี นักวิจัยหลัก ส่วนภาคบ่ายจะเป็นการระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย

สำหรับการสัมมนาในภาคเช้า เป็นการปูพื้นฐานและจุดประกายแก่ผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ เพื่อร่วมแสวงหาแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการวางยุทธศาสตร์ต่อ กสทช. ต่อไป ในระยะที่ผ่านมา กสทช. ได้จัดบริการโทรคมนาคมพื้นฐานที่ทั่วถึง การสนับสนุน ส่งเสริมความสามารถในการใช้เทคโนโลยี การรู้เท่าทันสื่อแก่คนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส ดังนั้น กสทช. จึงมุ่งหาแนวทางที่จะจัดทำแผน ด้านต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น ทั้งในด้านกิจการวิทยุกระจาย วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม

นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้กล่าวว่า บริบทของ "ยุคการหลอมรวมเทคโนโลยี” ของประเทศไทยในปัจจุบันนั้น เนื้อหา (Contents) กับเครือข่าย (Networks) ไม่สอดคล้องกัน นำมาซึ่งผลลัพธ์การหลอมรวมเทคโนโลยี คือ การหลอมรวมคน นับเป็นปรากฏการณ์ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี แต่มีอุปสรรคในการใช้เทคโนโลยี คือโอกาสในการใช้เทคโนโลยีที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยมีอุปสรรคสำคัญ 4 ด้าน คือ

  1. 1. ปัญหาเชิงพื้นที่ระหว่างเมืองและชนบท
  2. 2. ปัญหาความพิการทางร่างกาย สิ่งที่สำคัญในการเอื้อต่อความพิการ คือ กฎหมายที่เอื้อและอำนวยความสะดวกต่อคนพิการ
  3. 3. ปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้ผู้พิการไม่สามารถใช้บริการได้ บริการภาครัฐ อาทิเช่น สถานที่สาธารณะบางสถานที่ผู้พิการไม่สามารถใช้ได้
  4. 4. ปัญหาด้านความรู้ ที่เราจะสามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆ ได้
  5. 5. ปัญหาการจำกัดสิทธิการใช้

อย่างไรก็ตามการใช้สื่อต่างๆ ขึ้นอยู่กับการออกแบบของมนุษย์ ในการพัฒนาและสร้างสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน เช่น สังคมผู้สูงอายุ ฯลฯ จึงเป็นสาเหตุที่องค์กรต่างๆ ควรรับรู้เรื่อง (1) นโยบาย (2) การออกแบบที่เป็นธรรม (3) เป็นอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ที่เอื้อการใช้ชีวิต ในการกำหนดตัวเองให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้ และ (4) การออกแบบเทคโนโลยีให้หลอมรวมกับความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ดังนั้นเป้าหมาย คือ การลดอุปสรรคและสร้างโอกาส โดยมีข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ฯ ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ดังนี้

1. การเสริมสร้างนโยบายอย่างชัดเจน

2. การดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

3. สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานอย่างเพียงพอ

4. สนับสนุนบุคลากรในการดำเนินการ

5. ผู้บริโภคหรือผู้รับบริการที่ได้รับการตอบสนองอย่างแท้จริง

นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักกิจการสตรีและครอบครัวกล่าวว่า เป้าหมายสุดท้ายที่สำคัญคือ "การหลอมรวมเทคโนโลยีที่เอื้อการใช้ของผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส” ซึ่งจากที่ผ่านมาได้มีแนวทางในการให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันควรมีการให้ความรู้ ให้สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิต โดยต้องให้ผู้ด้อยโอกาสมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และมีชีวิตอยู่โดยไม่แปลกแยก ดังนั้น การหลอมรวมเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อนำมาลดอุปสรรคของผู้ด้อยโอกาส แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ มุ่งเน้นที่จะเอื้อต่อผู้ที่มีความสามารถใช้อยู่แล้วให้ใช้ได้ดีขึ้น แต่ยังขาดการตระหนักถึงผู้ด้อยโอกาสที่จะให้สามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างทัดเทียม การสร้างการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้ด้อยโอกาส อาทิ การแปลงภาพเป็นเสียง มือถือสำหรับผู้สูงอายุ โทรศัพท์สำหรับคนพิการทางหู มือถือสำหรับคนตาบอด

กสทช. มีศักยภาพทั้งทางด้านงบประมาณ และอำนาจทางเทคโนโลยี การกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคน จึงจำเป็นต้องสร้างโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถใช้เทคโนโลยีได้ การเพิ่มศักยภาพ การสร้างเทคโนโลยีให้เอื้อต่อการใช้ของผู้ด้อยโอกาส การเสริมสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ด้อยโอกาส การให้บริการของรัฐที่คำนึงถึงและสร้างโอกาสให้กับผู้ด้อยโอกาสที่จะได้รับบริการก่อน

ดังนั้น การสร้างการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้มีอุปสรรคที่สามารถอยู่ได้อย่างทัดเทียมกับคนปกตินับเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยคำนึงถึงแนวทางที่จะช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าเทคโนโลยีมากกว่าคนปกติ โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. ควรมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อป้องกันความเป็นผู้ด้อยโอกาส เช่น โปรแกรมสำหรับช่วยคนพิการ

2. การพัฒนาซอฟท์แวร์ในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส เช่น โปรแกรมเปลี่ยนเสียงเป็นตัวอักษร ซอฟท์แวร์มือถือสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ

3. การใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน และสภาวะแวดล้อมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ

4. การใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มศักยภาพของคนพิการให้สามารถอยู่ได้อย่างทัดเทียมและมีศักดิ์ศรี

ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการ NECTEC ได้กล่าวว่าการสื่อสารนับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องมีการสื่อสารอย่างทั่วถึง ซึ่งทั่วโลกได้มีส่งเสริม และออกข้อบังคับเพื่อให้บริการแก่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่โดยภาพรวมที่ผ่านมาเกิดช่องว่างระหว่างนโยบายและงบประมาณในการดำเนินการ ตลอดจนการดำเนินการต่างๆ เกิดความล่าช้า สาเหตุอาจเกิดจากผู้ดำเนินการขาดความตระหนักถึงความรวดเร็วในการพัฒนาอย่างทั่วถึง รวมทั้งโอกาสที่จะส่งเสริมให้คนไทยเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากร ทั้งคนพิการและผู้ด้อยโอกาส

ปัจจุบันได้มีการให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับคนพิการเพิ่มขึ้น แล้วจะทำอย่างไร เพื่อที่จะพัฒนาให้ผู้พิการได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ อาทิ การใช้เทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการสายตา, คนพิการยังไม่สามารถใช้สื่อเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึง, การใช้เทคโนโลยีช่วยฟังทำให้ได้ยินชัดขึ้นแต่เนื่องจากในปัจจุบันการบริการข้อมูลข่าวสารทางเสียงยังมีน้อย

ดร.พันธ์ศักดิ์ฯ ได้เสนอแนวทางในการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ เช่น การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้คนพิการสามารถเข้าถึงได้ , การวิจัยและพัฒนาที่มีการจัดให้เอื้อต่อการอำนวยความสะดวก, การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้คนพิการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้, การส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม และมีข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการต่อ กสทช. ได้แก่ การจัดให้มีระบบการฟื้นฟูความปลอดภัยผู้สูงอายุ, มีบริการทางด้านข้อความ/ข้อมูลข่าวสาร สาระ/ลดข้อจำกัดในการเข้าถึงสำหรับผู้ด้อยโอกาส, การปรับรูปแบบสื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพของผู้ด้อยโอกาส, การเสริมสร้างกองทุนสำหรับผู้ด้อยโอกาส อาทิ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างโอกาสให้ผู้พิการสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึง การพัฒนาบริการข้อมูลสื่อสาร การพัฒนาบุคลากร


นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาบางส่วนได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อเวทีสัมมนาว่า ควรมีเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนพิการในการเดินทาง ปัจจุบันผู้พิการไม่ทราบว่ารถประจำทางที่มาเป็นสายอะไร ซึ่งในไทยเคยมีรถประจำทางที่สามารถบอกได้ว่ารถที่มาเป็นสายอะไร แต่ปัจจุบันสภาวะแบบนี้หายไป ผู้แทนจากชมรมจิตอาสาเพื่อผู้ด้อยโอกาสได้กล่าวว่าควรคำนึงถึงคนพิการทางกาย กลุ่มโครงสร้างทางสังคม สติปัญญา ออทิสติก เด็กสมาธิสั้น(LD: Learning Disabilities) กลุ่มที่มีปัญหาทางอารมณ์ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และเด็กกรำพร้า ฯลฯ

ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่ามีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีปทุม เกี่ยวกับความต้องการใช้เทคโนโลยีของผู้สูงอายุฯ อาทิ ความง่ายในการใช้ การใช้แสงของเทคโนโลยี สิ่งสำคัญคือ การถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี องค์ความรู้เกี่ยวกับการเข้าถึงและการใช้ถ่าย จึงควรนำงานวิจัยดังกล่าวมาประกอบการศึกษาในครั้งนี้ด้วย รวมทั้งควรมีแนวทางในการสร้างแนวทางถึงสิทธิในการทำงาน การสร้างอาชีพแก่บุคคลในกลุ่มนี้ด้วย

ผู้แทนจากสถาบันครอบครัวไทยได้เน้นการสร้างความสุขให้กับทุกคน ในขณะที่คนพิการทางสายตา ได้ขอให้มีการติดตั้งเทคโนโลยีในการแจ้งเตือนและอำนวยความสะดวกบริเวณบันไดเลื่อนเพื่อรองรับการใช้งานสำหรับคนพิการ รวมทั้งการสร้างความรู้และเทคนิคการใช้บันไดเลื่อนสำหรับคนพิการ

ด้านการสร้างการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ควรมีการปรับไอที 4 แนวทาง คือ (1) ปรับไอทีสู่สาธารณะ เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้บริการได้ (2) ปรับไอทีให้เหมาะแก่การพกพา ให้ใช้เป็น เรียนรู้เป็น (3) ปรับไอทีให้เหมาะกับการศึกษา และ (4) ปรับไอทีให้เหมาะสมแก่การเลี้ยงดู/ดูแลบุตรหลานในแต่ละประเภทความพิการ

สำหรับท่านที่สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็น "ทุกภาคส่วนของสังคมส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีอย่างไร?” สามารถแสดงร่วมแสดงความคิดเห็นได้ www.convergencebtfpfund.net

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สำนักงานโครงการวิจัยยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี

เลขที่ 23/19-20 ซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 41 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120

โทร. 08 1933 0388 , 08 1833 7730 โทรสาร 0 2980 9183

Email: [email protected]

สามารถติดตามข่าวสารของโครงการฯ ได้ที่ www.convergencebtfpfund.net

หมายเลขบันทึก: 574920เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2014 23:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2014 23:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท