หลุมดำ...การจัดการเรียนรู้ของครูในศตวรรษที่ 21


       สืบเนื่องจากที่ได้ทำงานร่วมกับ โครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง หรือชื่อเล่นว่า Teacher coaching ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำให้ได้มีโอกาสเดินทางไปสังเกตคุณครูจัดการเรียนการสอนในหลายจังหวัด ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน กับทั้งครู ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และนักวิจัยมหาวิทยาลัยต่างๆ  ที่กำลังพยายามพัฒนาระบบที่จะทำให้ครูสามารถเป็น "ครูโค้ช" เพื่อฝึกทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้ศิษย์ได้ ทั้งทักษะการคิด การเรียนรู้ การแก้ปัญหา ทั้งทักษะชีวิต การทำงาน การสื่อสาร อีกทั้งทักษะการใช้สื่อ สารสนเทศ และ ICT อย่างมีประโยชน์

      จึงขอถือโอกาสในวันนี้  ที่ได้เก็บเกี่ยวบทเรียนมาซักระยะหนึ่ง ได้ตกผลึกบทเรียนออกมาเป็น "หลุมดำ..การจัดการเรียนรู้ของครูในศตวรรษที่ 21"  (ซึ่งอาจจะผิดบ้าง ถูกบ้าง)  ให้ได้ช่วยกันระมัดระวังกันค่ะ

  1. ติดมโนภาพเก่าๆ
  • ห้องสอนแบบเดิมๆเด็กนั่งเรียนสงบเรียบร้อย ไม่คุยกัน (ห้องสอน ไม่ใช่ ห้องเรียน)
  • ยุคเดิม ความรู้คือ อำนาจ ...........ยุคใหม่ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด (ขาดทักษะ ศต.21)
  • ครูเป็นผู้มอบความรู้เด็กเป็นผู้รับ ครูเป็นนักออกแบบกระบวนการสถานการณ์ และตั้งคำถามให้เด็กเป็นผู้เรียนรู้ สร้างความรู้
  • จำกัดคำตอบหรือวิธีที่ถูกต้อง มีเพียง 1 เดียว ละเลยเหตุผล/กระบวนการหาคำตอบ
  • เด็กโง่เป็นกรรมพันธุ์พัฒนาไม่ได้ (เด็กโง่ คิดอะไรไม่เป็น กระตุ้นไปก็ไม่คิด

 2. ติดวิธีการ/ขั้นตอน  PBL ต้องเป๊ะ ลืมเป้าหมายเด็กต้องได้เรียนรู้และฝึกทักษะในศตวรรษที่ 21

  • ถกเถียงเรื่องนิยาม PBL ไม่ลงมือทำเสียที
  • ขอตัวอย่างสำเร็จรูป/ แบบฟอร์ม/ คู่มือ ให้ทำตาม
  • กลัวผิด ไม่กล้านอกกรอบ (อบรมมาว่า PBL ต้องมี 5 ขั้นตอน)

 3. ยึดติดชิ้นงานความสำเร็จผลงาน      มากกว่าการเรียนรู้ของเด็ก

  • ครูหลงเป็นเจ้าของชิ้นงาน ไม่ใช่เด็ก (ครูคิด ครูวางแผน ให้เด็กทำตาม แก้ปัญหาแทนเด็ก)
  • ละเลยกระบวนการฝึกทักษะเด็ก
  • ละเลยความรู้ ความเข้าใจ ที่เด็กจะเรียนได้จากการทำชิ้นงาน

4.ข้างหนึ่งยึดติด Content – อีกข้างละเลย Content (เนื้อหาความรู้)

  • กลัวสอนเนื้อหาวิชามากมายไม่ครบรู้สึกเวลาไม่พอแต่ละเลยแก่นความรู้ ความเข้าใจ หลักคิด และทักษะ ของสาระวิชา
  • จัดกระบวนการเรียนรู้และฝึกทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่ไม่เกาะติดเนื้อหา และ มาตรฐานตัวชี้วัดสำคัญ(ได้ทักษะใน ศต.21 ไม่ลึก)
     

5. ติดสื่อวัสดุอุปกรณ์ทันสมัย/แหล่งเรียนรู้หรูหรา มักรู้สึกว่าขาดงบประมาณ สอนแบบศตวรรษที่ 21 ไม่ได้

  •  ต้องมีแหล่งเรียนรู้หรูหรา ใหญ่โต แต่ไม่ได้อยู่ในชีวิตจริงของเด็ก (ภาพลวงตาเด็ก/ แหล่งเรียนรู้ที่ลอยออกจากวิถีชีวิตจริง/ ความพร้อมเกินไป ไม่มีอยู่จริง)
  • สื่อวัสดุอุปกรณ์ ครบครันแต่ออกแบบใช้ไม่คุ้ม (มีของพร้อม แต่ออกแบบไม่เป็นเด็กแค่ตื่นเต้น แต่ได้เรียนรู้น้อยไม่ต่างจากเดิม)

      ทั้งนี้ อยากบอกเหล่าคุณครูที่กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง พัฒนาการจัดการเรียนการสอนในยุคใหม่นี้ว่า อย่าเพิ่งท้อใจนะคะ ที่มีหลุมดำมากมายเหล่านี้ที่ชวนตกหลุมอยู่ตลอดเวลา  แถมโครงสร้างและระบบการศึกษาในปัจจุบันก็ยังมีหลุมดำอีกมากมายเบ้อเร้อที่คอยสกัดเราไว้อีก .....สู้ต่อไปค่ะ ถึงตกหลุมไปบ้าง แต่เราก็ช่วยกันดึงขึ้นมา  เพื่อลูกศิษย์ของเราซึ่งเป็นอนาคตของสังคมไทยค่ะ

บันทึกที่เกี่ยวข้อง ....เส้นทางครูจาก "ยุคเก่า" สู่ "ยุคใหม่"

หมายเลขบันทึก: 573757เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2014 23:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2014 00:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท