บันทึกอาจารย์ผ่านศึก PBL 4: ก่อนจะแก้ปัญหาชุมชน มองให้เห็นศักยภาพชุมชนด้วย


(บันทึกนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูล จากประสบการณ์ของผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์ในระบบ PBL, CBL ตั้งแต่ตั้งต้นชีวิตของการเป็นอาจารย์ หวังผลในการเป็นข้อมูลนำเข้าเพื่อการประชุมพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ TU's GOALS 2020)

ประสบการณ์ช่วงต้น ๆ ในการทำงานชุมชน สอนให้รู้ว่า วิธีคิดเป็นเรื่องสำคัญ การให้ความสำคัญ การเห็นความสำคัญของชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ การมองชุมชนเป็นภาชนะว่าง คือไม่มีอะไรเลย มีแต่ปัญหาที่รอให้นักศึกษามาแก้ไข คิดแบบนี้ตามตำราท่านว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือ ความเห็นผิด รูปแบบหนึ่ง

ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา และทรัพยากร ผนวกกับมิจฉาทิฏฐิดังกล่าว กิจกรรมในชุมชนของนักศึกษาจีงหนีไม่พ้น การ "ให้ความรู้"  "รณรงค์" และ "ติดป้าย-ถ่ายรูป" และวัดผลของกิจกรรมด้วยจำนวนคนที่เข้ารับการอบรม หรือแบบสอบถาม Pre-Post test ที่แสดงให้เห็นว่า คนมีความรู้เพิ่มขึ้น (แต่ไม่ได้วัดว่า ปัญหาในชุมชนลดลงหรือไม่)

บทเรียนสอนให้เรารู้ว่า การทำงานชุมชน สิ่งสำคัญก่อนที่จะลงลึกเรื่องปัญหาคือ "การทำความเข้าใจ และรวบรวมศักยภาพของชุมชน" แน่นอน ชุมชนมีปัญหา (ตามเกณฑ์ที่เราใช้วัด) แต่ทุกชุมชน ก็มีศักยภาพเช่นกัน 

นักศึกษาจะถูกฝึกให้ มองเห็นศักยภาพชุมชนก่อน หรือพร้อม ๆ ไปกับปัญหา สัมภาษณ์ สอบถาม สังเกต ร่วมกิจกรรมชุมชน จนค้นพบว่า ชุมชนนี้มีพลังอะไร ด้านไหน บ้าง

ทรัพยากรชุมชน คือศักยภาพ ความสัมพันธ์ คือศักยภาพ วัฒนธรรมคือศักยภาพ ทำเลที่ตั้ง คือศักยภาพ และที่สำคัญที่สุด ความสามารถของคน สมาชิกของชุมชน คือศักยภาพ

ปัญหาชุมชน ซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ได้ด้วยการให้ความรู้ รณรงค์ และติดป้าย โดยนักศึกษา "ทำให้"ชุมชน (Active-Passive approach) หากแต่ต้องการวิธีคิดใหม่ ที่รวบรวมศักยภาพชุมชน + ศักยภาพของนักศึกษา + ศักยภาพของวิชาชีพ + ศักยภาพของมหาวิทยาลัย มาจัดการปัญหาร่วมกัน (Participatory approach) นักศึกษาเปลี่ยนหน้าที่จาก "คุณพ่อรู้ดี" "พี่มีแต่ให้" กลายเป็น ผู้สื่อสาร และผู้รวบรวมศักยภาพ และผู้ประสานงาน

ใช้วิธีคิดแบบนี้กับนักศึกษาหลายรุ่น หลายชุมชนแล้ว พบว่า บางชุมชน ก็แก้ปัญหาได้ บางชุมชนก็ยังยากอยู่ แต่ถึงอย่างไรก็ดี วิธีคิดแบบนี้ช่วยให้นักศึกษาเห็นธรรมชาติความเป็นจริงของปัญหา ที่มันซับซ้อนเกินกว่าจะมองแบบตื้น ๆ หรือใช้วิธีแบบ quick fix มาแก้ได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดการรวบรวมศักยภาพของชุมชน ช่วยให้นักศึกษาได้สัมผัสผู้คน สัมผัสวิถีชีวิตวัฒนธรรมชุมชน และได้เห็นว่า แผ่นดินนี้ยังมีพลังอยู่อีกมากมาย เห็นคนที่พยายามต่อสู้เพื่อชุมชนของตนเอง เห็นความงดงามของโยงใยความสัมพันธ์ท้องถิ่น ฯลฯ นี่เองที่ผมเห็นว่าเป็นการจัดการศึกษาเพื่อประชาชนในความหมายแบบธรรมศาสตร์

หมายเหตุ หลักการคิดของการทำงานชุมชน คุณหมอ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ อธิบายไว้โดยละเอียดและน่าอ่านในหนังสือ "วิถีชุมชน" ผู้เขียนบันทึกนี้ได้รับความรู้อย่างมากโดยเฉพาะหัวข้อมิจฉาทิฏฐิสี่

หมายเลขบันทึก: 573745เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2014 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2014 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท