บันทึกจากอาจารย์ผ่านศึก PBL1: การเรียนรู้ในรูปแบบใหม่


บันทึกอาจารย์ผ่านศึก PBL 1: การเรียนรู้ในรูปแบบใหม่

(บันทึกนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูล จากประสบการณ์ของผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์ในระบบ PBL, CBL ตั้งแต่ตั้งต้นชีวิตของการเป็นอาจารย์ หวังผลในการเป็นข้อมูลนำเข้าเพื่อการประจุมพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ TU's GOALS 2020)

มุมมองของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นหลัก ใช้ปัญหาเป็นฐานแห่งการเรียนรู้นั้น เปลี่ยนวิธีคิดของการเรียนการสอนเดิมที่เชื่อว่า ครูคือผู้ผูกขาดความรู้ นักศึกษาควรจะรู้เท่าที่ครูต้องการ ให้รู้ เปลี่ยนมาเป็น 1) ความรู้มีอยู่ทุกหนแห่ง ไม่ใช่อยู่ที่ครูเท่านั้น ครูเป็นเพียงผู้สร้าง "ประสบการณ์แห่งการเรียนรู้" หรือ "เงื่อนไขของการเรียนรู้" ให้กับนักศึกษา 2) นักศึกษาสร้างความรู้ของตนเอง ไม่เพียงแต่การอ่านท่องตำราเพียงเท่านั้น หากแต่ผ่านการลงมือทำ ค้นคว้า สังเกต ปรึกษา ประชุม สอบถาม และประสบการณ์อื่น ๆ 3) ความรู้ตามประสบการณ์เรียนรู้มุ่งไปที่การแก้ปัญหา มิใช่มุ่งไปที่รู้ครบถ้วนตามที่ตำรามาตรฐานกำหนด 4) นักศึกษาแต่ละคนมีลีลาและรูปแบบในการเรียนรู้และการสร้างความรู้ต่างกัน ทุกลีลาและรูปแบบนั้นดีเสมอ ตราบใดที่เกิดความรู้แล้วนำไปสู่การแก้ปัญหาได้

หลักการดังกล่าวจะสำเร็จได้ ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขหลายประการ ได้แก่ การที่นักศึกษาจะต้องมีทักษะพื้นฐานในการสืบค้นข้อมูล ให้คุณค่าของแหล่งข้อมูล สรุปใจความ เชื่อมโยงข้อมูล ทั้งจากแหล่งข้อมูลภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ความสามารถในการคิดเชื่อมโยงข้อมูลที่ได้กับปัญหาที่ต้องการแก้ ความสามารถในการสื่อสารทางออกของปัญหา ตามประสบการณ์การเรียนรู้ การที่มหาวิทยาลัยจะต้องจัดให้มีแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย มากพอ และปลอดภัยให้กับนักศึกษา และที่สำคัญที่สุดคคือการที่ต้องมีครูตามนิยามใหม่ที่ทำหน้าที่เป็น ผู้เอื้อให้เกิดประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ ครูที่เชื่อว่า นักศึกษามีรูปแบบการเรียนรู้เฉพาะแตกต่างกัน ครูที่อดทนต่อความไม่รู้ของนักศึกษา ครูผู้เข้าใจได้ว่า นักศึกษาไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมดตามตำรา (แต่นักศึกษาต้องสามารถกลับมาเปิดตำราเพื่อค้นคว้าสิ่งที่ยังไม่รู้ นำไปใช้แก้ปัญหาได้) และครูที่ยอมรับว่า ตนไม่ใช่ผู้ผูกขาดความรู้อีกต่อไป หากแต่มีหน้าที่คิด สร้างประสบการณ์ หรือเงื่อนไขการเรียนรู้ พร้อมทั้งมีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง หรือโค้ช หรือเพื่อนที่เรียนรู้ไปด้วยกันกับนักศึกษา

นอกจากนี้ หากพิจารณาธรรมชาติในการเรียนรู้ของมนุษย์แล้ว เราจะเห็นได้ว่า มนุษย์จะเรียนรู้ได้ดี หากเขาได้ลงมือทำ มนุษย์จะเรียนรู้ได้ดี หากเขาเห็นว่าสิ่งที่กำลังเรียนอยู่มีคุณค่า และมีความหมาย ในที่นี้ คือการนำไปใช้แก้ปัญหาหรือนำไปใช้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ มนุษย์จะเรียนรู้ได้ดี หากเขาได้อภิปราย และแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกับเพื่อน ๆ และที่สำคัญที่สุดคือมนุษย์จะเรียนรู้ได้ดีเมื่อเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทั้งทางกายภาพ ทางจินตภาพ หรือที่เราเรียกกันว่า Safe Environment "สภาพแวดล้อมอันเกษม" นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 573509เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2014 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2014 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท