ต้อนรับผู้มาศึกษาดูงานด้านสหกิจศึกษา ด้วยกระบวนการ "เพื่อนช่วยเพื่อน" Peer Group


เพื่อนช่วยเพื่อน สหกิจศึกษา ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

แนะนำกิจกรรม “เพื่อนช่วยเพื่อน” (Peer Assist)

สำหรับ การศึกษาดูงานสหกิจศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 

โดย ศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

เนื่องจาก การดำเนินงานสหกิจศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าสู่ปีที่ 13 ของการดำเนินงาน ทำให้เรามีประสบการณ์และความรู้ปฏิบัติที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการจริงพอสมควร และก็ยินดีมากที่เพื่อนมามาเยี่ยมเยือนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดสหกิจศึกษาด้วยกัน แต่เนื่องมาจากระยะเวลาที่เพื่อนมาเยือนมักจะสั้นมาก ประมาณ 1 วัน(ตลอดวัน) หรือครึ่งวัน จึงเห็นว่าอาจจะเกิดประโยชน์จากเพื่อนไม่ได้เท่าที่ควร พอดีครั้งหนึ่งผมได้มีโอกาส เข้าฟังการบรรยายของท่านคณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จารย์ ดร.วัลลา ตันตโยทัย  เรื่อง "เครื่องมือการจัดการความรู้"  และมีความสนใจวิธีการหนึ่งที่เรียกว่า เพื่อนช่วยเพื่อน หรือ Peer Group  ว่าน่าจะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เพื่อนที่เข้ามาศึกษาดูงาน ได้ประโยชน์กลับไปมากที่สุด จากนั้นผมได้มาค้นคว้าต่อใน Gotoknow จากท่านผู้รู้และได้อ้างอิงไว้ในตอนท้าย นี่คือที่มาของบันทึกนี้ครับ .......

การเตรียมการ

เพื่อน/สถาบันที่ต้องการเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสหกิจศึกษา ควรเตรียมการล่วงหน้าก่อนในประเด็นต่อไปนี้

1. ทีมขอเรียนรู้ หรือ ผู้ต้องการเข้าศึกษาดูงาน ควรจัดการประชุมภายในเพื่อกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่า ต้องการเรียนรู้เรื่องอะไร เพื่อนำกลับไปใช้ทำอะไร และสรุปเป็นหัวข้อประเด็นการเรียนรู้ และส่งให้ทีมผู้แบ่งปันทราบ พร้อมทั้งให้ข้อมูลโดยสรุปของทีมที่จะเข้ามาแลกเปลี่ยนว่า ปัจจุบันหน่วนงานของตน ได้ดำเนินการในเรื่องสหกิจศึกษาอย่างไรบ้าง ใครเป็นผู้รับผิดชอบ และในการดำเนินการมีหน่วยงาน หรือใครเกี่ยวข้องบ้าง พร้อมทั้งให้ข้อมูลหน้าที่ความรับผิดชอบปัจจุบัน ของผู้เข้ามาศึกษาดูงาน

2. ทีมขอเรียนรู้ โดยสมาชิกแต่ละคนต้องเตรียมเรื่องเล่าการทำงานของตนในเรื่องนั้น ๆ (ตามประเด็นที่ขอเข้ามาเรียนรู้) โดยอาจนำเสนอรายบุคคลหรือมอบหมาย หัวหน้าทีมเป็นคนนำเสนอก็ได้ และสมาชิกอาจเพิ่มเติมในส่วนที่ตนรับผิดชอบ

3. ทีมผู้แบ่งปัน (ทีมเจ้าบ้าน) จะพิจารณาจัดหัวข้อและกำหนดระยะเวลา พร้อมทั้งจัดหาผู้ที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ ให้เห็นตัวอย่างที่ชัดในการปฏิบัติจริง ว่าได้ดำเนินเช่นไร โดยเน้นความรู้ปฏิบัติ ไม่ใช้ความรู้ทฤษฎี โดยอาจมีการกำหนดให้ ทีมขอเรียนรู้ เข้าสังเกตการณ์ การจัดกิจกรรม หรือศึกษาเอกสาร แบบฟอร์มที่เกี่ยวข้อง หรือนำอุปกรณ์ในการดำเนินงานมาแสดงให้เห็น

4. ผู้ดำเนินการหลัก ประกอบด้วย ผู้บริหาร และผู้ทำหน้าที่ คุณอำนวย (Facilitator) จะช่วยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างบรรยากาศ ความเป็นกันเอง และความเป็นอิสระในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทีมขอเรียนรู้ ต้องมีการกำหนด (คุณลิขิต) ผู้ทำหน้าที่บันทึกความรู้ที่ได้

บทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย

1) ฝ่ายบริหารของทีมขอเรียนรู้ มีความสำคัญมาก ในการเข้าร่วม Peer Assist เพราะจะเป็นผู้ที่จะสนับสนุนทรัพยากร หรือชี้ช่องทางให้กับสมาชิกทีมขอเรียนรู้ ในการปรับปรุงแผนงานปรับปรุงหรือ แผนปฏิบัติการของทีม

2) คุณอำนวย จะต้องศึกษาข้อมูลของทั้ง 2 ทีม มาก่อนล่วงหน้า และทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง ทีมขอเรียนรู้ และ ทีมแบ่งปัน โดย ช่วยดึงประเด็นความรู้ที่ตรงประเด็นกับที่ทีมทั้ง 2 ต้องการรู้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ฝังลึกของทั้ง 2 ฝ่าย

3) ทีมขอเรียนรู้ ต้องเตรียมตัวมาก่อน ว่าต้องการเรียนรู้อะไรจากทีมผู้แบ่งปัน เตรียมเรื่องที่อยากจะสะท้อนให้ทีมผู้แบ่งปันได้ทราบ (เป็นการจัดการความรู้กันเองมาก่อน) และเมื่อได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว ให้ส่งแผนดำเนินงาน หรือแผนปรับปรุงงาน ให้ทีมผู้แบ่งปันช่วย comment เพื่อการนำไปดำเนินการ พร้อมกันนี้ให้เตรียมการติดตามประเมินผลที่ได้จากการดำเนิการเพื่อมา "ทบทวนบทเรียน (AAR)" ต่อไปเรื่อยๆ ทำอย่างเป็นประจำ

4) “คุณกิจ” คือผู้สร้างความรู้ (บันทึกเป็น “ขุมความรู้” – Knowledge Assets) เพื่อใช้ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดูดซับความรู้จากภายนอก ทำให้งานของตนบรรลุเป้าหมาย ตามวิสัยทัศน์ขององค์กร และหน่วยงาน ความรู้ที่ “คุณกิจ” สัมผัสคือความรู้ที่แนบแน่นอยู่กับงานเป็นความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจริงหน้างาน

5) ทีมผู้แบ่งปัน : ต้องมีการเตรียมตัวก่อนเหมือนกัน คือ เตรียมประเด็นหรือเรื่องเล่าของหน่วยงานที่ตรงกับประเด็นหรือเรื่องเล่าที่ทีมผู้ขอเรียนรู้ต้องการเรียนรู้ (จัดการความรู้ในวงทีมผู้แบ่งปันด้วย) และเตรียมข้อเสนอแนะในเบื้องต้นให้กับทีมขอเรียนรู้ด้วยตามแผนดำเนินงาน หรือแผนปรับปรุงงาน ให้ทีมผู้แบ่งปันส่งมาให้ช่วย comment เพื่อการนำไปดำเนินการ

6) ทีมขอเรียนรู้ ไม่ควรจะมีจำนวนมากเกินไป ไม่ควรเกิน 10 – 12 คน เพราะจะได้แลกเปลี่ยนกันอย่างทั่วถึง ควรมาเฉพาะคนที่ปฏิบัติงานจริง ๆ และมีการจัดห้องประชุมแบบตัว “ U ” และมีการจัดป้ายชื่อสำหรับทุกคน

ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม

1. ทีมผู้แบ่งปันกล่าวต้อนรับ

2. คุณอำนวยผู้ทำหน้าที่ (Facilitator) ทีมผู้แบ่งปัน กล่าวต้อนรับ อาจจะใช้เครื่องมือ BAR ให้ทั้งสองฝ่ายแนะนำตนเอง

ตัวอย่างคำถามสำหรับ BAR

1) ท่านมาเข้าขอเรียนรู้ในวันนี้ ท่านคาดหวังจะได้รับอะไรกลับไปบ้าง

2) เพื่อให้ได้ตามที่ตนคาดหวังไว้ ท่านควรจะทำอย่างไร / ปฏิบัติตนอย่างไร

3) ท่านคิดว่า มีอะไรที่คิดว่าอาจจะเป็นข้อจำกัด ในการเข้าร่วมกิจกรรมบ้าง

4) ท่านคิดว่ามีวิธีการใดที่พอจะป้องกันหรือแก้ไขข้อจำกัดในการเข้าร่วมกิจกรรมบ้าง

3. ทีมผู้ขอเรียนรู้เป็นผู้นำเสนอก่อนว่าต้องการอะไร บริบทของหน่วยงาน หรือ สถาบันการศึกษาของตนได้ดำเนินการสหกิจศึกษาอย่างไรอยู่ และประสงค์จะปรับเปลี่ยนเป็นเช่นไร

4. ทีมผู้แบ่งปัน (ทีมเจ้าบ้าน) ถ่ายทอดการทำงานของตน และเสนอแนะให้ความเห็นที่เหมาะสมกับบริบทของทีมเยือน

5. ทีมผู้ขอเรียนรู้ ซักถามในประเด็นการปฏิบัติ หรือข้อจำกัดที่อาจจะเกิดขึ้น จากประสบการณ์ของทีมเจ้าบ้านเพื่อ ให้เห็นภาพและรายละเอียดการดำเนินงาน จากทีมผู้แบ่งปัน (ทีมเจ้าบ้าน) ตามหัวข้อที่กำหนดไว้จนครบถ้วน

6. ปิดท้ายด้วย กิจกรรม AAR (After Action Review) เพื่อทบทวน ผลการเรียนรู้ของ ทีมผู้ขอเรียนรู้ ได้พูดหรือแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา จากใจถึงใจ

ตัวอย่างคำถามสำหรับ AAR

1) กิจกรรมเป็นไปตามที่คาดหวังไว้ไหม มีอะไรบ้างที่เกินความคาดหวังบ้าง อะไรน้อยกว่าความคาดหวังบ้าง

2) ได้เรียนรู้อะไรบ้าง สิ่งที่สามารถนำไปใช้ได้คืออะไร

3) สิ่งที่เป็นข้อเสนอแนะหรือการปรับปรุงในการจัดกิจกรรมคืออะไร

4) กลับไปจะไปทำอะไรต่อบ้างไหม

5) หัวข้อที่การแลกเปลี่ยน ที่ชอบมากที่สุด ....... เพราะเหตุผลอะไร........

6) ขออีเมล์ เว็บไซต์ หรือช่องต่าง ๆ เพื่อการติดต่อสื่อสารกันได้ เพื่อจะได้ขยายผลความรู้ระหว่างกันต่อไป

อ้างอิง

วรรณา เลิศวิจิตรจรัส วัลลา ตันตโยทัย และ วิจารณ์ พานิช องค์ประกอบของ Peer Assist http://gotoknow.org/blog/posts/5916?refresh_cache=...

http://gotoknow.org/blog/dmcop

http://blog-for-thai-km.blogspot.com/2005/02/blog-...

ตัวอย่างประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านสหกิจศึกษา

ระยะก่อนดำเนินงาน

1. การจัดกระบวนการเตรียมความพร้อมนักศึกษาสหกิจศึกษา

2. การจัดหาสถานประกอบการ และตำแหน่งงานสหกิจศึกษา

3. การดำเนินการจัดส่งนักศึกษาไปปฏิบัติสหกิจศึกษาในต่างประเทศ

4. การทำความเข้าใจกับ นักศึกษา คณาจารย์ และผู้บริหาร ด้านสหกิจศึกษา และสถานประกอบการ

5. ระบบสารสนเทศสหกิจศึกษา

6. การจัดองค์กร การบริหารงานสหกิจศึกษาในหน่วยงาน การบริหารงบประมาณ และบุคลากร

7.การสร้างเครือข่ายและพันธมิตรสหกิจศึกษาอย่างยั่งยืน

ขั้นการปฏิบัติงาน

8. ระบบคณาจารย์นิเทศสหกิจศึกษา / อาจารย์ผู้ประสานงานสหกิจศึกษาประจำหลักสูตร

9. การจัดการปัญหาสหกิจศึกษา และการให้คำปรึกษา

10. เทคนิคการนิเทศงานในประเทศและต่างประเทศ

11. ระบบติดตามนักศึกษาสหกิจศึกษา

12. การประเมินผลนักศึกษาระหว่างการปฏิบัติงาน

ขั้นหลังการปฏิบัติงาน

13. การประเมินผลการจัดสหกิจศึกษา

14. การคัดเลือกนักศึกษาสหกิจศึกษาดีเด่น

15. การสร้างและพัฒนาเครือข่ายสหกิจศึกษาในระดับประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

………………………………………

นายเอกราช แก้วเขียว

ศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

อีเมล์ [email protected]

25 กรกฎาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 573207เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2014 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2014 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หายไปนานมากๆๆๆ

ไปมอ จะไปทักทายนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท