วัดกับการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ประชาชนและชุมชน


วัดเป็นสถาบันทางศาสนาที่ใกล้ชิดกับประชาชนและชุมชนมาอย่างยาวนาน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาชนและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหลักของปรัชญาฯ นั้น มีความสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกันกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา

บทนำ

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย มาครบ 40 ปี ใน พ.ศ. 2557 นับเนื่องแต่ที่ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 ความสำคัญตอนหนึ่งว่า “...
ในการพัฒนาประเทศนั้น จำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อน ด้วยวิธีการที่ประหยัด ระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไป...การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัว ให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้โดยแน่นอน...”

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ได้รับการยอมรับและเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าหากมีการน้อมนำไปประยุกต์ใช้ด้วยความเข้าใจ ด้วยความเพียรแล้ว จะประสบความสำเร็จและนำไปสู่ความสุขอย่างยั่งยืนแน่นอน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงและพออยู่พอกินว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือที่ทรงใช้คำภาษาอังกฤษว่า “Sufficiency Economy” ซึ่งแบ่งได้เป็น ๒ แบบ คือ เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน และเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ดังแนวพระราชดำริ ดังนี้

  • เป้าหมายของการพัฒนา คือ การทำให้ประชาชนพออยู่พอกิน และประเทศมีความสงบ ซึ่งหากสามารถรักษาไว้ได้ ก็จะมีส่วนนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และทรงใช้คำว่า “พออยู่พอกิน” เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2517
  • ในระยะต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญกับความพอเพียงหรือความพออยู่พอกินว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยทรงเตือนสติประชาชนให้มีความพอเพียง พออยู่พอกิน พอดี พอเหมาะตามอัตภาพ ด้วยทรงชี้ให้เห็นว่าความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนเป็นจุดที่ควรเริ่มต้นก่อน และเมื่อมีพื้นฐานมั่นคงแล้ว จึงสร้างความเจริญและฐานทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ซึ่งหมายถึงการทำให้ประชาชนในชนบทที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ พอมี พอกิน เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งก่อนที่จะพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไป

วัดกับโอกาสในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาชน

เมื่อพิจารณาความหมายของ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จะพบว่ามีความสอดคล้องกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา กล่าวคือ เศรษฐกิจพอเพียง เป็น ปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทนความเพียร มีสติ ปัญญาและความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น วัดจึงเป็นหนึ่งภาคส่วนที่จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาชนและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจเกี่ยวกับจำนวนพระสงฆ์ จำนวนวัดทั่วประเทศของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) พบว่า เมื่อปี พ.ศ. 2556 วัดที่มีพระสงฆ์ มีจำนวน 37,713 วัด ส่วนปี พ.ศ. 2557 มี จำนวน 39,276 วัด มีวัดเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2556 จำนวน 1,563 วัด ส่วนใหญ่มาจากการที่สำนักสงฆ์ขอจดทะเบียนเป็นวัด ส่วนจำนวนพระสงฆ์ และสามเณรที่ พศ. ดำเนินการสำรวจ พบว่าในปี พ.ศ. 2556 พระสงฆ์ และสามเณรทั่วประเทศ มี 355,295 รูป ส่วนปี พ.ศ. 2557 จากการสำรวจเมื่อถึงมกราคม (2557) มีจำนวน 349,659 รูป เชื่อว่าหากสรุปจำนวนพระสงฆ์ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2557 น่าจะเพิ่มจากปีที่ผ่านมา

ในด้านบทบาทของวัดกับการพัฒนานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริหลักการ “บวร” ให้นำบ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของสังคมไทยที่เป็นสายใยยึดเหนี่ยวชุมชนมาแต่อดีต ที่ก่อให้เกิดการเกื้อกูลสนับสนุนซึ่งกันและกัน ช่วยให้สังคมไทยดำรงอยู่อย่างสันติสุขมาช้านาน มาใช้ในการพัฒนาและแก้ปัญหาในระดับชุมชน ในลักษณะ ๓ ประสาน เพื่อร่วมมือบำเพ็ญประโยชน์แก่ชุมชนอย่างเกื้อกูลกัน

สถาบันครอบครัว (บ้าน) ซึ่งประกอบด้วย ชาวบ้าน และกลุ่มบุคคลต่างๆ ในชุมชน

สถาบันศาสนา (วัด) ประกอบด้วยเจ้าอาวาส พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และกลุ่ม หรือชมรมทางศาสนา ซึ่งในความหมายในเชิงกว้าง อาจจะหมายรวมถึงองค์กร หรือสถาบันทางศาสนาต่างๆ ในชุมชนนั้นๆ ด้วย

สถาบันการศึกษา/ราชการ (โรงเรียน/ราชการ) ประกอบด้วย ผู้อำนวยการ อาจารย์ใหญ่ ครูใหญ่ คณะครู นักวิชาการ และบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ ทั้งในโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และองค์กรทางการศึกษาอื่นๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐในชุมชน อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน อบต. สาธารณสุขตำบล เกษตรตำบล เป็นต้น รวมทั้งระบบกลไกในการบริหารที่มาจากรัฐในรูปอื่นๆ

หลัก “บวร” จึงหมายถึงการนำสถาบันหลักในชุมชนมาเป็นกลไกในการพัฒนาและสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการพัฒนา ตัดสินใจ แก้ปัญหาตนเอง และชุมชน กำหนดแผนแม่บทชุมชนด้วยการร่วมกันคิด สร้าง และบริหารจัดการชุมชนของคนในท้องถิ่นที่ร่วมกันเป็นเจ้าของ

ความสำเร็จของการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อยู่ที่การพัฒนาคนให้เป็นผู้ที่มีความรู้ คู่ คุณธรรม อันเป็นเงื่อนไขสำคัญสูงสุดของการดำเนินการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาด้านจิตใจของบุคคล ให้บุคคลทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนเอง มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีจิตสำนึกที่ดี มีจิตใจเอื้ออาทร ประนีประนอม ซื่อสัตย์สุจริต เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ดังกระดแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการพัฒนาคน ความว่า “...บุคคลต้องมีรากฐานทางจิตใจที่ดีคือ ความหนักแน่นมั่นคงในสุจริตธรรมและความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้จนสำเร็จ ทั้งต้องมีกุศโลบายหรือวิธีการอันแยบยลในการปฏิบัติงานประกอบพร้อมด้วย จึงจะสัมฤทธิผลที่แน่นอนและบังเกิดประโยชน์อันยั่งยืนแก่ตนเองและแผ่นดิน...”ตัวอย่างการปฏิบัติตนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เชื่อมโยงกับหลักธรรมของพระพุทธศาสนา

  • ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ละความฟุ่มเฟือยในการดำรงชีพอย่างจริงจัง ดังกระแสพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า “...ความเป็นอยู่ที่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องประหยัดไปในทางที่ถูกต้อง...”
  • ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้องสุจริต แม้จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนในการดำรงชีพก็ตาม ดังกระแสพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า “...ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดจากการประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบเป็นหลักสำคัญ...”
  • ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์ในทางค้าขาย การประกอบอาชีพแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง ดังกระแสพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า “...ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น...”
  • ไม่หยุดนิ่งที่ใฝ่หาความรู้อย่างสม่ำเสมอ ให้เกิดรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ ดังกระแสพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งที่ให้ความหมายชัดเจนว่า “...การที่ต้องการให้ทุกคนพยายามที่จะหาความรู้และสร้างตนเองให้มั่นคงนี้ เพื่อตนเอง เพื่อที่จะให้ตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ก้าวหน้า ที่มีความสุข พอมีพอกินเป็นขั้นหนึ่ง และขั้นต่อไปก็คือ ให้มีเกียรติว่ายืนได้ด้วยตัวเอง ...”
  • ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่วให้หมด ทั้งนี้ด้วยสังคมไทยที่ล่มสลายลง เพราะยังมีบุคคลจำนวนมิใช่น้อยที่ดำเนินการโดยปราศจากความละอาย ดังกระแสพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า “...พยายามไม่ก่อความชั่วให้เป็นเครื่องทำลายตัวทำลายผู้อื่น พยายามลดพยายามละความชั่วที่ตัวเองมีอยู่ พยายามก่อความดีให้แก่ตัวอยู่เสมอ พยายามรักษาและเพิ่มพูนความดีที่มีอยู่นั้นให้งอกงามสมบูรณ์ขึ้น...”
    • พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), ศาสตราจารย์ ดร. (2557:4) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เจ้าคณะภาค 2 และกรรมการมหาเถรสมาคม ได้กล่าวไว้ว่า “...ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรงกับหลักการดำรงชีวิตในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่าสัมมาอาชีวะซึ่งเน้นมัชฌิมาปฏิปทาคือทางสายกลางระหว่างการพัฒนาทางวัตถุกับการพัฒนาทางจิตใจ ตามหลักภาวนา ๔ ซึ่งไม่มุ่งการสนองตัณหาที่ไม่มีวันเต็มอิ่ม แต่มุ่งสร้างความรู้จักพอหรือสันโดษที่สัมพันธ์กับความสุขทั้งสี่ประการ เช่น การรู้จักพอประมาณในการบริโภค โดยมีความสุขมวลรวมของประเทศเป็นดรรชนีชี้วัดการพัฒนาสังคมที่พัฒนาตามแนวปรัชญานี้จะเป็นสังคมพอเพียงเพราะสามารถพึ่งตนเองได้ไม่เป็นหนี้สิน สมาชิกของสังคมนี้เป็นผู้ร่ำรวยด้วยทรัพย์ภายในหรืออริยทรัพย์จึงไม่มีการแก่งแย่งแข่งขันเบียดเบียนกัน มีแต่ความรักสมัครสมานสามัคคีจึงเป็นสังคมแห่งสันติสุข ดังพุทธภาษิตที่ว่า
    • “สุขา สังฆสัสะ สามัคคี ความสามัคคีของหมู่คณะนำความสุขมาให้”

ข้อเสนอแนะต่อบทบาทของวัดในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

วัดเป็นสถาบันทางศาสนาที่ใกล้ชิดกับประชาชนและชุมชนมาอย่างยาวนาน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาชนและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหลักของปรัชญาฯ นั้น มีความสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกันกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะต่อบทบาทของวัดในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเชื่อมโยงกับหลัก “บวร” ดังนี้

  • 1.สนับสนุน ส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในทุกวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษาในพื้นที่เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ โดยเฉพาะในมิติของการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น หลักของทางสายกลาง การเสริมสร้างพื้นฐานทางจิตใจ สำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญาและความรอบคอบ ไม่ประมาท รู้จักแบ่งปัน พึ่งตนเองและเอื้อเฟื้อเมตตา กรุณาช่วยเหลือกันและกัน
    เป็นต้น
  • 2.พระภิกษุ สามเณร มีบทบาทในการเทศนาสั่งสอนในโอกาสต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่พอเพียง และนำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับการประกอบอาชีพ การดำรงชีวิตของแต่ละคน ถือเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่หนึ่ง – เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐานที่เน้นความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว
  • 3.เชื่อมโยง บ้าน-วัด-โรงเรียน/ราชการ (บวร) ในระดับชุมชน/หมู่บ้าน ถือเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่สอง – เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า คือ ยกระดับความพอเพียงเป็นระดับกลุ่ม มีการรวมตัว ทั้งความคิด ความร่วมมือ ความช่วยเหลือส่วนรวม รักษาผลประโยชน์ภายในชุมชน มีการเรียนรู้แลกเปลี่ยน การจัดการและแก้ไขปัญหาร่วมกันของคนในชุมชน มุ่งเน้นความสามัคคีและสร้างความเข้มแข็งในชุมชน
    • 4.เชื่อมโยง บ้าน-วัด-โรงเรียน/ราชการ (บวร) ในระดับชุมชน/หมู่บ้าน กับชุมชน/หมู่บ้านอื่นๆ ในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ระหว่างจังหวัด เพื่อการขยายผลการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กว้างขวางออกไป ถือเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่สาม – เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวไกล ระดับสร้างเครือข่าย เน้นความร่วมมือระหว่างชุมชน กลุ่ม องค์กร ฯลฯ โดยประสานงานให้ได้รับประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย
  • กรณีศึกษาความสำเร็จ ศูนย์พัฒนาคุณธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ วัดป่านาคำ

    “หลุมพอเพียง เครื่องมือทรงพลังสู่ความสำเร็จในการทำเกษตรแบบพอเพียงของจังหวัดกาฬสินธุ์ศูนย์พัฒนาคุณธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ วัดป่านาคำ ได้นำเอาเครื่องมือที่มีชื่อว่า “หลุมพอเพียง” มาใช้ในการทำการเกษตรแบบพอเพียง 1 ไร่ไม่ยากไม่จน ประสบผลสำเร็จอย่างงามขณะนี้ได้ขยายผลไปยังชุมชนและสถานศึกษารวมกว่า 4,000 รายแล้ว

    พระมหาสุภาพ พุทธวิริโย เจ้าคณะตำบลจุมจัง ศูนย์พัฒนาคุณธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์
    วัดป่านาคำ หมู่ 6 บ้านโคกกลาง ตำบลจุมจัง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เจ้าของแนวคิดหลุมพอเพียง โดยได้ดำเนินการทดลองให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมที่ “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง” หรือ “จุมจังโมเดล” ของนายผจญ ธุระพันธุ์ บ้านจุมจัง หมู่ที่ 1 ตำบลจุมจัง ซึ่งเป็นแปลงเกษตรประณีต 1 ไร่ไม่ยากไม่จน ที่นำเอาเครื่องมือที่มีชื่อว่า “หลุมพอเพียง” มาใช้ในการทำการเกษตรแบบพอเพียงจนประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม และที่โรงเรียนจุมจังพลังราษฎร์ ซึ่งเป็นอีกสถานศึกษาหนึ่งที่นำโครงการฯ ไปขยายผลจนประสบผลสำเร็จเช่นกัน

    พระมหาสุภาพ พุทธวิริโย ได้เริ่มโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ด้วยการลองผิดลองถูกแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนมาในปี พ.ศ. 2547 จึงได้มาค้นพบจุมจังโมเดล 1 ไร่ยากไม่จน และในปี พ.ศ. 2552 จึงได้ตกผลึกมาเป็น “หลุมพอเพียง” ซึ่งหลุมพอเพียงเป็นนวัตกรรมและเครื่องมือหนึ่งที่ทรงพลังเท่าที่เคยพบมา ซึ่งโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเริ่มต้นที่วัดป่านาคำ และได้ขยายผลไปยังชุมชน และสถานศึกษาต่างๆ ปัจจุบันมีเกษตรและสถานศึกษาใน ตำบลจุมจัง ทำการเกษตร 1ไร่ไม่ยากไม่จนแล้ว 700 กว่าราย และขยายผลไปยังตำบลอื่นของอำเภอกุฉินารายณ์ 1,000 กว่าราย รวมทั้งได้ขยายไปสู่อำเภอเขาวง และอำเภออื่นๆ ของจังหวัดกาฬสินธุ์รวมแล้วกว่า 4,000 ราย

    การทำเกษตร 1 ไร่ยากไม่จนด้วยเครื่องมือที่มีชื่อว่าหลุมพอเพียงทำได้ไม่ยาก ด้วยพืช 4 ชนิดมาผสมผสานกัน มีกล้วยซึ่งเป็นไม้พี่เลี้ยง มีพืชอ่อนแอหรือที่สอนชาวบ้านว่าพืชปัญญาอ่อนเช่น พริก มะเขือ ผักต่างๆ มีพืชฉลาดก็คือพืชที่เข้มแข็ง เช่น มะละกอ ผักพื้นเมืองต่างๆ เป็นต้น และพืชที่สี่ คือไม้ยืนต้น ซึ่งเป็นความคาดหวังจริงๆ ของหลุมพอเพียง เป็นไม้ยืนต้นเพื่อการใช้สอย เช่น ยางนา ไม้สักทอง สะเดา ยางพารา มะพร้าว มะนาว ส้มโอ เป็นต้น ทั้งนี้ถ้ารอผลผลิตจากไม้ยืนต้นอย่างเดียวต้องรอ 3-10 ปี จึงจะได้ผล ในขณะเดียวกันถ้าปลูกแต่พืชอ่อนแออย่างเดียวซึ่งมีอายุสั้นก็จะปลูกตลอดไป แต่ถ้าปลูกผสมผสานกันโดยมีกล้วยเป็นพืชพี่เลี้ยงก็จะทำให้พืชทั้ง 4 ชนิดโตขึ้นได้พร้อมกันอย่างสมดุล และที่สำคัญทำให้มีอยู่มีกิน มีรายได้จากหลุมพอเพียงตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มปลูก

    ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.youtube.com/watch?v=vb1xWb3vNs8


    พระมหาสุภาพ พุทธวริโย เจ้าคณะตำบลจุมจัง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาคุณธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ วัดป่านาคำ ตำบลจุมจัง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับรางวัลธัญญารักษ์อวอร์ด ประจำปี พ.ศ. 2553 ในระดับรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านการบำบัดรักษาและป้องกันปัญหายาเสพติด นับว่าเป็นพระนักพัฒนาที่มีความคิดก้าวไกลและมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนในจังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการเด่น ๆ ที่ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการประกอบด้วย โครงการพัฒนาคุณธรรมในกลุ่มเยาวชน โครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยชุมชน โครงการหนึ่งไร่ไม่ยากไม่จน ตามปรัชญาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและยังมีอีกหลายโครงการที่ได้ทำงานร่วมกับทางราชการจนประสบผลสำเร็จ

    บทส่งท้าย

    ประเทศไทยมีทุนทางสังคม โดยเฉพาะวัดซึ่งมีอยู่ จำนวน 39,276 วัด ซึ่งครอบคลุมเกือบทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ภาครัฐและทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาชนและชุมชน โดยผ่านกลไกของวัด เชื่อมโยงกับหลัก “บวร” ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงทั้งหลักธรรมสู่ประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชุมชนมีความเข้มแข็งเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน แล้วขยายผลในวงกว้างออกไปสู่สังคมและประเทศชาติให้มีความเข้มแข็งตามไปด้วย เป็นความเข้มแข็งที่มั่นคง ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “...เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารได้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป...”[*]

    [ดาวน์โหลด PDF File]

    เอกสารอ้างอิง

    พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). (2557). พระพทุธศาสนากับปรัชญาเศรษฐกจิพอเพียง. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก : http://www.mcu.ac.th/site/theme/rector21042557.pdf... (วันที่ค้นข้อมูล: 21 กรกฎาคม 2557).

    สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.). (2557). ผลสำรวจพระ-เณรปี"57 กว่า 3.49 แสนรูป ชี้สำนักสงฆ์จดทะเบียนตั้งวัดพุ่งกว่า 1,500 วัด. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1... (วันที่ค้นข้อมูล: 21 กรกฎาคม 2557).

    สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2554). พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา. กรุงเทพฯ : ศูนย์การพิมพ์เพชรรุ่ง,

    สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2556). สัจธรรมแห่งแนวพระราชดำริ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, หน้า 63-64, 199, 201-202,

    สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2554). การประกวดผลงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักงาน กปร., หน้า 17-18, 39.

    สุรพล คุณภักดี. (2553). พระนักพัฒนาพระมหาสุภาพพุทธวิริโย ได้รับรางวัลด้านแก้ไขปัญหายาเสพติด. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก : http://news.kalasinnews.com/index.php?option=com_c... (วันที่ค้นข้อมูล: 22 กรกฎาคม 2557).

    สุวรรณ ศรีอาภรณ์. (2554). หลุมพอเพียง เครื่องมือทรงพลังสู่ความสำเร็จในการทำเกษตรแบบพอเพียงของจังหวัดกาฬสินธุ์. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก : http://pr.prd.go.th/kalasin/ewt_news.php?nid=989/.... (วันที่ค้นข้อมูล: 22 กรกฎาคม 2557).


    [*]พระราชดำรัสจากวารสารชัยพัฒนา ฉบับประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๔๒ อ้างถึงใน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2556). หน้า ๑๙๙-๒๐๐.

หมายเลขบันทึก: 572993เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2014 00:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2014 00:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท