อาจารย์ม.ขอนแก่น อบรมเกษตรกร ให้ตระหนักรู้ปัญหาสุขภาพและปัจจัยเสี่ยง


อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมตรวจสุขภาพผู้ป่วยโรคเบาหวาน ฝึกทำกายภาพบำบัด และทำเมนูอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ

          การเก็บรวบรวมข้อมูลสุขภาพจากตัวผู้ป่วย ญาติพี่น้องผู้ดูแลใกล้ชิด และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมทั้งข้อมูลการบริโภคและการใช้ชีวิตประจำวัน พบว่า ในปัจจุบันชาวบ้านมีปัญหาด้านสุขภาพมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการทานอาหารที่ผิดหลักโดยเฉพาะคนอีสานมักจะทานข้าวเหนียวเป็นหลัก ไม่ออกกำลังกาย สาเหตุเหล่านี้เป็นต้นเหตุของความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง และอื่นๆ
          โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน มหาวิทยาลัยขอนแก่น พื้นที่พัฒนาโมเดลตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยดร.นิสิต คำหล้าอาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ ดร.แคทรียา สุทธานุช อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ และดร.พัชราภรณ์ ทิพยวัฒน์ อาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ มีศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ พลธานี สาขาวิชาพืชไร่ ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ประสานงาน ได้จัดฝึกอบรมเรื่อง ปัญหาสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ให้แก่เกษตรกรหมู่บ้านหัวงัวและหมู่บ้านจอมศรี ตำบลยางตลาด จำนวนทั้งสิ้น 50 คน จัดขึ้น ณ ศาลากลางบ้านหมู่บ้านหัวงัว และวัดบ้านจอมศรี ตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์เมื่อวันที่ 28-29 มิถุนายน พ.ศ.2557
           วัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม เพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาสุขภาพ หาปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านตระหนักรู้ปัญหาสาเหตุ และการแก้ไขเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคต่างๆ และการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการ สรรพคุณผักสมุนไพรพื้นบ้านที่เหมาะสำหรับใช้ในการดูแลสุขภาพ และหาวิธีการป้องกัน แก้ไขร่วมกัน
           ทีมวิทยากรฝึกอบรม ได้แก่ ดร.นิสิต คำหล้า คณะเกษตรศาสตร์ ดร.แคทรียา สุทธานุช คณะเภสัชศาสตร์ ดร.พัชราภรณ์ ทิพยวัฒน์ คณะเทคนิคการแพทย์ เภสัชกรหญิงพิมพ์ชนิตร ชโยภาส นักเทคนิคการแพทย์หญิงวิลาสินี พาศรี นักเทคนิคการแพทย์หญิงจิราภา กาพย์ไกรแก้ว และนักกายภาพบำบัดสหฉัตร เอื้อหยิ่งศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
           กิจกรรมประกอบด้วย การเก็บข้อมูลสุขภาพการพูดคุยกับชาวบ้านอย่างเป็นกันเองเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพและแนวคิด การให้องค์ความรู้ผ่านการสนทนาและสื่อวิดีโอส่งเสริมการทานข้าวกล้องในครัวเรือน แนะนำและสาธิตการทำอาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ ยำเห็ด ซึ่งใช้วัตถุดิบที่หาได้ในครัวเรือน หรือในสวนหลังบ้าน และมีการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบบางอย่าง เช่น ใช้น้ำตาลปีบซึ่งไม่ผ่านกระบวนการฟอกขาวและมีสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพที่มากกว่า แทนการใช้น้ำตาลทรายขาว และเมนูของหวานเพื่อสุขภาพ กล้วยบวชชีไม่ใช้กะทิ แต่ใช้นมจืดหรือน้ำเต้าหู้แทน
           พร้อมทั้งมีการส่งเสริมการออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้สูงอายุ โดยนักกายภาพบำบัดจะเสริมท่าออกกำลังกายเฉพาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งจะแตกต่างจากการออกกำลังกายทั่วไป โดยนำหนังยางรัดของ มาร้อยต่อกันเป็นเส้นยาวประมาณ 1 เมตร ใช้เป็นอุปกรณ์เสริมในการบริหารร่างกาย และนอกจากนี้ยังจัดทำอาหารเพื่อสุขภาพ
           ผลจากการทำกิจกรรมดังกล่าว ทำให้เกิดแนวคิดร่วมกันระหว่างชาวบ้านและนักวิชาการ ในการเสริมสร้างสุขภาพควบคู่กับการเกษตรครัวเรือน ด้วยการปลูกพืชผักสมุนไพรผสมผสาน และการทำอาหารด้วยวัสดุที่หาได้ในครัวเรือนและชุมชน ซึ่งการฝึกอบรมครั้งนี้ กลุ่มผู้ป่วยและผู้สูงอายุให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งทั้งในส่วนของการตรวจสุขภาพ การออกกำลังกายและการทำอาหารเพื่อสุขภาพ

           จาวภา มะนาวนอก ข้อมูลข่าว/ภาพ
           กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่

หมายเลขบันทึก: 572797เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2014 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2014 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท