nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

ชวนอ่านหนังสือ_โรคจิตที่รัก_แนะนำพิเศษสำหรับคุณครูและบุคลากรสุขภาพ



          หลังจากเขียนบันทึก “ข้่อคิดการดูแลบุพการีผู้สูงอายุ จากหนังสือหนังโรคจิต เมื่อจิตแพทย์เขียนถึงหนัง” กับ  “ยาหลายตัว จากหนังสือหนังโรคจิต เมื่อจิตแพทย์เขียนถึงหนัง” และ  “เขาปล่อยให้ผู้ป่วยบริหารงานระดับชาติ”  หนังสือเล่มนี้เป็นอีกเล่มที่เขียนโดยคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ บอกเล่าเรื่องโรคจิตด้วยภาษาเข้าใจง่าย มีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าต้องการสร้างความเข้าใจ ลดอคติต่อผู้ป่วย

          คุณหมอเขียนในคำนำสรุปความว่า ในบรรดาความเจ็บป่วยทั้งหลาย ความเจ็บป่วยทางจิตเป็นความยากลำบาก “น่าพรั่นพรึง” มากกว่าทุกโรค ในระยะเริ่มป่วยผู้ป่วยจะกลัวว่าอะไรเกิดขึ้นกับตัวเอง - เมื่อรู้ว่าไม่ปกติทางจิตแล้วจะวิตกกังวลไปขอความช่วยเหลือจากใคร - และเมื่อตัดสินใจไปหาหมอแล้วจะรักษาหายหรือไม่ ทั้งนี้ทั้งนั้นพราะสังคมมีอคติมากต่อโรคทางจิต เป็นที่รังเกียจ ผู้ป่วยจึงปกปิดความผิดปกติตั้งแต่เริ่มแรกที่รู้ตัว นำไปสู่การไม่ได้รักษา ทำให้โรครุนแรงจนรักษายาก

         ทุกวันนี้การแพทย์ก้าวหน้าไปมากทำให้รู้ว่า

          - โรคจิตมิได้เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ (อันทำให้พ่อแม่รู้สึกผิด อับอาย) แต่เป็นโรคอย่างหนึ่งเหมือน โรคเบาหวาน ความดัน ที่ต้องการการรักษาที่ถูกต้อง

          - โรคซึมเศร้า (Major Depression) ที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายเป็นความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่รักษาหายได้

          - โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นโรคพันธุกรรมและรักษาหายได้ด้วยเงื่อนไข ๒ ข้อคือ รีบไปพบแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการ กับ ผู้ป่วยต้องอดทนฉีดยานานเท่าที่จิตแพทย์ประเมินและสั่ง ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ ๖๐๐,๐๐๐ คน ช่วงที่มี “อาการนำ” คือยัง “ไม่ป่วย” เป็นช่วงเวลาสำคัญมาก เพราะผู้ป่วยยังสามารถสื่อสารกับพ่อแม่กับหมอได้ว่าเขามีความ ”ผิดปกติ” และต้องการความช่วยเหลือ ตรงนี้สำคัญมาก เพราะเมื่อพ้นระยะนี้ไปเป็น “ผู้ป่วย” แล้วจะหลุดไปจากโลกจริง (Out of Reality) และไม่ต้องการความช่วยเหลืออีกเลย คุณหมอเขียนไว้ชัดเจนเห็นภาพชวนสลดใจว่า

          “คำถามคือ การแพทย์สามารถสกัดโรคจิตเภทไว้ที่ขั้นตอนอาการนำได้หรือไม่ เพราะว่าช่วงที่เด็กมีอาการนำเขายังต้องการความช่วยเหลือ แต่ว่าช่วงที่เขาป่วยเขามักจะไม่ต้องการความช่วยเหลือ เสียงแว่วนั้นเกิดจากความเสียหายของสมองที่กำลังลุกลาม และได้ริบเอาความสามารถที่จะติดต่อกับโลกภายนอกและความสามารถที่จะเรียกร้องความช่วยเหลือไปเสียด้วย เป็นการเดินทางไปสู่อาการเสียสติสมบูรณ์แบบ” (หน้า ๔๐)

          คุณหมอเขียนเรื่องจิตเภทไว้ละเอียด กำลังมีความก้าวหน้าในการวิจัยตั้งแต่ การตรวจค้นผู้ป่วยและบำบัดไม่ให้ไปถึงระยะป่วย รวมทั้งการป้องกันมิให้มีอาการทั้งนี้เพราะโรคนี้สามารถตรวจพบในระดับยีน คือตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อน

          หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมบทความ ๒๕ เรื่อง ทุกเรื่องน่าสนใจมากๆ ไม่อาจนำมาเล่าไปทั้งหมดยกตัวอย่าง เช่น

          - เครียด ถ้าเรารู้จักความเครียดและจัดการได้เหมาะสมจะเป็นคุณก่อนที่จะต้องไปถึงขั้นป่วยต้องกินยา

          - ไฮเปอร์เวนทิเลชั่นซินโดรม (Hyperventilation Syndrome) ที่คนไข้มาด้วยอาการ หอบ ตามด้วยมึนงง วิงเวียน และมือจีบ เจอในเด็กผู้หญิง ในโรงเรียน ถ้าครูเข้าใจจะไม่ตื่นตระหนก และจัดการได้โดยง่าย

          - อุปาทานหมู่ (Mass Hysteria) เกิดได้มากในสังคมมีความเอื้ออาทรต่อกันมากๆ อย่างสังคมไทยในชนบท อาการสำคัญคือ มี “ผู้นำ” มีอาการชักเกร็ง สูญเสียสัมปชัญญะไปชั่วคราว และเป็นตามๆ กันหลายๆ คน ถ้าเรารู้ว่ามิได้เป็นโรคที่น่าหวาดกลัวก็จะจัดการได้ง่ายๆ เช่น กันเด็กคนแรกออกจากบริเวณให้เร็ว นำไปปฐมพยาบาลด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือพัดลมให้ผ่อนคลาย เมื่อรู้ตัวก็ให้ผู้ปกครองมารับกลับ เด็กอื่นๆ ก็ดูแลเช่นเดียวกัน คุณหมอเขียนว่า       “จะต้องมีคุณครูที่มีจิตใจมั่นคงสักคนมาอธิบายว่าเรื่องทั้งหมดไม่มีอะไรน่าวิตก เป็นปรากฏการณ์ของสิ่งที่เรียกว่าอุปาทานหมู่ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อคนทั้งหมดมีอารมณ์ร่วมกันอย่างรุนแรง เป็นครั้งเดียวก็จะหายไม่เป็นอีก อธิบายเด็กๆ แล้วอธิบายผู้ปกครองด้วย” (หน้า ๗๗-๗๘)

          อย่างที่เคยเขียนไว้ในบันทึกก่อนๆ ว่าคุณหมอประเสริฐ เขียนหนังสืออ่านง่าย อ่านสนุก ไม่มีภาษาวิชาการ หรือภาษาแพทย์ให้วิงเวียน ถึงเขียนภาษาแพทย์ก็จะอธิบายความหมายด้วยภาษาชาวบ้านจนเข้าใจ คุณหมอมักตั้งคำถามถึง “ระบบบริการสุขภาพ” ไว้น่าสนใจ และมักเขียนยกตัวอย่างตัวละครที่มีอาการทางจิตในหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ทำให้เรา (สำหรับคนชอบดูหนัง) ได้เห็นภาพอาการของความเจ็บป่วยทางจิตชัดขึ้น และที่สำคัญมาก คือ คุณหมอจะเขียนคำแนะนำเพื่อให้ประชาชนผู้อ่านได้ประโยชน์ไว้เสมอ

          อยากเชิญชวนให้คุณครูหามาอ่าน ไม่ใช่ครูก็อ่านได้ค่ะ หนังสือน่าจะยังมีขาย.

พฤหัส ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗

อ้างอิง

          ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. โรคจิตที่รัก.(พิมพ์ครั้งที่๑) กรุงเทพ : โพสต์บุ๊กส์ , กันยายน ๒๕๕๓.

บันทึกเพิ่มเติม

          ประมาณปีเศษ คนไข้จิตเภทคนหนึ่ง เนื้อตัวสกปรก (คนทั่วไปจะคุ้นตากับคนไข้ประเภทนี้ที่เดินท่อมๆ ไปตามถนน แอบนอนตามข้างถนน ไม่กลับบ้าน) แวะมายึดที่ข้างคลินิกของเราเป็นนิวาสถาน หลายวันผ่านไปเป็นเดือนเขาก็ขนขยะใส่ถุงมากองวางไว้จนเริ่มรก เจ้าหน้าที่คลินิกมาถามว่าจะให้ทำอย่างไร เราก็บอกว่าเขามิได้ทำอะไรที่อันตรายมิใช่หรือ เราก็ปล่อยเขาอย่างนั้น บางวันเขาก็มานั่งที่เก้าอี้นั่งรอหน้าคลินิก พอเรามาเขาก็เดินออกไปนั่งข้างตึก พอเราไปก็กลับมานั่งเก้าอี้หน้าร้าน อาศัยหลับนอนอยู่ตรงนั้น ไม่ได้รบกวนอะไรเลย

          วันหนึ่งเขาหายไปพร้อมกับถุงขยะทั้งหมด ทิ้งไว้เพียงต้นไม้สูงแต่คืบในกระถางเล็กๆ วางไว้ข้างเก้าอี้ที่เขายึดเป็นที่นอนตอนกลางคืน

   

             เจ้าหน้าที่ที่ร้านรดน้ำทุกวัน ต้นไม้ต้นนี้โตขึ้นขนาดนี้แล้ว เวลามาที่คลินิกเห็นต้นไม้ต้นนี้เราจะนึกถึงคนบ้าคนนั้น.

หมายเลขบันทึก: 571605เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2014 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2014 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ขอบคุณที่แนะนำหนังสือดีๆเช่นนี้ค่ะ....เรื่องเล่าคนไข้จิตเภท สะท้อนเมตตาธรรมค้ำจุนโลกค่ะ...

อ่านมาก รู้มากนะคะ .... คุณครู... คุณหมอและ  สา'สุข .... ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ดีค่ะ

ที่ศาลาปากซอยเข้าหมู่บ้านก็มีคนประเภทนี้คนหนึ่งครับ อยู่มาน่าจะเป็นปี ผู้คนก็อาศัยศาลารอขึ้นรถตามปกติ เขาไม่น่าจะเป็นพิษภัยกับใคร แต่ก็มีคนคิดจะไล่เขาให้หนีไป

ถามกลับว่า เขามาจากไหนไม่มีใครรู้ และ

ขอบคุณค่ะพี่นุ้ย ที่แนะนำหนังสือน่าอ่าน และให้ความรู้เรื่องโรคจิต ทำให้เข้าใจขึ้นมาระดับหนึ่ง บางคนดูมีความสุข มีรอยยิ้มบนใบหน้าอยู่ตลอดเวลา บางคนดูดุร้ายน่ากลัว บางคนดูมีความทุกข์นะคะ บางคนคละกันทุกอารมณ์ น่าสงสารทั้งสิ้น คนบ้าคนนั้นเขาหอบของไปหมด ยกต้นไม้ให้พี่นุ้ย (เพราะคงหนักมาก) แสดงว่าเขาก็ยังรู้เรื่องดีนะคะ ดีใจที่พี่เมตตาเขา และให้เขาอาศัยอยู่จนเขาไปเอง ขอบคุณมากค่ะสำหรับสาระดี ๆ ใกล้ ๆ ตัวค่ะ  

ยินดีค่ะพี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ คนทั่วไปจะกลัวและรังเกียจ แต่ถ้าเราเข้าใจโรคจะไม่กลัวค่ะ

ขอบคุณค่ะพี่ Dr. Ple ที่ช่วยเพิ่มเติม

น่าสงสารค่ะ คุณพิชัย พ.แจ่มจำรัส  คุณหมอประเสริฐบอกว่า ถ้าได้รักษาแต่เริ่มแรกจะได้ผล

ดีใจค่ะที่บันทึกช่วยให้น้องกุหลาบ กุหลาบ มัทนา เข้าใจคนไข้พวกนี้  คุณหมอประเสริฐเขียนหนังสือเพื่อให้พวกเราเข้าใจและลดอคติกับคนไข้โรคจิตค่ะ

ขอบคุณค่ะ

อาจารย์  Wasawat Deemarn

อาจารย์  ภูสุภา  

คุณ  ลูกสายลม 

ที่แวะมาอ่านนะคะ

ผมอ่านแล้วครับ คุณหมอประเสริฐ เป็นต้นแบบของการเขียนหนังสือของผมเช่นกัน ขอบพระคุณมากครับ

คุณหมอประเสริฐเขียนหนังสืออ่านง่าย  ได้สาระมากค่ะ อาจารย์ Dr. Pop

ยิ่งคุณหมอชอบดูหนัง ชอบเขียนวิเคราะห์ตัวละครโรคจิตในหนังด้วยแล้ว พี่ไม่อยากพลาดเลยค่ะ

วันสองวันนี้ดูหนังตัวละครโรคจิตติดกันสองเรื่อง ดูไปก็คิดว่าคุณหมอประเสริฐจะเขียนว่าไงนะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท