ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

ศิลปะการโต้วาที


ศิลปะการโต้วาที

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก

www.drsuthichai.com

การแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคปัจจุบัน เราคงจะเห็นว่า เขาจะจัดให้มีการโต้วาที ถามว่า ทำไมต้องเอาคนที่จะเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนต่อไป มีความจำเป็นด้วยหรือที่จะต้องมาโต้วาทีให้ประชาชนและคนทั่วโลกเห็น

ซึ่งคงจะมีเหตุผลหลายประการ ที่ประเทศสหรัฐอมเริกาจะจัดให้มีการโต้วาที สำหรับผู้ที่ต้องการจะเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เพราะการโต้วาที ทำให้เห็นอะไรหลายๆอย่างในตัวของผู้โต้วาที เช่น ภาวะผู้นำ การตัดสินใจ ภูมิความรู้ บุคลิกภาพ ความเชื่อมั่นในตนเอง การมีวาทศิลป์ การมีไหวพริบปฏิภาณ การมีอารมณ์ขัน ตลอดจนกระทั่งถึงการควบคุมอารมณ์ของตนเอง ในการที่ถูกคู่แข่งขัน ตอบโต้ ด้วยสถานการณ์ต่างๆ

ดังนั้น ประเทศอเมริกาจึงให้ความสำคัญกับการโต้วาที ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งที่สำคัญๆของประเทศของเขา คราวนี้เราลองมาทำความรู้จักกับการโต้วาทีคืออะไร

การโต้วาที ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ได้ให้ความนิยามว่า “ การแสดงคารมโดยมีฝ่ายเสนอและฝ่ายค้านในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง”

ซึ่งจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของการโต้วาทีคือ

1.เพื่อฝึกให้ผู้โต้วาที ได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาเสนอในการโต้วาที

2.เพื่อฝึกให้ผู้โต้วาที ได้ใช้ไหวพริบปฏิภาณ เชาว์ปัญญาในการแก้ไขปัญหาหรือตอบโต้ในการโต้วาที

3.เพื่อฝึกใช้เหตุผล สำหรับการหักล้าง โดยมีการนำข้อมูลหลักฐานต่างๆมาอ้างอิง ฉะนั้นจึงทำให้นักโต้วาทีไม่เป็นคนที่ไม่เชื่อคนง่าย

4.เพื่อฝึกใช้วาทศิลป์ การเลือกใช้ถ้อยคำ เพื่อนำมาโน้มน้าวใจ รวมไปถึงการใช้ท่าทางประกอบการพูด

5.เพื่อฝึกการทำงานให้เป็นทีม มีการวางแผนและทำงานร่วมกัน

6.เพื่อฝึกความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ซึ่งเป็นธรรมดาของการแข่งขันย่อมมีผู้แพ้ผู้ชนะ

คณะผู้โต้วาที

คณะผู้โต้วาที ประกอบไปด้วย

1.ประธานในการโต้วาที 1 คน จะทำหน้าที่กล่าวทักทาย กล่าวเปิด แจ้งให้ผู้ฟังทราบถึงความสำคัญของญัตติที่ใช้ในการโต้วาที กล่าวเชิญผู้โต้วาทีขึ้นมาบนเวทีทีละคน เป็นผู้แนะนำกรรมการและผู้โต้วาทีทั้งสองฝ่าย เป็นผู้สร้างบรรยากาศ และมีหน้าที่สรุปรายงาน การประกาศผลและกล่าวปิดงาน

2.สมาชิกผู้โต้วาที ประกอบไปด้วยทีมทั้ง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเสนอและฝ่ายค้าน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะมีหัวหน้าฝ่าย 1 คนและผู้สนับสนุนฝ่ายแต่ละฝ่ายอีก 3 คน (แต่ในยุคปัจจุบัน บางแห่งอาจใช้แค่ 2 คน ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับความเหมาะสม) สำหรับเรื่องของเวลาในการโต้วาทีแต่ละครั้งมักให้เวลาคนละ 5-7 นาที หรือ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของผู้จัดกำหนดขึ้นเอง

ด้านหน้าที่ของหัวหน้าฝ่ายเสนอ มีหน้าที่ดังนี้ ขึ้นต้นควรกล่าวทักทาย แล้วจึงเริ่มเสนอญัตติ มีการแปรญัตติหรือความหมายหรือคำนิยามของญัตติหาเหตุผลข้อมูลมาเสนอเพื่อสนับสนุนญัตติของตนเอง มีการสรุปประเด็นสำคัญๆ สำหรับรอบที่สอง เป็นรอบสรุป หัวหน้าฝ่ายเสนอต้องเก็บกวาดหรือโต้แย้ง คู่แข่งทุกประเด็นที่ตกค้าง กล่าวคือผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอยังไม่ได้มีการพูดหักล้าง แล้วจึงกล่าวสรุปปิดท้าย โดยประเพณีหัวหน้าฝ่ายเสนอจะเป็นผู้สรุปคนหลังสุด

ด้านหน้าที่ของหัวหน้าฝ่ายค้าน มีหน้าที่ดังนี้ กล่าวทักทาย มีการแปลญัตติที่ทำให้ฝ่ายตนเองได้เปรียบ ต้องพยายามหาเหตุผลมาคัดค้าน การนำเสนอของหัวหน้าฝ่ายเสนอ มีการโต้แย้งเป็นประเด็นโดยมีเหตุผลหรือหลักฐานอ้างอิง มีการเสนอแนะเหตุผลมาสนับสนุนฝ่ายตัวเอง สำหรับรอบที่สอง เป็นรอบสรุป หัวหน้าฝ่ายค้าน ต้องเก็บกวาดหรือโต้แย้ง คู่แข่งทุกประเด็นที่ตกค้าง กล่าวคือผู้สนับสนุนฝ่ายค้านยังไม่ได้มีการพูดหักล้าง แล้วจึงกล่าวสรุปปิดท้าย โดยประเพณีหัวหน้าฝ่ายค้านจะเป็นผู้สรุปก่อนหัวหน้าฝ่ายเสนอ

บทบาทหน้าที่ของฝ่ายสนับสนุนฝ่ายเสนอ กล่าวทักทายผู้ฟัง อธิบายให้การสนับสนุนฝ่ายเสนอ หาเหตุผล ข้ออ้างอิง หลักฐานต่างๆ สถิติ ข้อเท็จจริง เอกสาร ภาพถ่าย มาใช้ประกอบเพิ่มเติม มีหน้าที่โต้แย้ง หาประเด็นต่างๆมาคัดค้านฝ่ายค้าน สรุปประเด็นเน้นย้ำให้กับฝ่ายของตนเองได้เปรียบ แล้วจึงกล่าวลาผู้ฟัง

บทบาทหน้าที่ของฝ่ายสนับสนุนฝ่ายค้าน กล่าวทักทายผู้ฟัง อธิบายให้การสนับสนุนฝ่ายค้าน หาเหตุผล ข้ออ้างอิง หลักฐานต่างๆ สถิติ ข้อเท็จจริง เอกสาร ภาพถ่าย มาใช้ประกอบเพิ่มเติม มีหน้าที่พูดโต้แย้ง หาประเด็นต่างๆมาคัดค้ายฝ่ายเสนอ สรุปประเด็นเน้นย้ำให้กับฝ่ายของตนเองให้เกิดความได้เปรียบ แล้วจึงกล่าวลาผู้ฟัง

ขั้นตอนในการเตรียมตัว เตรียมความพร้อม ของผู้โต้วาทีทั้งสองฝ่าย

1.ต้องเตรียมตัว เตรียมข้อมูล หาเอกสารต่างๆ รวมทั้งทำการศึกษา วิเคราะห์ญัตติในการโต้วาทีอย่างถ่องแท้ รวมทั้งจัดเตรียมเอกสาร หลักฐาน สื่อต่างๆเพื่อนำไปใช้ประกอบในการพูด

2.เตรียมต้นฉบับหรือสคิปในการพูด ว่าจะขึ้นต้นอย่างไร ตรงกลางจะพูดอะไร และสรุปจบจะพูดอะไร อีกทั้งควรเตรียม คำคม คำกลอน อารมณ์ขันในการสอดแทรกการพูด รวมไปถึง สุภาษิต คำพังเพยต่างๆ

3.เตรียมพร้อม เตรียมซ้อม ภาษากายที่ใช้ประกอบการพูด รวมไปถึง การแต่งกาย การใช้ท่าทางในการประกอบการพูด ทั้งนี้ควรมีการซ้อมพูดและฝึกการใช้ภาษากายหรือท่าทางประกอบการพูด

4.เตรียมข้อมูลของฝ่ายตรงกันข้าม นักโต้วาทีที่ดีต้อง รู้เขารู้เรา รู้เขาคือ ต้องรู้ว่าฝ่ายตรงกันข้ามจะพูดอะไร เตรียมข้อมูลอะไร แล้วคิดล่วงหน้าในการโต้ตอบฝ่ายตรงกันข้าม

5.การโต้วาทีที่ดี ไม่ควรเอ๋ยชื่อและควรเรียกชื่อ แต่ควรเอ่ยเป็น หัวหน้าฝ่ายเสนอ หัวหน้าฝ่ายค้าน ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 1 ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ 1 ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ 2 และผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ 2 เป็นต้น

6.หัวหน้าทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่ที่จะต้องสรุปประเด็นและสรุปญัตติ เพื่อเป็นการทิ้งท้ายให้ผู้ฟังประทับใจ ตอนสรุปถือว่าสำคัญมากๆ

7.สุดท้ายทีมผู้โต้วาที ควรซักซ้อม เตรียมตัว ปรึกษาหารือกันก่อน มีการตกลงกันว่าใครพูดก่อนหลัง ว่าใครมีข้อมูลอย่างไร เพื่อที่จะไม่ได้เกิดการพูดที่ซ้ำๆกันในเวลาที่ขึ้นเวทีจริง

สำหรับการจัดทีมการโต้วาทีที่ดี

1.หัวหน้าทีม(ต้องเก่งที่สุด)

2.ผู้สนับสนุนคนที่ 1 (ต้องเก่งลำดับ 4 )

3.ผู้สนับสนุนคนที่ 2 (ต้องเก่งลำดับ 3)

4.ผู้สนับสนุนคนที่ 3 (ต้องเก่งลำดับ 2)

คณะกรรมการจับเวลา มีหน้าที่จับเวลา มีการบันทึกเวลา มีการเตือนการใช้เวลาของสมาชิกที่โตวาที เมื่อใกล้หมดเวลาหรือหมดเวลา อาจใช้ภาษามือ กริ่ง เพื่อเตือนสมาชิกที่โต้วาทีให้รู้ว่าใช้เวลาไปเท่าไร เหลือเวลาเท่าไร

คณะกรรมการตัดสิน มีหน้าที่ให้คะแนนผู้โต้วาทีทั้ง 2 ฝ่าย คณะกรรมการควรเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในการโต้วาทีมาบ้าง มีหลักวิชา มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการพูดต่อหน้าที่ชุมชน มาร่วมกันตัดสิน ปกติกรรมการมักจะเป็นเลขคี่ คือ 3 คน และ 5 คน สำหรับการโต้วาทีในบางเวที หากไม่ได้มีการแข่งขันกันแบบเอาจริงเอาจัง บางแห่งอาจจะไม่มีกรรมการการตัดสินก็ได้ แต่อาจใช้เสียงปรบมือจากผู้ฟังเป็นตัววัดการแพ้ชนะ ทั้งนี้คณะผู้จัดการโต้วาทีอาจจะประกาศผลเสมอกันหรือไม่มีการตัดสินเลยก็ได้

ผู้เข้าฟังการโต้วาที เป็นผู้ฟังหรือผู้ร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งผู้ฟังควรมีมารยาทในการฟัง ควรฟังอย่างตั้งใจ ควรให้ความร่วมมือโดยการปรบมือให้กำลังใจแก่ผู้โต้วาที เพื่อสร้างบรรยากาศให้เกิดความสนุกสนานในการโต้วาที

ญัตติการโต้วาที ควรตั้งชื่อให้มีความน่าสนใจ มีความดึงดูด ญัตติการโต้วาทีควรเป็นญัตติแบบกลางๆ ที่ทุกฝ่ายยังหาข้อสรุปไม่ได้ อีกทั้งญัตติไม่เป็นญัตติที่ทำให้ฝ่ายได้ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ เป็นญัตติที่ทั้งสองฝ่ายสามารถหาเหตุผลมาโต้กันจนสามารถเอาชนะกันได้

ญัตติการโต้วาทีที่น่าสนใจคือ ดูทีวีดีกว่าอ่านหนังสือพิมพ์,เกิดเป็นผู้ชายดีกว่าเกิดเป็นผู้หญิง,เป็นนักแสดงดีกว่าเป็นนักเขียน,เด็กแน่กว่าคนแก่ เป็นต้น

ส่วนญัตติที่ไม่ควรนำเอามาโต้วาที คือ ญัตติที่แน่นอนซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ น้ำต้องไหลจากบนลงล่าง,พระจันทร์เกิดขึ้นในเวลากลางคืน,แผ่นน้ำมีมากกว่าแผ่นดิน เป็นต้น หรือเป็นญัตติที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ เช่น ไทยร่ำรวยกว่าประเทศญี่ปุ่น , คนไทยพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าคนอังกฤษ เป็นต้น

ข้อควรระวังในการตั้งญัตติไม่ควรตั้งญัตติที่มีความเกี่ยวพันถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

สำหรับการแปลญัตติหรือการตีญัตตินั้น เป็นหน้าที่ของหัวหน้าทั้งสองฝ่าย คือ หัวหน้าฝ่ายเสนอและหัวหน้าฝ่ายค้าน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องแปลญัตติหรือตีญัตติให้ฝ่ายของตนได้เปรียบ สำหรับผู้โต้วาทีบ่อยๆ หรือ มีประสบการณ์ในการโต้วาทีจะรู้ว่า การแปลญัตติหรือการตีญัตติมีความสำคัญถึงขนาดทำให้ได้รับชัยชนะเลยก็ได้

มารยาทในการอ้างอิง สำหรับการโต้วาทีของประเทศไทย คือ ผู้โต้วาทีทั้งสองฝ่ายไม่ควรนำเอาพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาอ้างอิง เพราะจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำการโต้แย้งได้เลย

การให้คะแนน แต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน เช่น การให้คะแนนของสโมสรฝึกพูดลานนาไทย เชียงใหม่ 1.คะแนนเหตุผล 30 %2. คะแนนวาทศิลป์ 20 %3. คะแนนไหวพริบปฏิภาณ 20 %

4.คะแนนภาษาไทย 15 %5.คะแนนมารยาท10%6.คะแนนภาษากาย 5 %

หรือการโต้วาทีบางแห่งอาจให้คะแนน เช่น 1.คะแนนเหตุผล 30 %2. คะแนนหักล้าง 30 %

3. คะแนนวาทศิลป์ 20 %4.คะแนนหลักฐานอ้างอิง 10 %5.คะแนนมารยาท10%

ทั้งนี้ ผู้โต้วาทีที่ดีและเก่ง ควรทำการวิเคราะห์และหาข้อมูลว่า คณะกรรมการใช้เกณฑ์ใดในการตัดสิน แล้วจึงให้ความสำคัญกับคะแนนที่สูง เพราะบางคนระวังเรื่องของมารยาทจนเองไปซึ่งมีคะแนนแค่ 10 % เลยเสียคะแนนเรื่องของวาทศิลป์ และการหักล้างซึ่งมีคะแนน 20-30 %

สำหรับคุณสมบัติของนักโต้วาทีที่ดีมีดังนี้

1.ต้องมีทักษะในการฟัง การจด การคิด รวมไปถึงการใช้วาทศิลป์ในการพูด นักโต้วาทีที่ดีต้องมีสมาธิในการฟังฝ่ายตรงกันพูด อีกทั้งต้องสามารถจับประเด็นที่สำคัญๆได้ การจดก็ควรจดด้วยความรวดเร็ว มีความคิดที่เป็นระบบมีเหตุมีผลและการนำเสนอควรนำเสนออย่างมีวาทศิลป์ด้วย

2.ต้องมีการเตรียมการมาเป็นอย่างดีหรือทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ซึ่งควรเตรียมทั้งของเราและเตรียมของคู่แข่งคือต้องคิดล่วงหน้าว่าถ้าเราเป็นคู่แข่งขัน เราจะพูดอย่างไร เราจะคิดอย่างไร

3.ต้องมีไหวพริบปฏิภาณในการโต้วาที คือต้องสามารถตอบโต้สดๆ ในขณะปัจจุบันทันด่วนได้

4. ต้องไม่โกรธง่าย ต้องไม่หวั่นไหวง่าย ต้องมีใจคอหนักแน่น อดทนต่อคำเสียดสีจากฝ่ายตรงกันข้าม รวมไปถึงเรื่องของสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงด้วย

5.ต้องมีการทำงานเป็นทีม โดยมีการประชุมแล้ว แบ่งปันข้อมูล ต้องแบ่งหน้าที่ว่าใครเป็นหัวหน้าทีมและใครเป็นผู้พูดสนับสนุนคนที่ 1 คนที่ 2 และคนที่ 3

สำหรับการโต้วาทีในปัจจุบัน มีลักษณะดังนี้

1.มีลักษณะของการอ่อนเหตุผล

2.มีลักษณะของการใช้วาทศิลป์ที่ด้อยกว่าในอดีต รวมไปถึงการใช้ ภาษากาย

3.มีลักษณะของการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง ไม่สวยงามเหมือนในอดีต

4.มีลักษณะของการใช้ไหวพริบปฏิภาณที่ด้อยลง ไม่เหนือชั้น เนื่องจากว่ามีสนามฝึกฝนน้อย

ขั้นตอนในการโต้วาที

1.ประธานมีหน้าที่กล่าวเปิด กล่าวอารัมภบท สร้างบรรยากาศ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ กล่าวทักทายผู้มาฟังการโต้วาที ต่อจากนั้นประธานต้องแนะนำผู้โต้วาทีทั้งสองฝ่าย แนะนำกรรมการจับเวลา แนะนำกรรมการตัดสิน จากนั้นจึงกล่าวเชิญผู้โต้วาทีทั้งสองฝ่ายสลับขึ้นมาพูด โดยเริ่มจาก หัวหน้าฝ่ายเสนอ หัวหน้าฝ่ายค้าน ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 1 ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ 1 ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 2 ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ 2 ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 3 ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 3 หัวหน้าฝ่ายค้านขึ้นมาสรุป และหัวหน้าฝ่ายเสนอขึ้นมาสรุปเป็นคนสุดท้าย ตามลำดับ

2.หัวหน้าฝ่ายเสนอ มีหน้าที่ในการแปลญัตติหรือตีญัตติ และหาข้อมูล หลักฐาน มาสนับสนุนฝ่ายของตน

3.หัวหน้าฝ่ายค้าน มีหน้าที่ในการแปลญัตติหรือตีญัตติ เพื่อให้ฝ่ายตนเองเกิดความได้เปรียบ และหาข้อมูล หลักฐาน มาพูดโน้มน้าวใจให้ผู้ฟังเกิดความคล้อยตาม

4.ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 1 พูดค้านประเด็นที่สำคัญๆของหัวหน้าฝ่ายค้าน แล้วกล่าวสนับสนุนหัวหน้าฝ่ายเสนอ และนำเสนอประเด็นใหม่

5.ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ 1 พูดค้านและหาเหตุผลมาหักล้าง หัวหน้าฝ่ายเสนอและผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 1

6.ต่อจากนั้นจึงเชิญ ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 2 ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ 2 ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 3 ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 3 หัวหน้าฝ่ายค้านขึ้นมาสรุป และหัวหน้าฝ่ายเสนอขึ้นมาสรุปเป็นคนสุดท้าย ตามลำดับ

7.จากนั้นประธานเชิญ กรรมการผู้ตัดสินขึ้นมาวิจารณ์การโต้วาที ในขณะเดียวกัน ต้องรวบรวมคะแนนและการใช้เวลาของทั้งสองฝ่าย เพื่อรวมคะแนน หลังจากนั้นก็ประกาศผลการตัดสิน กล่าวขอบคุณทุกๆฝ่ายและกล่าวปิด

มารยาทในการโต้วาทีที่ดี

1.ไม่ควรอ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์

2.อย่าใช้คำพูดที่ไม่สุภาพ หยาบคาย

3.อย่านำเรื่องส่วนตัวที่ไม่ดีของฝ่ายตรงกันข้ามมาพูด ยกเว้นเรื่องที่ดี

4.อย่าแสดงอารมณ์โกรธ แต่ต้องควบคุมอารมณ์ในการพูด ต้องแสดงความเป็นมิตรกับฝ่ายตรงกันข้าม

5.ไม่ควรเอ่ยชื่อ แต่ควรเอ่ยว่า หัวหน้าฝ่ายเสนอ หัวหน้าฝ่ายค้าน ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอ ผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน

6.อย่าใช้เวลาเกินหรือพูดเกินเวลาที่กำหนดมาให้ในการโต้วาที

การหักล้าง

1.ต้องตั้งใจฟังผู้โต้วาทีทุกคนพูด แล้วจับประเด็นข้อกล่าวหา และเขียนข้อกล่าว พร้อมทั้งคำพูดในการตอบโต้ลงไปในกระดาษ

2.ต้องหาเหตุผล หลักฐาน ข้อมูล เพื่อมาหักล้างข้อกล่าวหา โดยหักล้างคนที่ลงจากเวทีพูดก่อนแล้วจึงไปยังคนแรก เช่น หากว่าเราเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ 1 เราต้องพูดหักล้างผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 1 ก่อนแล้วจึงไปพูดหักล้างหัวหน้าฝ่ายเสนอเป็นคนต่อมา

3.ควรหาเหตุผลมาสนับสนุนข้อกล่าวหาโดยตอบโต้ฝ่ายตรงกันข้ามก่อนอย่างน้อยสัก 2-3 ประเด็น แล้วจึงหาข้อเสนอหาเหตุผลมาสนับสนุนฝ่ายตนเอง

4.หักล้างแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เช่น ฝ่ายตรงกันข้ามร้องเพลงมา ฝ่ายเราก็ต้องร้องเพลงแก้ ฝ่ายตรงกันข้ามยกกลอนมา เราก็ต้องยกกลอนแก้ ฝ่ายตรงกันข้ามยกคำคมมา ฝ่ายเราก็ต้องยกคำคมแก้ เป็นต้น

5.หักล้างแบบทำลายน้ำหนัก หากว่าฝ่ายตรงกันข้ามยกหนังสือมาอ้างอิง เราก็หักล้างว่า หนังสือนั้นไม่มีคุณภาพ ไม่ควรยึดถือหรือไม่ควรนำมาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง อีกทั้งควรนำเสนอข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้ในการตอบโต้ เช่น ยกพจนานุกรม , ยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ,ยกสารานุกรมไทย,ยกเอนไซโคลพีเดียเป็นต้น

การค้าน

1.ผู้โต้วาทีควรหาเหตุผล หาหลักฐานที่เหนือกว่าคู่แข่งมาใช้ประกอบการโต้วาที เช่น ฝ่ายตรงกันข้ามอ้างปทานุกรม เราต้องอ้างพจนานุกรม ฝ่ายตรงกันข้ามอ้างพจนานุกรม เราต้องอ้างไซโคลปิเดีย

2.ผู้โต้วาทีต้องค้านให้ตก คือ ผู้โต้วาทีต้องพยายามค้านให้ได้ทุกประเด็น ต้องยืนยัน นั่งยืน นอนยืน ว่าฝ่ายเราถูกต้อง ไม่ควรใช้คำพูดในลักษณะ ว่า “ผมเห็นด้วย แต่...”

3.ผู้โต้วาทีควรต้องรู้จักค้านดักหน้า กล่าวคือ ผู้โต้วาทีไม่ต้องรอเขานำเสนอก่อนแล้วจึงค้าน แต่เราต้องค้านดักคอล่วงหน้า เพื่อทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบหรือทำให้อีกฝ่ายต้องแก้เกมส์อย่างกะทันหัน

หมายเลขบันทึก: 571374เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2014 21:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2014 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท