อาชีพเสริม “ร้อยลูกปัดมโนราห์”ขาย ประยุกต์เป็นตุ๊กตา-หนังตะลุงต้องตาต้องใจเป็นของขวัญของฝาก


กิตติยาณีย์/ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

อาชีพเสริม “ร้อยลูกปัดมโนราห์”ขาย

ประยุกต์เป็นตุ๊กตา-หนังตะลุงต้องตาต้องใจเป็นของขวัญของฝาก

ในงานโอท้อปจังหวัดสงขลาซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ระหว่างวันที่ 20-29 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา มีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย เดินตระล่อนชมบูสต่างๆ แล้วก็มีสะดุดที่ตุ๊กตามโนรา ที่ถูกจัดวางไว้เป็นของขวัญของฝาก เห็นชื่อกลุ่ม “กลุ่มต๊กตามโนราห์พรทิวาบ้านนาลิง” ก็ยิ่งสนใจ

แนะนำตัวแล้วก็ไม่พรากที่จะสัมภาษณ์เรื่องราวของกลุ่มมโนราห์พรทิวามาให้ได้อ่านกัน ประธานกลุ่มชื่อคุณ พรสุข แก้วปฎิมา เป็นประธานกลุ่ม คุยกันไปก็รู้ว่าเธอคือทายาทมโนราห์ คลื้น ณ ชาตรี กลุ่มตั้งอยู่ที่ 23/ หมูที่ 7 บ้านนาลิง ตำบลควนโส อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา

คุณพรสุขเล่าว่า การรวมกลุ่มขึ้นมาเริ่มต้นจาก

เริ่มแรกมาจากตัวเองที่เป็นสายเลือดมโนรา รุ่นที่ 6 ของตระกูล ณ ชาตรี มโนราห์ คลื้น ณ ชาตรี แล้วก็หยุดรำไปประมาณ 20 ปีในช่วงที่แต่งงานไปมีครอบครัว ในขณะเดียวกันภูมิปัญญาเกี่ยวกับมโนราห์เองก็ค่อนข้างจะตกต่ำ เพราะคนเริ่มจะไม่นิยม ตัวเราก็หันไปทำสวน ทำไร่ ปี 2553 พายุเข้าอำเภอสิงหนคร เข้าทางอำเภอควนเนียง สวนยางที่สร้างมาทั้งชีวิต โค่นล้มหมด ที่นี้ก็ว่างงาน

เราเองก่อนหน้านั้นก็เลี้ยงหมู ที่นี้ขาดทุนมีหนี้สินเยอะ ก็หวังว่ากรีดยางพาราแล้นำมาชดใช้หนี้สินอะไรลักษณะนี้ ปรากฏว่า พายุถล่มจนหมดหวัง แค่ชั่วโมงเดียวทุกอย่างก็หมด

ตัวเราเองก็เครียดหนัก ตัวแฟนก็เครียดเขาก็หาทางออกโดยมุ่งไปกินเหล้า กลายเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ครอบครัวก็พาแกไปรักษา พอรักษาไปรักษามา หมอก็บอกว่าคุณเป็นซึมเศร้านะ หมายถึงตัวเรา หมอก็บอกว่าถ้าคุณกำลังเดินหรือคุณกำลังวิ่งตามอะไรอยู่ คุณหยุดก่อน แล้วหันมามองรอบตัวว่าที่ผ่านเราเดินอย่างไร และจะเดินต่ออย่างไร ก็มานั่งนึกว่า เออจริง เพราะเรามัวแต่มองเรื่องรายได้ คือตั้งเป้าสูง มันก็เครียดไปหมดทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่เราสามารถให้เป๊ะๆเหมือนใจคือ เหมือนที่เราวางได้

คุณพรสุข บอกว่าก็เริ่มหันมาดูแลตนเอง จากที่เคยหมกหมุ่น ว่าทำไมเราต้องเป็นอย่างนี้ ทำไมต้องโดนอย่างนั้น ก็มีแต่คำถาม ก็กลับมองในสิ่งที่เราเป็น

มานั่งคิดว่าสมัยเด็กๆ คุณตาสอนให้ร้อยลูกปัด เพราะเราเป็นตระกูลมโนราห์ โดยสายเลือดเขาจะสอนให้ร้อยลูกปัด ครอบครัวเป็นคณะและยิ่งเราเป็นหัวหน้าคณะมีลูกน้องก็ต้องดูแลเรื่องเครื่องแต่งกาย ต้องจัดหาเอาไว้ประจำคณะ คุณตาสอนร้อยลูกปัด ตอนเด็กๆ ก็เริ่มจากระย้าก่อน ง่ายๆ แต่ด้วยความเป็นเด็ก ก็มีบังคับบ้างล่อขนมบ้าง เราเบื่อ เซ้ง ตามประสาเด็กก็มาคิดว่าทำไมเราต้องมานั่งทำแบบนี้ ในขณะที่คนอื่นเขาเล่นกัน

คุณพรสุข บอกว่า แต่เมื่อมาถึงช่วงหนึ่งเกิดวิกฤติชีวิต มันก็สามารถนำเอามาใช้ได้ ปี 2553 ก็กลับมาทบทวนและเริ่มทำ มานั่งฆ่าเวลา เวลาเรามานั่งเครียด นั่งหมกหมุ่น ก็เอาลูกปัดมานั่งร้อย คิดออกแบบลายโน้น ลายนี้ สีอันนั้นผสมอันนี้จะสวยใหม จนกระทั่งมาเป็นตุ๊กตามโนรา ตอนแรกก็เอาไปฝากเพื่อน เอาไปฝากคุณหมอที่โรงพยาบาลมอ. เพราะท่านรักษาเราอยู่ เป็นพวงกุญแจ ก็เริ่มทำหลายๆ แบบ ลูกสาวเห็นว่าเราตั้งใจ ก็เข้ามาช่วย เขาก็รำมโนราต่อจากแม่ มาช่วยร้อยลูกปัด ทำทุกอย่างีรวมทั้งดูแลแม่

คุณพรสุข เล่าต่อว่า มีลูก 2 คน คนโตเป็นผู้ชายแต่ก็มีปัญหา คนเล็กก็เป็นลูกสาว ก็กลายเป็น 2 เด้ง คือพ่อพิษสุรา ลูกชายก็ติดยา ลูกสาว ชื่อน้องรุ้ง เขาก็เข้ามาช่วย พาแม่ไปหาหมอ เข้ามาช่วยงานเริ่มจากที่ไปโอท็อปที่เมืองทอง ไปแข่งขันเยาวชนจากจังหวัดสงขลาก็ไปแข่งขันร้อยลูกปัด เมื่อเดือนที่ผ่านมา พฤษภาคม 2557 เขาก็ไปแข่งขันแล้วก็ได้รับคัดเลือก

คุณพรสุขย้อนกลับไปเล่าเหตุการณ์ปี 2553 ว่าตอนนั้นมีคนมาขอเรียน พี่ค่ะหนูขอทำบ้างได้ไหม เราก็สอนให้เขา ทางโรงเรียนในพื้นที่ก็มาขอให้ไปช่วยสาธิต ไปสอนให้เด็กเช่นโรงเรียนบ้านปากจ่าวิทยา โรงเรียนควนเนียงวิทยา เด็กๆ แถวบ้านมาเรียน คนไหนที่ฝีมือดี มองแล้วผ่านเราก็มอบงานให้เขาไปทำที่บ้าน

ตั้งแต่ปี 2553 ก็ทำมาเรื่อยๆ ตลาดของเราก็คือหน่วยงานราชการด้วยการออกบูส อย่างพวงกุญแจขายอันละ 99 บาท แต่ปัจจุบันตลลาดเริ่มมีสินค้ากลุ่มนี้ออกมาเยอะขึ้น เราก็ต้องพัฒนาปรับประยุกต์ มีการใช้คริสตัลผสมผสานในชิ้นงาน

พี่พรสุข กล่าวถึงอีกองค์กรหนึ่งที่ช่วยดูแลมาตลอดคือ มูลนิธิเพื่อนหญิง “ตอนนั้นเรารักษาอยู่ เขาก็คัดเลือก จากผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนโรคซึมเศร้า ก็ได้ไปอบรมกับสสส. เรื่องการดูแลตนเอง ก็เอาชุดมโนราห์ไปให้อาจารย์เขาดู อาจารย์ก็ซื้อตั๋วเครื่องบินให้ ไปสนามบินเชียงใหม่ ก็ได้เห็นตุ๊กตาชาวเขา ก็ได้ไอเดียเอามาประยุกต์จากที่เรามี ก็มาตั้งคำถามว่าทำไมของเขาขายได้ บ้านเรามโนราเองก็เป็นเอกลักษณ์

จริงๆ แล้วกลุ่ม เริ่มต้นทำจริงจังเมื่อปี 2556 มานี่เอง ก่อนหน้านั้นเป็นการจับๆ วางๆ โดยมีมูลนิธิเพื่อนหญิงรับไปวางขายให้ และก็เป็นคล้ายๆ ของฝากให้กับวิทยากร แล้วก็มีอบต. มีอำเภอในพื้นที่ พัฒนาชุมชน เลือกเป็นของฝากให้กับวิทยากร หรือคนที่มาดูงาน ตอนนี้กลุ่มก็มีคนทำจริงๆ จังๆ อยู่ 7 คน มีรายได้ต่อคนประมาณ 10,000 บาท แต่หากเป็นช่วงเทศกาล หรือมีการออกบูสก็ได้มากกว่า

คุณพรสุข บอกว่าสำหรับคนที่อยากเรียนรู้การร้อยลูกปัด ก็มีสอนให้ หากไปเรียนที่บ้านก็จะไม่มีค่าใช้จ่าย หากฝีมือดีก็มาร่วมกัน

นอกจากร้อยลูกปัดแล้วเราก็มีแกะรูปหนังตะลุงด้วย จุดเริ่มต้นมาจากลูกสาวไปอบรมทายาทโอท็อป กับพัฒนาชชุมชน เขาชอบเห็นการแกะหนังของกลุ่มอื่น เขาก็มีคำถามว่าแม่ทำไมมีแต่คนแก่ทำ ทำไมไม่มีวัยรุ่นทำ มันยากหรืออย่างไร อันนี้เป็นฝีมือของเขา การแกะหนังมีแค่ 2 คนที่ทำได้

ก็ภาคภูมิใจที่วันนี้เด็กๆให้ความสนใจในสิ่งที่บรรพบุรุษส่งต่อมาให้ มันจะได้ไม่สูญหาย และสำหรับใครที่มีใจรักอยากจะทำอาชีพร้อยลูกปัดมโนราห์ขายก็ลองติดต่อคุณพรสุข 087-6301311 หากไปเรียนที่บ้านไม่คิดเงินค่าสอนและหากฝีมือดีใช้ได้ทางกลุ่มก็มีออเดอร์ให้ไปทำต่อ น่าสนใจที่เดียว

หมายเลขบันทึก: 570955เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2014 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2014 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีนะคะ  ได้ทำงาน  ได้เงิน  ได้ความสุขอีกนะคะ  

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท