ท้อได้แต่อย่าถอย


อยู่กับผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีมาหลายปี ตั้งแต่สมัยที่ รพ.ต้องทำเตาเผาศพเอง มาจนถึงยุคปัจจุบันที่เขาพยายามให้คนทั่วๆไปเข้าใจว่าเอดส์ หรือ การติดเชื้อเอชไอวีเป็นโรคเรื้อรังอย่างหนึ่งเหมือนโรคเบาหวานที่กินยาต่อเนื่อง ควบคุมพฤติกรรมเสี่ยง ก็จะมีสุขภาพที่แข็งแรงและอยู่ได้ยืนยาว ก็เพราะว่า การมีชีวิตยืนยาวขึ้นนี่เองเลยอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เจอมิติของปัญหาในการดูแลผู้ป่วยด้านจิตใจ สังคมเพิ่มและซับซ้อนมากขึ้นกว่าสมัยก่อน..สมัยก่อนเด็กที่ติดจากมารดาจะรอดและแข็งแรงพอที่จะเรียนต่อไปแค่ไหนก็ไม่รู้ แต่ตอนนี้เด็กเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว อายุเท่าที่รู้จัก คือ ๒๔ ปี ได้เรียนหนังสือและมีครอบครัวไปแล้ว 

ช่วงปี-๒ปีที่ผ่านมาเจอเคสเด็กวัยรุ่นที่ติดเชื้อจากความเสี่ยงส่วนตนเองไม่ใช่จากแม่สู่ลูกมาติดต่อขอรับบริการเพิ่มมากขึ้น..และในส่วนของคนที่เคยรู้ผลตรวจแต่ไม่เคยมารับการรักษาต่อใดๆเลย ที่เราชอบเรียกว่า Delayed เริ่มเจอบ่อยมากขึ้นทั้งที่เป็นไทยและต่างด้าว น่าดีใจหรือเสียใจดีที่พบว่าในกลุ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่ๆจากการใช้ยาเสพติดแบบฉีด(เฮโรอิน)มีจำนวนไม่มาก แต่พบปัญหาด้านพฤติกรรมในผู้ติดเชื้อรายทั้งผู้หญิงและผู้ชายสูบบุหรี่และเคยใช้ยาเสพติดผิดกฏหมายอื่น รวมถึงแอลกอฮอล์ยังคงสูงอยู่ การพยายามปรับเปลี่ยนและสร้างพฤติกรรมในการรักษาสุขภาพที่นอกเหนือจากการรณรงค์เรื่องการใช้ถุงยางจึงยังคงท้าทายและทำงานกันต่อไป

ในเดือนนี้ เจอเคสมาใหม่ที่เป็นพวก Delayed แต่ต่างสถานะและรูปลักษณ์มาขอรับบริการ เคสที่ขอเล่าก่อนชื่อ ป้าเครือเป็นหญิงสูงวัย อายุ64 ปีญาตินำส่ง ป้าไม่มีลูก มีแต่หลานลูกพี่สาวที่ช่วยพึ่งพาอาศัยอยู่ตอนนี้ เพื่อนบ้านแถวต่างจังหวัดเห็นป้านอนป่วยติดเตียงนานนับเดือนโดยมีลุงสามีวัยจะ80ปีที่ป้าอยู่ด้วยล่าสุด คอยขอข้าวปลาอาหารมาประทังชีวิต ลุงเองก็ไม่มีลูกแต่พอจะมีพี่น้องอยู่แถวๆนั้นคอยจุนเจือได้บ้าง แต่ญาติเองก็ไม่สามารถดูคนแก่และเจ็บหนักๆสองคนได้พร้อมกัน การตามหาญาติฝ่ายใครฝ่ายมันแล้วแยกกันดูแลจึงเกิดขึ้น หลานชายของป้า อายุ60ปีมีครอบครัวแล้วลูกๆโตพอให้พึ่งพาได้แล้ว แรกๆ กลัวกล้าๆที่จะรับผิดชอบดูแลป้า เพราะนานกว่าสามสิบปีที่ป้าขาดการติดต่อไป จึงเหมือนคนรู้จักแต่ไม่คุ้นเคยผูกพัน ญาติที่ต่างหวัดก็ไม่ได้บอกอะไรมากแต่แนะนำให้มาหาหมอเพราะป้าติดเชื้อที่ปอด กินยาวัณโรคหยุดๆขาดๆมาแล้วครั้งนึงแล้วมีอาการแพ้ยาจนผิวคล้ำมองเห็นแต่ตาขาว เมื่อมารับการตรวจรักษาใน รพ.ก็เลยได้รับทราบว่า ป้าติดเชื้อเอชไอวี หลังรู้ผลป้าเพิ่มอาการอาเจียนมาอีกอาการแล้วก็มีอาการเกร็งคอ พูดจาสับสน หมอเจาะหลังให้และส่องกล้องก็ไม่พบอะไรผิดปกติ สงสัยว่าคงมาจากสภาพจิตใจมากกว่าร่างกาย จึงส่งต่อให้มาช่วยทำการประเมินและทำงานร่วมกันกับพยาบาลประจำตึกเื่พื่อทุเลาอาการอาเจียนและปวดคอโดยไม่ทราบสาเหตุของป้า แรกๆป้าจะบ่นโน่นนี่ ความสนใจไม่ปะติดปะต่อ ไม่ค่อยร่วมมือเท่าไหร่ ไม่ค่อยสนใจดูแลตัวเอง ผ้าผ่อนหลุดลุ่ย เราสังเกตว่าญาติผู้ดูแลก็จะนิ่งๆมีดุบ้างเล็กน้อยเมื่อเห็นป้าเร่งให้หาถุงมารออ้วก  แม้จะบ่นแต่ท่าทีก็ยังห่วงใย ไม่รู้ว่าญาติรับทราบผลตรวจของผู้ป่วยแล้วจะคิดอย่างไรบ้าง เราเข้าไปแนะนำและช่วยญาติในการตั้งรับสภาวะตั้งท่าจะอ้วกของป้า และลดการอ้วกซ้ำ ด้วยการกลั้วปาก และให้คำอธิบายแก่ผู้ป่วยและญาติว่าหมอจัดยาลดอาเจียนให้ป้าแล้ว ช่วยกระตุ้นเรื่องการกินน้ำ และ สำรวจพฤติกรรมระหว่างทานอาหาร ป้าเคยมีอาชีพเป็นคนหาปลา เลยบ่นไม่ชอบกินหมูไก่ ชอบกินแกงเผ็ดแต่ก็แสบลิ้นกินไม่ได้มากดังใจ ป้ากินได้หก เจ็ดคำก็บอกอิ่ม แล้วร้องหาถุงอ้วก เราแกล้งชวนคุยประวิงเวลาก็สามารถทำได้และไม่มีเม็ดข้าวอาเจียนออกมาเลยมีแต่น้ำ หลังปล่อยให้ทำท่าโอ้กอ้ากจนพอใจแล้ว เราก็ช่วยเคาะหลังและหยิบแก้วน้ำมาให้กลั้วคอ บอกว่าจะช่วยลดกลิ่นคาว แล้วค่อยตะล่อมให้ป้ากินยาหลังอาหาร  ชมที่ป้าตั้งใจกินยาและกินน้ำเก่ง สอบถามว่าค่อยยังชั่วหรือยัง ยังอากอาเจียนอีกหรือป่าว ป้าก็มองเรานิ่งๆแต่ก็พึมพำเบาๆว่าดีขึ้นแล้ว หลานชายป้ามองถุงอ้วกแล้วก็พูดแบบใ้ห้กำลังใจว่า วันนี้อ้วกน้อยลงดีจังเลย เราก็เลยช่วยเสริมให้ทั้งป้าและหลานชายเข้าใจว่า การอาเจียนของผู้ป่วยไม่ไ้ด้มาจากสมองอักเสบหรือติดเชื้อ และลำไส้-หลอดอาหารข้างในก็ปกติไม่มีแผลหรืออะไร ดังนั้น ที่ป้ายังอาเจียนอยู่น่าจะมีเหตอื่นๆ ซึ่งเราเลยอยากมาขอข้อมูลและคุยด้วย เราถามถึงปัญหาปัจจุบันที่นอกเหนือจากเรื่องอ้วกแล้วป้าเจ็บปวดตรงไหนอีกบ้าง ป้าก็ให้ความร่วมมือดีขึ้น ป้าบอกว่านอนคุยได้ไหม เวียนหัวเราก็บอกว่า ขอให้ลองนั่งยืดลำไส้สักห้านาทีได้ไหม ป้าจะได้ท้องไม่อืดไง ตั้งเตียงสูงให้เพื่อจะได้พิง ญาติบอกว่าวันนี้ป้าอารมณ์ดีจัง ปกติเขาจะรู้สึกแต่ว่าทำอะไรให้ก็ไม่ถูกใจ จนบางทีหงุดหงิดกันทั้งคู่ เราก็เลยสอบถามว่าอะไรที่ทำให้เขารู้สึกแบบนั้นล่ะ ญาติก็บอกว่า อย่างเรื่องอ้วกนี่ เขาเชื่อว่าป้าอ้วกเพราะเครียดแต่ป้าก็จะเถียงว่าไม่เครียดแต่มันเป็นเอง แล้วพอคิดว่าจะอ้วกก็เร่งๆให้เขาหาถุงมารอไว้ เขารู้สึกทั้งสงสารและหงุดหงิด  เราก็เลยถามป้าว่าได้ยินญาติพูดแล้วคิดว่ายังไงบ้าง ป้าก็ตอบว่า เขาก็ดูแลดีแต่มันชอบเร่งเราเกินไป เลยถามต่อว่า เขาเร่งอะไรป้าบ้างล่ะ อย่างกินจะให้กินคำโตๆกินเนื้อหมูเนื้อไก่ให้มากๆแต่ฉันเหม็นและไม่ชอบอ่ะ กินเสร็จแล้วก็ต้องรีบกินยาเม็ดมันก็เยอะ แถมเวียนหัวด้วยแต่มันก็ไม่ยอมให้นอน ญาติก็ยิ้มบอกว่าไม่เป็นไร ต่อไปจะไม่เร่งแล้ว แต่อยากให้ป้าแข็งแรงจะได้ออกจาก รพ.ไปไหว้พระตามที่ตั้งใจ ป้าก็มีสีหน้าดีขึ้น เสร็จจากครั้งแรก ก็มารอบสอง ที่ได้คุยตามลำพังกับญาติ ทำให้รู้ว่าญาติเพิ่งรู้ผลการติดเชื้อของป้า แต่เขาก็ยอมรับได้และคงดูแลแกต่อไป จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ ป้าเครือเป็นเหมือนตัวแทนของแม่ที่ได้ตายจากไปนานแล้วเขาจึงอยากดูแลเพื่อทดแทนบุณคุณให้พ่อและแม่ และเขาก็ได้ปรึกษากับเมียและลูกเรียบร้อยแล้ว เราก็ให้การชื่นชมในความมีน้ำใจและเป็นคนดีของตัวเขา แวะเวียนมากระตุ้นและประเมินป้าก็เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ป้าดูมีชีวิตชีวามากขึ้น ความจำต่างๆเริ่มค่อยกลับมาเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ป้าแอบกระซิบบอกตอนหลานไม่อยู่เฝ้าว่า ป้าสงสัยตัวเองมานานแล้วว่าติดเอดส์เพราะป้าเคยเจ้าชู้และมีแฟนหลายคนก่อนมาอยู่กับลุงคนปัจจุบัน แต่ไม่กล้ามาเจอหมอกลัวถูกคนเขารังเกียจ จนมีคนส่งให้มาอยู่กับหลานชาย ซึ่งไม่เจอกันนานหลายสิบปีเลย แต่เขาก็ดีนะ ดีมากเลยที่ช่วยเหลือเรา มาเยี่ยมกันหมดทั้งผัวเมีย ปลอบเราไม่ต้องคิดมาก ยังไงก็ไม่ทิ้ง เราก็เลยมีกำลังใจ ป้ายอมรับว่าเมื่อก่อนคิดอยากจะอดอาหารให้ตายไปเลย คนอื่นๆจะได้ไม่ต้องลำบากแต่มันก็ไม่ตาย แล้วป้าก็ห่วงลุง เราก็เลยรับปากว่าจะช่วยกันกับหลานชายส่งต่อความห่วงของป้าและช่วยเหลือแนะนำให้แก่ญาติที่ตอนนี้ดูแลลุงอยู่ ตอนนี้ป้าเครือเริ่มลุกนั่งได้และไม่ค่อยอาเจียนแล้ว

เคสที่๒ เป็นหญิงสาววัยผู้ใหญ่ มี สามีต่างชาติ ทำงานดี มีรายได้ดี เคยมีครอบครัวมาก่อนและมีลูกอายุสิบขวบหนึ่งคนที่ผู้ป่วยรักมากและลูกก็เป็นเด็กฉลาดมาก ผู้ป่วยมาขอปรึกษา ดูจากภายนอกจะไม่มีคนรู้เลยว่าผู้ป่วยมีผลติดเชื้อ ผู้ป่วยมีประวัติรักษาภาวะซึมเศร้าอยู่ก่อนหน้าที่จะทราบผลตรวจเลือด เมื่อรู้ผลผู้ป่วยก็หมกมุ่นครุ่นคิดแต่อยากจะฆ่าตัวตาย และคิดทำบ่อยขึ้นเมื่อชัดเจนว่าสามีผลปกติ ตลอดระยะเวลา สองปีผู้ป่วยรู้สึกรังเกียจตัวเอง เสื่อมประสิทธิภาพในการงาน แยกตัวเอง คอยเฝ้าดูแต่ว่ามีแผลหรือรอยโรคเกิดขึ้นแล้วหรือยัง แม้หน้าที่ที่เคยไปรับส่งลูกก็ไม่กล้าทำ ครั้งล่าสุดผู้ป่วยตัดสินใจกินยาเกินขนาด ลูกผิดสังเกตและมาพบ เด็กใช้โทรศัพท์ติดต่อพ่อและคนรู้จักมาช่วย ช่วงสะลึมสะลือผู้ป่วยเห็นและได้ยินเสียงร้องไห้ทั้งของสามีและลูกว่าอย่าทอดทิ้งพวกเขาไป เธอรู้สึกละอายใจที่ลืมนึกถึงพวกเขาและคิดที่จะลองสู้กับสิ่งกลัวที่สุดที่หลอนตัวเธอในทุกวันตลอดสองปีที่ผ่านมา คือ การยอมมารับการรักษาผลการติดเชื้อนี้ เธอเล่าอย่างอยากให้ขำว่า ขับรถออกจากบ้านตั้งแต่ตีห้า แม้มาถึง รพ.แล้วก็ไม่กล้าลงจากรถ นั่งนิ่งอยู่ในรถเพื่อรวบรวมสติและความกล้าเฮือกสุดท้ายเกือบสามชั่วโมง จนลูกโทรศัพท์มาถามหาว่าเย็นนี้แม่อยากกินอะไร เธอจึงตัดใจและเข้ามาหาเรา เธออยากมาขอรับการรักษา อยากมีชีวิตอยู่ต่อกับลูกและสามีอีกนานๆ แต่เธอก็กลัวว่าจะทำไม่ได้ เราถามว่าอะไรคืออุปสรรคที่สำคัญในความคิดเห็นของเธอ เธอบอกว่า ความเกลียดชังตัวเอง เราถามว่ามันมีที่มาไหมแล้วจะแก้ได้อย่างไร เธอบอกว่า หนูต้องคิดถึงลูกและสามีให้มากๆ เพราะเขารักหนูมากจนไม่เคยรังเกลียดที่หนูติดเอดส์ มีแต่หนูเองนี่แหละที่แยกตัวเอง ไม่กล้ายอมรับความจริง..แล้วก็นิ่งเงียบไปพักใหญ่  เราจึงพูดว่าตอนนี้คุณรู้แล้วว่าการติดเชื้อไม่ไ้ด้ทำลายสายสัมพันธ์และความรักที่ลูกและสามีมีต่อคุณ และคุณเองก็รักเขามากเช่นกันใช่ไหม เธอก็พยักหน้าพร้อมกับน้ำตาที่ค่อยไหลรินมาเรื่อยๆ หนูรักลูกมากเลย หนูเสียใจที่ทำให้ลูกและสามีต้องร้องไห้ เราถามต่อว่า แล้วคุณจะทำอย่างไรเพื่อชดเชยให้กับพวกเขาดีล่ะ เธอตอบว่า หนูเลยมาที่ รพ. ตั้งใจที่จะดูแลตัวเองใหม่ให้ดีขึ้น ตั้งสติอยู่กับปัจจุบันที่มีสามีและลูกที่ดีมาก เราชื่นชมกับการหักมุมคิดได้ของเธอ และให้เธอได้ลองค้นหาพลังด้านบวกของเธอเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งเธอก็สามารถทำและคิดตามได้ สีหน้าของเธอดูมีความมุ่งมั่นมากขึ้น เรามีการแลกเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์หากมีเหตุฉุกเฉินที่ต้องการขอคำแนะนำหรือช่วยเหลือ แนะนำสถานที่และร่วมอยู่เป็นเพื่อนสักครู่หนึ่งก่อนรอตรวจจากแพทย์ น้ำเสียงตอนที่ก่อนจะกลับสามีของเธอโทรมาสอบถามว่าตอนนี้เธออยู่ที่ไหนและเป็นยังไง เธอตอบกลับสามีอย่างกระชับและชัดเจนเป็นภาษาอังกฤษ พอแปลเป็นไทยได้ว่า มาหาหมออยู่ที่รพ. ฉันจะตั้งใจรักษาตัวเองให้ดี ไม่ต้องเป็นห่วงนะ ฉันรู้สึกสบายดี..เย็นนี้เราจะไปกิน(สเต๊ก)นอกบ้านกันนะ แล้วเจอกันนะ..อีกสองสามวันเธอติดต่อกลับโทรมารายงานด้วยน้ำเสียงแจ่มใสว่า ไม่มีอาการข้างเคียงจากการกินยาและกำลังเริ่มต้นติดต่อจิตแพทย์เพื่อรักษาภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย เธอรู้สึกขอบคุณที่เราตั้งใจรับฟังและอยู่ช่วยเหลือเธอในภาวะคับขันเมื่อสองสามวันก่อนนั้น ตอนนี้เธอได้ข้อคิดว่า คนเราท้อได้แต่อย่าถอยหลังหลบหนีปัญหา เพราะชีวิตของคนเรามันต้องการให้ตัวเราต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อที่จะอยู่รอดต่อไปได้ ตอนนี้เธอมั่นใจว่าจะรับมือสู้กับโรคร้ายที่เธอเคยมีอคติกับมันได้อย่างไร ที่ยุติธรรมกับคนที่เธอรักและรักเธอได้แล้ว เราก็กล่าวชื่นชมและให้กำลังใจขอให้เธอรักษาพลังใจและความกล้าหาญเช่นนี้ไว้

หมายเลขบันทึก: 570656เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2014 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2014 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีใจที่ได้พบเจอในงานมหกรรมวิจัยฯครับ แวะมาอ่านบันทึกที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านและผู้มีประสบการณ์สร้างพลังชีวิตครับ ขอบพระคุณมากครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท