ทำไม?? ..... ใจหนึ่งบอก "อยาก" , อีกใจบอก "อย่า"


การที่เราเกิดเป็นคนก็เพราะกุศลที่เคยสร้างมากพอที่จะหนุนให้เกิดมามีกายใจอย่างสัตว์ที่ได้ชื่อเรียกว่า คน มนุษย์  แต่ขณะเดียวกันก็เพราะเรายังมีสิ่งที่ต้องขัดเกลาอยู่ด้วย เราจึงทำในสิ่งที่ควรทำบ้าง ไม่ควรทำบ้าง ทำทั้งที่รู้บ้าง ทั้งที่ไม่รู้บ้าง

เคยไหม.......

ที่บางครั้ง

รู้ว่าบางอย่างไม่ควรคิด ไม่ควรพูด ไม่ควรทำ แต่ก็อดใจไม่ไหว

ยอมรับเรื่องที่ไม่สมควรคิดถึงนั้นให้ตั้งอยู่ในใจ

แล้วคิดปรุง พูด หรือทำลงบางอย่างลงไป

ทั้งๆที่รู้ว่าไม่สมควร

หรือ

อยากคิด อยากพูด อยากทำอะไร ก็ทำไปตามใจ

โดยลืมคิดว่ากำลังเบียดเบียนใคร...........หรือไม่

ที่คิด พูด ทำ อย่างนี้ก็เพราะ กิเลสเป็นเหตุยึด

ดีขึ้นมาหน่อย ก็คือ รู้ว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สมควรรับไว้ แล้วเกิดการต่อสู้กันระหว่างคุณธรรมกับความอยากในใจ โดยใจหนึ่งก็บอกตนว่าอย่าคิด อย่าพูด อย่าทำเพราะนั่นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง แต่อีกใจก็เรียกร้องให้ทำตามที่อยากจะทำนั้น

บางท่านหักหาญ ไม่ทำตามความต้องการอันเป็นตัณหา พอทำสำเร็จ กลับรู้สึกว่าตนเป็นทุกข์กับการที่ต้องฝึกตนให้พ้นจากความอยากนั้น บางท่านกว่าจะหักใจไม่คิด พูด ทำตามตัณหาได้ก็ต้องต่อสู้ด้วยการพิจารณาอยู่วุ่นวาย ครั้นละความคิดนั้นได้สักครั้งก็เกิดปีติเป็นอย่างยิ่งที่เอาชนะกิเลสได้

แต่ต่อมา ครั้นตาหูเป็นต้นของท่านเหล่านั้นได้เห็นได้ยินสิ่งที่เป็นเหตุของความอยาก ก็กลับร้อนรน อยากกลับไปยึดเรื่องเก่าที่เคยเป็นเหตุให้ร้อนรุ่มนั้นไว้เพื่อคิดปรุงต่อไปเพื่อพบกับความร้อนรนอย่างเดิมอีก

จึงทำให้เป็นเหมือนคนมีใจเป็นสอง ที่ใจหนึ่งก็อยากยึด อยากโยงเรื่องนั้นๆเข้ามาตั้งไว้ในใจแล้วปรุงแต่งต่อไปทั้งๆที่รู้ว่ายิ่งปรุงไปก็ยิ่งทุกข์ แต่อีกใจก็อยากละทิ้งเรื่องนั้นเสีย ไม่อยากเก็บมาคิดให้ทุกข์ใจอีกต่อไป

ที่เกิดอาการอย่างนี้ก็เพราะมีการฝึกตนมาบ้างแล้ว มีการคายกิเลสบ้างแล้ว มีการเห็นตรงสภาวะ มีดำริที่จะออกจากกาม แต่เพราะกิเลสที่ยังคงอยู่นั่นเองที่ทำให้อยากกลับไปยึดเรื่องที่ทำให้ทุกข์นั้นไว้อีก กิเลสเป็นเหตุอยากยึด จึงอยากจะรับสมุทัยนั้นไว้ต่อไป อยากจะทุกข์เพราะเรื่องนั้นต่อไป

เพราะในการดับตัณหาแต่ละครั้งนั้น มีผลเกิดขึ้นสองอย่าง คือ สุขเวทนาเพราะการดับของตัณหา และ ทุกขเวทนาเพราะต้องละสิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดตัณหาไป เมื่อต้องละสิ่งที่ให้ความเพลิดเพลินทั้งๆที่ใจยังอาวรณ์ ยังตัดไม่ขาด อีกทั้งจิตเองก็ดิ้นรนกระสับกระส่าย ไม่ค่อยยอมรับการอบรม แต่ดิ้นรนจะพอใจในสิ่งที่น่าพอใจ จึงกลายเป็นทุกขเวทนาอีกลักษณะหนึ่งขึ้นมา

เพียงแต่เรามักแยกเวทนาทั้งสองไม่ออก คือแยกออกจากกันไม่ได้ เหมารวมว่าเป็นทุกข์ไปอย่างเดียว จึงรู้สึกแต่ความทุกข์ที่เกิดจากการหักห้ามใจ ไม่รู้สึกถึงความสุข ความสงบ ที่เกิดจากความดับของตัณหาได้เป็นครั้งๆนั้น

หากเราไม่กำหนดรู้สภาวะ ไม่เพียรทำในสิ่งที่ควรทำ ใจก็อาจไหลตามกิเลส จนยากจะฉุดรั้ง กลับคืน หรือทำให้สมุทัยนั้นยากต่อการละขึ้นไปอีก

อยากให้พิจารณาเรื่องราวของหญิงสาวสองคนนี้ดูค่ะ

หญิงสาวคนหนึ่งคบหากับคนรักเก่าที่ปัจจุบันเขาแต่งงานแล้ว ต่อมา เธอระลึกได้ว่านั่นเป็นสิ่งที่ผิดจึงบอกเลิกรา เมื่อเธอบอกเลิกเขานั้น เธอไม่รู้ว่ามีทั้งความสุขจากการดับตัณหาเกิดขึ้น เช่นเดียวกับความทุกข์ที่เกิดจากการสูญเสียสิ่งที่เธอเคยได้ไป เช่น สายตาที่เปี่ยมด้วยความรักของเขาในยามที่มองเธอ คำพูดอ่อนหวานในยามที่เขาพูดด้วย ความใส่ใจที่เขาและเธอมีต่อกัน ความเพลิดเพลินในยามที่คิดถึงเขาและจินตนาการเกี่ยวกับความรักไปในแง่ต่างๆ ความสุขที่ได้ทำอะไรให้เขา ฯลฯ

เพราะสติไม่ว่องไวพอที่จะกำหนดจับได้ จึงไม่รู้ว่ามีทั้งทุกข์และสุขเกิดขึ้นแล้ว เธอจึงรู้แต่ความทุกข์ที่เกิดจากการที่ตัณหาถูกขัด ทุกข์จากการที่ต้องละสิ่งที่เคยให้ความเพลิดเพลินไป

แต่ต่อมา เธอกลับมีความเห็นผิด คิดว่าหากเธอเพียงมีเขาอยู่ในใจก็คงไม่เป็นไร กิเลสที่มีอยู่จึงเป็นเหตุให้ยึดเขาไว้ รักษาความรักความต้องการที่มีต่อเขาไว้แม้จะเพียงในใจต่อไป แต่เนื่องจากตัณหา เมื่อไม่ได้ก็ไขว่คว้า อีกทั้งตัณหาจะดับได้ก็จากการพิจารณาด้วยปัญญา และการเสพ ดังนั้นการมีเขาอยู่เพียงในใจจึงไม่พอเพราะตัณหาไม่ได้รับการสนองและไม่ถูกดับ เธอจึงถึงกับระเบิดร้องไห้กลางที่ทำงาน และวนเวียนกับการเริ่มต้นความรักใหม่กับเขาและการบอกเลิกมาแล้วถึงสี่ครั้ง

หญิงสาวอีกคนหนึ่งมีความรักให้กับชายทีมีครอบครัวแล้ว เธอรู้ว่าเป็นสิ่งที่ผิดเพราะนำทุกข์มาให้เธอเป็นอย่างมาก วันหนึ่งเธอเกิดเมตตาตนและผู้อื่นที่ต้องทนทุกข์ใจ จึงดำริที่ออกจากทุกข์ด้วยการเลิกรักเขา แม้เธอจะไม่รู้ถึงสุขที่เกิดจากการดับตัณหา รู้ถึงแต่ทุกข์เพราะตัณหาไม่ได้รับการสนอง รู้ถึงทุกข์จากการที่ต้องทนห้ามใจไม่ให้คิดถึงภาพหรือความรู้สึก ความคิดปรุงเก่าๆในอดีต แต่เธอก็ไม่ท้อ เพียรพิจารณาเพื่อดับความต้องการที่จะกลับไปคิดถึง ไปรักเขาอีก แม้กิเลสที่ยังคงมีอยู่จะเป็นเหตุให้อยากยึดเขาไว้ใหม่จะทำให้เธอสะดุ้งเวลาที่เห็นอะไรที่เชื่อมโยงถึงเขาและอยากจะคิดถึงเขาในแง่มุมเดิมๆ แต่เธอก็ไม่ยอมไหลตามกิเลส เพียรพิจารณาแง่มุมต่างๆของเหตุให้เกิดทุกข์ หยิบทั้งตัวเขา ความรักของทั้งสอง โทษของความรักที่ไม่สมควร ประสบการณ์ทุกข์ที่เคยได้รับ การยึดมั่น ฯลฯ ขึ้นมาพิจารณาเพื่อละ บรรเทา ทำให้ไม่มีความอีกต่อไป

เมื่อปฏิบัติบ่อยๆ เธอจึงรู้สึกถึงสุขในคราวที่ดับตัณหาได้ อีกทั้งความทุกข์ที่จรมาเป็นระยะก็ค่อยๆลดทอนความร้อนแรงลง จนในที่สุด เธอก็วางใจเป็นกลางกับเขาได้พร้อมๆกับที่ความทุกข์เกี่ยวกับความรักก็ดับ 

หญิงสาวสองคนนี้ต่างกันที่การทำกิจต่ออริยสัจจ์ เพราะอริยสัจจ์ ๔ นั้น หากเรารู้แต่ความหมาย ไม่ทำกิจหรือหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่ออริยสัจจ์ ทุกข์ก็ไม่อาจดับได้

ซึ่งหน้าที่ที่เราพึงปฏิบัติต่ออริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือ กำหนดรู้สภาวะที่เกิดแก่ใจตน (ปริญญา - กิจในทุกข์) ค้นหาสมุทัยแล้วละ ทำให้บรรเทา กระทั่งหมดสิ้นไป (ปหาน – กิจในสมุทัย) ทำให้แจ้งถึงผลของการละสมุทัย (สัจฉิกิริยา – กิจในนิโรธ) และอบรม ปฏิบัติ ตามวิธีการที่เกิดขึ้น ให้เจริญก้าวหน้า (ภาวนา – กิจในมรรค)

สัจฉิกิริยานั้นสัมพันธ์กับกิเลสเป็นเหตุอยากยึดและองค์มรรคทั้งแปด   เช่น มีความเห็นตรงตามสภาวะ (สัมมาทิฏฐิ) คือเห็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ (ดังเช่นหญิงคนที่สอง) ไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์เป็นสุข (ดังเช่นหญิงสาวคนแรก) มีดำริที่จะออกจากกาม ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น (สัมมาสังกัปปะ) เมื่อมีทั้งสองอย่างนี้แล้ว จึงมีอย่างอื่นๆตามมา คือ มีการใช้วาจา (สัมมาวาจา) แสดงกิริยา ท่าทีอย่างเหมาะสม (สัมมากัมมันตะ) มีความเพียรที่จะละเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ และเมื่อละในแต่ละครั้งได้แล้ว ก็มีความพยายามที่จะละหากพบเหตุเดิมๆอีก (สัมมาวายามะ) พยายามตั้งสติเพื่อคอยป้องกันไม่ให้กิเลสงอกงามหรือเพื่อคอยกำหนดจับกิเลสเดิมที่มีอยู่ขึ้นมาขูดเกลา (สัมมาสติ) เพื่อให้จิตตั้งมั่น พิจารณาสิ่งที่มากระทบเพื่อที่จะไม่หวั่นไหวตามอันนำไปสู่ทุกข์ได้ หากมีความเข้าใจกิจในอริยสัจจ์และเดินตามมรรคอย่างมั่นคง ก็จะเข้าใจว่าทำไมเราจึงทุกข์ใจเมื่อปฏิบัติตามมรรค มีความเพียรที่จะปฏิบัติต่ออย่างไม่ท้อถอย เพราะอันที่จริงเราไม่ได้ทุกข์เพราะการปฏิบัติ แต่ทุกข์เพราะอำนาจของตัณหาที่ไม่ได้รับการสนองต่างหาก

เพราะเหตุนั้น เพื่อให้สติว่องไวขึ้นมากพอที่จะกำหนดจับเวทนาต่างๆได้ เราจึงต้องปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ โดย “กระทำให้มาก”

ดังที่พระสารีบุตรอธิบายว่า  กำหนดรู้ผัสสะแล้วไม่ติดใจ  จน “มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่”

ในคำตรัสถึงการปฏิบัติต่อความสุขที่ว่า ไม่เอาทุกข์มาทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ ไม่ทิ้งสุขอันชอบธรรม แม้แต่สุขอันชอบธรรมก็ไม่มัวเมายอมสยบ เพียรเพื่อให้ได้สุขประณีตยิ่งขึ้น สุขที่ประณีตกว่าสุขใดๆ คือสุขที่เกิดจากความดับของกิเลส หากเราเพียรเพื่อให้ได้สุขชนิดนั้นมากยิ่งขึ้น สักวันก็จะได้ลิ้มรสสุขอย่างนั้นชั่วขณะหนึ่ง และหากเพียรต่อเนื่อง ขณะแห่งความสุขอันประณีตก็จะมาถึงเราบ่อยขึ้น และสติเราก็จะว่องไวขึ้นจนกำหนดจับกับสามารถรับรู้ได้ถึงความสงบสุขนั้น

หากมีการเมื่อเปรียบเทียบความสุขที่เกิดจากการละตัณหาได้ กับความร้อนรนที่เกิดจากการรับตัณหาไว้ เราก็ย่อมเลือกที่จะละมากกว่ารับ

ในขณะที่เรายังคลายการยึดในความเห็นว่าเป็นตนไม่ได้ ก็ควรทำตนให้เป็นตนที่รักษาดีแล้ว การทำตนให้เป็นตนที่รักษาดีแล้ว นอกจากจึงเป็นไปเพื่ออยู่สุขในปัจจุบัน เพื่อมีตนเป็นที่พึ่งในอนาคต

ยังเพื่อเป็นพื้นฐานของการคลายการยึดในความเห็นว่าเป็นตนอย่างค่อยเป็นค่อยไปอีกด้วยค่ะ

หมายเลขบันทึก: 570144เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2014 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2014 09:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นเช่นนั้นเองครับท่าน

ได้ความรู้ดีมากเลยครับ

เหมือนกับสิ่งที่ เกิดขึ้น ตั้ง อยู่แล้วดับไป

ชอบใจข้อความ

สุขที่ประณีตกว่าสุขใดๆ คือสุขที่เกิดจากความดับของกิเลส

พี่ณัฐรดาหายไปนานมากเลย สบายดีไหมครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท