SEEN มหาสารคาม _๐๕ : ประเมินโรงเรียนบรบือ (๑) ตัวอย่าง BP การทำวีดีทัศน์เสนอการขับเคลื่อนฯ


เช้าวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คณะกรรมการประเมินโรงเรียนสถานศึกษาพอเพียงต้นแบบ เพื่อคัดเลือกเพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ลงพื้นที่โรงเรียนบรบือ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม สามารถหาข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนอยู่ตามลิงค์นี้ และติดต่อสื่อสารผ่านเฟสบุ๊คกับโรงเรียนที่ โรงเรียนบรบือ

สิ่งที่ผมประทับใจที่สุดในการร่วมประเมินคราวนี้คือ วีดีทัศน์อธิบายกระบวนการขับเคลื่อนของโรงเรียนบรบือ แม้ว่าผมจะคงยังมี feedback เพื่อให้สามารถพัฒนาขึ้นกว่านี้ได้อีก อาจเป็นเพราะผมไม่เคยเห็นการนำเสนอหรือการอธิบาย "แนวคิด" และ "แนวทาง" ในการขับเคลื่อนของโรงเรียนใดดีเท่านี้มาก่อน ทดลองช่วยตอนที่ผมประทับใจได้ที่ลิงค์ด้านล่าง

บันทึกเสียงจากวีดีทัศน์นำเสนอวิธีการขับเคลื่อน ปศพพ. ของ ร.ร.บรบือ  

ขออนุญาตชื่นชมหรือวิพากษ์เป็นตอนๆ  ผมคิดว่าน่าจะเป็น BP ที่เป็นประโยชน์สำหรับโรงเรียนอื่นๆ นะครับ

วีดีทัศน์เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง พระราชดำรัสจากวารสารชัยพัฒนา ว่าด้วย "ความหมาย" "บทหนึ่ง" ของ "เศรษฐกิจพอเพียง"

เสียดายที่ วีดีทัศน์ ไม่ได้เชื่อมโยงพระราชดำรัสนี้กับการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ว่าเป็นเสมือนการตอกเสาเข็มที่มั่งคงให้กับประเทศชาติ  ซึ่งการตอกเสาเข็มด้านการศึกษา เทียบได้กับการตอกเสาเข็มที่ลึกระดับที่จะสร้างตึกกี่ชั้นๆ ก็ได้ เทียบได้กับการตกเสาเข็มลึก ๕๐ เมตรในกรุงเทพฯ ดังภาพด้านบน

วีดีทัศน์กล่าวถึง "ความหมาย" อีก "บทหนึ่ง" ของเศรษฐกิจพอเพียง ว่า

"... เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด รวมถึงการบริหารและพัฒนาประเทศที่ตั้งอยู่บนทางสายกลาง คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ..."

แล้วเชื่อมโยงสู่ปรัชญา วิสัยทัศน์ของโรงเรียน สะท้อนให้เห็นว่า โรงเรียนได้น้อมนำ "หลักคิด" สู่การปฏิบัติในโรงเรียน 

"...เศรษฐกิจพอเพียง จากปรัชญาสู่สถาบันการศึกษา วิสัยทัศน์โรงเรียนบรบือ โรงเรียนบรบือเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล บนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เคียงคู่คุณธรรม ก้าวล้ำเทคโนโลยี ภายในปีการศึกษา ๒๕๕๘..."

เมื่อนำ "หลักคิด" จึงเกิด "แนวคิด" ที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์และบริบท โดยกำหนด "หลักการ" ที่ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนฯ และการจัดการศึกษา ดังจะเห็นจากวีดีทัศน์ว่า

"...แนวคิดของโรงเรียนบรบือในการเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

  • ๑) การศึกษาในยุคโลกาภิวัฒน์ จะต้องเชื่อมโยง โลก ประเทศ และท้องถิ่นให้ได้ ที่สำคัญ การศึกษาจะต้องตอบสนองความต้องการในชุมชนมากขึ้น 
  • ๒) การศึกษากับการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องสร้างสังคมฐานการเรียนรู้ โดยจะต้องพัฒนา ๓ ด้านพร้อมกันคือ ความรู้ คุณธรรม และความเพียร จะทำให้สามารถปรับตัวได้ทั้งในระดับปัจเจก สังคม และประเทศ 
  • ๓) กรอบการพัฒนาที่เน้นคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยการศึกษาในกรอบของเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาที่เน้นคุณค่าของมนุษย์ให้เป็นรูปธรรม

ทั้ง ๓ ประเด็นจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อได้รับการเชื่อมโยงจากเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะสามารถทำให้การศึกษาสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืนในบริบทของกระแสโลกภิวัฒน์..."

"...แนวความคิดในการจัดการศึกษาของโรงเรียนบรบือ

  • ๑) การจัดการศึกษาควรเป็นไปตามบริบทของสังคมไทย 
  • ๒) การศึกษาไม่ใช่การค้า ครูต้องสอนให้เด็กเป็นคน ดังนั้น ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นการเตรียมพร้อมคน ให้มีความรู้คู่คุณธรรม มีเหตุผล รู้ประมาณ และมีภูมิคุ้มกัน
  • ๓) การจัดการศึกษาต้องเตรียมคนเข้าสู่ระบบตลาดแรงงานในกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 

..."

ต่อมาวีดีทัศน์ บอกวิธีการนำ "แนวคิด" และ "หลักการ" ที่เกิดจากการใช้ "หลัก ปศพพ." ไปใช้ในการบริหารจัดการ ดังจะเห็นจาก

"...โรงเรียนได้ดำเนินการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามนโยบายของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในการขับเคลื่อนสู่สถานศึกษา ภายใต้กลยุทธ์ปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกของความเป็นชาติไทย และวิถีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จุดเน้นที่ ๖ ส่งเสริมการจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยการขยายผลจากการเป็นสถานศึกษาพอเพียงในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ สถานศึกษาต้นแบบพอเพียง ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยเน้นการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล..."

 "...และได้ประกาศจุดเน้นคุณภาพ ให้เกิดคุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียง ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ โดยให้ความสำคัญและเชื่อมั่นว่า ถ้ากำหนดให้สถานศึกษาได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา ให้เป็นวิถีปฏิบัติของครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการบริหารจัดการสถานศึกษา การจัดทำหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จะทำให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียง..."

บอกวิธีการขับเคลื่อน ว่า

"...การออกแบบการเรียนรู้ โดยนำหลักคิด หลักปฏิบัติ ไปสู่นักเรียน ด้วย ๕ กระบวนการคือ

  • ๑) การเรียนรู้ด้วยหลักสูตรแบบบูรณาการ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ครอบคลุมครบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ และทบทวนการนำหลักความพอเพียงไปใช้ปฏบัติ
  • ๒) การเรียนรู้แบบโครงงาน ให้นักได้นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้เมื่อสิ้นภาคเรียน
  • ๓) การเรียนรู้ผ่านฐานกลุ่มสาระฯ ได้กำหนดฐานการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระฯ
  • ๔) ค่ายทักษะกระบวนการคิดด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง
  • ๕) การฝึกทักษะการคิดตามกลุ่มสาระฯ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามรูปแบบที่โรงเรียนตั้งขึ้นอิงกรอบการคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

...."

และ บอกเกี่ยวกับสื่อ/ฐาน/สิ่งแวดล้อมว่า มีอะไรบ้าง และวัตถุประสงค์คืออะไร ว่า

".... กิจกรรมศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบรบือ ได้แก่

  • ๑) กล้วยๆ  กล้วยมีประโยชน์มากมาย เป็นสารอาหารที่สำคัญ สืบสานวัฒนธรรมประเพณี 
  • ๒) ธนาคารโรงเรียน ส่งเสริมการออม
  • ๓) ธนาคารขยะ การใช้สิ่งของ การรีไซเคิล
  • ๔) ผ้าปะติดจากเศษวัสดุ ใช้ของเเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์
  • ๕) หนังสือเล่มเล็ก ส่งเสริมการรักการอ่าน
  • ๖) สวนเห็ด การประกอบอาชีพในชุมชน
  • ๗) ทูบีนัมเบอร์วัน  การรู้เหตุผล รู้ประมาณ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง
  • ๘) เกลือไอโอดีน วิทยาศาสตร์กับความพอเพียง
  • ๙) ตลาดนัดวิชาการ นำเสนอผลงานของนักเรียนที่ทำมาตลอดปีการศึกษา 

..."

และบอกถึงผลลัพธ์ที่เกิดกับนักเรียน ดังนี้ 

"...ส่งผลสู่การดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของผู้ เรียน ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการในสังกัดอย่างต่อเนื่อง..."

"...เกิดผลกับนัเรียน

  • นักเรียนสามารถ วิเคราะห์ สังเคราะห์ สรุปผลการเรียน และนำเสนอผลงานได้
  • ผล ที่ได้จากการจัดกิจกรรมการเรียน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ นักเรียนมีทักษะการคิดด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำไปบูรณาการได้กับทุกสิ่งทุกอย่างที่มากระทบกับนักเรียนทั้งทางตรง และทางอ้อม จนเกิดเป็นภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี สามารถอยู่ในสังคมปัจจุบันอย่างมีความสุข และคงรักษาไว้ในความเป็นไทย

..."

ข้อ Feedback เพื่อพัฒนา

ผมชื่นชมต่อหน้าที่ประชุมว่า วีดีทัศน์นี้ เป็นวีดีทัศน์ที่สามารถสื่อสาร "วิธีคิด" "กระบวนการ" ในการขับเคลื่อน ปศพพ. ในโรงเรียนได้ดีมาก ยังขาดอยู่เพียง ๒ มิติ ได้แก่ ๑) "ผลลัพธ์" ที่เกิดกับผู้เรียนทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ และวิธีประเมินผลความสำเร็จดังกล่าว และ ๒) มิติของความยั่งยืน ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกภูมิใจ เห็นคุณค่าของการขับเคลื่อนฯ

ความจริงผมถึงกับถามหาว่า ใครเป็นคนทำวีดีทัศน์? ผมเชื่อว่าคนที่คิดเรียบเรียงและจัดทำวีดีทัศน์ ท่านรู้ เข้าใจ และเข้าถึง "คุณค่า" และ "ความหมาย" ของ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา" สังเกตจากกำหนดเป้าหมายที่อยากให้เกิดกับนักเรีน

แต่มีข้อสังเกตว่า กิจกรรมและฐานการเรียนรู้ ไม่ได้สอดคล้องกับเป้าหมายที่เน้น "กระบวนการคิด ทำ และแก้ปัญหา" มากนัก เพราะดูเหมือนจะแยกส่วนพัฒนาระหว่าง "วิชาการ" และ "คุณธรรม" ตามเป็นจริงที่ได้สังเกต สองประการนี้ "ยากที่จะแยกจากกัน"

แนะนำให้อ่านระดับความเข้าใจเกี่ยวกับ ปศพพ.ด้านการศึกษา ที่ผมเคยเขียนไว้ที่นี่ ครับ

บันทึกหน้าจะมาว่ากันเรื่องผลประเมินโรงเรียนต่อครับ

 

หมายเลขบันทึก: 570081เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2014 12:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2014 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท