SEEN มหาสารคาม _๐๓ : ประเมินโรงเรียนนาดูนประชาสรรพ์


เช้าวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ผมมีโอกาส "ลงพื้นที่" โรงเรียนนาดูนประชาสรรพ์ หนึ่งใน ๒๑ โรงเรียนที่เป็นโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายของโครงการ LLEN ตั้งอยู่ที่ตัวอำเภอนาดูน จ.มหาสารคาม เมืองที่เป็นแก่นใจกลางแห่งพุทธมณฑลอีสาน ที่คนไทยทั่วทุกสารทิศจะเดินทางมากราบสักระบูชาพระธาตุนาดูน ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บุญของชาวมหาสารคาม ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓  ที่ผมได้มาที่โรงเรียนนี้ ในการทักทายกับคณะครู ผมบอกว่า ผมยังคงทำงาน LLEN อยู่อย่างต่อเนื่อง

มาครั้งนี้มีฐานะเป็นกรรมการตรวจเยี่ยมประเมินสถานศึกษาพอเพียงต้นแบบ ซึ่งรับสมัครใจเข้าร่วมมา ๗ แห่ง เพื่อคัดเลือกโรงเรียนที่พร้อมที่สุด ๓ แห่ง เป็นตัวแทนของ สพม.เขต ๒๖ ในการขับเคลื่อนเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภายในปีการศึกษา ๒๕๕๘ นี้

ในมุมมองของคนขับเคลื่อน ปศพพ.ฯ สิ่งที่เป็นจุดแข็งของโรงเรียนคือ กระบวนทัศน์ (paradigm) วิธีคิด (mind set) (หรือที่นักวิชาการเรียก mind model)  ของผู้อำนวยการโรงเรียน  ประโยคแรกๆ ที่ผมได้ยินท่านสนทนากับคณะกรรมการ ท่านปรารภว่า ปัจจุบันสังคมมีค่านิยมผิดๆ ว่า "หากมีผลงาน โกงบ้างก็ไม่เป็นไร" ท่านบอกว่า บุคลากรทางการศึกษาต้องช่วยกันแก้ไขให้ถูกต้องอย่างเร่งด่วน และปลูกฝังค่านิยมของความซื่อสัตย์ให้กับลูกหลาน  สะท้อนให้เห็นถึงความยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต และความมุ่งมั่นที่จะสร้างนักเรียนให้เป็น "คนดี มีคุณธรรม"
 
ผมมองว่าการเน้นเรื่อง "ความซื่อสัตย์" อย่างจริงจังนั้น เหมาะสมกับปัญหา ทันกับเหตุการณ์ของบ้านเมืองไทยตอนนี้อย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่เรื่องนี้ ผลงานที่โรงเรียนนำมาเสนอด้านอาเซียน สิ่งแวดล้อม แหล่งเรียนรู้ และป้ายข้อเขียนที่ติดไว้ตามอาคารสถานที่ ยังสะท้อนให้เห็นชัดว่า ถึงความพยายามในการ "พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง" ที่กำลังจะมาถึง  ผมเสนอท่านว่านอกจากความ "ซื่อสัตย์" แล้ว สิ่งที่สำคัญยิ่งยวดอีกประการที่นักเรียนต้องมีคือ "ใฝ่เรียนรู้"  และต้องรวมถึงครูด้วยที่ต้องทำเป็นแบบอย่าง

พิธีการประเมินเป็นไปอย่างเรียบร้อย ไหลลื่น ดำเนินการโดยนักเรียนแกนนำเป็นหลัก นักเรียน ๕ คนออกมาแสดงความสามารถด้านภาษาไทย โดยกล่าวต้อนรับเป็นกลอน ก่อนจะคนที่ ๒ ๓ ๔ ๕ จะกล่าวเป็นภาษา อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม ตามลำดับ  โดยเฉพาะเด็กที่พูดภาษาเวียดนาม ผอ.บอกว่า เรียนรู้ด้วยตนเอง ผมทึ่งในความสามารถนั้น และชื่นชมทันทีว่า อุปนิสัย "ใฝ่เรียนรู้" เป็นอุปนิสัยพอเพียงประการหนึ่ง  ....   ผมเสนอว่า ควรจะมีเวทีให้นักเรียนที่ประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้แบบนี้ได้ "ถอดประสบการณ์" และแลกเปลี่ยนแบ่งปัน "หลักปฏิบัติ" ของกันและกัน ซึ่งถ้าทำได้อย่างสนุกและต่อเนื่อง จะเกิด "สังคมแห่งการเรียนรู้ " ตามปรัชญาของโรงเรียน

ประธานนักเรียนกล่าวต้อนรับด้วยคำกลอนด้านล่างนี้ครับ คลิกฟัง

ขอต้อนรับสู่โรงเรียนวิถีพุทธ     บริสุทธิ์หัวใจให้แด่ท่าน
ผู้เดินทางข้ามภูเขาลำเนาธาร   จากร้อยเอ็ดเจ็ดย่านที่ผ่านมา
สู่โรงเรียนนาดูนประชาสรรพ์     สู่โรงเรียนในฝันสมคุณค่า
สู่วิถีพุทธศาสน์แห่งสมญา        สู่ดินแดนบูชาพระธาตุนาดูน

ถือเป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่ยืนยันสมมติฐานในการขับเคลื่อนของผมมานาน  แต่จนถึงวันนี้ผมก็ยังไม่กล้ายืนยัน  ผมพบว่าโรงเรียนที่สนใจและประสบผลสำเร็จในการขับเคลื่อนฯ จะมีฐานของ "วิธีพุทธศาสน์" ซึ่งในที่นี้ก็คือ "โรงเรียนวีถีพุทธ"  แต่ในทางกลับกัน ผมพบว่า โรงเรียนอีกจำนวนหนึ่ง สนใจที่จะขับเคลื่อนฯ หรือน้อมนำ ปศพพ. ไปใช้อย่างจริงจัง เพราะเจอประสบการณ์ของการ "ไม่พอเพียง" ในการพัฒนา "โรงเรียนในฝัน"  ..... ส่วนนี้ไม่มีผิดถูก ท่านผู้อ่านมีประสบการณ์อย่างไร นำมาแลกเปลี่ยนจะดีมาก

 

ข้อค้นพบและความเห็นสะท้อนกลับหลังจากการเยี่ยมประเมิน 

จากวีดีทัศน์ที่ทางโรงเรียนนำเสนอต่อคณะกรรมการ ผมตีความว่า การขับเคลื่อนฯ ของโรงเรียนนาดูนฯ เน้นกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ซึ่งโดยมากจะเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนให้แต่ละกลุ่มสาระจัดทำ เช่น กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ทำโครงการ Thailand Go Green รวมพลังเยาวชนก้าวสู่สังคมสีเขียว กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ ทำโครงการค่ายเตรียมพร้อม ๓ วัน ๒ คืน กลุ่มสาระการงานอาชีพ ทำโครงการเบญจอาชีวะ ฯลฯ  ตลอดวีดีทัศน์กล่าวถึงโครงการและกิจกรรมต่างๆ มากมาย และพูดถึงรางวัลต่างๆ ที่ได้รับจากการแข่งขันทั้งระดับจังหวัดถึงระดับประเทศ  หลังจากชมวีดีทัศน์และการนำเสนอแล้ว  ผมไม่สามารถสังเคราะห์ได้ว่า ประเด็นสำคัญ ๔ ประการ ที่กรรมการฯ ควรจะได้คำตอบ ได้แก่

  • "อุปนิสัยพอเพียง" ในความหมายของครูและนักเรียนคืออะไร อะไรคือ "อุปนิสัยเป้าหมาย" ของแต่ละกิจกรรมหรือโครงการ
  • วิธีการปลูกฝังหรือสอดแทรก "อุปนิสัยเป้าหมาย" นั้นๆ ลงในแต่ละกิจกรรมหรือโครงการ 
  • ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อครูและนักเรียนในภาพรวม ในที่นี้หมายถึงครูและนักเรียนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของกิจกรรมหรือโครงการ ซึ่งจำเป็นจะต้องเล่าให้เห็นวีธีการในการประเมินผลนั้นๆ ด้วย 
  • มีการขยายผลต่อผู้อื่นอย่างไร 

เมื่อการนำเสนอจากวีดีทัศน์ไม่ชัดเจนใน ๔ ประเด็นดังกล่าว กรรมการจึงต้องใช้วิธีการสอบถาม สัมภาษณ์ และสังเกตเอง จึงทำให้มีข้อจำกัดทั้งจำนวนและเวลาในการประเมิน อย่างไรก็ดี คณะกรรมการก็มีการสะท้อนกระบวนการและผลลัพธ์ "เชิงคุณภาพ" "เชิงประจักษ์" เพื่อให้ทางโรงเรียนได้รู้ระดับของความสำเร็จของตนเอง และได้เสนอแนะแนวทางในการขับเคลื่อนสู่การเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ต่อไป

ในการสอบถามและประเมินที่แหล่งหรือฐานการเรียนรู้ต่างๆ ผมตระหนักอย่างมากว่า ช่วงเวลาในการมาประเมิน โรงเรียนเพิ่งจะเปิดเรียนในภาคการศึกษาใหม่ได้เพียงไม่กี่วัน ดังนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ว่า จะเห็นร่องรอยของความสม่ำเสมอของการใช้ฐานหรือแหล่งเรียนรู้นั้นๆ  ประเด็นสำคัญจึงเป็น "เรื่องเล่า" หรือ "คำตอบ" จากนักเรียนผู้อยู่ประจำฐานการเรียนรู้  

ข้อสะท้อนผลการประเมิน โดยใช้กรอบวิธีคิดที่ได้กล่าวไว้แล้วในบันทึกที่ผ่านมา ที่นี่

  • นักเรียนแกนนำส่วนหนึ่งสามารถ นิยาม ตีความ นำไปใช้ และขยายผลได้ แต่ยังเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในระดับนิยามและตีความให้เข้ากับ ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ยังไม่สามารถอธิบายขยายผลได้ มีส่วนหนึ่งที่กรรมการพบว่า ยังอยู่เพียงในระดับนิยาม ยังไม่สามารถบูรณาการเข้ากับสิ่งที่ตนเองทำได้  เป้าหมายสำคัญที่สุดก่อนการประเมินเป็นโรงเรียนศูนย์ฯ  นักเรียนแกนนำอย่างน้อยร้อยละ ๒๕ จะต้องสามารถ นิยาม ตีความ นำไปใช้ และภูมิใจขยายผลไปยังเพื่อนนักเรียนให้สามารถนิยาม ตีความ นำไปใช้ ได้ถึงร้อยละ ๗๐ ของโรงเรียน  .....  หากขับเคลื่อนฯ อย่างถูกต้องจะเกิดผลลัพธ์ถึงร้อยละ ๑๐๐ ได้
  • ผู้อำนวยการมีความรู้ความเข้าใจและมีศรัทธาต่อการขับเคลื่อนฯ อย่างยิ่ง มีทีมบริหารที่พร้อม ได้รับการสนับสนุนจากกรรมการสถานศึกษาอย่างเต็มที่ คณะครูมีความสามัคคีและศรัทธาต่อผู้บริหาร และแนวทางในการพัฒนาโรงเรียน  แสดงถึงศักยภาพที่จะสามารถขับเคลื่อนฯ ได้ทันที 
  • สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ แหล่งเรียนรู้ และฐานการเรียนรู้พร้อมมาก หากมี "หลักปฏิบัติ" การใช้แหล่งหรือฐานในการขับเคลื่อนฯ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แหล่งเรียนรู้ หรือฐานการเรียนรู้ที่ถูกต้อง น่าจะพร้อมรับการประเมินได้
  • บทบาทของครูอาจารย์ น่าจะอยู่ในระดับที่ ๑ และ ๒ กล่าวคือ ใช้การ "ถอดบทเรียน" อย่างมีรูปแบบ "จับใส่กล่อง"  ควรทำต่อไปและยกระดับบทบาทของครูอาจารย์ให้นักเรียนได้ "ฝึก" มากขึ้น 

ข้อเสนอแนะสำคัญ

  • เปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นเจ้าของโครงการหรือกิจกรรมมากขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้ "ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกนำเสนอ" ด้วยตนเอง ฝึกการทำงานเป็นทีม โดยครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก และกระตุ้นแรงบันดาลใจ และตั้งคำถามเพื่อติดตาม ชี้แนะ 
  • ระวังตกร่อง "ชิ้นงาน"  เป้าหมายสำคัญของกิจกรรมและโครงการต่างๆ คือ ทักษะและเจตคติของนักเรียน ไม่ใช่ผลงานที่เป็น "ชิ้นงาน" เช่น ในฐานการเรียนรู้เรื่องการปลูกเห็ดฟาง ผลลัพธ์ไม่ใช่เห็ดฟางที่ได้ แต่เป็นความรู้และทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ของนักเรียน 
  • คัดเลือกครูและนักเรียนแกนนำที่ถึงระดับ ๔ แล้ว จัดเป็นกลุ่มแกนนำเพื่อขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ 
  • ใช้เครื่องมือจัดการความรู้ (KM)  เช่น BAR, AAR, Story Telling, Dialouge, Deep Listening ฯลฯ ในการขับเคลื่อนฯ จะทำให้เข้าใจและตีความได้ดีและเร็วขึ้น 


หมายเลขบันทึก: 570005เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2014 02:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2014 05:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณท่าน อาจารย์  ดร.ฤทธิไกร  ที่ได้กรุณาชี้แนะข้อค้นพบ  และแนะนำแนวทางทีจะพัฒนาถ้ามีโอกาสได้รับการคัดเลือกเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ต่อไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคนิค  KM   จะต้องให้ครูและนักเรียนทำความเข้าใจและนำไปใช้อย่างจริงจังและกลืนเข้าไปในวิถีชีวิตการเรียนและการดำรงชีวิตประจำวันครับ.....

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท