ความสับสนในระบบคิดของคนไทยทางการเมือง


คนไทยทุกวันนี้กำลังสับสนว่า สังคมที่ดีควรเป็นอย่างไร ควรมีรูปแบบสังคมแบบไหนกันดี

.

ไม่อยากเป็นสังคมประชาธิปไตย เพราะกลัวว่าจะได้แต่คนโกง คนซื้อเสียง นักการเมืองเลวๆ

.

ไม่อยากเป็นสังคมนิยม เพราะกลัวว่าจะต้องเอาผลผลิตที่ได้ไปให้กองกลาง ทั้งที่ตัวเองทำงานมากกว่า เหนื่อยกว่า ลงทุนลงแรงมากกว่า

.

ไม่อยากเป็นรัฐเผด็จการ เพราะกลัวว่าตัวเองจะต้องอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ไม่รู้ว่าตัวเองจะตายหรือถูกกลั่นแกล้งเมื่อไหร่ จะไม่ได้รับความเป็นธรรมเมื่อขัดแย้งกับคนอื่นๆ หรือกับพวกมีอำนาจ

.

ไม่อยากเป็นรัฐที่ปกครองจากคนๆคนเดียว หรือคนกลุ่มเดียว เพราะกลัวว่าตัวเองจะก้าวหน้าไม่ได้ ประสบความสำเร็จไม่ได้ เนื่องจากข้ามหน้าข้ามตาผู้ปกครอง และก็กลัวว่าจะถูกผู้ปกครองกดขี่ข่มเหง เบียดเบียนอยู่เป็นประจำ และก็ไม่เชื่อว่าลูกหลานของผู้ปกครองจะดีจริงเหมือนรุ่นพ่อหรือไม่ กลัวว่าจะเหลวไหล ฟุ้งเฟ้อ มัวเมาอำนาจมากขึ้น

.

ที่จริงไม่มีสังคมรูปแบบไหนดีที่สุด ทุกรูปแบบก็มีทั้งจุดที่เด่นที่ส่งเสริมการพัฒนาให้ดีได้ส่วนหนึ่ง และก็มีจุดที่ก่อปัญหาตามมาก็อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งทุกท่านถ้าได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติ ก็จะตระหนักดีถึงข้อนี้ จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าอะไรดีที่สุด ที่จะยึดมาเป็นต้นแบบได้ตลอดกาล การที่สังคมขัดแย้งทางความคิด และต่อสู้กันเพื่อสร้างสังคมตามรูปแบบของตัวเอง จริงๆแล้วก็ไม่มีใครผิดใครถูกหรอกครับ ทุกคนอยากเห็นชาติบ้านเมืองดีด้วยกันทั้งนั้นตามที่ตัวเองคิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิด และเชื่อมั่นนั้นดีที่สุด

.

แต่ที่ไม่ดี ก่อปัญหามากมายให้สังคมไทยทุกวันนี้ ก็คือ การที่บอกว่าสังคมไทยมีการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย แต่กลับไม่ยอมเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยจริง อยากหันไปเอาระบอบราชาธิปไตยบ้าง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชบ้าง ระบอบอภิสิทธิชนาธิปไตยบ้าง (ระบอบที่เชื่อว่าผู้ปกครองต้องมาจากชนชั้นสูง และชนชั้นสูงเป็นคนดี) ระบอบเผด็จการทหารบ้าง แล้วลงมือดำเนินการตามความคิดที่เชื่อมั่น ใครขวางข้าตาย สังคมไทยจึงวุ่นวายมาถึงทุกวันนี้ เพราะคนไทยกลุ่มหนึ่งอยากได้คนดีจริงๆมาเป็นผู้นำ ผู้ปกครองประเทศ

.

ซึ่งสังคมอุดมคติของคนไทยที่อยากได้ ก็คือ สังคมแบบพระศรีอาริย์ ที่ทุกคนมีความสุข ไม่ต้องแก่งแย่งแข่งขัน ไม่ต้องฆ่าฟันกัน ทำร้ายกัน ไม่มีโจรขโมย ไม่ดื่มสุรายาเมาจนขาดสติ ออกจากบ้านไปไหนก็ไม่ต้องหวาดกลัว ทุกคนเป็นคนดีหมด

.

พูดง่ายๆคนไทยอยากได้ผู้นำเป็นคนดี พ่อแม่ดี ลูกดี ครูดี ศิษย์ดี พี่ดี น้องดี ญาติดี นายจ้างดี ลูกจ้างดี สรุปแล้วดีหมด แต่นี่เป็นโลกอุดมคติ จะมีจริงหรือไม่ก็ไม่รู้

.

แต่ที่แน่ๆ โลกแห่งความจริง ไม่มีใครในโลกดีพร้อมหมด สมบูรณ์หมด ที่อวดว่าดีก็มักสร้างภาพ ไม่ดีจริง

.

ดังนั้น  จะคุยเรื่องการเมืองที่ดีควรเป็นอย่างไร ควรมีรูปแบบแบบไหนต้องตอบคำถามก่อนว่า ทั้งเราและคนอื่นๆ เห็นตรงกันหรือยังว่าสังคมที่ดีควรเป็นสังคมแบบไหน ควรอยู่กันแบบไหน และผู้นำในสังคมที่เราคิดว่าควรเป็นแบบนั้น ควรมาจากใคร โดยวิธีใด

.

ถ้าตอบอย่างเชื่อมั่นว่า “แบบราชาธิปไตย” หรือแบบสมบูรณาญาสิทธิราชจากการสืบทอดทางวงศ์ตระกูลดีกว่าเพราะแผ่นดินนี้เป็นของเขา ตระกูลเขา บรรพบุรุษของเขาเป็นผู้สร้าง และอีกประการหนึ่งวงศ์ตระกูลเขาสูงส่ง เขาเป็นลูกพระอาทิตย์ สืบเชื้อสายจากเทวดา เป็นผู้ดีมีชาติสกุล มีกำเนิดจากเชื้อสายที่ดีที่บริสุทธิ์มาแสนนานเขาเท่านั้นที่ควรเป็นผู้กำหนดสังคม หรือชี้นำสังคมเพราะเขา “ดีจริง”

.

ถ้าคิดแบบนี้ ก็เป็นอันไม่ต้องควรเข้าไปคุยกับพวกพระพวกนักบวชในศาสนาพุทธหรอกเพราะพระพุทธศาสนาไม่เคยเชื่อว่า มีคนดีจริงแต่กำเนิดหรือตระกูลใดตระกูลหนึ่งจะสูงส่ง และดีตลอดกาลเพราะไม่ว่าวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็ล้วนกำเนิดจากโยนิที่สกปรกของผู้เป็นมารดา ไม่ได้มาจากพระพรหมอย่างที่พวกวรรณะสูงๆเชื่อแต่อย่างใดและแผ่นดินต่างๆ เดิมก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของ มีแต่ไปแย่งเขามาใช้อำนาจข่มเหง ข่มขู่เขาให้ยอมอยู่ในอำนาจการปกครองของตัวเองเท่านั้น ประวัติศาสตร์ทุกชาติทุกเผ่าก็เป็นอย่างนั้น

.

ทุกๆวันนี้ แล้วใครล่ะที่พยายามกลั่นแกล้ง กดขี่ บังคับพวกอื่นให้เคารพเชื่อฟัง ให้ยอมเขาแต่เพียงผู้เดียว ใครมาดีกว่า รวยกว่าเขาไม่ได้ กระทั่งที่ตนเองเขียนกฎกติกาเพื่อตัวเอง พวกตัวเองให้ได้เปรียบคนอื่นๆทุกด้านแถมยังกีดกัน ข่มเหงคนอื่น ไม่ให้ประสบความสำเร็จแท้ๆ ก็ยังไม่สามารถทำได้ดังใจ จึงต้องอาละวาดล้างไพ่ อยากให้ทุกอย่างเป็นอย่างที่ตัวเองต้องการอยู่เสมอ (นี่ก็ 18 ครั้งแล้ว)

.

ถ้าทำได้สำเร็จ คราวนี้คงเขียนกติกาว่าคนอื่นห้ามยุ่ง ต้องพวกกูเท่านั้นที่เป็นได้ เพราะพวกกูตระกูลกูเป็นเทวดา ที่”แสนดี”เป็นคนที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาดีกว่าพวกแก (ไพร่) คนพวกนี้นี่แหละ ที่เขาเรียกว่าเป็นพวกอำมาตย์

.

จะเอากันอย่างนี้ใช่ไหม ถึงจะเรียกว่าเป็นสังคมอารยชน แล้วจะสงบสุขหรือ ประวัติศาสตร์ทุกชาติที่ผ่านมา ยังไม่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ อีกหรือครับ

หมายเลขบันทึก: 569669เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2014 13:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2014 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท