ไม่ต้องด่า ก็ห่วงใยได้


• มีสำนวนหนึ่งแพร่หลาย และนิยมกันมากว่า

“ ...คำด่าที่ห่วงใย ดีกว่าคำชมที่เสแสร้ง...”

แต่...ผมมองเห็นต่าง เห็นแย้งอีกมุมมองหนึ่ง ดังนี้

.

จริงๆแล้ว เราไม่รู้หรอกว่า คนที่ด่าหรือชม เป็นคนอย่างไร มีเจตนาอย่างไร

แต่ทั้งคำด่าคำชมมีผลกระทบต่อจิตใจผู้ฟัง

ทำให้ทุกข์หรือสุข เจ็บใจ หรือ ปลื้มใจเรียบร้อยแล้ว

ผมจึงไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้นัก จึงขอออกความเห็นร่วมด้วย

.

• ขึ้นชื่อว่าด่า ด่าอย่างไรก็เกิดจาก "โทสะ"

ที่เกิดโทสะจนระงับไม่อยู่ กลายเป็น "ผรุสวาท"

ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะ..."คาดหวัง" ไว้มาก แล้วไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

แม้ต่อมา พยายาม "คาดคั้น" บางครั้งถึงกับ "คาดโทษ" และ "ลงโทษ" ก็แล้ว

ก็ยังไม่ได้ตามที่หวังอีก จึงเกิดการควบคุมสติอารมณ์ไม่ได้ จนต้องด่าออกไป.

.

• ที่ด่าไม่ได้ เพราะ "รัก" และ "หวังดี" หรอกครับ

แต่ด่าเพราะไม่เป็นไปตามที่หวังต่างหาก

แต่ด่าไปแล้ว สำนึกได้ว่ารุนแรงเกินไป

ก็แกล้งมา "แก้ขวย" ว่าด่าเพราะหวังดีหรอกนะ

.

• เพราะอกุศลจิตที่ด่า (ผรุสวาท) เป็นวจีทุจริต

แต่ความเป็นพ่อแม่ ดีตรงที่ว่า ท่านด่าไม่นานก็กลับมายังรักและหวังดีอยู่

หรือกลับมาพูดดีด้วย อย่างนี้ก็เรียกว่าเกิดอกุศลจิตไม่นาน

ไม่เหมือนบุคคลทั่วไป ที่ด่าแล้วมักเจ็บใจ หรือผูกใจเจ็บต่อ

.

• ถ้าด่าเป็นสิ่งดี พระพุทธเจ้าคงไม่จัดเป็นส่วนหนึ่งของสัมมาวาจา

ในองค์มรรค 8 โดยท่านให้ไม่มุสาวาท ไม่ปิสุณาวาจา ไม่ผรุสวาจา

และไม่สัมผัปปลาปะ หรอกครับ

.

• การที่จะอ้างว่าด่าเพราะเจตนาดี

แล้วแถมอ้างพุทธพจน์ว่า

“เจตนาวหํ กมฺมํ วเทมิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนานั่นแหละคือกรรม”

ก็พุทธเจ้าแสดงไว้ชัดแล้วว่า เจตนานั่นแหละเป็นกรรม

เจตนาบังคับลูก ตั้งความหวังไว้กับลูก ให้ลูกพยายามเดินทางที่ตัวเอง

คิดว่าถูกว่าดี ในสายตาตนเอง ไม่ใช่ว่าไม่หวังดีต่อลูก

แต่หวังดีเกินไป ไม่เคยอ่านหรือครับว่า

“เมตตามากไป พลิกนิดเดียวก็กลายเป็นราคะ

กรุณามากไป ก็มักกลายเป็นโทสะ”

.

• การที่รักลูก หวังดีกับลูก จนต้องด่า

แสดงว่าจิตใจยังมีสติปัญญาไม่พอ

ถ้าผู้ใดมีสติปัญญาพอไม่เห็นต้องด่าก็ได้

แค่ใจแข็งวางเงื่อนไขกับลูกเสียก็ได้ เช่น

พระพุทธเจ้าให้สงฆ์วางพรหมทัณฑ์กับพระฉันนะ เป็นต้น

แต่ทางจิตวิทยามีตัวอย่างมากมาย ท่านที่สนใจค้นคว้าหาอ่านได้

หมายเลขบันทึก: 569662เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2014 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2014 13:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท