มรรคาแห่งธรรม (The Righteous Path)


มรรคาแห่งธรรม Righteous Path

ตอนเด็กๆเคยอ่านหนังสือ sci-fi series ของไอแซก อาซิมอฟเรื่อง "สถาบันสถาปนา (The Foundation)" ว่าด้วยเหตุการณ์ที่มนุษย์ได้ออกสร้างอาณานิคมจนกลายเป็นจักรวรรดิใหญ่มหึมา ทั่วทั้งกาแลกซีทางช้างเผือก มีประชากรถึงหนึ่งล้านยกกำลังสี่ (ล้านคูณกันสี่ครั้ง) รัฐบาลบริหารต้องใช้ Trantor ถึงหนึ่งดาวเคราะห์เพิ่อการบริหารจัดการเพียงอย่างเดียว ก็แปลกดีที่ผู้เขียนกำหนดให้มี "จักรพรรดิ" เป็นประมุข และเหมือนอาณาจักรทุกแห่ง ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ก็จะถึงกาลล่มสลายลงในที่สุด แต่ทว่าเมื่อมีขนาดใหญ่มากแบบนี้ การล่มสลายจะเริ่มที่ขอบนอกก่อน กัดกินอย่างช้าๆ จนในที่สุดก็เลยจุดที่จะแก้ไขย้อนกลับได้ อนาคตแห่งความมืดมนเป็นเรื่องแน่นอน ก็เกิดมีนักคณิตศาสตร์คนหนึ่ง ชื่อ ฮาริ เซลดอน คิดวิชาที่ใช้ในการคำนวณและพยากรณ์การเป็นไปของสังคมได่ โดยอาศัยตัวแปรมากมายมหาศาลมาประกอบในสมการ คือวิชา "อนาคตประวัติศาสตร์ (psychohistory)" เป็นคณิตศาสตร์สังคม สามารถคำนวณจนมองเห็น doom days ที่ว่านี้

ฮาริ เซลดอน ไม่สามารถเปลี่ยนประวัติศาตร์ที่กำลังจะมาถึง (ซึ่งก็คือนาคต!!) ได้ เพราะ momentum มันใหญ่มาก แต่เขาสามารถจะใส่ตัวแปรใหม่ลงไป เพื่อที่จะลดความยาวนานของอนารยยุคที่จะเกิดขึ้นหลังอาณาจักรล่มสลายจากสาม หมื่นปี ลงมาเหลือเพียงพันปี ในการที่จะสร้างอาณาจักรใหม่ที่สองอันจะมีอายุยาวนานต่อไปได้ เรียกว่า "สถาบันสถาปนา"

ในช่วงพันปีแห่งการฟื้นฟูนี้ สถาบันสถาปนาจะต้องเผชิญกับ "กลียุค" หรือ crisis ใหญ่ๆในประวัติศาสตร์ แต่จะฝ่าฟันไปได้ด้วยการใช้พลังขับเคลื่อนของสังคม ที่มีการสร้างบริบทเตรียมเอาไว้แล้วอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด เท่าที่คณิตศาสตร์จะช่วยได้ จนในที่สุด แม้ว่าจะมีระลอกของ crisis ทั้งที่คำนวณไว้ก่อนได้ และที่ไม่คาดฝัน มหาอาณาจักรที่สองก็ถือกำเนิดและดำเนินต่อไป

Victory point or Point of Victory?

สังคมไทยก็เผชิญวิกฤติการณ์มาหลายครั้ง เราไม่สามารถจะเปลี่ยนอดีตได้ แต่เราสามารถที่จะ "เรียนรู้" จากอดีตได้ ใครเรียนรู้ได้เร็ว จะก็วิวัฒน์ ไม่ต้องทำผิดซ้ำ ผิดซาก และไปเจอกับวิกฤติใหม่ที่ advanced กว่า หนักกว่า แต่นั่นก็คือความหมายของ "วิวัฒนาการ" เพราะอุปสรรคเหล่านี้จะผลักดันพวกเราให้แข็งแกร่งกว่าเดิม แก้ปัญหาได้ดีขึ้น จนกว่าจะถึงจุดจำกัดหรือจุด limit ที่อาจจะต้องเกิดการ reset เพื่อหา beings หรือสิ่งมีชีวิตใหม่ที่แข็งแกร่งพอจะอยู่กับวิกฤติใหม่นั้นได้ หรือมิฉะนั้นนิเวศน์ก็ล่มสลายด้วยตัวมันเองและล้างไพ่ใหม่ทั้งหมดอีกทีหนึ่ง

แต่คนเราที่ชอบ "ความง่าย" (หรือ "มักง่าย") ก็อยากจะกำหนด "จุดชัยชนะ" เป็นจุดๆเดียว จะได้ฉลองชัยกันเสียที ไม่อยากจะรอ ไม่อยากจะสู้อะไรต่อไป เบื่อแล้ว เหนื่อยแล้ว ฯลฯ ความมักง่ายนี้เองที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการวิวัฒนาการ เมื่อไรก็ตามที่มนุษย์ขาด will to live หรือ ความมุ่งมั่นบากบั่นเพื่อหา better-self ตัวตนที่เข้าถึงศักยภาพสูงสุด ความเฉื่อยหรือ inertia อันนี้จะเป็นจุดกำเนิดของการล่มสลายครั้งต่อไป

ทุกวันนี้ เราอาจจะตะโกนหา "จุดชัยชนะ"ที่ว่านี้ ไม่ว่าจะเป็น "กล่องเลือกตั้ง" หรือ "ไม่เอารัฐประหาร" หรือ "เอาตระกูลนี้ออกไป" หรือ "ปฏิรูปพลังงาน" ฯลฯ เป็น landmark เป็น milestones ที่จะช่วยบ่งบอกว่าเรา "มาถูกทาง"

แต่ "จริงหรือ" จุดที่ว่านี้มีจริงหรือ?

ถ้าหากมีจริง เมื่อเรามาถึงจุดนั้นแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น? มนุษย์มีความสุขกันถ้วนหน้า? มนุษย์หยุดวิวัฒนาการ? เรารู้หมดแล้ว เราทำได้หมดแล้ว? ไม่มีปัญหาอะไรจะเหลือให้แก้แล้ว?

สิ่งที่เราได้เมื่อเรามาหยุด ณ หลักกิโล หรือ milestone ใดๆก็ตาม ก็คือ "การเดินทางต่อไป" สิ่งที่เราควรทำ ณ จุดๆนั้นก็คือการทำ self reflection สะท้อนตนเองว่า เราได้ทำอะไรไปบ้าง เราถึงต้องมาหยุด ณ จุดๆนั้น ต่อเมื่อเรา "เห็น" สิ่งเหล่านั้น คือเหตุปัจจัยที่ส่งเรามา ณ จุดนั้น เราถึงจะสามารถวางแผน กำหนดการเดินทางคร่าวๆต่อไป ไปสู่ unknown แต่ด้วยตัวตนที่ฉลาดขึ้น เข้มแข็งขึ้น และมีปัญญามากขึ้น

การหยุดเพื่อร่ำร้องตะโกน ตีโพยตีพาย หรือเฉลิมฉลองอย่างไร้สติ ณ จุดหลักกิโลเหล่านั้น เป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์ อาจจะดีอยู่บ้างที่ได้ระบายอารมณ์ ความอัดอั้นตันใจ แต่การตะโกนร่ำร้องไม่เคยช่วยแก้ปัญหา มันต้องเริ่มจากหยุดร้อง หันมามอง และท่องเดินทางต่อไป ชีวิตคนเราไม่ได้ยาวนานอะไรมากมาย เราจะทำชีวิตให้ idle นานแค่ไหนก็เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เราได้ใช้เวลาเช่นนั้นอย่างสมควรที่สุดแล้วหรือไม่?

หากการ "หยุด" เพื่อมอง landmark ในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่หยุดเฉยๆ แต่เราได้เรียนรู้ว่า "เราทั้งหมด เราทุกคน" ได้ "ทำอะไรลงไปบ้าง" ที่เป็นส่วนทำให้เกิดเรื่องราวทั้งหมดนี้ หนทางที่เราทุกคนได้มายืนอยู่ด้วยกันตรงนี้นั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแม้แต่เพียงเรื่องเดียว แต่ล้วนแล้วมีเหตุผลที่มาทั้งสิ้น เราอาจจะมาอยู่จุดนี้ เพราะความอหังการ ความสะเพร่า ความเฉยเฉื่อยแฉะ การคิดว่าปัญหาไม่ใช่เรื่องของเรา การคิดว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ solution หรือการแก้ปัญหา ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ความสุขเล็กๆน้อยๆเฉพาะหน้า ความขี้โกง ความละโมบโลภมาก ตะกละตะกราม ความยึดมั่นถือมั่น เชื่อในตนเองมากเกินไป เชื่อในคนบางคนมากเกินไป ความโกรธ ความเกลียด ความรัก ความชอบ และเหนืออื่นใด "ความกลัว"

เมื่อนั้นไม่ว่าหนทางใดที่เราได้มาหยุดยืน เราเองที่จะมีสิทธิทำให้หนทางนั้นๆ เป็นไปอย่างที่เป็นจริงๆ ด้วยปัญญาที่เกิดขึ้น

หนทางนี้อาจจะไม่สุขทั้งหมด ไม่ทุกข์ทั้งหมด แต่เป็นหนทางที่บ่มเพาะปัญญา

เป็นมรรคาแห่งธรรม The Righteous Path

สกล สิงหะ
เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล รพ.สงขลานครินทร์
๘ นาฬิกา ๔๒ นาที วันอังคารที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๗
วันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย

หมายเลขบันทึก: 569625เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2014 08:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2014 08:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จริงด้วยครับ

ชีวิตคนเราไม่มีอะไรสุขทั้งหมด

ทุกข์ทั้งหมด

มีสุข มีทุกข์ 

มีสรรเสริญ มีนินทา

มีได้ยศ เสื่อมยศธรรมดา

มีลาภ เสื่อมลาภ 

ตามหลักโลกธรรม 8 เลยครับ

ขอบคุณอาจารย์มากๆครับ หายไปนาน คิดถึงๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท