ภาษาอินโดนีเซียแบบมวยวัด 1)


Selamat datang (ceritadunia.com)

ภาษาอินโดฯ เป็นพี่น้องกับภ่าษามาเลย์และภาษายาวี เรียกรวมว่าภาษามาลายูเหมือนภาษาไทยกับภาษาลาว ใช้พยัญชนะอักษรโรมันในการเขียน เป็นภาษาที่มีระดับเสียงสูงต่ำเหมือนภาษาไทย พอเอามาใช้เลยเขียนแบบทื่อๆ คำมากมายมาจากบาลีสันสกฤต การเรียงประโยคและรูปแบบเหมือนภาษาไทย ไม่มีพาส เพรสเซ่น และฟิวเจอร์ ไม่มีขั้นกว่าและขั้นสุดมาทำให้งง เป็นภาษาที่หัดพูดง่ายกว่าภาษาอังกฤษ หลายคำจะคุ้นเคยกันดี ไปอยู่ในดงคนอินโดฯ ไม่เกินสามเดือนก็พอสื่อสารได้แล้ว ยกเว้นเรียนอ่านและเขียนจะยากกว่าภาษาพูดเยอะ ในอาเซียนมีผู้ใช้ภาษามาลายูถึงสี่ประเทศ อินโดฯ มาเลย์ บรูไนและสิงคโปร์ รวมประชากรเกือบสามร้อยล้านคนหรือราวครึ่งนึงของประชากรทั้งหมดของอาเซียน ขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าประเทศที่เหลือรวมกัน เช่นอินโดฯ มีขนาดเศรษฐกิจอันดับสิบต้นๆของโลกขนาดจีดีพีจะทะลุหนึ่งล้านล้าน US อยู่แล้ว ในขณะที่ของไทยมีขนาดเพียงระดับสี่แสนล้าน US ตามมาห่างๆเป็นที่สอง

ไม่เข้าใจว่าโรงเรียนเมืองไทยถึงไม่สนับสนุนการเรียนภาษาอินโดฯหรือมาเลย์เป็นภาษาที่สาม ก็ในเมื่อประกาศเป็นแนวทางหลักที่ต้องผลักดันกันปาวๆ ขนาดจะให้การปิดเปิดเรียนทุกระดับเป็นแบบสากลอาเซียนโดยไม่คิดถึงสภาพท้องถิ่นวัฒนธรรมและสภาพภูมิอากาศกันเลย ยังดีที่พอฟังเสียงประท้วงของผู้ปกครองกันบ้าง เหลือแค่ระดับมหาวิทยาลัย แต่ถึงเปลี่ยนไปใช้ระบบสามเทอมก็คงไม่ได้ทำให้นักศึกษาจบใหม่ได้ไปทำงานระดับสากลอาเซียนเพิ่มมากมายแบบที่คาดหวังกัน จะเพิ่มหรือโดนแย่งงานยังไม่รู้เลยเพราะการได้งานระดับนานาชาติคงไม่มีใครบ้าจี้วัดกันที่เรียนสามเทอมต่อปีหรือสองเทอมต่อปีเป็นแน่ ใช้สมองเป็นแรงงานข้ามชาติเห็นแต่เขาวัดกันที่ความเป็นมืออาชีพอย่างเดียว เคยมีรุ่นพี่คนนึงสอบสัมภาษณ์ทุนไปต่อโทด้านปิโตรเลียมที่บรูไน พี่แกเคยไปทำงานสัมผัสอินโดฯมาบ้าง พอคนบรูไนสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษเสร็จพูดขอบคุณที่มาพี่แกเลยตอบกลับว่า “เกิมบาลี” แปลว่าให้กลับคืน เท่านั้นเองไปเรียนต่อโทปิโตเลียมทุนฟรีมีเงินเดือนให้ที่บรูไนเสียสองปี

ภาษาอินโดฯคำแรกที่ต้องเจอเวลาลงสนามบินซูการ์โนฮัทต้าคือ “เซอลามัตดาตัง selamat datang “ แปลว่ายินดีต้อนรับ หรือสวัสดีในการมาถึง

ออกจากช่องสนามบินถ้าโชคดีไม่ถูกหิ้วโดยแท็กซี่เถื่อนเรียกแท็กซี่ทั่วไปหรือบลูเบิร์ด ซิลเว่อร์เบิร์ดก็จะถาม “อันด้าเมาเปอร์กีเกอม้าน่า anda mau pergi kemana?” แปลว่าคุณหรือท่านต้องการไปที่ไหน

ถามแบบนี้ก็ค่อยตอบว่า “ซาย่าเมาเปอร์กีเกอฮิลตั้น saya mau pergi ke Hilton” แปลว่าผมต้องการไปที่ฮิลตั้น เขาจะถามยืนยันกลับอีกครั้ง “ฮิลโต้น โฮเตล” เราตอบ “ย่ะ” หรือใช่ๆ

Sultan (Hilton) Hotel, Jakarta (worldcityviews.info)

ถ้าเจอแท็กซี่เถื่อนหรือไม่สุภาพเดินเข้ามาทักทายถามว่าจะไปไหนและจะเข้ามาช่วยถือกระเป๋าต้องโบกมือห้ามและพูดปฏิเสธทันทีว่า “ซาย่าอาด้าโมบิว saya ada mobil” แปลว่าผมมีรถยนต์ หรือ “ติ๊ดั๊ก tidak” แปลว่าไม่ไป หรือ “หนานติดิจัมปุ๊ด nanti di jamput” แปลว่าเดี๋ยวมีคนมารับ

ขึ้นนั่งในรถแท็กซี่คนขับมักจะถามว่า “อันดาดารีม้าน่า anda dari mana?” แปลว่าคุณหรือท่านมาจากที่ไหน ก็ตอบไป “ซาย่าดารีบางก้อก saya dari Bangkok” แปลว่าผมมาจากกรุงเทพฯ

เขาจะถามต่อไปว่า “ซุ้ด่ะลาม่าดิ่อินโดนีเชีย suda lama di Indonesia?” แปลว่ามาอยู่อินโดฯนานหรือยังตอบไปว่า “บารูดาตังซ้าจ้า baru datang saja” แปลว่าพึ่งมาถึงแค่นั้นเอง หรือ “เปอร์ตาม่ากาลีดาตัง pertama kali datang” แปลว่าเป็นครั้งแรกที่มาถึง

เขาจะทำหน้าตกใจแล้วพูดว่า “โก๊ะ!! บิซ่าบาฮาซ่าอินโดนีเชีย ko!! bisa bahasa Indonesia” แปลว่าโห!! พูดภาษาอินโดฯได้ด้วย ตอบกลับว่า “บิซ่าเซอดิกิท เซอดิกิท bisa sedikit sedikit” แปลว่าพูดได้นิดหน่อย

“ปินต้าร์ย่ะ เบอลาจาร์ดารีม้าน่า pintar ya, belajar dari mana?” แปลว่าเก่งนะ ไปเรียนมาจากไหน ตอบว่า “ดารีเตอมาน dari teman” แปลว่าจากเพื่อนๆ หรือ “ดารีกูรู dari guru” แปลว่าจากครูก็ได้

เมื่อใกล้ออกจากทางด่วนรถจะติดมากเขาจะบ่นให้ได้ยินว่า “มาเจิ้ด จะลันมาเจิ้ด macet jalan macet” แปลว่ารถติด ถนนรถติดนะ ตอบไปว่า “ซามา ซาม่าดิบางก้อก sama sama di Bangkok” แปลว่าเหมือนที่กรุงเทพฯเลย

วนเข้าไปหน้าประตูรั้วโรงแรมต้องจอดตรวจระเบิดเปิดในรถท้ายรถและส่องใต้ท้องรถทุกคัน เราถามว่า ”จารีอะป๊ะย่ะ cari apa ya” แปลว่าค้นหาอะไร เขาบอกว่า ”จารีบอมบ์ cari bomb” แปลว่าตรวจหาวัตถุระเบิด ช่วงหลังๆตั้งแต่เกิดระเบิดที่บาหลีและโรงแรมดังในจาการ์ต้าหลายครั้งมาตรการตรวจระเบิดจึงเข้มข้นมากในทุกๆตึกที่ไป

เวลาจ่ายค่าแท็กซี่ก็ทิปให้นิดหน่อยสี่ซ้าห้าพันรูเปียห์ เพราะคนขับรถแท็กซี่ที่อินโดฯส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างไม่ใช่เช่าขับเป็นกะหรือเป็นเจ้าของแบบบ้านเรา สมัยก่อนแท็กซี่ซิลเว่อร์เบิร์ดเป็นเก๋งนิสสันคันใหญ่มากใส่กระเป๋าได้หลายใบนั่งสบายๆได้หลายคนราคาจะแพงกว่าบลูเบิร์ดแต่เจ้าของเดียวกัน แต่เดี๋ยวนี้ใช้เบ๊นซ์สีดำสนิท มาวิ่งบริการกันแล้ว ราคาแท็กซี่ถึงโรงแรม เช่นแสนห้าหมื่นรูเปียห์อ่านว่า “เซอราตูสรีบูรูเปียห์ seratus ribu rupiah” เงินใบใหญ่สุดของอินโดฯตอนนี้คือใบละแสนรูเปียห์หรือประมาณสามร้อยบาทนิดหน่อย เทียบสมัยก่อนเกิดวิกฤติแสนรูเปียห์ยังเท่ากับหนึ่งพันบาท

ให้ทิปเสร็จคนขับจะพูดขอบคุณว่า “เทอรีมากาซิห์บันยัค terima kasih banyak” ขอบคุณมากๆ เราตอบกลับว่า ”เกิมบาลี kembali” หรือ “ซ้าม่า ซ้าม่า sama sama” เช่นกันๆ แล้วหิ้วกระเป๋าผ่านช่องสแกนอาวุธอีกที่ก่อนจะได้เช็คอินกับน้องรีเซฟชั่นวัยยี่สิบต้นหน้าตาสวยเข้มพร้อมเสียงใสทักทาย “Selamat datang kembali Pak Supat, apa kabar……“

จันทบุรี 28 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 569236เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2014 01:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2014 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท