บ้านสมัยเด็ก ริมคลองแป๊ะกง /ตอนที่ 3 ย้ายไปอยู่กะล่อมข้าว???


"ขอบคุณความยากลำบากที่เป็นยาขนานวิเศษ อันได้ใช้ชุบเลี้ยงชีวิต"

บ้านสมัยเด็ก ฯ ตอนที่ 3/กะล่อมข้าว

เมื่อถึงวันที่เล่ากงท่านเสีย และคำสั่งเสียของท่านคือให้ไว้ศพท่านที่"บ้านใหม่" ซึ่งเป็นบ้านที่ท่านปลูกซึ่งข้าพเจ้า เตี่ย และ แม่ซึ่งเป็นหลานสาวของท่านได้ใช้พำนักพักพิงมาจนข้าพเจ้าอายุประมาณ 5-6 ปี เห็นจะได้
จะว่าไปแล้ว นับว่าเป็นวาสนาของเรา 3 คน พ่อ แม่ ลูก ครอบครัวนี้ยิ่งนัก!
เพราะเป็นเพียงหลาน(แม่)และเหลน(ข้าพเจ้า) เพียงคนเดียวที่มีบุญได้อาศัยใบบุญจากน้ำพักน้ำแรง
ของ"เล่ากง" ซึ่งจัดได้ว่าเป็นประมุขของตระกูล"คิดประเสริฐ"
เล่ากงนี้ได้ปลูกห้องแถวไม้ให้คนเช่าอยู่ด้วย ในพื้นที่ใกล้กับ"บ้านใหญ่" ซึ่งเป็นบ้านไม้ทั้งหลังและใหญ่ที่สุดในละแวกนั้น 2 ชั้น
เป็นที่อาศัยของท่านกับเล่าม้า หรือย่าของแแม่ของข้าพเจ้า
ที่บ้านหลังใหญ่นี้ท่านพักอยู่กับบุตรสาวคนโตที่ไม่ได้แต่งงาน กับบุตรชายคนเล็กและครอบครัวอันมี ลูกสะใภ้ และหลานๆอีก 3 คน(ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าชาย/น้าสาวของข้าพเจ้า หากแต่เราเรียกว่า"กู๋"และอี๊ ตามธรรมเนียมของชาวจีนแต้จิ๋ว)
ลุงคนรองของข้าพเจ้าแท้ๆ ซึ่งลูกสาวคนโตของเล่ากงขอไปเลี้ยงแต่เล็กก็อาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านหลังใหญ่นี้
ปีพ.ศ.2514-2520 โทรทัศน์ยังไม่แพร่หลาย มีเป็นบางบ้าน และเป็นโทรทัศน์ขาวดำ
แต่ที่บ้านเล่ากงนี้มีโทรทัศน์ พื้นกระดานกว้างมาก เป็นเงามันปลาบ และเราชอบเอาไม้เล็กๆไปแหย่ก้นผู้ใหญ่ให้ท่านสะดุ้งเล่นในตอนกลางคืนด้วย!
สมัยนั้นตอนกลางคืนมีหนังผีเรื่อง ขวัญโดมหรืออะไรสักอย่างไม่แน่ใจ

ตลาดกระทุ่มแบนช่วงเวลานัั้นมีไฟฟ้าใช้ แต่เมื่อข้ามแม่น้ำท่าจีนไปที่บ้านของย่าข้าพเจ้านั้น ไฟฟ้าไปไม่ถึงต้องพึ่งตะเกียงเจ้าพายุ กับตะเกียงน้ำมันก๊าซ

เล่ากงมีลูก 8 คน แต่ก๋งข้าพเจ้าซึ่งเป็นบุตรชายคนโตนี้ กลับไม่ได้รับมรดกซึ่งเป็นกิจการโรงสีข้าว และรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาตามท้องนาซึ่งสมัยก่อนต้องขับเรือและจูงเรือพ่วงไปหลายๆลำไปซื้อ และเราเรียกว่าไป"ตวงข้าว"
กิจการนี้ตกเป็นของน้องชายของก๋งคนที่ 3หรือ4 (ลำดับที่จำไม่ได้/ไม่แน่ใจ)
เมื่อข้าพเจ้าต้องย้ายออกจากบ้านไม้เพิงหมาแหงนมานั้น เตี่ยได้พาย้ายมาอยู่ที่
"กะล่อมข้าว"
กะล่อมข้าวนี้ แท้จริงแล้ว เราเพียงแต่ขนข้าวของอันมีไม่กี่ชิ้น เดินอ้อมข้ามอู่เรือมา 50 เมตรก็ถึง!
เพราะเป็นยุ้งฉางที่เก็บข้าวเปลือก และผู้หลักผู้ใหญ่เรียก "กะล่อมข้าว" เราก็เรียกตาม
สันนิษฐานว่าน่าจะมาจาก "ลอมข้าว" หรือ" ตะล่อมข้าว" แล้วแผลงมาเป็น กะล่อมข้าว
จำได้ว่าเป็นโรงเรือนขนาดใหญ่ ซึ่งปลูกอยู่หลังบ้านยายนั่นเอง
ความสูงท่วมหัวประมาณเท่าบ้าน 2 ชั้น แต่ทำเป็นชั้นเดียวยกพื้นสูงขึ้นประมาณ 1 เมตร
เป็นไม้ทั้งหมด ผนังทำจากไม้ไผ่สานรอบๆจนเต็มผนัง หลังคาเป็นสังกะสี ด้านหน้ากะล่อมข้าวและด้านข้างเป็นอู่เรือขนาดใหญ่

ซึ่งมีประตูเปิดปิดได้ ประตูนี้จะอยู่ในน้ำด้วย กว้างประมาณ 3 -4 เมตร ยามน้ำลงก็ห้อยต่องแต่งๆ..เวลาน้ำขึ้นก็จะท่วมประตูประมาณครึ่งบาน
พวกเราเด็กๆสมัยก่อนชอบไปเล่นซ่อนหาและเที่ยวหลอกผี วิ่งหนีกันเป็นที่สนุกสนาน
ข้าพเจ้าไม่ได้นอนในกะล่อมข้าวนี้ เพราะตอนนั้นยุ้งฉางขนาดใหญ่นี้มีไว้เพื่อการเก็บข้าวเปลือกซึงจะถูกลำเลียงลงเรือไปสีที่โรงสีอีกทอดนึง ที่หน้าประตูกะล่อมข้าวนี้เป็นประตูไม้บุด้วยสังกะสีขนาดใหญ่มีถังใส่"ติ้ว" สำหรับนับจำนวนกระสอบข้าวกองอยู่ระเกะระกะ และเราก็ชอบไปเอามาเล่นจนถูกผู้ใหญ่เอ็ด
หากแต่ว่า เตี่ยได้สร้างหรือพูดง่ายๆว่าหาไม้กระดานจากตรงนั้นตรงนี้มากั้นห้องซึ่งเป็นชายคาของกะล่อมข้าวนี้ และติดกับอู่เรือเลย
ห้องนั้นมีขนาดประมาณ3x3 เมตร แคบและร้อนมาก เตี่ยทำเตียงไม้สูงมากตอกติดกับไม้ชายคาบางส่วนของกะล่อมข้าว
เพราะเราไม่ต้องทำหลังคาแล้ว ตรงไหนรั่วก็หาจากมามุงแซมๆไว้ มองเผินๆเหมือนเราอยู่ด้านบนสุดของอู่เรือ
และด้านนอกสุดของกะล่อมข้าว
มีทางเดินกว้างประมาณ 1 เมตรลึกประมาณ 3 เมตร สุดทางเดินแม่ตั้งตู้เสื้อผ้าไม้ใบเล็กๆไว้
ข้าพเจ้ามีชีวิตทางกายภาพที่ยากลำบากมากในช่วงอายุประถมจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น
แต่ในความที่ต้นทุนทำมาน้อยนี้ กลับมีความอบอุ่น ความรัก ความเมตตาปราณี
ความสงสารจากญาติผู้ใหญ่และพี่ป้าน้าอาอยู่เต็มเปี่ยม

ขอบคุณความยากลำบากที่เป็นยาขนานวิเศษ อันได้ใช้ชุบเลี้ยงชีวิต หล่อหลอมให้ข้าพเจ้าแข็งแกร่งมาจนทุกวันนี้!!!


ผู้เขียนกับ "เตี่ย" และ"กะล่อมข้าว" ริมคลองแป๊ะกง ในภาพประมาณปีพ.ศ.2524-2526


บ้านหลังที่สอง หรือ กะล่อมข้าวแห่งนี้เป็นที่รวมของเรื่องราวทุกข์สุข ความทรงจำที่ขมขื่น
ความผิดหวัง ความสุข ฯลฯ มากจนเรื่องลำยอง ทองเนื้อเก้าต้องชิดซ้าย!!!

หน้าบ้านผู้เขียน ทางขวามือจะเห็นหลังคาอู่เรือ ที่เก็บเรือตวงข้าว เช่น เรือชะล่า เป็นต้น

ในภาพผู้เขียนกำลังพายเรือ"สำปั้น" กลับมาที่บ้าน เพิงไม้สังกะสีด้านหน้าคุณผู้อ่านนั้น เป็นเรือนห้องแถวไม้
ยาวประมาณเกือบ 200 เมตรของคุณสงัด-บุญมี กรรณสูตร คหบดีคนหนึ่งของอ.กระทุ่มแบน
มองจากหน้าบ้านเป็นคลองแป๊ะกงสมัยก่อนกว้างใหญ่ พอสมควร



พิธีเผา "กงเต็ก" ให้กับยายของผู้เขียน จะเห็นว่าหลังบ้านเป็นสวนมะพร้าว
จุดที่เผากงเต็กนี้อยู่ตรงกับด้านหลังของ บ้านเพิงหมาแหงนพอดี
ผู้เขียนใส่เสื้อสีเขียวคนที่ 2 นั่งจากซ้าย ขวามือเป็นคุณน้าที่ผู้เขียนเรียก"อี๊" (อ.นิภา ลีสุคนธ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ ม.สวนดุสิต)ขณะนั้นกำลังศึกษา
อยู่ที่คณะพยาบาลศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ผู้ชายในภาพนุ่งกางเกงสีดำคือ "ลุงป้อม" พี่ชายคนรองของคุณแม่

หมายเลขบันทึก: 568901เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2014 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2016 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้อ่านเรื่องเก่าๆ

น่าสนใจมาก

ตอนนี้มีใครอยู่ที่นครชัยศรีไหมครับอาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท