ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย


ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ม.4 ซึ่งบัญญัติว่า

“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง”

จากกรณีศึกษาของน้องนิก หรือนายนิวัฒน์ จันทร์คำอายุราว 19ปี ปัจจุบันพักอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งยังไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลย น้องนิกจึงเป็นคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิง น้องนิกเข้ามาในประเทศไทยเมื่ออายุประมาณ 3-4 ขวบ มารดาของน้องนิกเป็นคนไทยลื้อไร้รัฐไร้สัญชาติ ในเวลาที่เดินทางเข้าประเทศไทย บิดามารดาและน้องนิกไม่มีหนังสือเดินทางหรือได้รับการตรวจลงตราใดๆทั้งสิ้น จึงเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไม่สามารถดำเนินคดีกับน้องนิกได้ เนื่องจากน้องนิกยังไม่มีเจตนาในการเข้าเมืองผิดกฎหมาย เนื่องจากอายุเพียง3-4 ปีเท่านั้น ได้แต่เพียงติดสอยห้อยตามพ่อแม่เท่านั้นทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสิทธิที่น้องนิกจะได้รับจากรัฐไทย โดยเฉพาะสิทธิในการศึกษา เนื่องจากน้องนิกต้องการที่จะศึกษาต่อในประเทศไทย

ศักดิ์ศรี[1]คือ การยอมรับของบุคคลในสังคมในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ที่ได้รับการยอมรับของสังคมมนุษย์และเรื่องดังกล่าวต้องเป็นเรื่องดีงามและสมควรยกย่อง

มนุษย์ คือ บุคคลทั่วไป ไม่เลือกว่าจะเป็นชนชาติใด เผ่า ศาสนา ผิวสี ภาษา และอื่นๆ

ดังนั้นเมื่อมนุษย์คนหนึ่งเกิดขึ้นมา ย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ติดตัวมาด้วยตั้งแต่เกิด มีสิทธิเสรีภาพที่จะดำรงชีวิต หรือกระทำการใดๆ หรือได้รับการปฏิบัติจากผู้อื่นอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือแบ่งแยกเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติ เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง หรืออื่นๆ

เมื่อมนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว เพื่อให้บุคคลอื่นเคารพซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น จึงต้องมีการรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้

ซึ่งตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 1 บัญญัติว่า มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างในตน มีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ[2]

นอกจากนั้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550ยังได้บัญญัติรับรองเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ในมาตราต่างๆ เช่น

มาตรา 4 บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา 26 บัญญัติว่า การใช้อำนาจ โดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 28 บัญญัติว่า บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือ ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน[3]

นอกจากนั้นแล้ว ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552ก็มีบทบัญญัติที่รับรองสิทธิในการศึกษาเช่นเดียวกัน ดังที่ปรากฏในมาตรา 10 วรรค 1 ที่บัญญัติว่า การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย[4]

จากกรณีศึกษาของน้องนิกที่ได้กล่าวมาเเล้วข้างต้น แสดงให้เห็นว่าไม่ว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครทั้งคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายหรือทำผิดกฎหมายอื่นใด มีความเเตกต่างจากคนอื่นขนาดไหน แค่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ก็ล้วนเเล้วแต่เป็นผู้ทรงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และสามารถพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีกด้วย


[1] http://www.thailaws.com/aboutthailaw/general_33.ht...

[2] http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf

[3] http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Constitution2550.pdf

[4] http://www.wbtvonline.com/pdf/9-04-201409-25-55.pdf

หมายเลขบันทึก: 568641เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 02:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 02:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท