ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ


ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ

               จากการศึกษากรณีศึกษาเรื่องการสร้างเขื่อนไซยบุรี นั้น ทำให้ข้าพเจ้าเกิดแนวความคิดหลายๆอย่างเกี่ยวกับคำถามที่ว่า ผู้ประกอบการธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ แม้ว่าการทำธุรกิจของผู้ประกอบการนั้น สิ่งที่ต้องการก็คือผลกำไรที่สูงที่สุด แต่กระนั้นหากการประกอบธุรกิจดังกล่าวมิได้คำนึงสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น หรือผลร้ายต่างๆที่จะตามมา ท้ายที่สุดแล้วธุรกิจนั้นๆก็รังแต่จะสร้างปัญหาขึ้นแก่ส่วนรวม ดังเช่นในกรณีตัวอย่างของการสร้างเขื่อนไซยบุรี ที่เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ แต่ผลที่ตามมากับเป็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ ที่ส่งผลต่อประชาชนกว่า 60 ล้านคน

              กล่าวคือ เขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่ประมาณ 30 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกของเมืองไซยะบุรี ทางตอนเหนือของประเทศลาว ก่อสร้างโดยบริษัท ช. การช่าง เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจัดซื้อกระแสไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลลาว [1] แต่เมื่อมีการก่อสร้างเขื่อนขึ้นจริงแล้ว กลับถูกประท้วงจากรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อน เพราะเขื่อนดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาด้านระบบนิเวศน์ทางน้ำ ที่อาจส่งผลต่อประชากรทั้งริมฝั่งแม่น้ำโขงและประชากรใกล้เคียงอย่างรุนแรง ดังนั้นโครงการสร้างเขื่อนไซยบุรีจึงถูกระงับไป

              เห็นได้ชัดว่าเขื่อนนั้นเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ การก่อสร้างเขื่อนจึงนำมาสู่ผลกระทบต่างๆมากมาย ดังนั้นการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนใดใดขึ้นนั้นจะต้องผ่านกระบวณการตรวจสอบผลกระทบอย่างละเอียดและถี่ถ้วน แต่การสร้างเขื่อนไซยบุรีนี้ ดูเหมือนว่าจะถูกละเลยเรื่องของการตรวจสอบผลกระทบดังกล่าวไปอย่างไม่ถูกต้อง เพียงเพราะ ผลประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างเขื่อนนี้ จนทำให้ผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องไป

              นอกจากกรณีของเขื่อนไซยบุรีนี้ ข้าพเจ้ายังเล็งเห็นกรณีศึกษาอื่นที่ผู้ประกอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่นอย่างน่าละอาย เช่นในกรณีของการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมถือโอกาสในการขยายตัว พื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่สนใจเรื่องของผังเมืองของเทศบาลเมืองมาบตาพุด ซึ่งในจุดนี้ข้าพเจ้าไม่อาจทราบได้ว่า การละเลยไม่ควบคุมพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัดของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเกิดมาจากสาเหตุอะไร แต่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมถือโอกาสในการขยายพื้นที่เข้าสู่ เขตพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่สำหรับการเกษตรเพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม จนส่งผลให้เกิดปัญหาทางมลภาวะอย่างรุนแรง สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

               ข้าพเจ้าคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบริเวณนิคมอุสาหกรรมมาบตาพุดนั้น มีสาเหตุหลายประการด้วยกัน แต่สาเหตุใหญ่นั้นก็คือการที่ผู้ประกอบการไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น และได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนบริเวณใกล้เคียงนิคมอุตสาหกรรมนั้น กล่าวคือ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีสุขภาพดี แต่การขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้น ก่อให้เกิดปัญหาทางมลภาวะมากมาย และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นจึงเป็นที่น่าหดหู่ใจอย่างยิ่งที่ ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่หลายๆ ราย มักจะทำธุรกิจโดยละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น เพียงเพื่อผลประโยชน์ หรือกำไรที่สูงที่สุด แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าการประกอบธุรกิจเช่นนั้นหาได้เป็นกิจการที่ยั่งยืนไม่ เพราะหากนักธุรกิจเหล่านั้นสร้างมลพิษ หรือรุกล้ำพื้นที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นมากเท่าใด วันหนึ่งผลร้ายเหล่านั้นก็จะกลับคืนสู่ผู้ประกอบการนั้นๆเอง

อ้างอิง

[1]เขื่อนไซยะบุลี

http://th.wikipedia.org/wiki/เขื่อนไซยบุรี

เขื่อนไซยะบุรี ผลประโยชน์ของคนไม่กี่กลุ่ม หายนะของคนลุ่มน้ำโขง

http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID...

ที่มาปัญหาสิ่งแวดล้อมมาบตาพุด 

http://ereport.ieat.go.th/main/default/ShowMenuDet...

เปิดผังเมืองมาบตาพุดฉบับใหม่ พื้นที่อุตฯ ลดลง 28 ล้าน ตร.ม.เพิ่มพื้นที่สีเขียว-เกษตรกรรม

http://thaipublica.org/2013/02/map-ta-phut-6/

สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2557

หมายเลขบันทึก: 567839เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2014 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2014 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท