คนต่างด้าวในประเทศไทย


การแสดงความคิดเห็นเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตนเองให้ผู้อื่นได้รับทราบ ซึ่งการแสดงความเห็นออกไปในแต่ละครั้งนั้นอาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับหลายๆคน แต่การแสดงความเห็นเป็นสิ่งสำคัญ  จึงมีการบัญญัติรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทั้งในกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในประเทศ ดังนี้

ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่ไทยเป็นภาคีของสนธิสัญญานี้ มีการระบุเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในข้อ19(1)บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง (2)บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธิน้ีรวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารและความคิดทุกประเภทโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูป ของศิลปะหรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ม.45 บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน"

จากกรณีศึกษา นายสาธิต เซกัลป์ นั้นมีประเด็นปัญหาคือ กรณีของการถูกคำสั่งเนรเทศ ให้ออกนอกประเทศไทย โดยเป็นคำสั่งของ(ศรส.) เหตุเพราะเขาได้ขึ้นเวทีปราศรัยของ กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. โดยมีการต่อว่ารัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ต่อมานายสาธิตถูกเนรเทศตามกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะถูกตรวจพบว่าเป็นบุคคลต่างด้าว โดยนายสาธิตเกิดที่กรุงเดลี ประเทศอินเดีย เป็นชาวไทยเชื้อสายอินเดีย และปัจจุบันยังคงถือสัญชาติอินเดียอยู่

จากกรณีที่เกิดขึ้น การกระทำของศรส.ที่สั่งเนรเทศนายสาธิต เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้น เป็นการขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่มีการระบุรับรองการมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงใดๆ 

ในความคิดเห็นของข้าพเจ้า คำสั่งเนรเทศดังกล่าวยังขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอีกด้วย กล่าวคือ รัฐไทยมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน เมื่อนายสาธิตอยู่อาศัยในขอบเขตดินแดนของราชอาณาจักรไทย ย่อมต้องอยู่ภายใต้ของกฎหมายของไทย อันได้แก่รัฐธรรมนูญ ดังนั้น นายสาธิตที่แม้จะเป็นคนต่างด้าวก็ตาม แต่เมื่อเป็นบุคคลที่อยู่อาศัยในดินแดนไทย ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามปัญหาข้างต้น นายสาธิตย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง เสรีภาพนี้สามารถจำกัดได้ แต่การจำกัดเสรีภาพนี้ โดยเฉพาะของคนต่างด้าวนั้น อาจกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ดังนั้นผู้ที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของชาติอย่างเท่าเทียมก่อนที่จะออกคำสั่งใดๆไป อันอาจมีผลกระทบต่อคนต่างด้าวบุคคลนั้นๆ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เป็นมนุษย์เหมือนคนชาติได้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น รวมถึงการมีสิทธิเสรีภาพประการอื่นๆอีกด้วย และไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไปในอนาคต

ที่มา :

- เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่มา :http://www.l3nr.org/posts/367580

- คนต่างด้าวสำหรับประเทศไทย : คือใครบ้าง ? รัฐไทยต้องคุ้มครองไหม ? อย่างไรกัน ? ที่มา :http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t...

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่มา :http://th.wikisource.org/wiki/รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พุทธศักราช_๒๕๕๐/หมวด_๓

- กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่มา :http://th.wikipedia.org/wiki/กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

หมายเลขบันทึก: 567833เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2014 21:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2014 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท