คนต่างด้าวในประเทศไทย


คนต่างด้าวในประเทศไทย : สิทธิในการประกอบอาชีพ

     แม้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ 1984, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ.1966, อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับต่างๆ ไม่ได้ระบุถึงสิทธิในการประกอบอาชีพอย่างชัดแจ้ง มีแต่สิทธิในการทำงานแล้วก็เนื้อหาจะเป็นเรื่องสิทธิแรงงาน แต่หากพิจารณาจากความหมายและเนื้อหาของสิทธิมนุษยชนอย่างละเอียดจะเห็นว่า เสรีภาพในการประกอบอาชีพก็ถือเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์คนใดก็จะมีสิทธิได้รับการรับรองเสรีภาพในการประกอบอาชีพเสมอ โดยไม่มีการคำนึงถึงสัญชาติว่าจะเป็นคนชาติหรือคนต่างด้าวก็ตาม [1] ซึ่งเสรีภาพในการประกอบอาชีพนี้ได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 23 บัญญัติว่า

     “(1) ทุกคนมีสิทธิในการทํางาน ในการเลือกงานโดยอิสระ ในเงื่อนไขที่ยุติธรรมและเอื้ออํานวยต่อการทำงานและในการคุ้มครองต่อการว่างงาน ” [2]

     ดังนั้นหากรัฐใดมีการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของคนต่างด้าว จะสามารถพูดได้หรือไม่ว่าการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของคนต่างด้าวนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าว? ซึ่งในการตอบคำถามนี้เราต้องทราบก่อนว่าสิทธิและเสรีภาพนั้นไม่ได้มีเเต่เพียงสิทธิและเสรีภาพเด็ดขาดแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังคงมีสิทธิและเสรีภาพสัมพัทธ์ กล่าวคือ เป็นสิทธิและเสรีภาพที่อาจถูกจำกัดได้โดยกฎหมายอีกประเภทหนึ่งด้วย

     เมื่อเราพิจารณาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 จะพบว่าประเทศไทยได้รับรองสิทธิในเสรีภาพในการประกอบอาชีพซึ่งเป็นเสรีภาพสัมพัทธ์ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

     มาตรา 43 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

     การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน” [3]

     จะเห็นได้ว่าในประเทศไทยยังคงมีการจำกัดสิทธิในเสรีภาพในการประกอบอาชีพของคนต่างด้าวอยู่บ้างบางประการ ทั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐและเศรษฐกิจของประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์ใดๆก็ตามในการจำกัดนั้นต้องมีการตรากฎหมายเพื่อจำกัดเสมอ จะให้ใครมาจำกัดตามอำเภอใจไม่ได้

     และในอีกมุมมองหนึ่งแม้การที่คนต่างด้าวนั้นถูกห้ามประกอบอาชีพมากมายในประเทศไทย ทั้งนี้ก็เพราะประเทศไทยต้องการสงวนอาชีพเหล่านี้ไว้ให้คนไทย หากจะกล่าวว่าการที่คนต่างด้าวถูกห้ามประกอบอาชีพบางอย่างเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าวเเล้วก็ยังคงเป็นปัญหาที่สามารถถกเถียงกันได้ แต่หากพิจารณาจริงๆเเล้วคนทุกคนไม่ใช่แค่เฉพาะคนต่างด้าว แต่รวมไปถึงคนไทยด้วยก็ต่างมีสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากมองว่าการไม่ให้คนต่างด้าวทำงานบางประเภทเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าวแล้ว การที่ให้คนต่างด้าวสามารถทำงานได้ทุกประเภทจนอาจส่งผลให้คนไทยตกงาน ไม่มีงานทำ และเกิดปัญหาสังคมตามมา สิ่งเหล่านี้ก็ย่อมมองเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนไทยได้เช่นเดียวกัน ซึ่งกรณีนี้เป็นเรื่องของสถานะทางเศรษฐกิจสังคมและความมั่นคงของประเทศไทยเองที่ยังไม่เอื้อต่อการเปิดเสรีทางด้านอาชีพมากพอ เพราะ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องคุ้มครองคนในประเทศก่อน

     ทั้งนี้เรื่องการห้ามประกอบอาชีพบางประการน่าจะเป็นเรื่องของแนวนโยบายของประเทศนั้นมากกว่าจะเป็นเรื่องระหว่างประเทศที่จะต้องมีการเข้าไปรับรองเพื่อให้คนทุกคนในโลกสามารถประกอบอาชีพได้ทั้งหมด แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นเเละน่ากังวลคือกรณีของคนไร้รัฐที่ไม่มีสัญชาติของรัฐใดเลยเพราะเขาย่อมไม่ได้เป็นพลเมืองของประเทศใดในโลก ดังนั้นหากทุกประเทศไม่มีการเปิดเสรีในการประกอบอาชีพเลย จำกัดทุกอาชีพไว้ให้เฉพาะพลเมืองของตน คนเหล่านี้ย่อมไม่มีทางที่จะทำมาหากินได้เลยไม่ว่าที่ใดในโลกก็ตาม เพราะฉะนั้นเสรีภาพในการประกอบอาชีพจึงจำเป็นที่จะต้องรับรองไว้แต่อาจจะมีการจำกัดบางประการเท่านั้นเอง

     จากกรณีศึกษาเรื่องสิทธิในการประกอบอาชีพของคนต่างด้าว ในที่นี้ขอกล่าวถึงกรณีของน้องดวงตา ซึ่งเป็นนักศึกษาอยู่ในคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสบปัญหาเป็นบุคคลไร้สัญชาติ แม้ว่าจากข้อเท็จจริงน้องจะมีสิทธิในสัญชาติเมียนมาร์ตามหลักดินแดน คือเกิดในประเทศเมียนมาร์ และตามหลักสืบสายโลหิต คือบุพการีของน้องเป็นคนเมียนมาร์ แต่ทางการเมียนมาร์ยังไม่ได้รับรองสิทธิในสัญชาติของน้องดวงตาแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตามน้องดวงตาก็ได้รับการบันทึกลงในทะเบียนราษฎรไทยประเภทนักเรียนนักศึกษาไร้สัญชาติในทะเบียนประวัติประเภท ทร. 38 ก น้องจึงเพียงแค่ไร้สัญชาติแต่ไม่ไร้รัฐ น้องดวงตาเป็นคนเรียนดีมีความสามรถ แต่เนื่องจากไม่มีสัญชาติไทยจึงส่งผลให้น้องขาดโอกาสในการประกอบอาชีพบางประการ

     ซึ่งตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งกำหนดอาชีพต้องห้ามของคนต่างด้าวไว้ดังนี้

“(๑) งานกรรมกร ยกเว้นงานกรรมกรในเรือประมงตาม (๒) งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตาม (๑) ไม่ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งชาติอื่น และคนต่างด้าวที่ได้รับการกำหนดสถานะให้เป็นคนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

(๒) งานกสิกรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญงานเฉพาะสาขา งานควบคุมดูแลฟาร์ม หรืองานกรรมกรในเรือประมงทางทะเล

(๓) งานก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น

(๔) งานแกะสลักไม้

(๕) งานขับขี่ยานยนต์ หรืองานขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกลยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ

(๖) งานขายของหน้าร้าน

(๗) งานขายทอดตลาด

(๘) งานควบคุม ตรวจสอบ หรือให้บริการทางบัญชี ยกเว้นงานตรวจสอบภายในเป็นครั้งคราว

(๙) งานเจียระไน หรือขัดเพชรหรือพลอย

(๑๐) งานตัดผม งานดัดผม หรืองานเสริมสวย

(๑๑) งานทอผ้าด้วยมือ

(๑๒) งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ปอ ฟาง หรือเยื่อไม้ไผ่

(๑๓) งานทำกระดาษสาด้วยมือ

(๑๔) งานทำเครื่องเขิน

(๑๕) งานทำเครื่องดนตรีไทย

(๑๖) งานทำเครื่องถม

(๑๗) งานทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก

(๑๘) งานทำเครื่องลงหิน

(๑๙) งานทำตุ๊กตาไทย

(๒๐) งานทำที่นอนหรือผ้าห่มนวม

(๒๑) งานทำบาตร

(๒๒) งานทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ

(๒๓) งานทำพระพุทธรูป

(๒๔) งานทำมีด

(๒๕) งานทำร่มกระดาษหรือผ้า

(๒๖) งานทำรองเท้า

(๒๗) งานทำหมวก

(๒๘) งานนายหน้า หรืองานตัวแทน ยกเว้นงานนายหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ

(๒๙) งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการทดสอบ ควบคุมการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ทั้งนี้ ไม่รวมงานที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ

(๓๐) งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ

(๓๑) งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย

(๓๒) งานปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา

(๓๓) งานมวนบุหรี่ด้วยมือ

(๓๔) งานมัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยว

(๓๕) งานเร่ขายสินค้า

(๓๖) งานเรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ

(๓๗) งานสาวหรือบิดเกลียวไหมด้วยมือ

(๓๘) งานเสมียนพนักงานหรืองานเลขานุการ

(๓๙) งานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี ยกเว้น

(ก) งานปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการ

(ข) งานว่าต่างแก้ต่างในชั้นอนุญาโตตุลาการ ถ้ากฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ข้อพิพาทที่พิจารณาโดยอนุญาโตตุลาการนั้นมิใช่กฎหมายไทย หรือเป็นกรณีที่ไม่ต้องขอบังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นในราชอาณาจักรไทย” [4]

     จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นบุคคลที่มีความสามารถเพียงพอที่จะประกอบอาชีพใดๆได้ก็ตาม หากเป็นอาชีพที่ต้องห้ามและสงวนไว้สำหรับคนในประเทศ คนต่างด้าวก็ยังคงถูกจำจัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพอยู่ดี ทั้งนี้มีเหตุผลในการจำกัดดังที่ได้กล่าวมาเเล้วข้างต้น แต่อย่างไรก็ตามการจำกัดการประกอบอาชีพของคนต่างด้าวบางประการ ในมุมมองของข้าพเจ้าคิดว่าเป็นการจำกัดที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งทางด้านภาครัฐเเละผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะมีการทบทวนและปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นต่อคนต่างด้าวมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อที่จะไม่ต้องเกิดเป็นปัญหาถกเถียงกันในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าวอีกด้วย


นางสาวชนากานต์ เฉยทุม

เขียนเมื่อ : วันที่ 12 พฤษภาคม 2557


อ้างอิง

[1] แผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้านอาชีพ. แหล่งที่มา : http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-4/human_rights/06.html 12 พฤษภาคม 2557.

[2] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. แหล่งที่มา : http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf 12 พฤษภาคม 2557.

[3] รัฐธรรมนูญแหล่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550. แหล่งที่มา : http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Constitution2550.pdf 12 พฤษภาคม 2557.

[4] อาชีพต้องห้ามแรงงานต่างด้าว. แหล่งที่มา : http://www.oknation.net/blog/NVC/2011/02/26/entry-2 12 พฤษภาคม 2557.

หมายเลขบันทึก: 567789เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2014 00:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 00:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท