ชมรมนักแสวงหาคนคิดนอกกรอบ


          เช้าวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๗ ผมไปร่วมประชุมกับอาจารย์กลุ่มหนึ่ง นำโดย ศ. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ อาจารย์ด้านเวชศาสตร์ชุมชน แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นัดกันคุยเรื่องการขับเคลื่อน Transformative Learning ในหลักสูตรแพทย์ โดยประชุมที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

          ผมไปร่วมประชุมแบบงงๆ ว่าอาจารย์โรงเรียนแพทย์จากหลากหลายสถาบันกลุ่มนี้เขาจะทำอะไร เอกสารหลักการของโครงการวิจัยที่ส่งมาให้ก่อน ก็กว้างเวิ้งว้าง หาจุดโฟกัสไม่ได้ ชื่อสมาชิกในกลุ่มบางคน ก็เป็นนักชี้ปัญหา มากกว่านักแก้ปัญหา

          เมื่อไปถึงที่ประชุม ผมจึงเรียน ศ. สุรศักดิ์ว่าผมจะอยู่ร่วมประชุมถึง ๑๐.๓๐ น. เท่านั้น เพราะมีงาน อย่างอื่นที่ต้องทำ ผมไม่คิดว่าการประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใด

          แต่เมื่อใกล้เวลาเริ่มประชุม ผมก็ตกใจ ที่ ศ. นพ. ประเวศ วะสี เดินเข้ามาในห้องประชุม แล้วต่อมา นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ก็เข้ามา คนเต็มห้องประชุมของ มสช. ทีเดียว

          อ. หมอประเวศ แนะนำให้ทุกคนแนะนำตัวเองว่าทีความฝัน หรือแรงบันดาลใจอะไร อยากทำอะไร จึงมาเข้ากลุ่มนี้ ผมจึงได้ทราบว่า กลุ่มนี้รวมตัวกันมากว่า ๑ ปี เริ่มจากการประชุมที่ มศว. จัดโดย อ. ดร. นพ. สุธีร์ รัตนมงคลกุล ซึ่งผมได้ รับเชิญไปพูดเรื่อง การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ และ รศ. นพ. ชัชวาล ศิลปกิจ บรรยายเรื่อง Transformative Learning แล้วกลุ่มนี้ก็รวมตัวกัน เหนียวแน่น ประชุมกันเป็นระยะๆ เพื่อหาทาง ทำความเข้าใจ และดำเนินการประยุกต์ TE ซึ่งในวันนี้ นพ. สรรัตน์ เลอมานุวรรัตน์ แห่งศูนย์การศึกษา แพทยศาสตร์ รพ. มหาราชนครราชสีมา หนึ่งในสิงห์ CPIRD หรือ สบพช. ก็มาร่วมด้วย คนกลุ่มนี้ ได้รับเชิญ เข้าร่วม PMAC 2014 : Transformative Learning for Health Equity ด้วย

           ผมสรุปกับตัวเองทันทีหลังการแนะนำตัวเสร็จสิ้น ว่านี่คือชมรมคนขัดข้อง เสียงที่ก้องอยู่ในใจของ คนกลุ่มนี้คือ “ที่นี่ขัดข้องหนอ” พลังของความขัดข้อง นำไปสู่การแสวงหา นี่คือชมรมคนคิดนอกกรอบ

          ความขัดข้องในที่นี้คือ ความไม่พอใจการศึกษาแพทยศาสตร์ที่ตนเคยได้รับ และยังดำรงอยู่ (เป็นส่วนใหญ่) ในปัจจุบัน ที่เป็นการศึกษาแบบแยกส่วน เน้นมิติทางเทคนิก ขาดมิติของความเป็นมนุษย์

          ผมใช้วิชา Complex Adaptive Systems ตีความปรากฏการณ์นี้ทันที และสรุป (ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด) ว่า ในพื้นที่ที่ชัดเจน มีหลักการ เป้าหมาย และคุณค่าชัด สิ่งใหม่เกิดยาก แต่สมาชิกของกลุ่มนี้ทุกคนเริ่มจาก ความไม่พึงพอใจประสบการณ์ตรงของตน และแสวงหา และมีประสบการณ์นอกกรอบต่างแบบ เช่น จิตตปัญญาศึกษา แพทยศาสตร์ศึกษา จิตเวชศาสตร์ เวชศาสตร์ชุมชน เป็นต้น ได้เห็นว่าเส้นทางหลัก ของการศึกษาแพทยศาสตร์มีจุดอ่อน ที่น่าจะได้รับการเติมเต็ม หรืออาจต้องเปลี่ยนในระดับเปลี่ยนกระบวนทัศน์

          ที่จริงผมตีความเหตุการณ์ช่วงนี้โดยนำบันทึกเสียงมาฟังอีกครั้งหนึ่งที่บ้าน เพื่อ “จับความรู้ฝังลึก” ในสมาชิกของวง ทำความเข้าใจปรากฏการณ์เล็กๆ นี้ และสรุปว่า ผมได้เข้าใจความขัดแย้งระหว่างคนที่เรียนในระบบการเรียนรู้ที่เน้นวิชาการสุดๆ กับคนที่เบื่อระบบนี้ มีความทุกข์ที่ต้องเรียนในระบบนี้ และใฝ่ฝันหาระบบการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของผู้คน

          อ. หมอประเวศชี้ให้เห็นว่า TL เป็นระบบเล็ก ในเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ คือ Health for All หรือ Equity in Health และแนะยุทธศาสตร์ทำจากชายขอบไปสู่ศูนย์กลาง เน้นที่การเรียนรู้บูรณาการที่ชุมชน เอาชุมชน และชีวิตจริงเป็นฐาน เปลี่ยนจากการเรียนแบบเอาวิชาเป็นฐาน

          รศ. นพ. ชัชวาล ศิลปกิจ แนะให้ไม่หลงทางสู่เป้าหมายภายนอก และโดนกิเลสแผดเผา ทำให้ละเลย เป้าหมายภายใน ซึ่งเริ่มต้นที่การมีสติ ตรวจสอบตนเองได้

          ที่จริงสมาชิกที่มาร่วมประชุมหลายคนดำเนินการในแนวทางที่ได้รับคำแนะนำอยู่แล้ว โดยเฉพาะใน โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ดังกรณี อ. หมอสรรัตน์ ที่ผมเคยเล่าไว้แล้ว ที่นี่

          น่าเสียดายที่ผมต้องไปประชุมที่อื่นต่อ จึงไม่ได้อยู่ร่วมประชุมจนจบ และไม่รู้ว่าสรุปสุดท้ายกลุ่มนี้ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ตอนผมลุกออกมา อ. หมอสุธีร์ ลุกตามมาคุยด้วย ผมแนะให้สมาชิกแต่ละคน กลับไปทำ ณ ที่ตั้งของตน และขยายเครือข่ายให้กว้างขึ้น แล้วเอาประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เอาเรื่องราวดีๆ เป็นพลังขยายวง และเป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ที่มีวงอื่นดำเนินการอยู่ด้วย

          นักแสวงหามีอยู่ทั่วไป ที่บ้านผมมีหลายคน บางคนอายุ ๗๒ แล้ว ก็ยังแสวงหาอยู่อย่างไม่ลดละ

วิจารณ์ พานิช

๕ เม.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 567534เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2014 08:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2014 08:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบพระคุณครับ ผมได้ข้อคิดดีๆจากอาจารย์และที่ประชุมวันนั้นมากมาย

ผมอ่่านบันทึกนี้แล้ว รู้สึกอยากเขียนบันทึกได้อย่างอาจารย์บ้าง... 

ขอบคุณประสบการณ์ดีๆ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท