นักศึกษาแพทย์ออกค่ายอาสาในชนบทเพื่อปลูกฝังฝึกฝน social mind ให้แก่ตนเอง


best practice เล็กๆ ของการจัดการเรียนรู้สำหรับแพทย์แห่งศตวรรษที่ ๒๑

นักศึกษาแพทย์ออกค่ายอาสาในชนบทเพื่อปลูกฝังฝึกฝน social mind ให้แก่ตนเอง

วันที่ ๒๘ ก.ย. ๕๔ ผมไปบรรยายเรื่องสังคมแห่งการเรียนรู้และการอุดมศึกษาไทยใน ศตวรรษที่ ๒๑ ที่คณะแพทยศาสตร์ มข.  ทางผู้จัดงานได้เชิญอาจารย์แพทย์จากศูนย์แพทยศาสตร์ ศึกษา ของโรงพยาบาลศูนย์ในภาคอีสานมาร่วมด้วย   ทำให้ผมชื่นใจที่แพทย์ในสังกัดกระทรวง สาธารณสุข เอาใจใส่เรื่องราวของการจัดการเรียนรู้แก่นักศึกษาแพทย์อย่างจริงจัง

ตอนรับประทานอาหารเที่ยง อาจารย์จากศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาของกระทรวงสาธารณสุข เหล่านี้มาร่วมรับประทานด้วย   และ อ. หมอสรรัตน์ เลอมานุวรรัตน์ อาจารย์ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ และรองผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา  งานพัฒนาหลักสูตร  โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา  ได้ถามผมว่า การชักชวนนักศึกษาแพทย์ไปออกค่ายให้บริการผู้เจ็บป่วยร่วมกันในชนบท เข้าข่าย best practice เล็กๆ ของการจัดการเรียนรู้สำหรับแพทย์แห่งศตวรรษที่ ๒๑ หรือไม่   พร้อมกับมอบ วีซีดี บันทึกรายการของทีวีไทย มา ๑ แผ่น

ผมเอาวีซีดี มาดูที่บ้าน พบว่าเป็นบันทึกรายการใจเติมใจ  ของสถานีโทรทัศน์ Thai PBS  ไปถ่ายทำกิจกรรมค่ายอาสา ของนักศึกษาแพทย์ ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก รพ. มหาราชนครราชสีมา ครั้งที่ ๓๘ ที่สถานีอนามัยคลองม่วง อ. ปากช่อง นครราชสีมา ของนักศึกษาแพทย์ปี ๓ - ๖ กว่า ๑๒๐ คน   โดยมีอาจารย์จำนวนหนึ่งอาสาออกไปช่วยด้วย  พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ของสถานีอนามัย และ อสม. มาร่วม

ช่วงเช้าให้บริการผู้ป่วยที่สถานีอนามัย  ช่วงบ่ายออกเยี่ยมบ้าน   ไปดูแลและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คนแก่ และผู้พิการ   สิ่งที่นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้ นอกจากด้านเทคนิควิชาชีพแล้ว   ยังได้เรียนรู้จากตัวอย่างของอาจารย์ที่สละเวลาวันเสาร์ไปทำงานอาสาร่วมกับนักศึกษา   และได้เข้าใจความยากลำบากของชาวบ้าน

ดูวีดิทัศน์จบผมบอกตัวเองว่า ใช่เลย  นี่คือตัวอย่างของ best practice เล็กๆ ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ นศพ. เกิด 21st Century Skills   โดยทักษะที่ได้ฝึกฝนมากที่สุดคือ social skill   โดยเฉพาะทักษะในการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น   และการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน

ผู้ดำเนินรายการใจเติมใจ ทราบเรื่องกิจกรรมนี้จาก นพ. ศุภชัย ครบตระกูลชัย แพทย์จบจากคณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี และกำลังทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุนปี ๑ ที่จังหวัดเลย

นพ. สรรัตน์ เล่าให้ผมฟังว่า กิจกรรมออกค่ายนี้ทำติดต่อกันมาอย่างสม่ำเสมอทุกๆ ๒ เดือน   ครั้งต่อไปจะเป็นครั้งที่ ๔๓  เป็นกิจกรรมที่นักศึกษานิยมมาก   ท่านต้องการให้ผมช่วยดูวิดีทัศน์และให้คำแนะนำว่า

สิ่งที่ทีมงานของศูนย์แพทยศาสตร์ฯ น่าจะได้ทำ เพื่อเพิ่มคุณค่าของการเรียนรู้ให้แก่ นศพ.  คือช่วยกันระดมความคิดว่าต้องการให้กิจกรรมนี้ก่อการเรียนรู้ด้านใดบ้างแก่ นศพ.  โดยนอกจากระดมความคิดกันในกลุ่มอาจารย์แล้ว   ควรเชิญผู้เคยร่วมค่ายนี้ และจบเป็นแพทย์ออกไปทำงานแล้ว กลับมาให้ความเห็นด้วย   แล้วใช้เป้าหมายการเรียนรู้ที่ได้ เอามากำหนดกิจกรรมของค่าย เพื่อให้ได้การเรียนรู้เหล่านั้น

ความรู้อย่างหนึ่งที่ นศพ. ที่เข้าร่วมกิจกรรมควรได้รับ   คือสภาพของบริการสุขภาพชุมชน ซึ่งรวมไปถึงบทบาทของอาสามัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.)   รวมทั้ง สารสนเทศเกี่ยวกับสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บของประชากรในหมู่บ้านหรือตำบลที่ไปออกค่ายนั้น   เพื่อให้ นศพ. ได้เข้าใจว่า ความเจ็บป่วยที่ชาวบ้านเผชิญ   กับที่หมอพบในโรงพยาบาลขนาดใหญ่นั้น แตกต่างกันมาก

ผมมีความเห็นว่า เมื่อกลับมาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาแล้ว   ควรหาเวลาประชุมกันสัก ๒ ชั่วโมงเพื่อทำ AAR หรือ reflection การเรียนรู้จากกิจกรรมค่ายครั้งนั้นร่วมกัน   อันจะช่วยให้ทุกคนได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นจากที่ตนเก็บเกี่ยวได้   และจะช่วยให้การเตรียมจัดค่ายครั้งต่อไปพร้อมยิ่งขึ้น   คำถามใน AAR มี ๕ ข้อ  โดยแต่ละคนพูดสั้นๆ คนละไม่เกิน ๒ – ๓ นาที   และพูดออกมาจากใจ ไม่ต้องกังวลว่าผิดหรือถูก 

  1. ตนเองมีเป้าหมายอะไรบ้าง ที่ไปร่วมค่ายครั้งนี้ (มีหลายเป้าหมาย)
  2. เป้าหมายใดที่ได้มากเกินคาด หรือได้โดยไม่ได้คาดหมายไว้ล่วงหน้า   เพราะเหตุใด
  3. เป้าหมายใด ที่ได้ผลน้อย หรือไม่ได้เลย  เพราะเหตุใด
  4. จะเอาความรู้ที่ได้ส่วนใดบ้างไปใช้ประโยชน์ในชีวิตภายหน้า ใช้อย่างไร
  5. มีข้อแนะนำให้ปรับปรุงอะไรบ้าง สำหรับค่ายอาสาคราวหน้า

โดยกำหนดอาสามัครเป็น “คุณลิขิต”  ทำหน้าที่จดบันทึกสาระสำคัญ  เป็นความรู้สำหรับนำไปใช้งานต่อ  บันทึกจาก AAR ทุกครั้ง เข้าแฟ้มไว้อย่างดี สำหรับให้ทีมจัดค่ายครั้งต่อๆ ไปใช้ศึกษาเพื่อเตรียมงาน  และสำหรับให้อาจารย์เอาไปใช้ออกแบบการเรียนรู้สำหรับนักศึกษา   ให้นักศึกษาได้มีทักษะ “ความเป็นมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑” เพิ่มขึ้น

โดยสรุป ผมขอทำการบ้านส่ง อ. หมอสรรัตน์ว่า   กิจกรรมค่ายอาสาของนักศึกษาแพทย์ ตามแนวทางที่จัดอยู่นั้น เป็นตัวอย่างของ best practice เล็กๆ ตามแนวทางของการจัดการเรียนรู้สำหรับ นศพ. ในศตวรรษที่ ๒๑ อย่างแน่นอน   และมีลู่ทางที่จะขยายออกไปได้ เพื่อให้ นศพ. เกิดการเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เพิ่มขึ้นได้อีก  เช่นทักษะในการทำงานร่วมกับวิชาชีพอื่นด้านสุขภาพ   หากจะมีค่ายข้ามวิชาชีพ เป็นต้น

คุณค่าสำคัญอยู่ที่การจัดอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง

ขอเสนอให้เก็บข้อมูลทำวิจัยไปด้วยในตัว   ทั้งด้านระบาดวิทยาของความเจ็บป่วยในชนบท  ด้านการเปลี่ยนแปลงในจิตใจของ นศพ. ที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ  เป็นต้น

ผมขอแสดงความชื่นชมต่อ อ. หมอสรรัตน์  อาจารย์ท่านอื่นๆ  และนักศึกษาแพทย์ที่ริเริ่มกิจกรรมค่ายวันเสาร์นี้ขึ้น  ผมเชื่อแน่ว่ากิจกรรมนี้มีส่วนช่วยบ่มเพาะความเป็นแพทย์ที่มีจิตใจของความเป็นมนุษย์อย่างแน่นอน

วิจารณ์ พานิช

๑ ส.ค. ๕๔

                

หมายเลขบันทึก: 452037เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2011 10:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2014 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอขอบพระคุณอาจารย์อย่างสูงครับ ที่สละเวลาชี้แนะ

อาจารย์เขียนบทความชี้แนะหลังจากชมสารคดีชุดนี้ครับ

http://www.thaipbs.or.th/clip/index.asp?content_id=279944&content_category_id=1060

ขออนุญาต นำภาพ อาจารย์หมอสรรัตน์ มาเสริม ครับ(ภาพล่างครับ)

ขอบคุณอาจารย์ JJ มากครับ

นพ วีรพัฒน์ รพ ลำปาง

ผมมีแนวคิดอยากแลกเปลี่ยน ว่า นอกจากการตรวจรักษา แล้ว การจัดวงพูดคุย ซักถามเสวนา แนะนำความรู้ สมุนไพร ในการดูแลปัญหาสุขาพ ที่พบบ่อย และ นำตัวอย่างสมุนไพรพื้นบ้าน ไปให้ชาวบ้าน สัมผัส จับต้องได้

สำหรับ นศพ ก็เตรียมค้นคว้า และ ถามจาก content expert

ตัวอย่างคำถาม ผป.โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง จะมีผักสมุนไพร พื้นบ้านอะไร ที่เป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างสุขภาพ และมีงานวิจัยทาง phytochem อะไรบ้างแล้ว

หมุนเวียน เปลี่ยนเรื่องไป บางรอบ ก็โรคทางตับ สามารถใช้สมุนไพรอะไรได้บ้าง ในการดูแลสุขาพ ตั้งแต่ ตับอักเสบ จนถึง มะเร็งตับ

นอกจากนี้ เมื่อ ตั้งวง แลกเปลี่ยนจัดการความรู้แล้ว ก็ถามชาวบ้านว่า ใครมีประสบการณ์ดีดี การใช้สมุนไพร จะเล่าให้หมอฟังบ้าง

ผมไปลองทำงานอย่างนี้ที่ รพ สต เริ่มสะสมผป. ที่เคยทานยามายังควบคุมโรคไม่ได้ ผมเพียงแต่บอกว่า ลองทานผักข้างรั้วประจำ ร่วมกับทานยาไปด้วย สุดท้าย ผป.ยิ้มมาก ที่จะบอกหมอว่า ไม่ได้ทานยาหมอ เพราะมีอาการข้างเคียง จากยา และทานผัก ตามที่หมอแนะนำ และมีในบ้านอยู่แล้ว ไม่ต้องไปซื้อหา โรคเดิมก็ควบคุมได้ดีกว่าเดิมด้วย

ผมคิดว่า นศพ ทำงานในชุมชน ควรฉกฉวยความรู้ สากล และภูมิปัญญา ส่งเสริมการดูแลสุขภาพตนเอง อย่างยั่งยืน พึ่งตนเองได้

ทางร.พ.โคราช สนใจ รับหมออย่างผมไปทำงาน มั้ย ผมอยู่ที่ลำปาง ไม่ค่อยได่สอน นศพ. เท่าใด เลยไม่ค่อยสนุกครับ และงานแบบที่โคราชทำนี้ถือว่า ยอดเยี่ยมครับ

ขอขอบคุณอาจารย์วีรพัฒน์ มากครับที่ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจ ทำให้เห็นโอกาสพัฒนาในอนาคตครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท