HR-LLB-TU-2556-TPC-สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว : เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของคนต่างด้าว



(ที่มารูปภาพ : http://news.mthai.com/wp-content/uploads/2014/03/1...



          เนื่องจากประเทศไทยมีจุดเด่นในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติหรือสถาปัตยกรรมต่างๆ เป็นแหล่งลงทุนของนักธุรกิจหลากหลายรูปแบบ ปัจจุบัน จึงมีชาวต่างชาติ หรือในทางกฎหมาย เรียกว่าคนต่างด้าว เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เมื่อคนต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทยย่อมต้องมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน ในส่วนนี้ ประเทศไทยต้องรับรองสิทธิในเสรีภาพให้กับคนต่างด้าว แต่การรับรองสิทธิในเสรีภาพนั้น ย่อมมีการจำกัดขอบเขตในบางเรื่อง ไม่ได้มีทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนคนชาติ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงสิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าวในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

          เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น คือ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าโดยการพูด หรือการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน1 ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย2 มาตรา 45 บัญญัติว่า

          "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

          การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน"

          นอกจากรัฐธรรมนูญแล้ว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นยังปรากฏอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยผูกพันเช่นกัน คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 193 บัญญัติว่า

          "ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับและส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใดและโดยไม่คํานึงถึงพรมแดน"

          และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 194 บัญญัติว่า

          “1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง ”

          ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เนื่องจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นปรากฏในรัฐธรรมนูญ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจึงเป็นสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนมีและต้องได้รับการรับรองจากรัฐ ไม่ว่าบุคคลนั้น จะเป็นคนชาติของรัฐหรือเป็นคนต่างด้าว ก็ย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วยกันเสียทั้งสิ้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทยนั้นจะถูกกำจัดได้ก็ต่อเมื่อขัดต่อหน้าที่พลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่การจำกัดนั้นย่อมมีผลทั้งคนสัญชาติไทยและคนต่างด้าวเช่นเดียวกัน

           ส่วนสิทธิทางการเมือง คือ สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง (self-determination) ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐโดยตรง หรือใช้สิทธิเลือกตั้งบุคคลเข้าไปเป็นตัวแทนโดยปราศจากการแทรกแซงจากบุคคลอื่น การเลือกตั้งจึงต้องเป็นไปตามวาระ มีการออกเสียงโดยทั่วไปอย่างเสมอภาค และเป็นการลงคะแนนลับเพื่อประกันการแสดงเจตนาเสรีของผู้เลือก5 ปรากฎในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 16 บัญญัติว่า

          “1. ประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง โดยอาศัยสิทธิน้ัน ประชาชนจะกำหนดสถานะทางการเมืองของตนอย่างเสรี รวมท้ังดำเนินการอย่างเสรีในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตน ”

          สิทธิทางการเมืองนี้เป็นสิทธิที่ต่อมาจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเพื่อความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นรัฐเกือบทุกรัฐจึงจะถูกกำกัดไว้เฉพาะคนสัญชาติของรัฐเท่านั้น ในประเทศไทย คนสัญชาติไทยเท่านั้นที่จะมีสิทธิทางการเมือง คนต่างด้าวไม่มีสิทธิทางการเมือง มีเพียงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น

          กรณีศึกษาของคุณสาธิต เซกัล คุณสาธิต เซกัล มีสัญชาติอินเดีย คือเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย ได้เข้ามาทำงานเป็นที่ปรึกษาสิ่งพิมพ์ โฆษณา และสื่อต่าง ๆ อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าไทย-อินเดีย ซึ่งคอยเจรจาปกป้องผลประโยชน์ของไทยมาโดยตลอด นอกจากนี้ สาธิต เซกัล ยังเคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีในรัฐบาลกว่า 6 สมัย นับตั้งแต่รัฐบาลของนายชวน หลีกภัย, รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ7

          คุณสาธิต เซกัล ซึ่งเป็นแกนนำ กปปส. ในปัจจุบัน ได้ถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำผิดในข้อหาต่าง ๆ และถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แจ้งข้อหาไปที่ศรส. ศรส.จึงแจ้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเนรเทศนายสาธิตออกจากประเทศไทยโดยด่วน

          ประเด็นแรกที่ควรพิจารณาคือ คุณสาธิต เซกัลได้ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือสิทธิทางการเมือง เป็นที่ประจักษ์ว่า คุณสาธิต เซกัลได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองในการขับไล่รัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บนเวทีกปปส. ดังนั้น คุณสาธิต เซกัลได้ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นคนชาติหรือคนต่างด้าวย่อมสามารถใช้สิทธินี้ได้ แต่หากพิจารณาว่าคุณสาธิต เซกัลได้ใช้สิทธิในทางการเมืองหรือไม่นั้น ไม่มีข้อเท็จจริงที่ว่าคุณสาธิต เซกัลได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐโดยตรง หรือใช้สิทธิเลือกตั้งแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่มีการใช้สิทธิในทางการเมืองซึ่งเป็นสิทธิที่สงวนไว้เฉพาะคนชาติเท่านั้น จะเห็นได้ว่า คุณสาธิต เซกัลได้ใช้สิทธิที่ตนมีอยู่แล้ว ไม่ได้ใช้สิทธิเกินแต่อย่างใด

          ประเด็นต่อมาที่ควรพิจารณาคือ การเนรเทศคุณสาธิต เซกัลเป็นไปตามพระราชบัญญัติการเนรเทศหรือไม่ หากพิจารณาถึงพรบ.การเนรเทศ พ.ศ.2499มาตรา 58 บัญญัติว่า

          “เมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรมีกำหนดเวลาตามที่จะเห็นสมควร อนึ่ง เมื่อพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป รัฐมนตรีจะเพิกถอนคำสั่งเนรเทศเสียก็ได้”

          ซึ่งสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 139 บัญญัติว่า

          “คนต่างด้าวผู้อยู่ในดินแดนของรัฐภาคีแห่งกติกาน้ีโดยชอบด้วยกฎหมายอาจถูกไล่ออกจากรัฐน้ันได้โดยคำ วินิจฉัยอันได้มาตามกฎหมายเท่านั้น และผู้นั้นย่อมได้รับอนุญาตให้ชี้แจงแสดงเหตุผลคัดค้านการขับไล่ออกจากรัฐนั้น และขอให้มีการทบทวนเรื่องของตนโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ หรือบุคคล หรือคณะบุคคล ที่แต่งต้ังข้ึนเฉพาะการนี้ โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจโดยได้รับอนุญาตให้มีผู้แทนเพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้นได้ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลจำเป็นอย่างอื่นด้านความมั่นคงแห่งชาติ”

          กรณีของคุณสาธิต เซกัลไม่ใช่การเนรเทศตามพรบ.การเนรเทศ แต่เป็นการเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) ม.11(8)10 บัญญัติว่า

          "ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมาใช้บังคับโดยอนุโลม”

          กรณีของคุณสาธิต เซกัลนั้น ไม่ได้ถูกเนรเทศตามพรบ.การเนรเทศ แต่เป็นการให้ออกไปจากราชอาณาจักรตามพรก.ฉุกเฉิน ซึ่งโดยปกติแล้ว หากต้องการจะเนรเทศคนต่างด้าวบุคคลใด ย่อมต้องใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเนรเทศของรัฐนั้นๆ ในประเทศไทยก็คือพรบ.การเนรเทศ แต่การเนรเทศคุณสาธิต เซกัลไม่ได้ใช้พรบ.เนรเทศแต่อย่างใด แต่ใช้กฎหมายพิเศษที่มีขึ้นเพื่อสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้นในกรณีนี้ อาจต้องทบทวนเกี่ยวกับกฎหมายที่ใช้เนรเทศคนต่างด้าวอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้

          จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเป็นเป็นสิทธิมนุษยชน แต่สิทธิทางการเมืองได้ถูกจำกัดไว้ให้กับคนชาติเท่านั้น สำหรับกรณีของคุณสาธิต เซกัล ไม่ว่าจะเป็นการเนรเทศหรือเป็นการให้ออกจากราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจก็ควรปฏิบัติหน้าที่ไปตามขั้นตอน เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคุณสาธิต เซกัลตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ไทยเข้าผูกพันด้วย เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาต่อไปในอนาคต



จิดาภา รัตนนาคินทร์

6 พฤษภาคม 2557



1 สิทธิเสรีภาพ และหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญ. แหล่งที่มา : http://www.khonkaen.go.th/kk_km4/manual1.doc. 6 พฤษภาคม 2557.

2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. 2550. แหล่งที่มา : http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Consti... พฤษภาคม 2557.

3 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. แหล่งที่มา : http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/ud... 6 พฤษภาคม 2557.

4 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง. แหล่งที่มา : http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/ic... 6 พฤษภาคม 2557.

5 ณัชชมล แสนเรือง. 2554. สิทธิทางการเมือง. แหล่งที่มา : http://www.l3nr.org/posts/465847. 6 พฤษภาคม 2557.

6 อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 6 พฤษภาคม 2557.

7 สาธิต เซกัล ประวัติประธานหอการค้าไทย-อินเดีย ที่ถูก ศรส. เนรเทศ. 2557 . แหล่งที่มา : http://hilight.kapook.com/view/97452. 6 พฤษภาคม 2557.

8 ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช. 2557. ข้อพิจารณาทางกฎหมายระหว่างประเทศกรณีการเนรเทศคุณ สาธิต เซกัล. แหล่งที่มา : http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?... 6 พฤษภาคม 2557.

9 อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 4

10 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน. 2548. แหล่งที่มา : http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=... 6 พฤษภาคม 2557.

หมายเลขบันทึก: 567518เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2014 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท