ฉบับที่ ๐๐๙.๑ แถลงข่าว “เตือนภัยบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เสี่ยงมะเร็ง”


“เตือนภัยบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เสี่ยงมะเร็ง”

เมื่อวันที่ 28 เม.ย.57 ในการแถลงข่าว เรื่อง “เตือนภัยบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เสี่ยงมะเร็ง” จัดโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ สนับสนุนโดย: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ร่วมเป็นวิทยากรในการแถลงข่าวมีดังนี้

ผศ.ดร.ศรีรัช ลอยสมุทร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเปิดเผย สถานการณ์บริโภคยาสูบไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนอายุ 13-18 ปี ผลิตภัณฑ์ยาสูบไฟฟ้าในประเทศไทย ในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ประเภทหลักคือ 1) บุหรี่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ อิเล็กโทรนิกส์ 2) บารากุไฟฟ้า และ 3) ซิการ์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาสูบไฟฟ้าในปัจจุบันแพร่หลายอย่างรวดเร็ว มีจำหน่ายอย่างมากมายทั้งใน social network และตามแหล่งชอปปิ้ง หน้าห้างสรรพสินค้าทั่วกรุงเทพฯ โดยใน social network นั้นมีจำหน่ายแพร่หลายกระจายในทุกสื่อตั้งแต่ website, facebook, IG, line และ whatsapp โดยเฉพาะใน line นั้นพบมีการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบไฟฟ้ามากถึง 1300 ID ผลิตภัณฑ์ยาสูบไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีการโฆษณาชวนเชื่อมากที่สุดผ่านทางสื่อ social network มากมายเช่น vdo clip แนะนำการสูบผ่าน youtube สร้างความเชื่อผิดให้กระจายไปสู่ผู้สูบ ซึ่งจากการศึกษาสถานการณ์ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบ แปลงร่าง โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างอายุ 13-18 ปี วัยมัธยมต้นและปลาย จำนวน 2,426 ราย พบว่า เยาวชน 78% รู้จักบารากุไฟฟ้าเป็นอย่างดี 44% สูบบารากุไฟฟ้า และ 12% สูบบุหรี่ไฟฟ้า ในขณะเดียวกัน 42% ก็สูบบุหรี่ธรรมดาด้วย โดย 32% รู้จักบารากุไฟฟ้าจาก social network ต่างๆ 67% ซื้อบารากุไฟฟ้าด้วยตัวเอง และ18% ซื้อจากช่องทาง social network เหตุผลของนักสูบเยาวชนส่วนใหญ่ 83% มาจากความเชื่อผิดๆ และรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ที่หลอกลวง คือ เห็นว่าเป็นสิ่งน่าสนใจแปลกใหม่ เชื่อว่าสูบง่ายกว่าบุหรี่ ปลอดภัย ลองได้ไม่เสพติด

 

เภสัชกรคฑา บัณฑิตานุกูล เครือข่ายเภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่จริงหรือ โดยในปัจจุบันได้มีการเผยแพร่ข้อมูล เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่ามีความปลอดภัยมากกว่าบุหรี่ทั่วไป เนื่องจากบุหรี่ทั่วไปมีสารพิษที่เป็นอันตรายหลายชนิดรวมกันมากกว่า 6,000 ชนิด ในขณะที่บุหรี่ไฟฟ้ามีเพียงแค่สารนิโคติน จึงทำให้ผู้สูบบุหรี่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น จากการศึกษาและงานวิจัยพบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณสารนิโคตินสกัดเข้มข้นสูงกว่าสารนิโคตินจากใบยาสูบที่อยู่ในบุหรี่ทั่วไปอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดการเสพติดได้ง่ายมากขึ้น จากวิธีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ต้องมีการหยดน้ำยานิโคตินลงไปในกระบอกสูบ ซึ่งทำให้การควบคุมปริมาณนิโคตินเข้มข้นได้ยาก ก่อให้เกิดการได้รับนิโคตินในปริมาณที่สูง ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากสารนิโคตินนั้นมีผลทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นหรืออาจส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ยังพบว่าเมื่อมีการเผาไหม้ สารโพรไพลีน ไกลคอล (propylene glycol) ที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า จะเกิดสารตกค้างที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ ซึ่งมีการเผยแพร่ข้อมูลว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพช่วยในการเลิกบุหรี่ได้ แต่จากการทบทวนเอกสารทางวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่ต่ำและไม่ชัดเจน เนื่องจากมีงานวิจัยที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพของบุหรี่ไฟฟ้ากับแผ่นแปะนิโคตินในการช่วยเลิกบุหรี่ จากการทบทวนงานวิจัยนี้ พบว่าการศึกษานี้ไม่มีความน่าเชื่อถือทางวิชาการ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนน้อยและมีการถอนตัวขณะทำงานวิจัย จึงทำให้ผลที่ได้ไม่สามารถนำมาเป็นข้อสรุปได้ และยังมีงานวิจัยที่พบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการช่วยเลิกบุหรี่ มีผลทำให้การสูบบุหรี่ธรรมดาลดลง แต่ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยจะต้องการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในปริมาณมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงการติดบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น

 

 ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

กล่าวถึง ผลต่อสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจากการศึกษาวิจัยที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พบว่า การเสพบุหรี่ไฟฟ้ามิได้ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ใช้จริงตามที่มีกระแสปลุกปั่นทางการตลาดอย่างรุนแรงในปัจจุบัน แม้จะพบว่าบุหรี่ชนิดนี้มีปริมาณสารพิษต่อร่างกายมนุษย์ที่น้อยกว่าบุหรี่ก้นกรองทั่วไปก็ตาม แต่ก็ยังพบสารก่อมะเร็งหลายๆชนิด เช่น ไดเอธิลีนไกลคอล ตะกั่ว แมงกานีส สังกะสี ปรอท สารหนู แคดเมียม ในปริมาณที่สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้หากใช้อย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแค่นั้น การศึกษาวิจัยยังพบอีกว่า การเสพบุหรี่ชนิดนี้สามารถลดสมรรถภาพปอดและการหายใจได้เฉกเช่นเดียวกันกับบุหรี่ทั่วไป งานวิจัยล่าสุดจากการทำงานร่วมกันของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งของสหรัฐอเมริกายังพบอีกว่า เซลล์ของมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมและกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดในบุหรี่ก้นกรอง แม้ได้สัมผัสควันบุหรี่ไฟฟ้าเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ ควันของบุหรี่ชนิดนี้ยังสามารถเกาะที่พื้นผิววัสดุต่างๆ รวมทั้งผิวหนังของมนุษย์ แล้วเกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องกับสารพิษหรือมลพิษชนิดอื่นๆที่มีอยู่แล้วในอากาศจนเกิดเป็นสารก่อมะเร็งได้ในที่สุด ส่วนผลต่อสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาวนั้นยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย ดังนั้น จึงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า บุหรี่ไฟฟ้ามิได้ปลอดภัยจริงอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อกันในขณะนี้ เพียงแต่ว่าเรายังรู้จักพิษภัยของมันไม่มากพอเท่านั้นเอง

 

คุณเศรณีย์ จุฬาเสรีกุล กลุ่มพัฒนาภารกิจกฎหมาย

สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวถึง มาตรการทางกฎหมายสำหรับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายหลายฉบับ กรมควบคุมโรค จึงได้ประสานความร่วมมือกับ กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมสรรพสามิต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมกระบวนการนำเข้ามาในราชอาณาจักร และการแพร่หลายของบุหรี่ไฟฟ้าทางอ้อม ดังนี้ 1) ฐานนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง เข้ามาในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 2) ฐานช่วยซ่อนเร้น จําหน่าย พาเอาไปเสีย ซื้อ รับจํานํา หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตน รู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจํากัด หรือของต้องห้าม หรือที่เข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังมิได้ผ่านศุลกากร หรือโดยหลีกเลี่ยงอากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ 3) ฐานประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยไม่ได้จดทะเบียน การประกอบธุรกิจ ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 27 กรณีที่เป็นการจำหน่ายทางเว็บไซต์ และ 4) ฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลาก หรือมีฉลากแต่ฉลากไม่ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 30 , 31 แต่ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขกฎหมาย ให้ครอบคลุมบุหรี่ไฟฟ้าในทุกมิติต่อไป

นอกจากนี้ รศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าบางชนิดที่ผลิตหรือจำหน่าย โดยมีลักษณะรูปร่างเลียนแบบบุหรี่ ยังถือเป็นการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 มาตรา 10 คือ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อขาย หรือเพื่อจ่ายแจก เป็นการทั่วไป หรือโฆษณาสินค้าอื่นใดที่มีรูปลักษณะทำให้เข้าใจได้ว่า เป็นสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ประเภทบุหรี่ซิกาแรต หรือบุหรี่ซิการ์ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

เว็บไซต์ที่เผยแพร่: http://trc.or.th/th/

ข่าวที่ปรากฏ: http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000047230

รติกร เพมบริดจ์ adminGo to know ศจย. [email protected]

หมายเลขบันทึก: 567059เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2014 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2014 12:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

     ความรู้ดีดีทั้งนั้นเลยนะคะ  ... ขอบคุุณค่ะ





น่ากลัวมากเลยครับ

ลงชุมชน

พยายามให้ชุมชน

ลดการสูบบุหรีเหมือนกันครับ

แต่ต้องใช้เวลามากๆ

...ขอบคุณบันทึกที่ดีมีประโยชน์มากๆนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท