มนุษย์เราจะทำอะไรตามความเคยชินเมื่อเกิดอุบัติเหตุ


การทำให้มั่นใจว่าเราจะควบคุมสติและมีความรอบคอบในการปฏิบัติงานภายใต้ความกดดันต่างๆโดยเฉพาะเรื่องเวลาจำกัดได้อย่างผิดพลาดน้อยที่สุด

มนุษย์เราจะทำอะไรตามความเคยชินเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

            มนุษย์เราจะทำอะไรตามความเคยชินเมื่อเกิดอุบัติเหตุ  เกิดเหตุการณคับขัน เพราะเมื่อเราตกใจกับเหตุการณ์ เราอกสั่นขวัญแขวน ทำให้เราขาดสติ  ขาดสมาธิคิดวิเคราะห์ หรือแม้นกระทั่งการขาดความจดจ่อ หรือใจลอย เพราะขาดความใส่ใจ หรือการล้าของร่างกายก็มักเป็นไปได้ทั้งหมด

          ขอยกตัวอย่างประกอบการอธิบายจะช่วยให้เข้าใจง่ายแล้วกันนะครับ  ในเรื่องของการปฏิบัติการบิน  มีข้อปฏิบัติว่านักบินจะต้องมีชั่วโมงบินกับอากาศยานชนิด(Type)หนึ่งๆได้ระดับหนึ่ง ถึงจะมีคุณสมบัติที่จะได้เป็นผู้ช่วยกับตันในเครื่องแบบนั้นๆ และจะต้องมีชั่วโมงบินมากขึ้นไปอีกโดยนับเฉพาะเครื่องแบบชนิดเดียวกัน เพื่อจะได้เป็นนักบินในเครื่องชนิดที่ว่านี้   เพราะมีการพิสูจน์มาแล้วว่าเมื่อเกิดสภาวะไม่ปกติ มนุษย์เราหรือนักบินจะทำตามขั้นตอนที่ได้ปฏิบัติมาในระยะเวลานาน หรือมีชั่วโมงบินมากก่อน นี่เป็นสาเหตุให้นักบินที่เริ่มเป็นนักบินแรกๆจึงมักจะไม่เปลี่ยนชนิดหรือแบบเครื่องอากาศยานบ่อยๆ  บินเครื่องชนิดไหนก็จะพยายามทำจำนวนชั่วโมงบินชนิดเดิมๆให้สูงขึ้นไปก่อน

          ครับต่างชาติเขาพิสูจน์มาแล้วจึงตั้งกฏการบินออกมาแนะนำว่า นักบินที่ปฏิบัติการบินกับเครื่องบินแบบหนึ่งๆอยู่เป็นประจำ ก็ไม่ควรไปขับเครื่องบินแบบอื่นๆสลับไปสลับมา เพราะการขับเครื่องบินแบบที่ตนถนัดมาระยะหนึ่ง ทำให้มั่นใจว่า ถ้าคุณขับเครื่องที่ถนัดอยู่ เมื่อเกิดภาวะไม่ปกติโอกาสในการปฏิบัติตามขั้นตอนฉุกเฉินของเครื่องบินแบบนั้นๆได้ถูกต้องนั้น มีโอกาสทำได้ถูกสูง นั่นคือความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดน้อยลง เพราะ การเปลี่ยนเครื่องแบบชนิดต่างๆกลับไปกลับมาจะทำให้โอกาสเกิดความผิดพลาดเพราะเราทำความเคยชินนี่เองครับ อันนี้คือประโยชน์ของการทำได้และทำทันที แต่ไม่ถึงกับหุนหันพลันแล่นนะครับ เพราะความหุนหันพลันแล่นนั้นจะมีเรื่องอารมณ์ที่มากระทบจิตใจด้วยซึ่งตอบสนองด้วยโมหะ โทสะ หรือทำตามอารมณ์เป็นหลัก

            แปลกแต่จริงว่ามนุษย์ถ้าถูกฝึกให้ทำอะไรซ้ำๆแล้วเมื่อเกิดภาวะไม่ปกติ หรืออุบัติการ์ณใดๆสิ่งที่จะทำอย่างแรกคือทำแบบที่เคยทำมา เช่น เราขับรถเปิดไฟฉุกเฉินที่ติดตั้ง ณ ตำแหน่งไหนของรถที่เราใช้ประจำ พอมาขับรถคันอื่นกรณีขับตามคันหน้าไปเรื่อยๆเป็นระยะทางยาวๆ แล้วคันหน้าเกิดเบรคกระทันหันเราก็มักจะเอื้อมมือไปเปิดไฟฉุกเฉิน ณ ตำแหน่งของรถคันเดิมของเรา ใช่ไหมครับ  หรือบางกรณี ผู้เล่าได้ขับรถยุโรปซึ่งมีก้านยกเลี้ยวและก้านปัดน้ำฝน  อยู่ทางซ้ายมือของพวงมาลัย ซึ่งจะอยู่คนละฝั่งกับรถญี่ปุ่น ที่เราขับจนชิน ปรากฏว่ามีอยู่หลายครั้ง เมื่อการจราจรหนาแน่น รถเบียดเสียดหลายทิศทางวิ่งกันขวักไขว่เดี๋ยวมีรถคันอื่นๆแซงซ้ายขวา  ถ้าเราอยู่ภายใต้ภาวะความกดดันแบบนี้ โอกาสที่เรามักจะยกเลี้ยวผิดด้าน กลายเป็นไปเปิดที่ปัดน้ำฝน เพราะรถยุโรปที่ปัดน้ำฝนอยู่ทางขวา เป็นไปได้หลายๆครั้ง คือเมื่อขับปกติเราจะคิดก่อนทำ คือ เมื่อเราจะยกเลี้ยว ใจเราก็คิดแล้วว่าจะยกแต่ลืมคิดไปว่าก้านยกเลี้ยวรถคันนี้ อยู่ทางซ้ายนะ พอขาดสติ(รับรู้ว่ารถคันนี้มีตำแหน่งก้านเลี้ยวอยู่ทางซ้าย) ทำไปโดยความเคยชิน หรือทำไปโดยอัตโนมัติ  แล้วใจมันคิดเร็ว ไม่ทันคิดให้รอบด้าน จึงสั่งให้สมองส่งคลื่นสัญญาณไฟฟ้า ด้วยคำสั่งยกมือด้านขวา ไปที่เส้นประสาทในก้านสมอง (ก้านสมองมีเส้นประสาท 12 คู่ทำหน้าที่รับสัญญาณไฟฟ้าจากสมองไปยืดหดเส้นเอ็นตามร่างกาย จึงทำให้เคลื่อนไหวร่างกายได้) จึงทำให้ทำผิดพลาดหรือผิดด้านได้นั่นเอง  แสดงว่าเมื่อเราขาดสติ เราจะคิดได้ไม่รอบคอบ จึงทำให้เกิดความเสี่ยงในการทำผิดพลาดสูงขึ้นได้นั่นเอง 

     

             ในหลายๆกรณีข้างต้น จึงตอบโจทย์ที่ว่า เหตุใดเราจึงต้องฝึกซ้อมการปฏิบัติฉุกเฉินในบริบทที่แตกต่างกัน เป็นประจำตามรอบระยะเวลา  ยิ่งถี่ยิ่งบ่อยยิ่งดี  เพราะว่าท่ามกลางภาวะไม่ปกติเราจะทำตามความเคยชิน หรือทำตามการปฏิบัติที่เคยได้ปฏิบัติมาก่อนอื่น  ซึ่งเมื่อการซ้อมทำได้ดี และถูกต้องปลอดภัย ก็จะทำให้มั่นใจว่าเราจะควบคุมสติ และมีความรอบคอบในการปฏิบัติงานภายใต้ความกดดันต่างๆโดยเฉพาะเรื่องเวลาจำกัด  ได้อย่างผิดพลาดน้อยที่สุด  และนี่คือหัวใจนักกีฬาในการฝึกซ้อมเพื่อลดโอกาสความผิดพลาด เพราะในสนามซ้อมนั้น เรามีโอกาสและมีเวลามากพอให้ทบทวน วิเคราะห์ความผิดพลาด หาวิธีแก้ปัญหาแบบยั่งยืนที่สาเหตุได้ ต่างจากการปฏิบัติงานจริง ที่ต้องใช้เทคนิคการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะต้องแก้ให้รวดเร็ว ดี และปลอดภัยด้วย

       กฏจราจรเราใช้ในประเทศ เราปลูกฝังได้ที่จะขับรถให้ชิดซ้าย เพื่อพลเมืองประเทศเราปลอดภัย แต่ทางอากาศเราใช้สนามบินร่วมกันทุกประเทศ  บินขึ้นจากประเทศหนึ่งไปลงยังอีกประเทศหนึ่ง   การพบเจอหรือเห็นสิ่งต่างๆเป็นแบบใดมนุษย์ย่อมคุ้นเคยสิ่งที่เป็นแบบเดียวกัน  ทำให้การปฏิบัติต่างๆจะมีความผิดพลาดน้อยที่สุด   เพราะมนุษย์มักจะทำตามคุ้นเคยติดตัวมา  ดังนั้นการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆด้านการบินจึงพยายามทำให้เหมือนกันทั้งโลก เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจผิด  ป้องกันการสับสน  

         เหมือนเรายอมรับว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่เป็นทางการ การไม่ยอมรับก็เหมือนเราพยายามขับรถพวงมาลัยซ้าย ในประเทศที่เดินรถในช่องทางซ้าย เจอเลนสวนกันจะแซงก็ดูรถที่สวนมาอีกด้านไม่ถนัด จะดูที่สวนมาทางขวา ก็ต้องหักเลี้ยวจนด้านขวาของรถยื่นออกมาเกินครึ่งหนึ่งของความกว้างรถ  ถึงจะมองเห็น  ไม่ถนัดและไม่ปลอดภัย  เราจึงยินดีที่จะรอรถจากบริษัทผู้ผลิต  รอออเดอร์รถจากคนไทยจำนวนหนึ่ง  แล้วผู้ผลิต ดำเนินการผลิตรถยุโรปพวงมาลัยซ้ายมาขายให้คนไทย  อย่างไรความปลอดภัยก็ต้องมาก่อน ธุรกิจค้าขาย 

        หลายอย่างที่เราเจอมักบอกว่า ป้ายบางป้ายเอาออก หรือ ไม่มีเสียยังดีกว่ามีแล้วทำให้สับสน เรื่องป้ายบอกทางขับ ICAO ยังต้องพรางป้าย หันป้ายเบี่ยงทิศทาง หรือหาอะไรมาคลุมป้าย ดีกว่าปล่อยไว้ทำให้สับสนเกิดอันตราย เป็นความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้หรือ Unexceptable Risk  คือเราหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้นั่นเอง  เหล่านี้ผมว่าเป็นความงดงามที่บริการของรัฐและทุกรัฐทุกประเทศตั้งใจออกแบบการบริการให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ไม่ทำให้ใครก็ตามที่มาจากประเทศอื่นๆสับสนและได้บริการที่เท่าเทียมและมีมาตรฐานโลกแบบเดียวกันครับ

การทำความเคยชินก็คือการทำตามจิตสำนึก

        สิ่งที่เราภูมิใจและเป็นพลังไฟในการปฏิบัติงานประจำของเราก็คือ เราเป็นผู้สำนึกรับผิดชอบงานที่ทำ ทำจนทราบว่าการปฏิบัติไม่ครบถ้วนการละเลยไม่ปฏิบัติบางขั้นตอนส่งผลกระทบอย่างไร ต้องเน้น ป้องกัน ระวัง ตรงขั้นตอนใดให้ดี เข้าใจงานและสามารถอธิบายเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และขั้นตอนการปฏิบัติงาน ได้ตั้งแต่ต้นจนจบและสามารถทราบถึงผลกระทบต่อฝ่ายอื่นๆและมีวิธีการแก้ไขหากเกิดปัญหาที่พบบ่อย และเรียนรู้ตลอดเวลาที่จะหา วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดนำมาประยุกต์ใช้กับงานให้ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ดังนั้นการปลูกจิตสำนึกที่ถูกต้อง ทำให้ผลผลิตที่ได้มีเสถียรภาพที่ดี เพราะการทำงานผิดพลาดน้อยหรือไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นเลยนั่นเอง  นี่เป็นสิ่งที่ท้าทายความรู้ความสามารถ องค์กรต่างๆจึงนำ ระยะเวลาการทำงาน ที่ปราศจากอุบัติเหตุและอุบัติการณ์มาทำการประชาสัมพันธ์  ในที่สาธารณะ ว่าเราได้ปฏิบัติงานมาแล้วทั้งหมด กี่วัน กี่วันแล้วที่ยังไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเลย ให้พนักงานในองค์กรเกิดความภาคภูมิใจและเกิดกำลังใจ ที่จะรักษาระดับความสามารถในการปฏิบัติงาน ในส่วนของตนเองและทีมเวิร์คให้ดีที่สุด เกิดความสุขจากการที่ได้ตั้งใจ มุ่งมั่น ร่วมมือร่วมใจปฏิบัติงานด้วยความสามัคคีกันมากเท่านั้น 

              การทำตามความเคยชิน หรือจิตใต้สำนึกสั่งให้ทำ คือการทำตามใจคิด หรือทำตามความคิดแรกออกมา  เหมือนกับเราเคยขับรถไปในสถานที่ๆหนึ่ง และต่อมาเมื่อต้องเดินทางไปอีกในภายหลัง โอกาสในการไปได้ถูก ขับรถถูกทิศถูกทางก็มีเพิ่มขึ้น  ซึ่งถ้ากระทำบ่อยๆความจำ(ถนนและสภาพแวดล้อม) นั้นอาจกลับกลายเป็นจิตใต้สำนึกไปเสียอีก เพราะทำตามความเคยชิน ไปแล้ว เหมือนเวลาเราคิดอะไรเพลินๆสติไม่ได้อยู่กับการขับรถ เวลาเราต้องการขับรถออกนอกเส้นทางเดิมๆที่เคยขับกลับบ้านเป็นประจำ ดันลืมเลี้ยวไปที่หมายใหม่ การควบคุมการเคลื่อนไหวยังคงใช้จิตใต้สำนึกขับไปทางเดิมที่เคยจำไว้แล้วใน Long Term Memories เสียนี่ ทีนี้พอสติหรือจิตเหนือสำนึกกลับมาที่ตัวเรา เลยทราบว่าผิดทาง ซึ่งถ้าไม่กลับมายังใจลอยไปกับเรื่องอื่นหรือคนข้างๆชวนคุย พอสติกำหนดรู้กลับมานึกขึ้นได้ นั่นคือผู้ที่ขับเลยไปจากจุดหมายเยอะ ก็ได้แต่หัวเราะๆแหะๆกลบเกลื่อนแล้วบอกขอโทษที ลืมไปเพราะปกติขับอยู่แต่ทางกลับบ้านทางนี้ เพราะฉนั้นอะไรที่เราทำเป็น ภปจ หรือภารกิจปฏิบัติประจำ ก็ไม่ต้องโน้ตเตือนความจำ แต่เมื่อใดที่ต้องปฏิบัติภารกิจที่เป็นครั้งคราวหรือแตกต่างจากปกติ เช่น แวะร้านซักรีดก่อนกลับบ้าน พรุ่งนี้มีประชุมเช้า เราจึงต้องโน้ตเตือนเพื่อไม่ให้เราทำตาม ความเคยชินนั่นเองครับ

หมายเลขบันทึก: 566968เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2014 05:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2014 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ความรู้มากเลยครับ

ถ้าจราจรเป็นระบบสากล

คงไม่น่ากลัวนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท