dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

พฤติกรรมติดจอคืออะไรทำไมต้องพูดถึง


พฤติกรรมติดจอคืออะไรทำไมต้องพูดถึง

        ปัจจุบันมีการพูดถึงภาวะของคนที่ติดจอกันมาก ติดจอที่พูดถึงกันโดยทั่วไปคือจะไปทางไหนก็มีแต่คนนั่ง ยืน เดินก้มหน้าแทบจะติดกับหน้าจอสี่เหลี่ยมในมือถือ พฤติกรรมที่กล่าวทุกคนเข้าใจตรงกันและเรียกกันว่าเป็นสังคมก้มหน้า การที่คนส่วนมากหมกมุ่นอยู่กับเทคโนโลยีตลอดเวลาจนเกิดภาวะติดจอซึ่งจะส่งผลกระทบหลายๆอย่างทั้งส่วนตัวและสังคม จากเรื่องดังกล่าวทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะได้จัดกิจกรรมรู้ทันภาวะติดจอ ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ได้สรุปว่าอาการภาวะติดจอนั้นสังเกตง่ายๆคือทุกๆ 15 นาทีจะต้องหยิบมือถือมาเช็กตลอดเวลาว่ามีใครไลน์หรือเมนต์ข้อความมาไหม หากไม่มีใครติดต่อมาก็จะเป็นคนติดต่อเอง ใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือมากกว่าสนทนากับคนรอบข้าง โพสต์รูปและความรู้สึกลงในสื่อออนไลน์ตลอดเวลา วันละหลายครั้ง ต้องหมั่นเช็กว่ามีเหตุการณ์อะไรอัพเดตใหม่ๆ หรือเกิดอาการหงุดหงิดและกระวนกระวายทุกครั้งที่อยู่ในสถานที่อับสัญญาณอินเทอร์เน็ต หากมีอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณแสดงว่าคนคนนั้นเป็นโรคติดจอ หรือคนที่มีอาการติดจออาจใช้แบบทดสอบเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมอาการติดจอดังนี้

1 ตื่นเช้ามาสิ่งแรกที่ต้องทำหลังจากปิดเสียงปลุกคือ เช็ก Line Whatsapp Facebook Instagram

2 เข้าห้องน้ำ แปรงฟัน ล้างหน้า นั่งชักโครก ต้องพกมือถือเข้าไปด้วยทุกครั้ง

3 กระวนกระวายเหมือนชีวิตขาดหาย ถ้าวันไหนไม่ได้บริหารนิ้วด้วยการ Chat

4 เวลากินข้าวเอามือถือวางไว้ข้างจานเสมอ

5 แค่ลืมมือถือไว้บ้านเล่นเอาหมดความมั่นใจไปเลย

6 รู้สึกเหงา ว่าเหว่ อ้างว้าง ไม่มีใครรัก ถ้าไมมีใคร Line มาหรือ Whatsapp หาหลายชั่วโมงติดต่อกัน

7 หงุดหงิดทุกครั้งที่ต้องปิดมือถือ

8 ปิ๊ปเมื่อไหร่ต้องใส่ใจทุกครั้ง ทุกโซเชียลเน็ตเวิร์กต้องตั้งค่าให้มีเสียงเตือน และหยิบมือถือมาดูทันทีที่ได้ยินเสียง

9 ช่างไลค์ช่างเลิฟ ใส่ใจไปซะทุกอย่าง ไม่ว่าใครจะโพสต์อะไรขอให้ได้เข้าไปกดไลค์ เปรียบเสมือนการลงชื่อรับทราบว่าฉันได้เห็นแล้วนะ

10 แชร์ทุกอย่างที่แชร์ได้ ไม่อัพเดตสเตตัส แต่คอยแชร์คำคมจากเว็บดังหรือคลิปวิดีโอใหม่ๆที่กำลังอยู่ในกระแส

11 เช็กอินทุกย่างก้าว รายงานให้โลกรู้ด้วยการเช็กอินทุกสถานที่ที่ได้ไปเยือน

12 เช็กความเคลื่อนไหวในโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ตลอด หยิบมือถือมาดู News Feed ใหม่ๆ ทุก 5-10 นาที

13 บริโภคไลค์เป็นอาหาร คอยเช็กฟีดแบ็กทุกครั้งหลังจากโพสต์รูปหรือข้อความลงโซเชียลเน็ตเวิร์ก

14 ก่อนรับประทานอาหารจานโปรดต้องถ่ายรูปอัพขึ้นเฟส

15 ว่างเมื่อไหร่ต้องคุกกี้รัน ติดเกมในโซเชียลเน็ตเวิร์กจนไม่เป็นอันทำอะไร

16 ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กแทนการยกหูโทรแม้เมื่อมีธุระสำคัญ

17 อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ต่ำกว่าวันละ 8 ชั่วโมง

18 อยู่บ้านต้องเปิดทีวีไว้ตลอดเวลาแม้ว่าจะไม่ได้ดู

       จากที่กล่าวทั้งหมด18 ข้อหากตอบว่าใช่ตั้งแต่ 15 ข้อขึ้นไป แสดงว่ามีพฤติกรรมติดจอ แต่หากตอบใช่ไม่เกิน5 ข้อแสดงว่าอยู่ในภาวะปกติ

       นอกจากภาวะติดจอแล้วยังมีพฤติกรรมที่มาควบคู่กันคือพฤติกรรมฟับบิ้ง(Phubbing)หรือการเมินเฉยต่อคนรอบข้าง เช่น ในสถานการณ์ที่เรากำลังไปรับประทานอาหารกับเพื่อน กับครอบครัว กับญาติพี่น้อง หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือ แต่กลับใช้ในเวลานั้นๆ โดยไม่สนใจการสนทนาหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อย่างการไปรับประทานอาหารด้วยกันที่เรามักเห็นกันตามร้านอาหารกับเพื่อน กับครอบครัว กับญาติพี่น้องก็ยังใช้โทรศัพท์มือถือโดยไม่สนใจที่จะสนทนาหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรือการใช้โทรศัพท์มือถือในสถานการณ์ที่ทำให้บุคคลที่อยู่ด้วยกันรู้สึกไม่ดีก็เรียกว่าเป็นพฤติกรรมฟับบิ้ง ยังมีผลกระทบอีกที่จะกล่าวคือการมีผลไม่ดีต่อสุขภาพทำให้ปวดเมื่อยร่างกาย นิ้วล็อก เกิดปัญหาสายตา เช่น ปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า สายตาสั้น หรือผลข้างเคียงอื่นๆอาจเป็นผลทำให้อารมณ์หงุดหงิดง่ายและใจร้อน เป็นต้น ดังนั้นเทคโนโลยีมีประโยชน์ต่อมนุษย์ถ้ารู้จักใช้อย่างรู้เท่าทัน และใช้อย่างฉลาดไม่เช่นนั้นเราจะตกเป็นทาสของวัตถุไม่ว่าวัตถุอะไรก็ตาม เราจะต้องรู้เวลาและสถานการณ์ที่ใช้อย่างเหมาะสมและจำเป็นจึงจะเกิดเป็นผลดีและเป็นคุณประโยชน์ต่อตนเอง สังคมและประเทศชาติต่อไป

หมายเลขบันทึก: 566712เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2014 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2014 11:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท