ปวดท้องโรคกระเพาะโดย อ.พญ.ฉัตต์มณี เลิศอุดมผลวณิช


ปวดท้องโรคกระเพาะ โรคฮิตของวัยรุ่น

    สังคมในปัจจุบันเป็นสังคมที่มีความเร่งรีบ และมีค่านิยมในการรับประทานอาหารที่แตกต่างจากในอดีต ทำให้อาการปวดท้อง ไม่สบายท้อง อาหารไม่ย่อย หรือ dyspepsia เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดอย่างหนึ่งในเวชปฏิบัติ และมักพบได้ทุกวัยโดยเฉพาะวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนมากมีอาการเป็นครั้งคราว ไม่รุนแรง แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดเป็นโรคร้ายแรงจนต้องมาพบแพทย์

   สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการปวดท้อง ไม่สบายท้องของเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ เกิดจากโรคกระเพาะแปรปรวน หรือ โรคกระเพาะชนิดไม่มีแผล ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ แสบ หรืออึดอัดไม่สบายท้อง จุกเสียดหลังรับประทานอาหารแล้วรู้สึกอิ่มเร็วกว่าปกติ คลื่นไส้อาเจียน มักไม่พบความผิดปกติเมื่อทำการตรวจร่างกาย หรืออาจกดเจ็บบริเวณลิ้นปี่เพียงเล็กน้อย โรคกระเพาะกลุ่มนี้ถ้าได้รับการส่องกล้องดูภายในกระเพาะอาหาร มักพบว่าผิวเยื่อบุกระเพาะอาหารปกติหรือมีการอักเสบเพียงเล็กน้อย และไม่มีแผลในกระเพาะอาหาร

     สาเหตุของโรคกระเพาะแปรปรวนยังไม่ทราบชัดเจน แต่เชื่อว่าเกิดจากกลไกหลายอย่าง ได้แก่ การหลั่งกรดในกระเพาะอาหารในปริมาณมากกว่าปกติ การรับรู้สิ่งกระตุ้นไวกว่าปกติ ความผิดปกติของฮอร์โมนในทางเดินอาหาร รวมถึงการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของกระเพาะและลำไส้เล็กส่วนต้น โดยมีสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการแย่ลง เช่น ความเครียดทางกายและจิตใจ 

   การรับประทานอาหารบางประเภท เช่น อาหารมัน อาหารรสจัด แอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังมีโรคอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องคล้ายโรคกระเพาะแปรปรวน ได้ เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นจากสาเหตุต่างๆ เช่น ยาแก้ปวด การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร (Helicobactor pylori) โรคกรดไหลย้อน หลอดอาหารอักเสบ โรคนิ่วในถุงน้ำดี มะเร็งกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหาร เป็นต้น

     โรคเหล่านี้มักพบในผู้ใหญ่ได้มากกว่าในเด็ก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องรวดเร็วแล้ว อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นได้ ทั้งนี้อาการที่เป็นสัญญาณอันตรายที่ควรรีบไปพบแพทย์ ได้แก่ อาเจียนรุนแรงต่อเนื่อง กลืนลำบาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีดเหลือง ถ่ายดำ มีอาการปวดท้องแม้ในตอนกลาคืน หรือทานยาโรคกระเพาะทั่วไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น เป็นต้น

     เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ ก็จะได้รับการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียดและแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น ตรวจเลือดดูภาวะซีด ตรวจอุจจาระเพื่อดูว่ามีเลือดปนมาหรือไม่ ตรวจโดยส่องกล้องกระเพาะอาหารเพื่อดูการอักเสบและแผล ตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ด้วยลมหายใจ และอัลตราซาวด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง

     แนวทางการรักษาโรคกระเพาะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัย หากพบเป็นโรคกระเพาะแปร ปรวน หรือโรคกระเพาะชนิดไม่มีแผล แม้จะมีอาการเรื้อรัง แต่มักไม่เปลี่ยนแปลงเป็นแผลหรือมะเร็ง แต่อาการที่เป็นบ่อย ๆ นั้นอาจรบกวนชีวิตประจำวัน การรักษาโดยอาศัยการปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารและการดำเนินชีวิตร่วมกับการใช้ยาเพื่อลดอาการ เช่น ยาลดการหลั่งกรด ยาแก้อาเจียน ยาขับลม

    ส่วนระยะเวลาในการรักษานั้นไม่แน่นอน ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนใหญ่เมื่อรับประทานยา 1-2 สัปดาห์ อาการมักจะทุเลาลง แต่อาจเป็นซ้ำได้ ส่วนโรคกระเพาะอักเสบรุนแรง หรือเป็นแผลในกระเพาะนั้นต้องรักษาตามสาเหตุร่วมกับใช้ยาลดการหลั่งกรดเป็นเวลานาน 4-8 สัปดาห์ขึ้นไป 

ทั้งนี้การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันหรือลดอาการปวดท้องโรคกระเพาะทำได้ไม่ยากและสามารถเริ่มได้ด้วยตัวคุณเอง ดังนี้

- รับประทานอาหารในปริมาณพอเหมาะไม่มากเกินไป

- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมันหรือรสจัด

- ลดปริมาณการดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์

- งดการสูบบุหรี่

- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะยาแก้แพ้

- โปรดหลีกเลี่ยงความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ

อาการปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อยเป็นภาวะที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่เกิดจากโรคกระเพาะแปรปรวน หรือ โรคกระเพาะชนิดไม่มีแผล ซึ่งไม่อันตราย แต่อาจก่อให้เกิดความรำคาญและวิตกกังวลความเข้าใจถึงสาเหตุและหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้อาการแย่ลงได้ จะช่วยลดภาวะนี้ลงได้อย่างมาก ทั้งนี้ควรไปพบแพทย์ หากมีสัญญาณอันตรายหรืออาการไม่หายหลังการปรับพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว

อ.พญ.ฉัตต์มณี เลิศอุดมผลวณิช

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์

โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


(ขอบคุณปวดท้องกระเพาะจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์คอลัมน์ หมอรามาไขปัญหาสุขภาพ)

ความอ้วน น้ำหนักมาก ฯ แล้วอยากผอม อด งดอาหารไม่กินตามมื้อเวลาปกติ กินมื้อเดียวแล้วปล่อยท้องว่างนานหลายชั่วโมง ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่จะปวดท้องได้ ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เมื่อปวดท้องกระเพาะก็จะมีปัญหาสุขภาพเกิดขึ้นในร่างกาย แทนที่น้ำหนักจะลดกลายเป็นโรคเพิ่มขึ้นในร่างกายได้ 

ด้วยความปรารถนาดี  กานดา แสนมณี

วันพุธที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ ๒๕๕๗


หมายเลขบันทึก: 566602เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2014 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2014 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท