กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


          สนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนมีลักษณะเป็นสนธิสัญญาพหุภาคี กล่าวคือ เป็นสนธิสัญญาที่มีรัฐมากกว่าสองรัฐขึ้นไปเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา ซึ่งกระบวนการในการท าสนธิสัญญามีหลายขั้นตอน นับตั้งแต่การเจรจา การให้ความยินยอมของรัฐเพื่อผู้พันตามสนธิสัญญาโดยการลงนาม การให้สัตยาบัน การภาคยานุวัติ และบางรัฐอาจตั้งข้อสงวน หรือตีความสนธิสัญญา และเมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนในการทำสัญญาครบถ้วนแล้ว ภาคีก็มีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาต่อไป การเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญาก่อให้เกิดพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสนธิสัญญา มิฉะนั้นอาจต้องรับผิดในทางระหว่างประเทศ ดังนั้น เมื่อประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยก็ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของสนธิสัญญาดังกล่าว พันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของไทย ในปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญา ด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งสหประชาชาติถือเป็น สนธิสัญญาหลัก จ านวน 7 ฉบับ [1] ได้แก่

1. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

2. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

3. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

4. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

5. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

6. อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี

7. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ

          แม้ประเทศไทยจะได้เข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้ง 7 อนุสัญญาและมีผลก่อให้เกิดพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสนธิสัญญา แต่ก็ยังคงเกิดปัญหาในการใช้อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศภายในประเทศไทย เช่นใน อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ดังจะเห็นได้จากข่าวดังต่อไปนี้

                    ศาล รธน.ดับฝันคนพิการเป็นผู้พิพากษา [2] มติศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ คณะกรรมการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มีสิทธิไม่รับผู้ป่วยด้วยโรคโปลิโอ สอบเข้าเป็นผู้พิพากษา อ้างค่านิยมส่วนราชการ ต้องการคนที่มีประสิทธิภาพ ด้านประธานฝ่ายกฎหมายฯ สภาคนพิการแห่งประเทศไทย น้อยใจเห็นคนพิการ เป็นภาระสังคม

ความหวังของผู้ป่วยด้วยโรคโปลิโอ จะเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษา ได้สลายลงเมื่อที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วานนี้ (30) ได้วินิจฉัยคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อให้ตีความ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 26 (10) ที่ระบุถึงคุณสมบัติของผู้เข้าสอบเป็นข้าราชการตุลาการว่า ต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม คือ จะต้องไม่มีสภาพร่างกายและจิตใจที่ไม่เหมาะสม ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

สำหรับผู้ที่ยื่นเรื่องนี้ คือ นายศิริมิตร บุญมูล และน.ส.บุญจุติ กลับประสิทธิ ซึ่งมีอาชีพเป็นทนายความ แต่พิการด้วยโรคโปลิโอ และเมื่อไปสมัครสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ก็ถูกตัดสินไม่ให้เข้าสอบ โดยเจ้าหน้าที่ควบคุมการสอบได้อ้างว่ามีสภาพร่างกายที่ไม่เหมาะสม

นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 3 เห็นว่า คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความในมาตรา 26 (10) ที่ระบุคุณสมบัติของผู้เข้าสอบเป็นข้าราชการตุลาการ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ซึ่งระบุว่า บุคคลยอมเสมอกันในกฎหมายได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสภาพทางกาย หรือสุขภาพ จะกระทำมิได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การลงมติในครั้งนี้ที่เห็นว่าคำร้องของผู้พิการที่ยื่นให้วินิจฉัยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะทำให้สังคมมองว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้ความสำคัญและไม่ให้ความคุ้มครองกับประชาชน นายอิสสระ กล่าวว่า การพิจารณาในคำร้องนั้น โดยคณะตุลาการที่เข้าประชุมลงมติได้พิจารณาคำร้อง ว่ามีเนื้อหาขัดต่อบทบัญญัติต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นหลักในการพิจารณาวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ และความเห็นของเสียงข้างน้อย ซึ่งรวมทั้งเขาด้วย
"ผมเห็นว่า จะเป็นการเปิดกว้างให้มีการใช้ดุลยพินิจโดยไม่มีขอบเขต และที่สำคัญที่ใช้คำว่าเหมาะสมถือว่าเป็นคำที่สามารถดิ้นได้ จึงทำให้ผู้ที่นำไปบังคับใช้ในบทบัญญัตินี้ อาจจะใช้อำนาจตามความอำเภอใจ ส่งผลให้กระทบกระเทือนต่อรัฐธรรมนูญต่อมาตรา 30 ได้ โดยอาจจะมีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งสภาพร่างกาย"

          ซึ่งเมื่อพิจารณาอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการพิการ Convention on the Rights of Persons with Disabilities (CRPD) จะพบว่ามีสาระในเรื่องของการส่งเสริม คุ้มครอง และประกันให้คนพิการทั้งปวง ได้อุปโภคสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน และส่งเสริมการเคารพในศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิด การขจัดการเลือกปฏิบัติ ต่อคนพิการทุกรูปแบบ การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสภาพแวดล้อมทางกายภาพ การขนส่ง ข้อมูลข่าวสารและบริการสาธารณะ การยอมรับความเท่าเทียมกันของ คนพิการในทางกฏหมาย ความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา การทำงาน การรักษาพยาบาล การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนพิการ [3]

          การที่บุคคลในข่าวซึ่งเป็นผู้ป่วยด้วยโรคโปลิโอไม่ถูกรับเข้าทำงาน เพราะเหตุที่ร่างกายพิการนั้นย่อมเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการซึ่ง หมายถึง ความแตกต่าง การกีดกัน หรือการจำกัดบนพื้นฐานของความพิการซึ่งมีความมุ่งประสงค์หรือส่งผลให้เป็นการเสื่อมเสียหรือทำให้ไร้ผลซึ่งการยอมรับ ซึ่งขัดต่อข้อ 5 เรื่องความเท่าเทียมกันและไม่เลือกปฏิบัติตามอนุสัญญา จะเห็นได้ว่าตามข่าวรัฐภาคีคือประเทศไทยนั้นมิได้ออกมาตรการที่เหมาะสมเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติ เพราะยังคงมีเงื่อนไขการเข้ารับทำงานที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการในการรับเข้าทำงาน ในพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 26 (10)

          รวมถึง การที่ผู้พิการไม่สามารถเข้าทำงานในตำแหน่งที่ต้องการซึ่งเป็นสิทธิในการประกอบอาชีพ เพราะเหตุแห่งความพิการนั้น เป็นการขัดต่อ ข้อ27 (เอ)ตามอนุสัญญาคือ ห้ามการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการในทุกด้านที่เกี่ยวกับ การจ้างงาน รวมถึงเงื่อนไขในการคัดเลือกบุคคล

          ดังนี้การที่สถานเข้ารับทำงานมีเงื่อนไข ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 26 (10) ในถ้อยคำที่ว่า “สภาพร่างกายที่ไม่เหมาะสม” ซึ่งการตีความถ้อยคำดังกล่าวเป็นเหตุให้ไม่รับคนพิการเข้าทำงานเพราะ ร่างกายเป็นโปลิโอนั้น เป็นร่างกายที่ไม่เหมาะสมในการทำงาน ย่อมเป็นการ ขัดต่ออนุสัญญาดังกล่าว ทำให้ผู้พิการถูกละเมิดสิทธิการประกอบอาชีพซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน เพราะทำให้คนพิการไม่สามารถมีสิทธิทำงานได้เท่าเทียมกับผู้อื่น

          แต่ในความเห็นข้าพเจ้า แม้ระเบียบดังกล่าวจะขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ แต่ต้องเข้าใจว่าในบางอาชีพลักษณะที่ปรากฏออกมาสู่ภายนอกก็ยังคงมีความสำคัญต่อ ความเชื่อถือของผู้คนอื่น เช่นอาชีพผู้พิพากษา หากบุคคลดังกล่าวมีลักษณะที่ไม่เหมาะสม ดังที่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ระบุไว้ก็ควรจะต้องใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลที่จะมาประกอบอาชีพอยู่ เพราะอาชีพดังกล่าวการตัดสินคดีย่อมต้องอาศัยความน่าเชื่อถือของผู้ตัดสินเพื่อให้ผู้คนยอมรับ ไม่ใช่เพียงแต่ใช้ความรู้ในการตัดสินคดี

          ในกรณีดังกล่าวหากจะแก้ปัญหา ก็ควรให้จำกัดนิยามในการตีความคำว่า ไม่เหมาะสม ให้แคบลง ไม่ได้เจาะจงเพียงว่าแค่พิการก็จะไม่ได้เข้าทำงานในอาชีพดังกล่าว ควรตีความในทางที่ไม่เลือกปฏิบัติต่อ ผู้พิการเกินไป และให้เอื้อต่อความน่าเชื่อถือของอาชีพดังกล่าว ในการทำงาน ที่คนเห็นเพียงส่วนบน ก็อาจอนุโลมให้ ผู้ที่พิการท่อนล่างสามารถเข้ารับราชการได้ โดยไม่ถือว่าเป็นสภาพร่างกายที่ไม่เหมาะสม

          ดังนั้น การที่พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 26 (10) ถ้อยคำที่ว่า “สภาพร่างกายที่ไม่เหมาะสม” การตีความที่ว่า ผู้พิการมีร่างกายไม่เหมาะสมแก่การประกอบอาชีพ แม้เป็นการ ละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ในเรื่องการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการในเรื่องการประกอบอาชีพใน ข้อ 5 และ 27เพราะ ระเบียบดังกล่าว ไม่รับคนพิการเข้าทำงาน ซึ่งเป็นการปฏิบัติต่างในสิ่งเหมือน เพราะความพิการ แต่การตีความที่ละเมิดอนุสัญญาคำว่า ร่างกายไม่เหมาะสม ดังกล่าวก็มีความจำเป็นในการสร้างความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบอาชีพดังกล่าว จึงควรแก้ไขโดยการจำกัดนิยามให้คำดังกล่าวเพื่อให้ไม่มีการตีความที่กว้างเกินไปจนเป็นโทษแก่ผู้พิการ

เขียน: 22 เม.ย. 2014


[1] ปฏิญญาสากล สนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน และรัฐธรรมนูญ.(ออนไลน์). แหล่งที่มา : file:///C:/Users/TOSHIBA/Downloads/ปฏิญญาสากล%20สนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน%20และรัฐธรรมนูญ.pdf. 22 เมษายน 2557.

[2] ศาล รธน.ดับฝันคนพิการเป็นผู้พิพากษา.(ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.thaingo.org/story/news_001.htm. 22 เมษายน 2557

[3] สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

.อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ Convention on the Rights of Persons with Disabilities (CRPD).(ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/cr... 22 เมษายน 2557

หมายเลขบันทึก: 566522เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2014 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2014 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท