กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชน


กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชน : กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานกับการใช้แรงงานเด็ก

จากคำนิยามตามมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นายจ้างหมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และลูกจ้าง หมายถึงผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร[1]

เมื่อพิจารณาความหมายของเด็กนั้นจะเห็นได้ว่า เด็ก หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส ตามมาตรา 4 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546[2] แรงงานเด็กจึงหมายถึงลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุตั้งแต่  15  ปีบริบูรณ์  แต่ไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ จัดเป็นผู้ใช้แรงงานที่สมควรได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษและแต่ละประเทศควรให้ความสำคัญเพราะเด็กนั้นเป็นอนาคตของชาติที่ภายภาคหน้าจะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปหากเด็กถูกใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมาย ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน พวกเขาเหล่านั้นก็อาจจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีคุณภาพ ขาดโอกาสทางการศึกษา เป็นปัญหาของสังคม ซึ่งหากมองในแง่เลวร้ายที่สุด พวกเขาอาจถูกใช้แรงงานผิดกฎหมายอย่างหนักจนไม่อาจมีชีวิตรอดในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 มีหมวดเฉพาะเพื่อคุ้มครองแรงงานเด็กโดยเฉพาะอยู่ในหมวด 4

ปัญหาของการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายบ่งบอกถึงสภาพการณ์ สิ่งแวดล้อมของการทำงาน และเงื่อนไขการจ้างงานอันเลวร้ายที่สังคมยอมรับไม่ได้สามารถแบ่งออกเป็นปัญหาได้อีก 2 ประการคือ ปัญหาการใช้แรงงานเด็กและปัญหาแรงงานเด็กต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายหรือลักลอบเข้าเมือง ปัญหาแรงงานเด็กต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเกิดจากสาเหตุสำคัญหลายประการได้แก่ การลักลอบเข้าประเทศ การถูกหลอกลวงจากกลุ่มผู้ค้าแรงงานอย่างผิดกฎหมาย การติดตามพ่อแม่ซึ่งเป็นคนต่างด้าวและ การเป็นเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ต่างด้าวที่ทำงาน[3] คนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายตั้งแต่ต้น
  2. เข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายแต่ภายหลังผิดกฎหมาย คนประเภทนี้คือคนที่ได้รับVISAให้เข้าเมืองได้อย่างถูกกฎหมายภายในช่วงระยะเวลาอย่างมีจำกัดแต่ต่อมาภายหลังอาศัยอยู่จนล่วงเลยระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตนั้น
  3. ผู้ที่ถูกสันนิษฐานว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามกฎหมายไทย คือ ผู้ที่เกิดในประเทศไทย ไม่เคยออกนอกประเทศไทยแต่เป็นเด็กที่เกิดจากบิดามารดาที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

ซึ่งเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นคนต่างด้าวจึงจัดเป็นผู้ที่ถูกกฎหมายสันนิษฐานให้เป็นคนเข้าเมือผิดกฎหมายไทยในประเภทที่ 3 นั่นเอง อีกทั้งยังมีประเด็นของเด็กที่ติดตามพ่อแม่ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่สามารถแยกออกได้เป็น 2 ความเห็นคือ ความเห็นแรก เด็กนั้นไม่มีเจตนาเป็นของตนเองเด็กที่เข้ามาในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจะถือว่าเด็กเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายไม่ได้ ส่วนอีกความเห็นหนึ่งคือ การเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างไรก็เป็นการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายแต่เด็กเหล่านั้นควรได้รับการปฏิบัติให้แตกต่างจากผู้ที่บรรลุนิติภาวะที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

ปัญหาของการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่พบจากรายงานการประเมินสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายในจังหวัดสมุทรสาคร เชียงราย ตาก อุดรธานี สงขา และปัตตานี ของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ

  1. เด็กที่ถูกใช้แรงงานมีอายุต่ำกว่า 15 ปี ขัดกับ มาตรา 44 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ที่ห้ามมิให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นลูกจ้าง
  2. ค่าจ้างที่จ่ายให้แก่เด็กต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ขัดกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานที่กำหนดให้ค่าจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างเป็นไปตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนด
  3. ระยะเวลาการทำงานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นการขัดกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 23 ให้นายจ้างประกาศเวลาทำงานปกติให้ลูกจ้างทราบ โดยกำหนดเวลา เริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานแต่ละวันของลูกจ้างได้ไม่เกินเวลาทำงานของแต่ละประเภทงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่วันหนึ่งต้องไม่เกินแปดชั่วโมง และ มาตรา 46 กำหนด ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กมีเวลาพักวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงติดต่อกันหลังจากที่ลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกินสี่ชั่วโมง แต่ในสี่ชั่วโมงนั้นให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กได้มีเวลาพักตามที่นายจ้างกำหนด
  4. เด็กต้องทำงานภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตราย เช่นการสัมผัสกับสารเคมี ที่สกปรกชื้นแฉะ เป็นการขัดกับ มาตรา 49(4) พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน คือ ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตรายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
  5. เด็กถูกละเมิดทางกาย ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว ถูกทำร้ายและการล่วงละเมิดทางเพศ[4] ซึ่งขัดกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 16 ที่ ห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงานกระทำการล่วงเกิน คุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง

การกักขังหน่วงเหนี่ยวยังขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 9บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศตามอำเภอใจไม่ได้อีกด้วย

ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดยังขัดกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กพ.ศ. 2546 มาตรา 26 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้

(๑) กระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

(๕) กระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก

(๖) ใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก

และขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 23(1) คือ ทุกคนมีสิทธิในการทำงาน ในการเลือกงานโดยอิสระ ในเงื่อนไขที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวยต่อการทำงาน และในการคุ้มครองต่อการว่างงาน และ(3) ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวยต่อการประกันความเป็นอยู่อันควรค่าแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์สำหรับตนเองและครอบครัว และหากจำเป็นก็จะได้รับการคุ้มครองทางสังคมในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมด้วยข้อ 24ทุกคนมีสิทธิในการพักผ่อนและการผ่อนคลายยามว่าง รวมทั้งจำกัดเวลาทำงานตามสมควร และวันหยุดเป็นครั้งคราวโดยได้รับค่าจ้าง

ประเด็นเรื่องของกฎหมายคุ้มครองแรงงานว่าใช้บังคับกับบุคคลใด แค่ผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นหรือครอบคลุมถึงทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย สามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้

ถ้าคุ้มครองผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ความเห็นหนึ่งที่เห็นว่า คนต่างด้าวเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายทำสัญญาจ้างแรงงานกับนายจ้างเป็นการขัดกับมาตรา 150 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2535 ซึ่งวางหลักว่า การใดเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ[5] ผลคือ การทำสัญญาจ้างแรงงานเป็นโมฆะ นายจ้างสามารถเลี่ยงไม่จ่ายค่าแรงและไม่ให้สวัสดิการอื่นๆที่กฎหมายกำหนดได้กำหนด

ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาของการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายคือ การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีการเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศ แต่โดยส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายดังที่กล่าวแล้วข้างต้น อีกทั้งเด็กส่วนใหญ่เป็นผู้ด้อยโอกาส เพื่อความอยู่รอดจึงต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ การแข่งขันทางการค้าของเหล่าผู้ประกอบการเพื่อให้ได้ผลกำไรที่มากขึ้น ต้องลงทุนโดยใช้ต้นทุนต่ำส่งผลให้เกิดการลักลอบใช้แรงงานเด็กต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมายสืบเนื่องจนถึงการเอาเปรียบละเมิดสิทธิทางกฎหมายได้โดยสะดวกเช่น การให้ค่าจ้างน้อยกว่าที่กำหนด ทำงานเกินเวลา จัดเวลาพักไม่เหมาะสมเป็นต้น การตีความมาตรา 150 ทำให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างแรงงานเด็กและนายจ้าง เป็นโมฆะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เอารัดเอาเปรียบแรงงานเด็กยิ่งขึ้น เพราะพวกนายทุนไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ออกมาเพื่อบังคับให้พวกเขาต้องรับภาระหน้าที่ในการดูแลและคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของแรงงานเด็ก

อีกความเห็นหนึ่งเห็นว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายที่คุ้มครองบุคคลที่คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ ผลคือ นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมายตามอัตราที่กฎหมายบังคับเช่นเดียวกับคนไทยรวมทั้งการปฏิบัติต่างๆเช่น การกำหนดวันหยุดพักผ่อนระยะเวลาการทำงาน สภาพการทำงาน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการตีความกฎหมายให้มีผลบังคับใช้กับบุคลใดย่อมส่งผลถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลดังกล่าวและส่งผลสืบเนื่องไปถึงปัญหาของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับความเห็นที่ว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานในประเทศไทยควรคุ้มครองให้ครอบคลุมถึงบุคคลทุกคนที่เป็นผู้ใช้แรงงานอยู่ในประเทศไทยไม่ใช่แค่เพียงบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับรัฐธรรมนูญไทยปีพ.ศ. 2550 ในมาตรา 4 ซึ่งวางหลักว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง[6] ซึ่งมาตรานี้เป็นบททั่วไปที่คุ้มครองบุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ ดังนั้น แรงงานเด็กไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าวที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายก็เป็นมนุษย์เหมือนกันทั้งหมด การตีความให้สัญญาจ้างแรงงานของคนต่างด้าวที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ส่งผลให้กฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่มีผลบังคับใช้กับแรงงานต่างด้าวจึงเป็นการขัดกับมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญไทยที่บุคคลทุกคนย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันและขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 7กำหนดให้ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันจากการเลือกปฏิบัติใด อันเป็นการล่วงละเมิดปฏิญญานี้ และจากการยุยงให้มีการเลือกปฏิบัติดังกล่าว[7] การตีความให้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจึงเป็นการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายที่เป็นการใช้แรงงานในรูปแบบเลวร้ายเช่น การจ้างแรงงานเด็กที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ การไม่จ่ายค่าจ้างตามที่ตกลงกัน และสภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสมแก่เด็ก เป็นต้นอีกทั้งยังสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไทยอีกด้วย

[1] กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน. พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.labour.go.th/th/index.php/labour-laws/6282-2556-06-28-07-06-48. 9 เมษายน 2557

[2] วิกิซอร์ซ. พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://th.wikisource.org/wiki/. 9 เมษายน 2557

[3]กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน.นโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายปีงบประมาณ พ.ศ.2552-พ.ศ.2557. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.labour.go.th/th/index.php/protection/2011-06-02-03-16-02/52-2011-06-02-03-13-50. 9 เมษายน 2557

[4]กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน.นโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายปีงบประมาณ พ.ศ.2552-พ.ศ.2557. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.labour.go.th/th/index.php/protection/2011-06-02-03-16-02/52-2011-06-02-03-13-50. 9 เมษายน 2557

[5] กฎหมายดอทคอม. ประมวลกฎหมายแพ่งแปละพาณิชย์ พ.ศ. 2535. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.kodmhai.com/m2/m2-4/thailaw2-4.html. 9 เมษายน 2557

[6]สำนักบริหารงานสนับสนุนงานอัยการสูงสุด. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.ogad.ago.go.th/dagsu/index.php?option=com_content&view=article&id=153:law-ago&catid=44:constitution&Itemid=65. 9 เมษายน 2557

[7] กระทรวงการต่างประเทศ. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf. 9 เมษายน 2557 ‎

หมายเลขบันทึก: 565895เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2014 08:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 23:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท