deawche
เดี่ยวเช คมสัน deawche หน่อคำ

ตำนานสงกรานต์


ตำนานสงกรานต์ สุริยน คนเมืองแพร่

มีเศรษฐีสามีภรรยาคู่หนึ่ง อยู่ด้วยกันมานานแต่ไม่มีบุตร จึงถูกนักเลงสุราที่อยู่ข้างบ้านซึ่งมีบุตรสองคนดูหมิ่นเหยียดหยามทุกวันว่า ถึงจะร่ำรวยเงินทองสักปานใด แต่ไม่มีบุตรสืบสกุล ตายไปสมบัติก็สูญเปล่า สู้ตนผู้มีบุตรไม่ได้ เศรษฐีเกิดความละอายนักเลงสุรา และกระวนกระวายใจอยากมีบุตร จึงได้ไปบวงสรวงพระอาทิตย์พระจันทร์ เวลาผ่านไปสามปีก็ยังไม่มีบุตร อยู่มาวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์ เศรษฐีจึงได้ไปอธิษฐานขอบุตร ร้อนถึงพระอินทร์ได้ทราบความดังนั้น ท่านจึงได้ส่ง ธรรมบาลเทวบุตร มาเกิดเป็นลูกเศรษฐี มีชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร ซึ่งเมื่อเจริญวัยขึ้นมา ก็สามารถเรียนรู้ภาษาสัตว์ต่างๆ และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุเพียงเจ็ดปี ต่อมาก็ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่มนุษย์ ซึ่งขณะนั้นท้าวกบิลพรหมเป็นผู้ทำหน้าที่แสดงมงคลทั้งปวงแก่มนุษย์อยู่ก่อนแล้ว จึงเกิดความไม่พอใจ ไปท้าธรรมบาลกุมารให้ตอบปริศนาสามข้อ โดยมีข้อแม้ว่า หากธรรมบาลกุมาร ตอบไม่ได้ จะต้องตัดศีรษะบูชาตน หากตอบได้ตนจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมารแทน ปริศนาดังกล่าวมีอยู่ว่า
เวลาเช้า ราศีของมนุษย์เราอยู่ที่ใด
เวลาเที่ยง อยู่ที่ใด
และเวลาค่ำ อยู่ที่ใด
ธรรมบาลกุมารขอเวลาเจ็ดวันจะให้คำตอบ โดยเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ สอบถามหาคำตอบปรากฏว่าเวลาล่วงไปถึงวันที่หก ก็ยังคิดหาคำตอบไม่ได้ ด้วยความอ่อนเพลียจึงไปนอนพักใต้ต้นไทร บังเอิญบนต้นไทรมีนกอินทรีย์สองผัวเมียคุยกันว่า วันรุ่งขึ้นจะได้กินศพธรรมบาลกุมารเพราะตอบปริศนาไม่ได้ พร้อมกันนั้นนกตัวผู้ได้ไขปัญหาแก่นกตัวเมียว่า เช้า ราศีอยู่ที่หน้า มนุษย์จึงเอาน้ำล้างหน้า เที่ยง ราศีอยู่ที่อก มนุษย์จึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ค่ำ ราศีอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงเอาน้ำล้างเท้า ธรรมบาลกุมารซึ่งสามารถฟังเสียงนกเสียงกาได้ ก็ทราบคำตอบทันที รุ่งขึ้นก็สามารถตอบปริศนาแก่ ท้าวกบิลพรหมได้ ดังนั้น ท้าวกบิลพรหมจึงต้องตัดศีรษะตนเองบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ก่อนจะตัดศีรษะ ท้าวกบิลพรหมได้เรียกธิดาทั้งเจ็ดของตนมาสั่งเสียว่า ศีรษะของตนนั้น หากตั้งไว้ในแผ่นดิน ไฟจะไหม้ทั่วโลก หากทิ้งไว้ในอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าทิ้งในมหาสมุทร น้ำจะแห้ง จึงขอให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับศีรษะที่ถูกตัด แล้วนำไปแห่รอบเขาพระสุเมรุ จากนั้นก็อัญเชิญประดิษฐานที่มณฑปถ้ำคันธุลี เขาไกรลาส ครั้นถึงกำหนด ๓๖๕ วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึง ให้เทพธิดาทั้งเจ็ดทรงพาหนะต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่รอบเขาพระสุเมรุ โดยที่เทพธิดาทั้งเจ็ดนี้ปรากฏตามวันในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า นางสงกรานต์

 

 

 

นางสงกรานต์ซึ่งประจำแต่ละวันในสัปดาห์ จะมีนาม อาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะต่างๆ ดังนี้

วันอาทิตย์ นาม ทุงสะเทวี ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราค (พลอยสีแดง)
ภักษาหาร มะเดื่อ หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือสังข์
ทรงพาหนะ ครุฑ
วันจันทร์ นาม โคราคะเทวี ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา (ไข่มุก)
ภักษาหาร น้ำมัน หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า
ทรงพาหนะ เสือ
วันอังคาร นาม รากษส (ราก-สด) ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา
ภักษาหาร โลหิต หัตถ์ขวาถือตรีศูล หัตถ์ซ้ายถือธนู
ทรงพาหนะ สุกร
วันพุธ นาม มณฑาเทวี ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์
ภักษาหาร นม เนย หัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า
ทรงพาหนะ คัสพะ (ลา)
วันพฤหัสบดี นาม กิริณีเทวี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับ มรกต
ภักษาหารถั่วงา หัตถ์ขวาถือขอช้าง หัตถ์ซ้ายถือปืน
ทรงพาหนะ กุญชร
วันศุกร์ นาม กิมิทาเทวี ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับ บุษราคัม
ภักษาหาร กล้วยน้ำ หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือพิณ
ทรงพาหนะ กระบือ
วันเสาร์ นาม มโหธรเทวี ทัดดอกสามหาว (ผักตบ) เครื่องประดับ นิลรัตน์
ภักษาหาร เนื้อทราย หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือตรีศูรย์
ทรงพาหนะ นกยูง

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 564572เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2014 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2014 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท