deawche
เดี่ยวเช คมสัน deawche หน่อคำ

ประเพณีสงกรานต์ โดย สุริยน คนเมืองแพร่


วันสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างเด่นชัด โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธไมตรี
ปัจจุบันแม้ไทยเราจะนับวันที่ ๑ มกราคมของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่แบบสากลนิยม แต่ด้วยลักษณะพิเศษและกิจกรรมที่คนในชุมชนได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญ การสรงน้ำพระ การอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำ และการเล่นรื่นเริงต่าง ๆ ล้วนทำให้ชาวไทยส่วนใหญ่ถือประเพณีสงกรานต์เป็นปีใหม่แบบไทย ๆ ที่เป็นเทศกาลแห่งความเอื้ออาทร เกื้อกูลผูกพันซึ่งกันและกัน
ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะตรงกับวันที่ ๑๓ , ๑๔ , และ ๑๕ เมษายนของทุกปี ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการต่อเนื่องกัน เพื่อให้ประชาชนที่ทำงานในต่างท้องที่ได้กลับไปยังถิ่นฐานของตน เพื่อร่วมทำบุญ เยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ บุพการี และเล่นสนุกสนานกับครอบครัว ญาติมิตร
สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยประเพณีหนึ่งที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณคู่กับประเพณีตรุษ หรือที่เรียกกันรวม ๆ ว่า ตรุษสงกรานต์ ซึ่งหมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของไทย ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้วันที่ ๓๑ ธันวาคม เป็นวันส่งท้ายปีเก่า และวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
ในสมัยโบราณ ไทยเราถือเอา วันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันปีใหม่ ซึ่งคนสมัยก่อนจะถือว่าฤดูเหมันต์ (ฤดูหนาว) เป็นการเริ่มต้นปี ซึ่งจะตกราวปลายเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามคติพรามหณ์ ซึ่งมีรากเหง้ามาจากการสังเกตธรรมชาติและฤดูกาลผลิต วันปีใหม่จึงเปลี่ยนเป็นวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ หรือประมาณเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการนับปีใหม่ตามเกณฑ์จุลศักราช โดยถือเอาวันมหาสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่
ครั้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้กำหนดให้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นการนับทางสุริยคติแทน จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐบาลไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้ประกาศให้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ อันเป็นการนับปีใหม่แบบสากลนิยม ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา ประเทศไทยเราจึงมีวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม และใช้กันมาจนปัจจุบัน
คำว่า “ตรุษ” เป็นภาษทมิฬ แปลว่า ตัด หรือขาด คือตัดปี หรือขาดปี หมายถึงการสิ้นปีนั่นเอง ปกติการกำหนดวันตรุษหรือวันสิ้นปีจะถือหลักทางจันทรคติ คือวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔
คำว่า “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ก้าวขึ้น ผ่าน หรือการเคลื่อนที่ ย้ายที่ หมายถึง เวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งทุก ๆ เดือน เรียกว่า สงกรานต์เดือน ยกเว้นเมือดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษเมื่อใดก็ตามจะเป็นสงกรานต์ปี และเรียกชื่อพิเศษว่า “มหาสงกรานต์” ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามคติพรามหณ์ โดยเป็นการนับทางสุริยคติ
ดังนั้น การกำหนดนับวันสงกรานต์จึงตกอยู่ในระหว่างวันที่ ๑๓ , ๑๔ และ ๑๕ เมษายน ซึ่งทั้ง ๓ วัน จะมีชื่อเรียกเฉพาะดังนี้ คือ

วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า มหาสงกรานต์ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ผ่านการเข้าสู่ราศีอื่น ๆ แล้วจนครบ ๑๒ เดือน
วันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า วันเนา หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าอยู่ราศีเทษ ประจำที่เรียบร้อยแล้ว
วันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก หรือวันขึ้นศก คือ วันที่เริ่มเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่กำหนดให้อยู่ในวันนี้นั้น เพื่อให้แน่ใจได้ว่าดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราสีมีนเข้าอยู่ราศีเมษแน่นอนแล้วอย่างน้อย ๑ องศา
ทั้งสามวันนี้ ถ้าหากดูตามประกาศสงกรานต์ อันเป็นการคำนวณตามหลักโหราศาสตร์จริงแล้ว ก็จะมีการคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันบ้าง เช่น วันมหาสงกรานต์ อาจจะเป็นวันที่ ๑๔ เมษายน แทนที่จะเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน แต่เพื่อให้จดจำได้ง่ายและไม่สับสน จึงกำหนดเรียกตามที่กล่าวข้างต้น
ดังได้กล่าวแล้วว่า สงกรานต์เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติมาเนิ่นนาน บรรพบุรุษของเราได้กำหนดธรรมเนียมปฏิบัติมาอย่างชัดเจนสืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ เป็นความงดงาม ซึ่งบ่งบอกถึงคุณลักษณะของความเป็นไทยอย่างแท้จริง
ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่แผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบให้เกิดภาวะวิกฤตทางวัฒนธรรมแก่ประเทศไทย ประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามหลายอย่างกำลังจะถูกกลืนหายไปกับสภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่ได้กลายเป็นสังคมแห่งการบริโภคและวัตถุนิยม ประเพณีสงกรานต์ก็เช่นกัน มีการเบี่ยงเบนไปจากคุณค่า สาระเดิมไปอย่างน่าเสียดาย เช่น
การจัดประกวดเทพีสงกรานต์หรือนางสงกรานต์ ปัจจุบันหลายพื้นที่จัดงานสงกรานต์ขึ้น โดยเน้นการประกวดเป็นหลักใหญ่จนเวทีดังกล่าวได้กลายเป็นสนามประชันความงามของหญิงสาว ก่อให้เกิดความฟุ้งเฟ้อ แข่งสวยแข่งงาม โดยไม่มีสาระอื่นใด ดังนั้น จึงควรจัดให้พอเหมาะและควรจะมีคุณค่าของประเพณีแฝงอยู่ด้วย เช่น ให้ผู้ประกวดได้ทำสาธารณะประโยชน์ ทำบุญตักบาตร ร่วมรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เพื่อเป็นตัวอย่างในการแสดงความกตัญญูต่อผู้ทำประโยชน์ต่อสังคม เป็นต้น
การตั้งวงดื่มสุรา เครื่องดองของเมา หลาย ๆ แห่งในปัจจุบัน มีการจำหน่ายเหล้า เบียร์ ควบคู่ไปกับการเล่นน้ำ ทำให้มีการดื่มจนครองสติไม่อยู่ เกิดการทะเลาะวิวาทกัน ที่สำคัญคือ เมาแล้วขับรถโดยประมาท ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมหรืออุบัติเหตุสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เดือดร้อนทั้งตนเองและผู้อื่น ในช่วงเทศกาลจึงควรสำรวมในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรดื่มในเฉพาะหมู่ญาติมิตร เพื่อนฝูง ไม่ไปเกะกะระรานผู้อื่น หรือเมาจนขาดสติ และแสดงกิริยาอาการที่ไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ
การเล่นสาดน้ำ ที่ได้กลายเป็น สงครามน้ำ ในปัจจุบัน เพราะเล่นด้วยความรุนแรง ก้าวร้าว คึกคะนอง และใช้อุปกรณ์ที่อันตรายขึ้นทุกที บางคนเล่นด้วยความประมาท ผิดกาลเทศะ ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญหรือสาดน้ำเข้าไปยังรถที่กำลังแล่นทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นรวมทั้งการใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้น้ำผสมแป้งหรือผสมสี ซึ่งนอกจากจะทำให้สกปรกแล้วยังอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย ดังนั้น จึงควรเล่นสาดน้ำกันอย่างสุภาพ หนุ่มสาวทักทายกันด้วยกิริยาอาการที่สุภาพ มีไมตรีต่อกัน เล่นกันในหมู่คนที่รู้จักมักคุ้นกัน มีขอบเขตการเล่น ไม่สร้างความเดือดร้อนหรือเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างอย่างส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอในระหว่างเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งพวกเราชาวไทยคงจะต้องร่วมกันรณรงค์ และหันมาจับมือกันทำในสิ่งที่ถูกต้อง อย่าปล่อยให้กระแสบริโภคนิยมและความมักง่ายมาทำลายความศรัทธาและความดีงามที่มีอยู่ แต่ขอให้เราช่วยกันพัฒนา สืบสานประเพณีสงกรานต์ของเราให้เป็นประเพณีที่มีคุณค่า และมีมูลค่าทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมต่อไป

หมายเลขบันทึก: 564571เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2014 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2014 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท